บทที่ ๒ การศึกษาที่แท้จริง

วันที่ 16 กค. พ.ศ.2567

 

2567_07_16_b_01.jpg

 

บทที่ ๒

การศึกษาที่แท้จริง


ความจําเป็นในการจัดการศึกษา


         จากบทที่ ๑ เราได้ทราบแล้วว่ามนุษย์ประกอบด้วยกายกับใจแต่ธาตุ ๔ อันเป็นองค์ประกอบของเซลล์ ซึ่งประกอบกันเป็นกายของมนุษย์นั้นไม่บริสุทธิ์ จึงมีการแตกสลายอยู่ตลอดเวลา ปรากฏว่าในแต่ละนาทีนั้นมีเซลล์ตายมากถึง ๓๐๐ ล้านเซลล์
              ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเติมธาตุ ๔ ในรูปของอาหาร น้ำ อากาศ เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคเข้าไปสร้างเซลล์ใหม่ เพื่อทดแทนเซลล์ที่ตายไป
             แต่เพราะเหตุที่ธาตุ ๔ จากภายนอกที่นำมาเติมนั้น ก็ไม่บริสุทธิ์นักเมื่อเติมเข้าไปแล้วย่อมมีการแตกสลายอีก จึงจำเป็นต้องทดแทนกันไปตลอดชีวิต
              ด้วยเหตุดังกล่าว มนุษย์จึงถูกบังคับให้ต้องแสวงหาธาตุ ๔ จากภายนอกอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็ถูกบังคับให้ หา เก็บ ใช้ปัจจัย ๔ เพื่อเลี้ยงชีวิตโดยปริยาย
            เพื่อเลี้ยงชีวิต เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข หรือบางท่านอาจจะกล่าวว่าเพื่อให้ชีวิตรอดก็ตาม มนุษย์จึงถูกบังคับให้ทำกรรมตลอดวันตลอดเดือน ตลอดปีและตลอดชีวิต ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่
        ขณะที่ทํากรรม หากเผลอสติ หรืออาจเพราะอวิชชา (ความไม่รู้) กิเลสที่แอบแฝงอยู่ในใจของมนุษย์ตั้งแต่เกิดมา ก็จะฉวยโอกาสครอบงำใจทันที

              กิเลสที่ครอบงำใจของมนุษย์นี้เอง ที่บีบคั้น บงการ บังคับให้มนุษย์ดำเนินชีวิตในทางที่ผิด ต้องทำกรรมชั่ว ด้วยการคิดร้าย พูดร้าย และ ทำร้าย ซึ่งเป็นการก่อบาป และเป็นทางมาแห่งความทุกข์ในที่สุด
          อย่างไรก็ตาม หากได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมจากกัลยาณมิตร เช่น พ่อ แม่ พระภิกษุ และครูบาอาจารย์ ฯลฯ มนุษย์เราก็จะดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง มุ่งทำแต่กรรมดี อันเป็นทางมาแห่งบุญและความสุข
             การทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว นอกจากก่อให้เกิดบุญหรือบาปอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังจะก่อให้เกิดนิสัยดีหรือชั่วแก่ผู้กระทำอีกด้วย แต่กว่าการที่คนเราแต่ละคนจะรู้ว่า สิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร อย่างถูกต้องชัดเจน แต่ละคนต่างก็รู้ผิดๆ คิดผิดๆ ทำผิดๆจนเกิดเป็นนิสัยชั่วติดตัวและก่อบาปไว้มากมาย โดยที่ไม่มีโอกาสกลับไปแก้ไขได้เลย มีแต่จะก่อให้เกิดความทุกข์ และกลายเป็นปัญหาทุกข์ในการดำรงชีวิตของตนไปเสียแล้ว
          สำหรับผู้ที่รู้สำนึกว่าตนประพฤติผิด จึงหยุดยั้งการประพฤติชั่วช้าสามานย์ทั้งหลาย แล้วพยายามปรับปรุงตนเองให้มีความประพฤติดีงามอยู่เสมอ ในที่สุดก็จะสามารถพัฒนานิสัยดีๆ ขึ้นในตนได้ และจะส่งผลให้ดำเนินชีวิตผิดพลาดน้อยลง แต่ดำเนินชีวิตในทิศทางที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น
            ทว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ที่ติดนิสัยชั่ว ชอบทำแต่บาปกรรมนั้น ยากที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นคนมีนิสัยดีได้ ที่เห็นง่าย ๆ ก็คือ คนที่ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดการพนัน เป็นนิสัยนั้น ยากที่จะตัดใจหักดิบจากนิสัยเลวๆ เหล่านั้นได้ จนกว่าจะสิ้นชีวิตไป นั่นคือมนุษย์ส่วนใหญ่ล้วนแต่ประสบปัญหาทุกข์ในการดำรงชีวิต

           เพราะเหตุที่มนุษย์ต่างถูกบังคับให้ต้องแสวงหา เก็บและใช้ปัจจัย ๔ ร่วมกับผู้อื่น ทั้งโดยธรรมชาติและสภาพของสังคม นิสัยชั่วของแต่ละคนย่อมกระทบกระทั่งกับคนรอบข้าง ย่อมเกิดเป็นความทุกข์ ความเดือดร้อนไม่รู้จบ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคม และส่งผลเป็นปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน ในที่สุด
            จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาทุกข์ของมนุษย์ ก็คือ ปัญหาทุกข์จากกิเลสครอบงำ แล้วส่งผลมาเป็นปัญหาทุกข์จากการดำรงชีวิต และปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน

