บทที่ ๑ พุทธประวัติว่าด้วยการเผยแผ่

วันที่ 12 สค. พ.ศ.2565

12-8-65-0-br.jpg

บทที่ ๑
พุทธประวัติว่าด้วยการเผยแผ่


วัตถุประสงค์การเรียนรู้
๑) เพื่อศึกษาพุทธประวัติที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล ตั้งแต่ก่อนประกาศพระศาสนา จนถึงการวางรากฐานองค์กรพระพุทธศาสนาก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน จนเกิดความเข้าใจถึงหลักในการเผยแผ่ธรรมของพระพุทธองค์ ที่ทำให้พระพุทธศาสนามีอายุยั่งยืนสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
๒) เพื่อเห็นความสำคัญขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความมั่นคงเข้มแข็งเป็นปึกแผ่น ที่พอจะสามารถปรับใช้ในปัจจุบันในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบต่อไป


บทนำ
           คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ก่อประโยชน์ให้แก่ชาวโลก เพราะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ตนเองหรือแก่ผู้อื่น มีความเข้าใจในชีวิตและโลก รู้เท่าทันโลก โดยเฉพาะรู้เท่าทันกิเลสในใจตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจกิเลสที่พาให้ใจตกต่ำ เศร้าหมอง จนสามารถพัฒนาตนเองไปเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ หมดจดจากอาสวะกิเลสทั้งหลายได้
           เหตุที่เราได้โอกาสรู้จักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงนับว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐต่อตัวเอง ซึ่งล้วนเกิดขึ้นได้ก็เพราะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอดีตที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างเป็นระเบียบแบบแผน

           การเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นแบบแผนนี้ มิได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เพราะได้รับการวางรากฐานจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และสมบูรณ์ด้วยเหตุและผล
              พุทธประวัติว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นี้ จึงได้รวบรวมเอาพุทธประวัติบางส่วนมาศึกษา เพื่อให้เห็นขั้นตอน ระบบ ระเบียบ แบบแผน รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำให้การเผยแผ่ในสมัยพุทธกาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งเป็นปึกแผ่นมั่นคงถึงปัจจุบันนี้
              ในรายละเอียดเนื้อหาจะตั้งต้นตั้งแต่ความตั้งใจเดิม สมัยที่พระพุทธองค์ยังบำเพ็ญบารมีเป็นพระบรมโพธิสัตว์ มาสู่สมัยพุทธกาล แสดงกิจวัตรต่าง ๆ ของพระพุทธองค์ เพื่อการเผยแผ่ธรรมะที่เรียกว่า “พุทธกิจ” การสร้างศูนย์กลางการเผยแผ่ธรรมะ จนกระทั่งการวางรากฐานพระพุทธศาสนา เพื่อความมั่นคงเป็นปึกแผ่นต่อไป ภายหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว
             นอกจากนี้ การได้ศึกษาพุทธประวัติว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยังจะได้เห็นองค์ประกอบสำคัญต่าง ๆ ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความมั่นคง ที่สามารถปรับใช้ เพื่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบต่อไปในปัจจุบันอีกประการหนึ่ง


อุดมการณ์พระโพธิสัตว์
ต้นกำเนิดอุดมการณ์แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
              พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ กว่าที่ท่านจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ล้วนแต่ได้ตั้งความปรารถนาที่จะสร้างบารมี เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากกองทุกข์มายาวนาน เริ่มตั้งแต่ตั้งความปรารถนาในใจก่อน นับเป็นเวลาอย่างน้อยถึง ๗อสงไขย ปรารถนาด้วยวาจา ๙ อสงไขย และปรารถนาทั้งด้วยกายและวาจานับแต่ได้รับพุทธพยากรณ์อีก ๔ อสงไขยแสนกัป
            พระพุทธเจ้าในระหว่างที่ยังทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า “พระโพธิสัตว์” พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย เป็นพระโพธิสัตว์จำพวกปัญญาธิกะ เพราะกำลังพระปัญญินทรีย์ แรงมาก ทรงปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า นับได้ ๒๐ อสงไขย กับอีกแสนกัป คือปรารถนาด้วยใจ ๗ อสงไขย ปรารถนาด้วยวาจา ๙ อสงไขย ปรารถนาด้วยกายและวาจา ๔ อสงไขยแสนกัป พระโพธิสัตว์ของเรา มีขณะจิตที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าครั้งแรก ที่เรียกว่า "ปฐมจิตตุปบาทกาล" ด้วยจิตที่คิดว่า
เราตรัสรู้แล้วจะให้ผู้อื่นตรัสรู้ด้วย
เราพ้นแล้วจะให้ผู้อื่นพ้นด้วย
เราข้ามได้แล้วจะให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย

