การฝึกสมาธิเบื้องต้น

วันที่ 08 กค. พ.ศ.2567

2567_07_08_b-.jpg

 

การฝึกสมาธิเบื้องต้น


                ต่อไปนี้ให้ทดลองฝึกซ้อมควบคุมใจตนเอง ให้อยู่ในความสงบด้วยการทำสมาธิในพุทธศาสนา ตามแนววิชชาธรรมกาย


                   - สำรวมใจ ระลึกถึงบุญกุศลที่เคยทำมาดีแล้วตลอดชีวิตเพื่อยังความชุ่มชื่นให้แก่จิต สิ่งใดถ้ากระทำ ถ้าเห็น ถ้าได้ยินถ้าระลึกถึงแล้ว ก่อความไม่สบายใจควรเว้นเสีย


                     - กราบบูชาพระรัตนตรัยหน้าที่บูชาพระ สมาทานศีลห้า (หรือ ศีลแปด ศีลสิบ ตามกำลังศรัทธา) ตั้งใจรักษาให้มั่น


                     - นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น


                  - กำหนดบริกรรมนิมิต ให้ใสเหมือนเพชรลูกที่เจียรนัยเป็นดวงกลม ๆ ไม่มีตำหนิ สีขาวใสเย็นตา เย็นใจ ขนาดประมาณเท่าดวงตาดำ

 

                    - หลับตาพอปิดสนิท แต่ไม่ถึงกับบีบกล้ามเนื้อตา บริกรรมภาวนาในใจ เป็นธรรมานุสติว่า สัมมา อะระหัง พร้อมกับบริกรรมนิมิตนึกถึงเพชรลูกเป็นดวงใสมาตั้งไว้กลางกายตรง ฐานที่ 7 (ดูภาพ) บริกรรมทั้งสองอย่างนี้อย่าให้พรากจากกัน และมีสติเสมอมิได้ขาด


                      เมื่อนิมิตเป็นดวงแก้วใสเกิดขึ้นแล้ว ให้หยุดบริกรรมภาวนาเหลือแต่การกำหนดสติเพ่งอยู่กลางดวงนิมิตอย่างเดียวถ้าดวงนิมิตเกิดขึ้นที่อื่น เช่น ตรงหัวตาบ้าง ข้างหน้าบ้าง หน้าท้องบ้าง ฯลฯ ให้น้อมเอานิมิตนั้นมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย แต่อย่าใช้แรงบังคับ
                      ทำใจให้หยุดในหยุดเข้าไปตรงกลางดวงนิมิตเรื่อยไปไม่ถอยหลังกลับ ดวงนิมิตก็จะสว่างสดใสยิ่งขึ้น จะนึกให้ใหญ่หรือเล็กก็ได้ตามปรารถนา


                      เมื่อใจหยุดถูกส่วน นิมิตที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ชัดเจน มีลักษณะเหมือนดวงแก้วที่เจียรนัยแล้ว ใสสะอาด ไม่มีรอยขีดรอยร้าวสว่างเย็นตาเย็นใจ ขนาดประมาณเท่าฟองไข่แดงของไก่ หรืออย่างโตก็ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งคืบเมื่อใจหยุดในหยุดถูกส่วนเข้าในที่สุดจะมีรัศมีสว่างรอบดวง สามารถเห็นจุดศูนย์กลางมีขนาดเท่าปลายเข็มได้ ดวงนิมิตนี้คือ ดวงปฐมมรรค (ดวงธรรม) ที่ชื่อเช่นนี้เพราะ เป็นหนทางเบื้องต้นไปสู่มรรคผลและนิพพาน ฉะนั้น ต้องหมั่นประคองรักษาไว้ให้ดี


                       เมื่อเข้าถึงดวงปฐมมรรคแล้ว ก็เอาใจจรดนิ่ง ๆ เบา ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางดวงปฐมมรรคนั้น เมื่อถูกส่วนก็จะเข้าถึงกายในกายไปตามลำดับ ๆ ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม และเข้าถึง “ธรรมกาย” ในที่สุด