 ดังแสดงด้วยภาพต่อไปนี้

 

2567_07_16.JPG

 


ภาพที่ ๒-๑ ปัญหาทุกข์ประจำชีวิตของมนุษย์


       ดังนั้นหากมนุษย์ได้รับการศึกษา คือได้รับการแนะนำและเลี้ยงดูอย่างถูกต้องมาตั้งแต่ถือกำเนิด มนุษย์ย่อมคิดดี พูดดี ทำดี เป็นปกติและจะก่อให้เกิดนิสัยดีๆไปตลอดชีวิตซึ่งจะทำให้ปัญหาทุกข์ทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวหมดไป มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขตามอัตภาพ ในขณะเดียวกันก็ได้โอกาสสั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆขึ้น เพื่อการบรรลุความหลุดพ้นหรือ มรรค ผล นิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

 

       ทั้งหมดนี้คือความจําเป็นที่ทำให้ต้องรีบจัดการศึกษาทั้งในส่วนตน และส่วนรวม


       อนึ่ง การจัดการศึกษาเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตของทุกคน เพราะในทันทีที่ถือกำเนิดมาย่อมต้องประสบปัญหาโดยอัตโนมัติคือ

       ทารกถูกบังคับให้ต้องกินอาหาร เป็นการเติมธาตุ ๔ เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะต้องกินจึงเป็นเหตุบังคับให้คนเราต้องแสวงหา เก็บและใช้ธาตุ ๔ ปัจจัย ๔ เพื่อการดำรงชีวิต ขณะเดียวกัน ก็ต้องตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม
       ดังนั้นถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้หรือไม่ระมัดระวังเรื่องการเก็บ การหาและการใช้ธาตุ ๔ และปัจจัย ๔ แล้วรีบสอนให้เด็กรู้ตั้งแต่เล็กก็จะมีปัญหา

 

เกิดขึ้นตามมา ๓ ประการ คือ


              ก. สุขภาพเสีย


              ข. นิสัยเสีย


              ค. ก่อบาปกรรมเพิ่ม


         อย่างไรก็ตาม ในเรื่องสุขภาพเสีย เรามีทางแก้ไขได้ แต่นิสัยเสียเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข ส่วนบาปกรรมนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่สามารถลบล้างให้สิ้นไปได้
         ในทางกลับกัน เด็กที่พ่อแม่มีสัมมาทิฐิ มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการหาการเก็บ และการใช้ปัจจัย ๔ บุตรที่เกิดมาย่อมจะมีสภาพตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว คือ


                 ก. มีสุขภาพดี


                 ข. มีนิสัยดี


                 ค. สร้างบุญเป็น

 

         สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องไม่ดูเบาคือเด็กทารกก็สามารถก่อบาปได้เช่นเมื่อหิวและไม่ได้รับการตอบสนองในทันทีก็จะโกรธนั่นคือเกิดความคิดไม่ดีต่อบิดามารดาหรือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูตนเช่นนี้บาปก็เกิดกับเด็กทารกน้อยนั้นแล้ว
         ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งจัดการการศึกษายิ่งจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้เร็วเท่าไรยิ่งดีหมายความว่าการให้การศึกษาและการปลูกฝังอบรมเด็กตั้งแต่ยังเยาว์วัยนั้นเป็นเรื่องแสนวิเศษ เพราะ


              ก. มีสุขภาพดี เพราะรู้จักดูแลสุขภาพตน


              ข. มีจิตใจและอารมณ์ดี


              ค. พัฒนานิสัยดีๆ ได้รวดเร็ว


              ง. รับความรู้ได้รวดเร็ว ไม่โง่เขลาเบาปัญญา


              จ. ได้สร้างบุญแต่เยาว์วัย


              ฉ. ยังไม่สร้างบาป


             โดยสรุป คุณค่าและความจำเป็นที่ทำให้ต้องจัดการศึกษา คือ


               ๑. เพื่อป้องกันรักษาทั้งสุขภาพกายและใจของผู้เรียน และคนในชาติ


               ๒. เพื่อป้องกันรักษาทรัพย์สินและชีวิตของผู้เรียน และคนในชาติ


          ๓. เพื่อป้องกันรักษาผู้เรียนและคนในชาติให้พ้นจากความไม่รู้ ความโง่ ความบาป ความทุกข์ และนิสัยชั่วร้ายต่าง ๆ


           ๔. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนและคนในชาติให้มีความรู้ความเฉลียวฉลาด เป็นผู้มีบุญ มีความสุข มีความเจริญ และมีนิสัยรักการสร้างบุญบารมี

 

เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา


                จากปัญหาประจำชีวิตของมนุษย์ที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้ง ๓ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ ย่อมเป็นเหตุผลสำคัญที่มนุษย์ต้องได้รับโดยมีเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษาคือเพื่อความพ้นทุกข์การศึกษานั่นเองเพราะหากดับความทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้วก็ย่อมจะประสบความสุขที่แท้จริงอย่างแน่นอน เป้าหมายการศึกษาที่แท้จริงของชาวโลก จึงเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ซึ่งมี ๓ ระดับดังนี้