           

             นี้คือกาลที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ที่บังเกิดขึ้นในใจเป็นครั้งแรกของพระโพธิสัตว์ในภพชาติที่เกิดเป็นคนยากจน สละชีวิตแบกมารดาของตนว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรขณะที่เรือสำเภาอับปางตั้งแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์เลี้ยงดูมารดาจนสิ้นชีพ ก็ได้ไปเกิดในเทวโลก
             

            ต่อแต่นั้นมา ในพระชาติอื่นพระมหาบุรุษจุติจากเทวโลกเป็นพระราชา ทรงเลียบพระนคร ช้างพระที่นั่งเมื่อได้กลิ่นช้างพัง ก็เกิดอาละวาดเมามันด้วยกามราคะ สลัดควาญช้างตกลง แล้วหนีเตลิดไป พระราชายังประทับอยู่บนช้างเชือกนั้น แม้จะทรงกระชากด้วยขอแก้ว
ก็มิอาจทำให้มันกลับได้ ถูกมันพาไป ทรงเหนี่ยวกิ่งมะเดื่อไว้ได้ ประทับนั่งอยู่บนยอดไม้ ตรัสถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควาญช้างกราบทูลว่า ขึ้นชื่อว่า ราคะ ร้ายแรงยิ่งกว่าขอแก้วนัก ร้อนยิ่งกว่าไฟนัก มีพิษยิ่งกว่าพิษงูนัก พระโพธิสัตว์ทรงสลดพระทัย ทรงรำพึงว่า ราคะนี้หนอร้อน
ยิ่งนัก สัตว์บุคคลเหล่านี้อาศัยราคะแล้ว ต้องเสวยทุกข์มีประการต่าง ๆ อย่ากระนั้นเลย เราจักขอเป็นพระพุทธเจ้า เปลื้องตนให้พ้นจากราคะเถิด พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า
เราตรัสรู้แล้วจะให้ผู้อื่นตรัสรู้ด้วย
เราพ้นแล้วจะให้ผู้อื่นพ้นด้วย
เราข้ามได้แล้วจะให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย
มหาสมุทรคือวัฏสงสารมีภัยมาก ฯ

 

              พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างนี้ และตรัสอย่างนี้แล้ว สละราชสมบัติ เสด็จเข้าป่าหิมพานต์ทรงบรรพชาเป็นพระฤๅษี ดำรงอยู่ตลอดพระชนมายุ เมื่อสิ้นพระชนม์ชีพ ก็ได้ไปบังเกิดในโลกสวรรค์ นี้เป็นการตั้งความปรารถนา ด้วยวาจา ของพระโพธิสัตว์
              ในกาลต่อมา พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลก บังเกิดเป็นคนในตระกูลพราหมณ์เมื่อบิดามารดาสิ้นชีพแล้ว ได้บริจาคทรัพย์จนหมด ออกบวชเป็นพระฤๅษี อยู่ที่ภูเขาปัณฑระวันหนึ่งได้เห็นแม่เสือตัวหนึ่ง ทำท่าจะกินลูกของตนที่เชิงภูเขา ได้พูดกับหัวหน้าศิษย์ให้ไปช่วยแสวงหาอาหารอื่นมาให้แม่เสือแทน พระโพธิสัตว์ทรงเล็งเห็นว่า ร่างกายของตนเกลือกกลั้วบาปมิใช่น้อย และเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ จึงทรงค้นหาอุบายที่จะปลดเปลื้องทุกข์นั้น ก็เห็นอยู่แต่ พุทธการกธรรม คือ ธรรมที่จะให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น
             ครั้นพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว พระโพธิสัตว์คิดว่า ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ พุทธการกธรรมอันยากยิ่ง ไม่สละสิ่งที่สละยาก ไม่ได้บริจาคสิ่งที่บริจาคยาก ไม่อดทนต่อสิ่งที่อดทนยากไม่อาจที่จะบรรลุพุทธภูมิได้แน่นอน แล้วเกิดความคิดขึ้นในใจว่า
ด้วยอำนาจบุญนี้
ขอให้ข้าพเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ในอนาคตภายภาคหน้า
ขอให้ข้าพเจ้าช่วยสัตว์ทั้งหลาย
ให้ถึงความดับสนิทจากสังสารทุกข์เถิด ฯ


