สัมมาทิฐิ

วันที่ 09 กค. พ.ศ.2567

2567_07_09_b_.jpg

 


สัมมาทิฐิ


           หลักธรรมซึ่งเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนามีมากถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ แต่ละขันธ์ หรือแต่ละข้อไม่ว่ายากหรือง่าย ล้วนเป็นทางนำผู้ประพฤติปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ทั้งสิ้น เพื่อให้ประชาชนทุกวัยทุกระดับเต็มใจที่จะปฏิบัติธรรมนั้น ๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริงซึ่งเรียกว่า สัมมาทิฐิ เสียก่อน โดยตรัสเน้นดังนี้ว่า

“เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือทำให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเพิ่มพูน ไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนอย่างสัมมาทิฐิ” ที่ตรัสเช่นนี้เพราะสัมมาทิฐิเป็นก้าวแรกของการน้อมนำใจให้ย้อนกลับเข้ามาตั้งมั่นที่ภายในกาย ไม่หลงเตลิดไปติดอยู่ในวัตถุหรืออารมณ์อันน่าใคร่ภายนอก ทำให้ปัญญาที่บริสุทธิ์เกิดขึ้น
            คำว่า สัมมาทิฐิ แปลว่า ความเห็นชอบในระดับชาวบ้าน หมายถึง การปรับปรุงความคิดเห็นให้เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ว่า
                1. การให้ทานเป็นความดีจริง ควรกระทำ
                2. การบูชาสิ่งที่ควรบูชาเป็นความดีจริง ควรกระทำ
                3. การต้อนรับ การเชื้อเชิญ เป็นความดีจริงควรกระทำ
                4. กรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้ย่อมไม่สูญเปล่า ย่อมให้ผลจริง
                5. โลกนี้และโลกหน้ามีจริง
                6. บิดา มารดา มีพระคุณจริง
                7. สัตว์ที่ถือกำเนิดในโอปปาติกะมีจริง
                8. สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ที่พ้นทุกข์ได้แล้วมีจริง

 

 

2567_07_09_b.jpg

 


ศรัทธา


                 มีบ้างเหมือนกันที่ผู้รับการอบรมสั่งสอนในเรื่องศาสนายังเป็นเด็ก หรือยังใหม่ต่อคำสอน จึงไม่สามารถทำความเข้าใจในเรื่องสัมมาทิฐิได้ ในกรณีเช่นนี้พระองค์ได้ทรงแนะนำไว้ว่า ควรเริ่มต้นด้วยการปลูกความเชื่อในการสร้างความดีจากเรื่องง่าย ๆ ด้วยความมีเหตุผลให้เขาเกิดความซาบซึ้งและมั่นใจก่อน จนเขาเห็นได้เองว่า ความดีเหล่านั้นมีค่าควรแก่การทําตามอย่างยิ่ง ความเชื่อเบื้องต้นที่ประกอบด้วยเหตุผลนี้เรียกว่า ศรัทธา แปลว่า เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ


                  ความเชื่ออย่างสมเหตุสมผลที่ควรปลูกให้เกิดขึ้นในเบื้องต้นมี
4 ประการคือ
                   1. เชื่อกรรม คือ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
                   2. เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่าการทำดีย่อมให้ผลเป็นความสุขการท้าชั่วย่อมให้ผลเป็นความทุกข์
                 3. เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน คือ เชื่อว่าบุญอันเป็นผลของการทำความดีและบาปอันเป็นผลของการทำความชั่วย่อมติดตามบุคคลผู้ทํานั้นตลอดไป เปรียบเสมือนเงาที่ติดตามตัว
                4. เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ เชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง ได้ตรัสรู้จริง ผู้ปฏิบัติตามคําสอนย่อมพ้นทุกข์ได้จริง


                   เมื่อปลูกศรัทธาให้เกิดขึ้นแล้ว ทรงสอนให้มี โยนิโสมนสิการ คือ รู้จักใช้ความคิดอย่างแยบคาย พยายามพิจารณาสืบสาวหาเหตุผลถึงต้นเค้าความเป็นมาของสิ่งต่าง ๆ รอบกายให้ตลอดสาย โดยไม่มีใจเอนเอียงหรือมองเพียงผิวเผิน จะได้เกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นตามความเป็นจริง แล้วน้อมเอาปัญญาที่เกิดขึ้นนั้น ย้อนกลับมาพิจารณาตนเอง จนกระทั่งเห็นได้ชัดเจนลงไปว่าหน้าที่อันแท้จริงของทุก ๆ คนที่เกิดมามีอยู่เพียงประการเดียวเท่านั้น คือ เกิดมาเพื่อฝึกอบรมใจตนเองให้ใสสะอาดยิ่งๆ ขึ้นไป กลายเป็นสัมมาทิฐิบุคคลเบื้องต้น จากนั้นจึงปลูกความเห็นถูกให้งอกงามยิ่งขึ้น ด้วยการให้ทราบถึงการประพฤติปฏิบัติธรรมเบื้องสูง เพื่อให้ใจตั้งมั่นพิจารณาเฉพาะเรื่องภายในกายตลอดเวลา จะได้สามารถกำจัดกิเลส แล้วบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไปกลายเป็นสัมมาทิฐิบุคคลขั้นสูงสุด


สรุปแล้ว สัมมาทิฐิจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย
                    1. กัลยาณมิตร
คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ ครูอาจารย์ผู้มีคุณธรรมช่วยอบรมสั่งสอนชี้ทางถูกให้ในขั้นต้น
                    2. โยนิโสมนสิการ คือ ตนเองรู้จักใช้ความคิดพิจารณาอย่างแยบคายในขั้นต่อมา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0027287006378174 Mins