                         การกำหนดบริกรรมนิมิตนั้น ไม่บังคับว่าจะต้องกำหนดเป็นดวงแก้วเสมอไป แต่การกำหนดเป็นดวงแก้วนั้น ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะนึกถึงได้ง่ายที่สุด เราอาจจะนึกถึงพระพุทธรูปแทนก็ได้ คือ


                        - เมื่อหลับตา ให้น้อมอาราธนาพระพุทธรูปที่จำได้องค์ใดองค์หนึ่งมาประดิษฐานไว้ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 โดยให้องค์พระหันพระพักตร์ไปทางเดียวกับเรา แล้วนึกถึงบริกรรมนิมิตองค์พระนั้นไปพร้อมกับบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง ๆ จนกว่าองค์พระนั้นจะปรากฏตรงฐานที่ 7 อย่างชัดเจน (เห็นทั้งที่ยังหลับตา) ถ้าองค์พระปรากฏที่อื่นหรือนอกกาย ให้น้อมเข้ามาไว้ที่ฐานที่ 7

                         - ทำใจให้หยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ขององค์พระ ซึ่งปรากฏอยู่นั้น จรดใจนิ่งอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะเห็นพระในอีกองค์หนึ่งเกิดขึ้นแทนที่ ซ้อนอยู่ภายในองค์พระที่เป็นนิมิตนั้น ต่อจากนั้น องค์พระที่เป็นนิมิตจะค่อย ๆ เลื่อนหายไป องค์พระที่ปรากฏใหม่นี้ มีลักษณะใสบริสุทธิ์เหมือนแก้ว นั่งขัดสมาธิอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ของเรา เป็น พระแก้วเป็นๆ มีเกตุเป็นรูปดอกบัวตูม และมีรัศมีสว่างไสว เรียกว่า ธรรมกาย

                             ธรรมกายที่เกิดขึ้นนี้ อาจปรากฏเป็นสีต่าง ๆ ได้ แต่เมื่อรวมใจจรดนิ่งยิ่งขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เข้าไปอีก จะปรากฏเป็นองค์ใสสว่างยิ่งขึ้นตามลำดับ มีรัศมีรอบองค์ และอาจขยายให้องค์ใหญ่ขึ้นหรือย่อให้เล็กได้ตามปรารถนา สามารถเห็นได้ทั้งขณะหลับตาและลืมตานี้เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์แต่ประการใดให้หมั่นนึกถึงองค์พระนี้เสมอ จะทำให้องค์พระใสเป็นแก้วยิ่งขึ้น

ใจจะปลอดโปร่งเบาสบายอย่างอัศจรรย์ ผิวพรรณจะผ่องใส จิตใจจะเข้มแข็ง อาจหาญร่าเริงในธรรม แต่เรียบร้อย นุ่มนวล ไม่กระด้างบุคลิกจะดีขึ้น น่าเชื่อถือ น่าเข้าใกล้ น่าคบ พร้อมจะเสียสละทุก ๆ อย่างเพื่อความสุขของส่วนรวม เพราะใจของเราได้กลายเป็นใจพระไปแล้ว


                               องค์พระนี้ต้องหมั่นประคองรักษาไว้ให้ชำนาญในทุกอิริยาบถถ้าไม่ใส่ใจรักษาไว้ให้ดี จะเห็นได้ยากหรือไม่เห็นอีก ต้องเริ่มต้นกันใหม่เมื่อสามารถมีสติระลึกถึงได้ติดใจอยู่เสมอแล้ว ธรรมกายจะโปรด และทำให้ผู้เห็นแก้ปัญหาธรรมต่าง ๆ ได้


เมื่อน้อมใจเข้าไปหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ของธรรมกายโดยลำดับ ธรรม ทั้งหลาย จะปรากฏให้รู้เห็นตามความเป็นจริงอย่างละเอียดประณีตชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งกิเลสใด ๆไม่สามารถปิดบังห่อหุ้มใจ สามารถกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด บรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด


                              สำหรับผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงธรรมกาย ขอให้หมั่นปฏิบัติเช่นนี้ต่อไปไม่ลดละ เมื่อใจหยุดนิ่ง ตั้งมั่นได้ถูกส่วนตรงศูนย์กลางกายเมื่อไรเมื่อนั้นธรรมกายจะปรากฏให้เห็นในชาตินี้อย่างแน่นอน

                              1. อย่าใช้กำลัง คือ ไม่ใช้กำลังใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ไม่บีบกล้ามเนื้อตาเพื่อจะให้เห็นนิมิตเร็ว ๆ ไม่เกร็งแขน ไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไม่เกร็งตัว ฯลฯ เพราะการใช้กำลังตรงส่วนไหนของร่างกายก็ตาม จะทำให้จิตเคลื่อนจากศูนย์กลางกายไปสู่จุดนั้น


                              2. อย่าอยากเห็น คือ ทำใจให้เป็นกลาง ประคองสติมิให้เผลอจากบริกรรมภาวนาและบริกรรมนิมิต ส่วนจะเห็นนิมิตเมื่อใดนั้นอย่ากังวล ถ้าถึงเวลาแล้วย่อมเห็นเอง การบังเกิดของดวงนิมิต อุปมาเสมือนการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ไม่อาจจะเร่งเวลาได้


                              3. อย่ากังวลถึงลมหายใจเข้าออก เพราะการฝึกเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย อาศัยการเพ่ง อาโลกกสิณ คือ กสิณความสว่าง เป็นเบื้องต้น เมื่อเกิดนิมิตเป็นดวงสว่างแล้วจึงค่อยเจริญวิปัสสนาในภายหลัง จึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกแต่ประการใด


                          4. เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิแล้วให้ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกายที่เดียว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เช่น ยืนก็ดี เดินก็ดี นอนก็ดี หรือนั่งก็ดี ห้ามย้ายฐานที่ตั้งจิตไปไว้ที่อื่นเป็นอันขาด ให้ตั้งใจบริกรรมภาวนาพร้อมกับนึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใสควบคู่กันตลอดไป


                               5. นิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะต้องน้อมไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายทั้งหมด ถ้านิมิตที่เกิดขึ้นแล้วหายไป ก็ไม่ต้องตามหา ให้ภาวนาประคองใจต่อไปตามปกติ ในที่สุดเมื่อจิตสงบ นิมิตย่อมปรากฏขึ้นใหม่อีก


                               สำหรับผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาเพียงเพื่อเป็นอาภรณ์ประดับกาย หรือเพื่อเป็นพิธีการชนิดหนึ่ง หรือผู้ที่ต้องการฝึกสมาธิเพียงเพื่อให้เกิดความสบายใจ จะได้เป็นการพักผ่อนหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ภารกิจประจำวัน โดยไม่ปรารถนาจะทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ ยังคิดอยู่ว่า การอยู่กับบุตร ภรรยา การมีหน้ามีตาทางโลก การท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเป็นสุขกว่าการเข้าพระนิพพาน เสมือนทหารเกณฑ์ที่ไม่คิดจะเอาดีในราชการอีกต่อไปแล้ว การฝึกสมาธิเบื้องต้นเท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็พอเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขได้พอสมควร เมื่อซักซ้อมปฏิบัติอยู่เสมอ ๆ ไม่ทอดทิ้งจนได้ดวงปฐมมรรคแล้วหมั่นประคองรักษาดวงปฐมมรรคนั้นไว้ตลอดชีวิต และอย่ากระทำความชั่วอีก ก็เป็นอันมั่นใจได้ว่า ถึงอย่างไรชาตินี้ก็พอมีที่พึ่งที่เกาะที่ดีพอสมควร คือเป็นหลักประกันได้ว่า จะไม่ต้องตกนรกแล้วทั้งชาตินี้และชาติหน้า


6 มกราคม 2516

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0027929306030273 Mins