ชั่วเวลาที่ศิษย์ยังไม่มา พระโพธิสัตว์ทิ้งตัวลงจากยอดภูเขาปัณฑระ ตกลงมาตรงหน้าแม่เสือ แม่เสือเห็นร่างของพระโพธิสัตว์แล้ว งดกินลูกของตัวไว้ มากินร่างของพระโพธิสัตว์นั้นแทน พระโพธิสัตว์ก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลกด้วยกุศลกรรมนั้นนี้เป็นการตั้งความปรารถนา ด้วยกายและวาจา ของพระโพธิสัตว์

 

ปัญจมหาวิโลกนะ
               องค์ประกอบอันควรแก่การตรัสรู้ธรรมเพื่อโปรดสัตว์โลกครั้นเมื่อพระบารมีของพระโพธิสัตว์เต็มเปี่ยมแล้ว สมควรแก่การลงมาบังเกิดเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ต้องทรงตรวจดูองค์ประกอบของโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลายในขณะนั้นว่า พร้อมแก่การรองรับอมตธรรมอันละเอียดลึกซึ้งที่พระองค์จะทรงประทานให้หรือไม่ หากองค์ประกอบทั้งหลายพร้อมควรแก่การตรัสรู้แล้ว พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงจะลงมาบังเกิด เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ประกอบที่พระองค์ทรงพิจารณานี้ เรียกว่า "ปัญจมหาวิโลกนะ”
               ในคราวนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์กำลังอยู่ในภพดุสิต เทวดาในแต่ละจักรวาลได้มาประชุมกันในจักรวาลเดียว พร้อมทั้งท้าวมหาราชทั้งสี่ ท้าวสักกะ ท้าวสุยามะ ท้าวสันดุสิตท้าวนิมมานรดี ท้าวปรนิมมิตวสวัตดี และท้าวมหาพรหม ได้พากันไปยังสำนักพระโพธิสัตว์ต่างอ้อนวอนว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ เมื่อท่านบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ มา ท่านมิได้ปรารถนาสมบัติของท้าวสักกะ มิได้ปรารถนาสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ หรือสมบัติของพรหม ท่านปรารถนาแต่พระสัพพัญญุตญาณเพื่อต้องการจะช่วยสัตว์โลกเพื่อความเป็น
พระพุทธเจ้า

               ข้าแต่ท่านมหาวีระ บัดนี้ เป็นเวลาสมควรสำหรับท่านแล้ว ขอท่านจงบังเกิด (ใน) พระครรภ์พระชนนี เพื่อจะยังโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามโอฆะ ท่านจงตรัสรู้อมตบทเถิด
               (ใน) คือ สิ่งที่จะต้องตรวจสอบใหญ่ อันสมควรแก่การตรัสรู้ ๕ ประการ ได้แก่กาล ทวีป ประเทศ กาลนั้น พระโพธิสัตว์ยังมิได้ประทานปฏิญญาแก่เทวดาทั้งหลายในทันทีนั้นเพราะจะต้องทรงพิจารณาปัญจมหาวิโลกนะตระกูล และกำหนดพระชนมายุพระราชชนนีเสียก่อน
               ใน ๕ ประการนั้น
               ๑. พระโพธิสัตว์จะทรงพิจารณา กาลอันสมควร คือ ในกาลที่อายุมนุษย์เจริญขึ้นเกินแสนปี ไม่ใช่กาลอันสมควร ด้วยเหตุว่า ในกาลที่มนุษย์มีอายุเกินแสนปี ชาติ ชรา มรณะจักไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัตว์ทั้งหลาย
ย่อมไม่เข้าใจในพระดำรัสนั้น ฉะนั้น การตรัสรู้มรรคผลก็จะมีไม่ได้ เมื่อไม่มีการตรัสรู้มรรคผลศาสนาจะไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ แม้ในกาลที่อายุต่ำกว่าร้อยปี ก็ยังมิใช่กาลอันสมควรเพราะในกาลนั้นสัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาแน่น โอวาทที่จะทรงสั่งสอนแก่สัตว์ผู้มีกิเลสหนา
ก็จักปราศจากไปเร็วพลัน เหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำ จึงเป็นกาลที่ไม่สมควร ในกาลแห่งอายุตั้งแต่แสนปีลงมา และตั้งแต่ร้อยปีขึ้นไป ชื่อว่าเป็นกาลสมควร ก็ในกาลนั้นเป็นเวลาร้อยปีพระมหาสัตว์จึงทรงเห็นว่าเป็นกาลที่ควรบังเกิด
         