                 ๑. ความพ้นทุกข์จากปัญหาการดำรงชีวิต


                 ๒. ความพ้นทุกข์จากปัญหาการอยู่ร่วมกัน


                 ๓. ความพ้นทุกข์จากปัญหากิเลสครอบงำ


                 ๑. ความพ้นทุกข์จากปัญหาการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาส่วนตนสาเหตุสำคัญอันดับแรกของความทุกข์ประเภทนี้คือ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้อะไรเลย ทุกๆ อย่างต้องมาเรียนรู้ในภายหลังทั้งสิ้นสิ่งที่คิดว่ารู้แล้วบางครั้งก็รู้ผิดๆ แม้รู้ไม่ผิดแต่ก็ยังรู้ตื้นๆ ความรู้สำคัญยิ่งที่ขาดไปคือความรู้เกี่ยวกับสังขารโลก ได้แก่ ร่างกายของตนเอง และความรู้เกี่ยวกับภาชนโลกหรือโอกาสโลก ได้แก่ โลกที่เราอยู่อาศัย
                 เกี่ยวกับสังขารโลก กล่าวได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าธาตุสำคัญ ๔ ชนิดที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายของตนนั้น ไม่บริสุทธิ์ ต้องแตกสลายอยู่ตลอดเวลา ทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมโทรมเพราะการตายของเซลล์ (ซึ่งประกอบด้วยธาตุ ๔) ในร่างกายจำนวนมหาศาลทุกๆนาทีมนุษย์ ไม่รู้ว่าการกินอาหารก็เพื่อเข้าไปผลิตเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไปจึงคิดกันเพียงแต่ว่ากินเพื่ออิ่ม เพื่ออร่อย เพื่อสนองกิเลสเพื่ออวดมั่ง อวดมี และที่น่าเวทนาอย่างยิ่งก็คือ กินเพื่อแสดงความเป็นลูกผู้ชาย
หรือเป็นผู้ที่มีน้ำใจห้าวหาญ จึงสรรหาสุรานานายี่ห้อราคาแพงลิบลิ่วมาดื่มกินกัน


                 เนื่องจากไม่รู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการกิน คนเราจึงไม่ใคร่ได้ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของสิ่งที่กินเข้าไป ผลที่ตามมาก็คือกินสิ่งที่เป็นโทษต่อสุขภาพร่างกาย เพราะบางอย่างที่กินก็เข้าไปเพิ่มความไม่บริสุทธิ์ของธาตุ ๔ ในตัวให้สกปรกยิ่งขึ้น บางอย่างก็เข้าไปทำลายอวัยวะภายในให้เสื่อมโทรม บางอย่างก็เข้าไปทําลายสมองและประสาทให้ทำหน้าที่ผิดปกติ ยิ่งกินโดยไม่รู้จักประมาณ ก็มีแต่จะนำมาซึ่งทุกข์และโทษต่อสุขภาพตลอดเวลา กลายเป็นนิสัยเสีย ๆ เกี่ยวกับการบริโภคไปตลอดชีวิต


                    นิสัยเสียๆเกี่ยวกับการบริโภคนี้เองจะเป็นเหตุให้คนเรามีรายจ่ายสูงซึ่งนอกจากรายจ่ายสำหรับเรื่องการบริโภคปัจจัย ๔ แล้วยังจะต้องมีรายจ่ายสำหรับการดูแลรักษาสุขภาพอีกด้วยและถ้าไม่รู้จักประมาณในการใช้ทรัพย์ก็จะมีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายทำให้ต้องหารายได้เพิ่มเติมเมื่อหาด้วยวิธีสุจริตแล้วแต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพอเพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิตในที่สุดก็จะถูกกิเลสบีบคั้นให้ต้องหารายได้ด้วยมิจฉาอาชีวะต่อไป


                   เกี่ยวกับเรื่องภาชนโลกหรือโอกาสโลก ซึ่งก็คือโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ ผู้คนส่วนใหญ่ เพ่งเล็งแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆมากมาย ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในโลก แต่มีน้อยคนที่ร่วมมือกันอนุรักษ์โลกตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ ตามธรรมชาติ ดังจะเห็นจากการตัดต้นไม้ทำลายป่า เพื่อผลประโยชน์ของตน การทำลายต้นน้ำบนภูเขาสูงเพื่อทำเกษตรกรรม การปล่อยควันพิษเข้าไปในอากาศ การทิ้งสิ่งปฏิกูลและสารเคมีลงในแม่น้ำลำคลองด้วยความมักง่าย ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น ซึ่งในที่สุด ก็จะกลายเป็นปัญหาทุกข์ของคนเราจากภาชนโลก ดังที่ได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เช่น อากาศร้อนจัดผิดปกติ น้ำในแม่น้ำลำคลองบางแห่งตื้นเขิน มีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้นทั่วโลกเป็นระยะๆ เป็นต้น


                    เหล่านี้คือ ต้นเหตุแห่งปัญหาบางประการ ที่คนเราขาดความรู้เกี่ยวกับภาชนโลก จึงปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ซึ่งยังผลให้ต้องประสบความเดือดร้อนต่างๆ นับตั้งแต่ปัญหาสุขภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาอื่น ๆ ตามมาเป็นลูกโซ่

