ทรงแสดงมหาสุทัสสนสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าได้ปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่งเช่นนี้ เมืองใหญ่เหล่าอื่นยังมีอยู่ เช่น กรุงจัมปากรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองสาเกต กรุงโกสัมพี กรุงพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด ขัตติยมหาศาล พราหมณ์มหาศาล คหบดีมหาศาล๑ ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นจะทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าพูดอย่างนั้นว่ากุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่ง
อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า มหาสุทัสสนะผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ กรุงกุสินารานี้มีนามว่ากรุงกุสาวดีได้เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑๒ โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้าง ๗ โยชน์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น เศรษฐกิจดีเหมือนกับกรุงอาฬกมันทา ซึ่งเป็นราชธานีของทวยเทพที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมากมียักษ์หนาแน่น เศรษฐกิจดี อานนท์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่อึกทึกครึกโครมเพราะเสียง ๑๐ ชนิด ทั้งวันทั้งคืน ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลองเสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า “ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม เคี้ยวกิน” ไปเถิด อานนท์ เธอจงเข้าไปกรุงกุสินารา แจ้งแก่เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ท่านทั้งหลายจงรีบออกไป จงรีบออกไป จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า “พระตถาคตปรินิพพานในเขตบ้านเมืองของพวกเรา พวกเรา (กลับ) ไม่ได้เฝ้าพระตถาคตเป็นครั้งสุดท้าย” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปยังกรุงกุสินาราเพียงผู้เดียว
การถวายอภิวาทของเจ้ามัลละ
ขณะนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารา กำลังประชุมกันอยู่ที่สัณฐาคารด้วยราชกิจบางอย่าง ท่านพระอานนท์เข้าไปที่สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ท่านทั้งหลายจงรีบออกไป จงรีบออกไป จะได้ไม่เสียพระทัยในภายหลังว่า 'พระตถาคตปรินิพพานในเขตบ้านเมืองของพวกเรา พวกเรา (กลับ) ไม่ได้เฝ้าพระตถาคตเป็นครั้งสุดท้าย'
พวกเจ้ามัลละโอรส๒ สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละพอสดับคำของท่านพระอานนท์ ทรงเศร้าเสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัส บางพวกสยายพระเกศา ทรงประคองพระพาหา (ต้นแขน) กันแสงคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาดทรงเพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกจักด่วนอันตรธานไป'
จากนั้น พวกเจ้ามัลละ โอรส สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละ ทรงเศร้าเสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัส ต่างพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ที่สาลวัน ซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินาราของพวกเจ้ามัลละ
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดดังนี้ว่า “ถ้าเราจะให้เจ้ามัลละทั้งหลาย ผู้ครองกรุงกุสินารา ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทีละองค์ ๆ จะถวายอภิวาทไม่ทั่วกัน ราตรีจะสว่างก่อน ทางที่ดี เราควรให้ได้ถวายอภิวาทตามลำดับตระกูล โดยกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมีชื่อนี้พร้อมโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร” แล้วจึงจัดให้เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครองกรุงกุสินาราถวายอภิวาทตามลำดับตระกูล โดยกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมีชื่อนี้พร้อมโอรสชายา บริษัท และอำมาตย์ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียรด้วยวิธีนี้ ท่านพระอานนท์สามารถจัดให้เจ้ามัลละทั้งหลายถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคได้เสร็จชั่วเวลาปฐมยามเท่านั้น
เรื่องสุภัททปริพาชก
สมัยนั้น สุภัททปริพาชก อาศัยอยู่ในกรุงกุสินารา ได้ทราบว่า “พระสมณโคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้” เขาคิดดังนี้ว่า “เราได้ฟังคำของพวกปริพาชกผู้แก่ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า “พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งคราว" พระสมณโคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ก็เรายังมีความสงสัยอยู่ เราเลื่อมใส ท่านพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า “พระสมณโคดมจะแสดงธรรมให้เราละความสงสัยนี้ได้” จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ที่สาลวัน ซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา ของพวกเจ้ามัลละ ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพวกปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า “พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งคราว" พระสมณโคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใสพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า “พระสมณโคดมจะแสดงธรรมให้ข้าพเจ้าละความสงสัยนี้ได้” ขอโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เฝ้าพระสมณโคดมเถิด” เมื่อสุภัททปริพาชกกล่าวอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า “อย่าเลยสุภัททะผู้มีอายุ ท่านอย่ารบกวนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย”
แม้ครั้งที่ ๒ สุภัททปริพาชกก็กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ สุภัททปริพาชกก็กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพวกปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า “พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งคราว” พระสมณโคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่ข้าพเจ้าเลื่อมใสพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า “พระสมณโคดมจะแสดงธรรมให้ข้าพเจ้าละความสงสัยนี้ได้” ขอโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เฝ้าพระสมณโคดมเถิด”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็กล่าวกับสุภัททปริพาชกดังนี้ว่า “อย่าเลยสุภัททะผู้มีอายุ ท่านอย่ารบกวนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย”
พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำของท่านพระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชกจึงรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อย่าห้ามสุภัททะเลยอานนท์ ให้สุภัททะเข้ามาหาตถาคต เขาจะถามปัญหาบางอย่างกับเรา เขาจะถามเพื่อหวังความรู้เท่านั้น ไม่หวังรบกวนเรา อนึ่ง เมื่อเราตอบสิ่งที่ถาม เขาจะรู้ได้ทันที”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับสุภัททปริพาชกดังนี้ว่า “ไปเถิดสุภัททะผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคประทานโอกาสแก่ท่าน
สุภัททปริพาชกจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นอาจารย์ มีชื่อเสียงเกียรติยศเป็นเจ้าลัทธิประชาชนยกย่องกันว่าเป็นคนดีได้แก่ ปูรณะ กัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตะ เกสกัมพลปกุธะ กัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถ์ นาฏบุตร เจ้าลัทธิเหล่านั้นทั้งหมดรู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือไม่ได้รู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สุภัททะ อย่าเลย เรื่องที่เธอถามว่า “เจ้าลัทธิเหล่านั้นทั้งหมดรู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือไม่รู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือบางพวกรู้บางพวกไม่รู้อย่าได้สนใจเลย เราจะแสดงธรรมแก่เธอ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ตีเราจะกล่าว” สุภัททปริพาชกทูลรับสนองพระดำรัสแล้วพระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“สุภัททะ ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มี สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔๓ ในธรรมวินัยที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมมีสมณะที่ ๑ ย่อมมีสมณะที่ ๒ ย่อมมีสมณะที่ ๓ ย่อมมีสมณะที่ ๔ สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย
สุภัททะ เราบวชขณะอายุ ๒๙ ปี แสวงหาว่าอะไร คือกุศล
เราบวชมาได้ ๕๐ ปีกว่า
ยังไม่มีแม้สมณะที่ ๑ ภายนอกธรรมวินัยนี้
ผู้อาจแสดงธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
ไม่มีสมณะที่ ๒ ไม่มีสมณะที่ ๓ ไม่มีสมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลาย ผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ สุภัททปริพาชกได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า 'คนมีตาดีจักเห็นรูปได้' ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ และข้าพระองค์จึงได้การบรรพชา จึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สุภัททะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ประสงค์จะบรรพชาประสงค์จะอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือนล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ อนึ่ง ในเรื่องนี้เราคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย”
สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า “หากผู้ที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะบรรพชาประสงค์จะอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือนล่วงไปเมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ ข้าพระองค์จักขออยู่ปริวาส ๔ ปี หลังจาก ๔ ปีล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจ ก็จงให้บรรพชา จงให้อุปสมบทเป็นภิกษุเถิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ถ้าเช่น -นั้นเธอจงให้สุภัททะบวช” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ในขณะนั้น สุภัททปริพาชกจึงกล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านพระอานนท์ เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้วที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งท่านโดยมอบหมายให้บรรพชาอันเตวาสิก๔ ในที่เฉพาะพระพักตร์
สุภัททปริพาชก ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วแล เมื่อท่านสุภัททะได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่๕ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” จึงเป็นอันว่าท่านสุภัททะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายท่านได้เป็นสักข์สาวก๖ องค์สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค
----- ภาณวารที่ ๕ จบ -----
เชิงอรรถ
๑ มหาศาล หมายถึง ผู้มีทรัพย์มาก ขัตติยมหาศาลมีพระราชทรัพย์๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิพราหมณมหาศาลมี ทรัพย์๘๐ โกฏิคหบดีมหาศาลมีทรัพย์๔๐ โกฏิ
๒ โอรส หมายถืง บุตรที่มารดาเลี้ยงดูให้เจริญอยู่บนอก (เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด)
๓ สมณะที ๑ สมณะที เอ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ในที่นึ๋ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีและพระอรหันต์ตามลำดับ
๔ ความนี้แปลมาจากคำว่า อนฺเตวาลิกาภิเสเกน อภิสิตฺตา หมายถึง การที่อาจารย์แต่งตั้งศิษย์ในสำนักให้บวช ลูกศิษย์แทนตน ซึ่งเป็นจารีตของลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา ถึอเป็นเกียรติยศที่ใครๆ ก็อยากได้สุภัททะ ถือตาม จารีตนี้กล่าวยกย่องท่าน พระอานนท์
๕ อุทิศกายและใจอยูในที่นี้หมายถึง มุ่งที่จะบรรลุอรหัตตผล โดยไม่ห่วงอาลัยต่อร่างกายและชีวิตของตน
๖ สักขิสาวก แปลว่า พระสาวกทีทันเห็นองค์พระพุทธเจ้า มี๓ พวก คือ (๑) ผู้บรรพชาอุปสมบท เรียน กัมมัฏฐาน บรรลุอรหัตตผลเมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่(๒) ผู้ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อพระพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ ต่อมาได้เรียนกัมมัฏฐานและบรรลุอรหัตตผล (๓) ผู้ได้เรียนกัมมัฏฐาน เมื่อพระผู้มีพระภาค ยังทรงพระชนม์อยู่ พระสุภัททะจัดอยู่ในพวกที่ ๑