              ๒. ทรงพิจารณา ทวีป ทรงเห็นว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่เกิดในทวีปทั้ง ๓เกิดแต่ใน ชมพูทวีปเท่านั้น จึงทรงพิจารณาว่า จักเกิดในชมพูทวีป

              ๓. ทรงพิจารณา ประเทศ มัชฌิมประเทศนั้น โดยยาววัดได้สามร้อยโยชน์โดยกว้างได้สองร้อยห้าสิบโยชน์ โดยวงรอบได้เก้าร้อยโยชน์ ในประเทศนั้น พระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระอสีติมหาสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ กษัตริย์ พราหมณ์คหบดีมหาศาล และผู้มีศักดาใหญ่เหล่าอื่นย่อมเกิดขึ้น พระโพธิสัตว์จึงทรงพิจารณามัชฌิมประเทศ ณ นครกบิลพัสดุ์ ว่าเป็นที่พึงบังเกิดขึ้น

 

              ๔. ทรงพิจารณา ตระกูล ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่บังเกิดในตระกูลแพศย์หรือตระกูลศูทร แต่จะบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ และตระกูลพราหมณ์สองตระกูลนี้เท่านั้น สุดแต่ว่าในกาลนั้นโลกสมมติว่าตระกูลใดประเสริฐ ก็จะบังเกิดในตระกูลนั้น ก็ในกาลนั้น ตระกูลกษัตริย์ประเสริฐ จึงทรงพิจารณาว่า เราจักบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ พระเจ้าสุทโธ -ทนะมหาราช จักทรงเป็นพระราชบิดา
 

             ๕. ทรงพิจารณา พระชนนี ธรรมดาพระพุทธมารดา ย่อมเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัป ได้ทรงเห็นว่าพระเทวีทรงพระนามว่าพระนางมหามายา จำเดิมแต่เกิดจะมีศีล ๕ ไม่ขาดเลย ทรงพิจารณาว่า พระนางมหามายาจักเป็นพระราชมารดา เมื่อทรงตรวจพระชนมายุของพระราชมารดา ทราบว่า ๑๐ เดือนไปแล้ว หลังจากมีประสูติกาล จะมีพระชนมายุได้อีก ๗ วัน
               

              พระโพธิสัตว์ เมื่อได้พิจารณามหาวิโลกนะ ๕ อย่างนี้แล้ว จึงทรงรับปฏิญญาของเทวดาทั้งหลายว่าเป็นกาลอันสมควรที่จักเป็นพระพุทธเจ้าของเราแล้ว ส่งเทวดาเหล่านั้นกลับไปแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังสวนนันทวัน อันเทวดาชั้นดุสิตห้อมล้อม คอยเตือนพระโพธิสัตว์ให้รำลึกถึงกุศลกรรม ที่ได้กระทำไว้ในกาลก่อน เที่ยวไปอยู่ในสวนนันทวันนั้นนั่นแล ได้จุติแล้วถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมหามายาเทวี

 

เชิงอรรถ

ปัญญินทรีย์ คือ ปัญญาเครืองทําลายกิเลส ความเข้าใจในอริยสัจ ๔

อวิทูเรนิทานกถา มก.ล.๗๐/๑๐๓

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037873284022013 Mins