 
                  กล่าวได้ว่า ปัญหาการดำรงชีวิต มีสาเหตุเบื้องต้นจากความไม่รู้เกี่ยวกับธรรมชาติและขบวนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายตนเองเป็นสำคัญ จึงกลายเป็นปัญหาสุขภาพกาย ครั้นแล้วปัญหาสุขภาพใจก็ตามมา จากนั้นก็เกิดเป็นปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวของตน วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันนิยมทำตามๆ กันมาก็คือ การจมอยู่ในอบายมุข และประกอบอาชีพที่ผิดทำนองคลองธรรมนานาประเภท ซึ่งก็สร้างปัญหา และก่อให้เกิดความทุกข์กับตนเองอย่างยากที่จะแก้ไข ในที่สุดจึงกลายเป็นปัญหาการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วไปในสังคม


                    ดังนั้นจึงจําเป็นต้องจัดการศึกษาให้ผู้คนในชาติแต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสังขารโลก และภาชนโลกตามความเป็นจริง เพื่อจะได้รู้จักวิธีประพฤติปฏิบัติตน ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้อง โดยต้องฝึกให้มีความขยันหมั่นเพียรประกอบสัมมาอาชีวะ รู้ประมาณในการบริโภคปัจจัย ๔ การใช้ทรัพย์ การไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และการดูแลรักษาสุขภาพ ปัญหาการดำรงชีวิตก็จะลดลง นั่นคือสามารถบรรเทาความทุกข์ส่วนตนลงได้


             ๒. ความพ้นทุกข์จากปัญหาการอยู่ร่วมกัน ตามธรรมดาในแต่ละครอบครัวจะมีสมาชิกอยู่รวมกันไม่กี่คน แต่ก็ยังไม่วายเกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกันไม่เว้นแต่ละวัน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าปัญหา ดังกล่าวนี้ จะไม่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมซึ่งมีเป็นจำนวนมาก
                ถ้ามองในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้คน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น มีสาเหตุต่อเนื่องมาจากปัญหาการดำรงชีวิตนั่นเอง
                  อย่างไรก็ตามถ้าเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า ปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น มีสาเหตุสำคัญ ๒ ประการคือ


                      ๒.๑ ความเห็นแก่ตัว กิเลสในใจคนคือความโลภและความหลง ทำให้คนเราเห็นแก่ตัว คิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญไม่ปฏิบัติตนตามหลักสังคหวัตถุ ๔ แทนที่แต่ละคนจะคิดแบ่งปันกัน (ทาน) ก็กลับกักตุน จะพูดไพเราะ (ปิยวาจา) ให้กำลังใจกันก็ไม่ยอมพูด ทั้งๆ ที่ไม่ต้องลงทุนอะไร จึงไม่ต้องคิดถึงเรื่องการบำเพ็ญประโยชน์ให้กันและกัน (อัตถจริยา) ในเวลาที่เป็นทุกข์ เดือดร้อนขาดแคลนอุปกรณ์ความรู้ความสามารถ ขาดกำลังบุคลากร ยิ่งกว่านั้นแม้เพื่อนรักทำความผิดพลาดด้วยเรื่องอันใดก็ตาม แทนที่จะมีความเสมอต้นเสมอปลาย (สมานัตตตา) ช่วยเหลือแก้ไขให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น ก็กลับเฉยเมยไม่สมกับความเป็นเพื่อน ต่างคนต่างพยายามเสาะแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้ตนได้รับผลประโยชน์ก่อนผู้อื่น ดีกว่าผู้อื่น มากกว่าผู้อื่น หรือบางกรณีก็มุ่งหวังผลประโยชน์เฉพาะตนเท่านั้น ไม่ยอมแบ่งสรรปันส่วนให้กับใครๆ เลย


                       จากความเห็นแก่ตัวไม่ยอมสงเคราะห์กันของคนเราเมื่อปล่อยทิ้งไว้นานวัน ก็ยิ่งเพิ่มความแล้งน้ำใจให้รุนแรงยิ่งขึ้นกลายเป็นว่าแม้ผู้เป็นใหญ่ในสังคมก็ยังขาดพรหมวิหารธรรมทั้ง๔ในการปกครองคือไม่มีทั้งความรักความปรารถนาดี(เมตตา)ความสงสาร(กรุณา)ความพลอยยินดี (มุทิตา) และความวางใจเป็นกลาง (อุเบกขา) ต่อลูกน้อง


                         ๒.๒ ความลำเอียง จากความเห็นแก่ตัวของผู้น้อยตลอดจนความแล้งน้ำใจของผู้ใหญ่ ในที่สุดย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือความลำเอียงขึ้นในสังคมใน ๔ ลักษณะที่เรียกว่า อคติ ๔ คือ ลำเอียง เพราะรัก ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง และลำเอียงเพราะกลัว


                          ในกลุ่มผู้คนหรือสังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเห็นแก่ตัวและความลำเอียงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความลำเอียงของผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาสังคมนั้นย่อมยากที่จะหาความสงบสุขได้เพราะผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์หรือผู้เสียประโยชน์จะมีความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมย่อมจะแสดงความรู้สึกเหล่านั้นออกมาทางกายและวาจาซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกันและไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข


                           ดังนั้นจึงจําเป็นต้องจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้คนในชาติ มีศีล มีธรรม กล่าวคือ รู้จักบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ ด้วยการทำทานรักษาศีล เจริญภาวนาเป็นนิสัย ก็จะทำให้ความเห็นแก่ตัวลดลง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีปัญญาเห็นโทษของความลำเอียง ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้ผู้คนในสังคมทุกระดับ สามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่มีการกระทบกระทั่งกัน หรือถ้าจะมีบ้างก็ไม่มากนัก


                            ๓. ความพ้นทุกข์จากปัญหากิเลสครอบงำ แท้ที่จริงทั้งปัญหาการดำรงชีวิตและปัญหาการอยู่ร่วมกันนั้น ล้วนเกิดมาจากอำนาจกิเลสซึ่งจัดไว้เป็นปัญหาที่ ๓ ทั้งสิ้น กล่าวคือ คนเราทุกคนต่างถือกำเนิดมาพร้อมกับกิเลสที่แอบแฝงอยู่ในใจ และกิเลสก็มีอำนาจเหนือจิตใจของคนเราหลายประการ ในเบื้องต้นก็ครอบคลุมใจเราให้มืดมิดด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ความจริงในเรื่องโลกและชีวิต ทำให้โง่เขลาเบาปัญญา ดังที่เราต่างยินดีเมื่อให้กำเนิดบุตร ทั้ง ๆ ที่การเกิดมานั้นนำมาซึ่งความทุกข์ยิ่งมีชีวิตอยู่ต่อไปก็ยิ่งเป็นทุกข์เพราะกิเลสบีบคั้นให้ต้องทำกรรมตลอดชีวิต


                              นอกจากนี้ ทารกน้อยยังต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการปลูกฝังอบรมของพ่อแม่ ผู้ใหญ่และคนรอบข้าง ซึ่งมีข้อน่าสังเกตคือเรื่องใดที่จะก่อให้เกิดนิสัยดีๆนั้น จําต้องพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำอีก ทารกจึงจะได้นิสัยดีๆนั้นส่วนเรื่องที่ไม่ดีทั้งหลายนั้นกลับเกิดขึ้นได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีการปลูกฝังอบรมเลย ทั้งนี้เพราะกิเลสนั่นเองที่เป็นตัวบงการให้เป็นเช่นนั้น


                             ปัญหาประจำชีวิตทั้ง ๓ ประการดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้คนเรามีทุกข์อยู่เสมอ เมื่อรู้เหตุและที่มาของปัญหาแล้วเราก็ต้องหาทางแก้ปัญหาให้สำเร็จให้ได้ มิฉะนั้นคนเราก็จะต้องทุกข์ทรมานอยู่ตลอดไป


                       นับเป็นโชคอย่างมหาศาลที่เราได้เกิดในดินแดนพระพุทธศาสนาที่ยังมีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม และมีความตั้งใจที่จะเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก ด้วยการถ่ายทอดความรู้เรื่อง มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางอันเกษมเพราะเป็นวิธีการปฏิบัติที่จะทำให้จิตใจผ่องใสหมดจดจากกิเลส นั่นคือ สภาวะที่เรียกว่า บรรลุนิพพาน อันเป็นสภาวะแห่งความดับทุกข์โดยเด็ดขาด เพราะสิ้นภพสิ้นชาติโดยสิ้นเชิงไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ซึ่งเปรียบเสมือนการติดคุกยักษ์โดยไม่มีวันพ้นโทษ


                               ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงควรส่งเสริม ชักนำ และโน้มน้าวผู้คนในชาติให้มาสนใจศึกษาและปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘อย่างเป็นกิจลักษณะทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติให้เป็นนิสัยโดยเริ่มจากระดับอนุบาลเรื่อยไปซึ่งจะมีผลให้ความทุกข์บรรเทาเบาบางลง และมีโอกาสบรรลุนิพพานได้ในภพชาติใดภพชาติหนึ่ง

 

ความผิดพลาดในการจัดการศึกษาทั่วทั้งโลก


                           โดยเหตุที่นักการศึกษาทั่วโลกขาดความรู้ความเข้าใจเรื่ององค์ประกอบของมนุษย์และเรื่องกิเลส ปัจจุบันการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศทั่วโลกจึงมุ่งเน้นไปที่วิชาความรู้ทางโลก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนพ้นทุกข์เฉพาะหน้า โดยมุ่งหวังจะให้ผู้เรียนนำวิชาความรู้ทางโลกไปประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าหลังจากจบการศึกษาแล้ว ผู้เรียนเหล่านั้นจะประกอบสัมมาอาชีวะหรือมิจฉาอาชีวะกันแน่ ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในวงการศึกษาทั่วโลกในปัจจุบันคือ


                                ๑. การจัดการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำาหนดเฉพาะมาตรฐานด้านวิชาการทางโลกเท่านั้น


                             ๒. การจัดการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกขาดมาตรฐานด้านศีลธรรม การที่จะปลูกฝังอบรมพลเมืองในชาติของตนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม จนเกิดเป็นลักษณะนิสัยที่ดีงามนั้นจำเป็นจะต้องจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานด้านศีลธรรมให้สมดุลกับมาตรฐานด้านวิชาการทางโลก


