อาสาฬหบูชา (ขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๘)

วันที่ 31 กค. พ.ศ.2547

 

 

..... วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน ในครั้งพุทธกาล วันอาสาฬหบูชานี้มีปรากฏการณ์สำคัญอย่างน้อย ๔ ประการ คือ

๑ . เป็นวันแรกที่พระศาสดาทรงแสดงปฐมเทศนา

๒ . เป็นวันแรกที่พระศาสดาทรงได้ปฐมสาวก

๓ . เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก

๔ . เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัยครบ คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ

 

พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดปัญจวัคคีย์

หลังจากพระศาสดาตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน ๖ แล้ว ทรงใช้เวลา ๔๙ วัน เสวยวิมุตติสุข คือความสุขจากการหลุดพ้น ครั้นแล้วทรงพิจารณาว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก หมู่สัตว์ที่เริงรมย์ด้วยอาลัยในกิเลส ยากที่จะเห็นได้ ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความ จึงมาทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ที่มีธุลี ( กิเลส) ในจักษุน้อยมีอยู่

พระพุทธองค์ทรงตรวจดูว่า จะแสดงธรรมแก่ใคร ทรงดำริถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร อาจารย์เดิม ผู้มีธุลีคือ กิเลสเบาบาง ก็ทรงทราบว่า สิ้นชีพไปเกิดในพรหมโลกแล้ว ครั้นแล้วจึงทรงดำริถึงปัญจวัคคีย์ผู้มีอุปการะแก่พระองค์ เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ จึงเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

ปฐมเทศนา - “ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตรัสถึงการกระทำสุดโต่ง ๒ อย่างที่บรรชิตไม่พึงเสพ คือ การทำทุกรกิริยาทรมานตน กับการเพลิดเพลินในกามคุณ และทรงชี้หนทาง “ มัชฌิมาปฏิปทา” ทางสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ และอริยสัจ ๔

เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว บรรดาเทวดาทั่วทุกชั้นฟ้าก็บันลือเสียง ตั้งแต่ภุมเทวดาไปจนถึงชั้นพรหมโลกว่า พระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุได้ไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ก็สว่างรุ่งเรืองไปทั่ว เพราะอานุภาพของเหล่าเทวดาทั้งหลาย จบพระธรรมเทศนา ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล พระรัตนตรัยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

 

ปฐมสาวก - พระอัญญาโกณฑัญญะ

พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระสาวกองค์แรกที่บรรลุธรรมก่อนใครเพราะในอดีต ท่านมีอัธยาศัยในการให้ทานตามกาล และก่อนใครๆ โดยมีบุพกรรมดังต่อไปนี้

ในกาลแห่ง “ พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า” ท่านได้ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาพระองค์นี้ แล้วเห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุผู้รัตตัญญู ( ผู้รู้ราตรีนาน เพราะบวชก่อนใคร) แม้ท่านก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น บำเพ็ญมหาทานตลอด ๗ วันแด่พระศาสดาและพระสาวก ๑๐๐, ๐๐๐ รูป พระศาสดาทรงเห็นความปรารถนาในตำแหน่งรัตตัญญูจักสำเร็จจึงพยากรณ์สมบัติอันเป็นเครื่องเจริญ ท่านบำเพ็ญบุญจนตลอดชีวิต เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้สร้างพระเจดีย์ สร้างเรือนแก้ว เรือไฟแก้วอันมีราคาล้อมรอบพระเจดีย์ ท่านทำบุญอย่างนี้ จุติจากอัตภาพนี้แล้วท่องเที่ยวในเทวโลกและมนุษย์โลกเท่านั้นนับหลายกัป

ต่อมาในกาลแห่ง “ พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า” ท่านเกิดเป็นกุฎุมพีชื่อ มหากาล ได้จัดข้าวปายาสอย่างประณีตถวายสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ท่านได้ถวายภัตอันเลิศในกาลเก็บเกี่ยวถึงปีละ ๙ ครั้ง คือ

๑ . ฤดูหว่านข้าว ๒. ข้าวสาลีตั้งท้อง – เป็นน้ำเหลวในข้าวเปลือก

๓ . ข้าวเม่า – เริ่มแข็งตัวแต่ยังนิ่ม ๆ ๔. เกี่ยวข้าว – ข้าวสุกแล้วเกี่ยว

๕ . ข้าวขะเน็ด – มัดขะเน็ดเป็นกำ ๆ ๖. ข้าวมัดเป็นฟ่อน – หลาย ๆ กำเป็น ๑ ฟ่อน

๗ . ข้าวในลาน – ขนเข้าลาน ๘. นวดข้าว – ตีออกจากยวง

๙ . ขนข้าวเข้าฉางยุ้ง - ขนเข้าเก็บในฉาง

ท่านบำเพ็ญบุญตลอดชีวิตด้วยอาการอย่างนี้ ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกหลายกัป แล้วมาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายทรงอุบัติ ท่านมีนามว่า “ โกณฑัญญะ” ได้เรียนไตรเพท ได้ถึงฝั่งในมนต์สำหรับทายลักษณะ

ท่านเป็นเพียงผู้เดียวที่ได้เห็นความสำเร็จพระโพธิญาณจากพระลักษณะของพระมหาบุรุษ จึงกล่าวคำทำนายว่า ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว ได้โปรดพระอัญญาโกณฑัญญะ จนในที่สุดก็บรรลุอรหัตผลด้วยอนัตตลักขณสูตร

 

ข้อปฏิบัติของชาวพุทธในวันนี้

วันนี้เรียกอีกอย่างว่า เป็นวัน “ พระสงฆ์” เพราะมี “ สังฆรัตนะ” บังเกิดขึ้น เพื่อระลึกถึงความสำคัญของวันนี้ ชาวพุทธพึ่งไปบำเพ็ญบุญที่วัดใกล้บ้าน ด้วยการใส่บาตรตอนเช้า เพลไปวัดถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ถืออุโบสถศีล ( ศีล ๘) ฟังพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา ตั้งความปรารถนาว่า บาปทั้งหลายไม่กระทำอีก บุญทั้งหลายจักกระทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และมั่นทำใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ด้วยการลืมสิ่งผิดพลาดที่เคยทำมา และตามนึกถึงความดีที่ได้ทำไปแล้วอยู่เสมอๆ

อ้างอิงท้ายเรื่อง :

พระไพบูลย์ ธมฺมวิปุโลและคณะ วัดพระธรรมกาย. [ ๒๕๔๕] ดรรชนีธรรม ฉบับธรรมะในวันสำคัญประจำปี. กรุงเทพฯ : หจก.เอส.พี.เค.เปเปอร์ แอนด์ ฟอร์ม. น.๑๐๙ – ๑๑๐.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. [ ๒๕๒๕] พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล : วินัยปิฎก มหาวัคค์ มหาขันธกะ เล่มที่ ๖. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. น.๒๙.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. [ ๒๕๒๕] พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล : วินัยปิฎก มหาวัคค์ มหาขันธกะ เล่มที่ ๖. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. น.๔๔.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. [ ๒๕๒๕] พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล : อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต เอตทัคควรรค เล่มที่ ๓๒ หน้า ๒๔๑; ขุททกนิกาย อปทาน พุทธวรรค เล่มที่ ๗๐ หน้า ๖๒๓ ; ขุททกนิกาย เถรคาถา โสฬสกนิบาต เล่มที่ ๕๒ หน้า ๔๙๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.

 

วุฑฒิวงศ์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027120284239451 Mins