                               อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันการศึกษาแห่งใดในโลกกล้ารับประกันความประพฤติของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันของตนว่า เป็นผู้มีความประพฤติดีปฏิบัติชอบจริง และจะไม่นำความรู้ด้านวิชาการของตนไปหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบ อันเป็นทางมาแห่งปัญหาต่าง ๆ ที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ดังศาสนสุภาษิตว่า

 

                                 “ความรู้ทางวิชาการ หากเกิดแก่คนพาล มีแต่นำความฉิบหายมาให้

 

                                  จึงต้องกล่าวยืนยันวา ความบกพร่องของการจัดการศึกษาแห่งชาติคือรากเหง้าของปัญหาทั้งปวง และผู้สร้างปัญหาก็คือคนพาล ซึ่งเป็นผลผลิตของการจัดการศึกษาแห่งชาติที่ขาดมาตรฐานศีลธรรมนั่นเอง
                                   ถ้าถามว่า คนพาลมีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมอย่างไรลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของคนพาลในสังคมที่สังเกตเห็น

ได้ก็คือ
                                ๑) คนพาล คือบุคคลที่มีความเห็นผิดไม่สามารถตัดสินแยกแยะได้ระหว่างดีกับชั่ว ถูกกับผิด บุญกับบาป ควรกับไม่ควรครั้นเมื่อถูกกิเลสบีบคั้น จึงกล้าทำชั่วแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ดังนั้นตลอดชีวิตคนพาลจึงมีแต่สร้างปัญหาประจำชีวิตทั้ง ๓ ประการเพิ่มพูนให้แก่ตนเอง ได้แก่ ปัญหาทุกข์จากการดำรงชีวิต ปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน และปัญหาทุกข์จากกิเลสครอบงำมิได้ว่างเว้น


                                  ๒) คนพาลยังมีความเห็นผิดอีกว่า คนที่ยังไม่ได้ทำความชั่วเพราะโอกาสไม่อำนวยคือคนดี คนที่ทำความชั่วน้อยกว่าคนอื่นก็คือ คนดี ดังนั้นคนดีในสายตาของคนพาลก็คือคนที่กำลังก่อปัญหา หรือพร้อมที่จะก่อปัญหาประจำชีวิต ๓ ประการอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
                                   ๓. การจัดการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ผู้เรียนยังขาดความรู้เท่าทันในเรื่องกิเลส ในพระพุทธศาสนาแบ่งกิเลสออกเป็นหลายระดับ ซึ่งมีทั้งระดับหยาบและระดับละเอียด สิ่งที่คนเราจำเป็นต้องรู้เท่าทันเป็นอันดับแรกก็คือกิเลสระดับหยาบ ๓ ตระกูล ได้แก่ ความโลภ ความโกรธและความหลง และกิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้เองที่เป็นรากเหง้าแห่งปัญหาที่ทำให้คนเราประพฤติผิดศีลธรรมไร้คุณธรรมและจริยธรรมให้เราเห็นกันอยู่ทุกวันๆ

 

มิตรเทียม ผลของการจัดการศึกษาที่ผิดพลาด


                               กล่าวโดยสรุปได้ว่า การจัดการศึกษาที่ผิดพลาดของแต่ละชาติทั่วโลก เนื่องจากมุ่งเน้นวิชาการนำหน้าศีลธรรมตามหลังหรือไร้ซึ่งจึงเป็นเหตุให้ทั่วโลกมีประชาชนที่เป็นคนพาลมากกว่าคนดีศีลธรรมในทางพระพุทธศาสนาเรียกประชาชนประเภทนี้ว่ามิตรเทียม ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ ประเภท ได้แก่


                               ๑. มิตรปอกลอก


                               ๒. มิตรดีแต่พูด


                               ๓. มิตรช่างประจบ


                               ๔. มิตรชวนฉิบหาย


                               มิตรเทียมแต่ละประเภทเหล่านี้ ต่างแสดงพฤติกรรมที่น่ารังเกียจซึ่งก่อให้เกิดปัญหาประจำชีวิตทั้ง ๓ ประการ พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงพฤติกรรมของมิตรเทียมแต่ละประเภทไว้ ๔ ประการ คือ


                                ๑. มิตรปอกลอก มีพฤติกรรมเลวๆ ๔ ประการ คือ


                                    ๑) คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว


                                    ๒) เสียแต่น้อยคิดเอาให้ได้มากๆ


                                    ๓) ตนมีภัยจึงช่วยกิจของเพื่อน


                                    ๔) คบเพราะเห็นประโยชน์ส่วนตน


                                 ๒. มิตรดีแต่พูด มีพฤติกรรมเลวๆ ๔ ประการ คือ


                                     ๑) อ้างเรื่องที่ผ่านไปแล้วมาปราศรัย


                                     ๒) อ้างเรื่องที่ยังไม่เกิดมาปราศรัย


                                     ๓) สงเคราะห์แต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์


                                     ๔) ปฏิเสธเมื่อถูกขอความช่วยเหลือ

 

                                 ๓. มิตรช่างประจบ มีพฤติกรรมเลวๆ ๔ ประการ คือ


                                      ๑) จะทำชั่วก็คล้อยตาม


                                       ๒) จะทำดีก็คล้อยตาม


                                       ๓) ต่อหน้าก็สรรเสริญ


                                       ๔) ลับหลังก็นินทา


                                  ๔. มิตรชวนฉิบหาย มีพฤติกรรมเลวๆ ๔ ประการคือ


                                        ๑) ชักชวนดื่มน้ำเมา


                                        ๒) ชักชวนเที่ยวกลางคืน


                                        ๓) ชักชวนให้จมกับสิ่งไร้สาระ


                                        ๔) ชักชวนให้เล่นการพนัน


                                  ถ้าพิจารณาดูจากพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของมิตรเทียมที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วทุกซอกมุมของสังคมแล้วจะเห็นได้ว่าสังคมหรือโลกของเราทุกวันนี้ตกอยู่ในภาวะอันตรายเป็นอย่างยิ่งเพราะปัญหาประจำชีวิตของมนุษย์ทั้ง๓ประการจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆถึงขนาดกลายเป็นปัญหาร้ายแรงที่จุดไฟให้ลุกท่วมโลกได้ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ชาวโลกจะต้องตื่นขึ้นมาร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหามิตรเทียมให้เป็นมิตรแท้หรือเป็นคนดีมีสัมมาทิฐิอย่างมั่นคงโดยเริ่มจากตัวเราเองเป็นคนแรกอย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหามิตรเทียมในสังคมที่จะก่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างจริงจังและรวดเร็วต้องอาศัยการจัดการศึกษาที่มีมาตรฐานศีลธรรม


การศึกษาที่สมบูรณ์


         การศึกษาที่สมบูรณ์ หมายถึง การจัดการศึกษาที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถป้องกันและกำจัดกิเลสได้ด้วยตนเองตามสมควรแก่เพศและวัย ซึ่งสามารถทำได้โดย


             ๑. จัดระบบการศึกษาให้มนุษย์รู้เท่าทันกิเลส ได้แก่ การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจแตกฉานสมควรแก่เพศและวัยของตนในเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ (ซึ่งมีคำอธิบายในบทต่อไป) เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสู้รบหรือป้องกันกิเลสทั้ง ๓ ตระกูลไม่ให้กำเริบออกฤทธิ์ได้


               ๒. กําหนดมาตรฐานด้านวิชาการกับด้านศีลธรรมในแต่ละระดับชั้นการศึกษาให้สมดุลกัน การกำหนดมาตรฐานเช่นนี้ย่อมทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานทั้ง๒ด้าน กล่าวคือ


                             ๑) ด้านครู ผู้สอนทุกคนทุกวิชาจะไม่มุ่งเน้นเฉพาะความสำคัญด้านวิชาการดังที่เคยปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่จะตั้งใจสร้างกุศโลบายเพื่อปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยบรรดาศิษย์ของตนไม่ว่าจะเกะกะเกเรอย่างไรให้เป็นคนเรียนเก่งและเป็นคนดีให้ได้นับเป็นการปลุกจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูขึ้นมาอย่างจริงจัง


                           ๒) ด้านศิษย์หรือผู้เรียน ศิษย์ทั้งหลายย่อมมีปัญญาสามารถมองเห็นความปรารถนาดีและความเมตตากรุณาที่ครูมีต่อตนเพราะเด็กนักเรียนแต่ละคนย่อมมีมโนธรรมหรืออาจเรียกว่าบุญก็ได้ ติดตัวกันมาตั้งแต่เกิด จึงเกิดความสำนึกในพระคุณของครู ทำให้เกิดความเคารพรักครู และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าขึ้นทั้งด้านวิชาการและศีลธรรมซึ่งก็เป็นการปลุกจิตวิญญาณแห่งการเป็นศิษย์อย่างดีเลิศอีกเช่นกัน


                            สำหรับมาตรฐานวิชาการแต่ละสาขาในระดับชั้นเรียนต่างๆ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำกรอบแห่งการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานสอดคล้องกับหลักสากลไว้เรียบร้อยแล้วซึ่งแต่ละวิชาก็มีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่หลายประการ จึงไม่นำมากล่าวในที่นี้

 

                            ๓. สร้างกรอบมาตรฐานศีลธรรมขั้นพื้นฐาน สำหรับกรอบมาตรฐานศีลธรรมขั้นพื้นฐานตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งจะทำให้คนเราครองชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสงบสุขตามอัตภาพ ประกอบด้วย สาระสำคัญ ๔ ประการ คือ


                                ๑) มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมในตน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ทําความเดือดร้อนให้ตัวเอง โดยเว้นจากการประพฤติกรรมกิเลส ๔ ประการตลอดชีวิต คือ ๑) การฆ่าสัตว์ ๒) การลักทรัพย์๓) การประพฤติผิดในกาม และ ๔) การพูดเท็จ ซึ่งก็คือศีล ๔ ข้อแรกในศีล ๕ นั่นเอง เพราะตระหนักชัดว่า การล่วงละเมิดศีลแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นการทำลายความเป็นคนของตนทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ ขณะเดียวกันก็ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนรอบข้างอีกด้วย


                             กล่าวได้ว่า ความรับผิดชอบต่อศีลธรรมในตนด้วยการเว้นขาดจากกรรมกิเลส ๔ คือ ความรับผิดชอบต่อต้นทุนแห่งความเป็นมนุษย์ของตนและผู้อื่น หากขาดความรับผิดชอบในเรื่องนี้แล้วคุณค่าของคนเราย่อมตกต่ำไม่ต่างจากสัตว์ดิรัจฉาน


                               ๒) มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมสังคม หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ทําความเดือดร้อนให้สังคมด้วยการไม่มีอคติ ๔ หรือความลำเอียง ๔ ประการ ได้แก่ ๑) ฉันทาคติ : ลำเอียงเพราะรัก ๒) โทสาคติ : ลำเอียงเพราะโกรธ ๓) โมหาคติ : ลำเอียงเพราะหลง
๔) ภยาคติ : ลำเอียงเพราะกลัว


                              กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่มีความลำเอียงเกิดขึ้นย่อมเป็นการสนับสนุนให้เกิดความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฐิว่าต้องทำชั่วจึงได้ดีเมื่อนั้นความเชื่อในเรื่องกฎแห่งเหตุและผลตามความเป็นจริงตามธรรมชาติหรือกฎแห่งกรรมก็จะถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิงครั้นเมื่อบุคคลขาดความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ย่อมทำผิดศีลได้ทุกข้อ ทำชั่วได้ทุกอย่างโดยปราศจากหิริโอตตัปปะ


                         ด้วยเหตุนี้ ผู้มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมสังคมจึงไม่ยอมปล่อยให้ตนมีความประพฤติผิดคลองธรรมด้วยความลำเอียงตลอดชีวิตแม้จะต้องเผชิญกับความตายก็ไม่ยอมกระทำการใดๆอันเป็นเหตุให้ผู้ไม่ควรได้รับกลับได้รับผู้ควรได้รับกลับไม่ได้รับหรือผู้ควรได้น้อยกลับได้มากผู้ควรได้มากกลับได้น้อยเพราะตระหนักชัดว่าการกระทำนั้นนอกจากจะเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์และความเดือดร้อนแล้วยังกระทบต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคม ทั้งยังเป็นการทำลายกฎกติกาตลอดจนความสมัครสมานสามัคคีและความสงบสุขของสังคมด้วย


                           ๓) มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมเศรษฐกิจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ทําความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจด้วยการเว้นขาดจาก อบายมุข 5 ประการ ได้แก่ ๑) ดื่มสุราและของมึนเมา ๒) ชอบเที่ยว กลางคืน ๓) ชอบเที่ยวดูการละเล่น ๔) เล่นการพนัน ๕) คบคนชั่วเป็นมิตร ๖) เกียจคร้านการทำงาน


                             อบายมุข ๔ ข้อแรกนั้นถือว่าเป็นส่วนเกินหรือไม่มีคุณค่าต่อชีวิตมนุษย์ สำหรับข้อ ๕ นับว่ามีอันตรายมากที่สุด เพราะจะเป็นตัวการสำคัญที่ชักนำไปสู่อบายมุข ๔ ข้อแรก ส่วนข้อสุดท้ายนั้น คนที่เกียจคร้านในการทำงานย่อมไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ตนเองได้จึงทำตัวเป็นกาฝากสังคม หรือเบียดเบียนผู้อื่นสุดแต่จะมีลู่ทาง


                              ที่ใดก็ตามเมื่อมือบายมุขแพร่หลาย ที่นั่นย่อมเกิดลัทธิบูชาเงินเป็นพระเจ้า ยึดถือว่าเงินสำคัญกว่าสิ่งใด เพราะคิดว่าเงินสามารถซื้อหาความสุขทางเนื้อหนังได้เงินจึงสำคัญยิ่งกว่าศีลในที่สุดก็กลายเป็นค่านิยมของสังคมนำไปสู่การมีอคติ ๔ และการประพฤติกรรมกิเลส ๔ อย่างยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้


                     โดยสรุป คือ มีอบายมุขที่ไหนความฉิบหายย่อมมาเยือนที่นั่น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า อบายมุขคือปากทางแห่งความฉิบหาย


                               ๔) มีความรับผิดชอบต่อการสร้างมิตรแท้ให้แก่สังคมหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ร่วมสร้างคนดีให้เกิดขึ้นด้วยทิศ ๖ ทิศ ๖ คือกลุ่มคน ๖ กลุ่มที่แวดล้อมใกล้ชิดกับตัวเรามากที่สุดในลักษณะเฉพาะกลุ่มคนทั้ง ๖ นี้จัดเป็นหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุดสมบูรณ์ที่สุดและสำคัญที่สุดในการปลูกฝังศีลธรรมให้แก่ตัวเราเองและสังคมโดยมีตัวเราเป็นศูนย์กลางแล้วแวดล้อมด้วยบุคคลใกล้ชิดอีก ๖ กลุ่ม หากมีการจัดการศึกษาที่ทำให้กลุ่มคนแต่ละทิศสามารถปฏิบัติตนต่อกันตามหน้าที่ที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ได้อย่างถูกต้องครบถ้วนและเหมาะสมบุคคลก็จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างมิตรแท้ให้แก่สังคมและประเทศชาติซึ่งจะยังผลให้สามารถฉุดสังคมส่วนใหญ่ให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วเป็นอัศจรรย์ กลุ่มคนทั้ง ๖ นี้ประกอบด้วย
 

                                  กลุ่มที่ ๑ คือ มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า เพราะอุปการะผู้นั้นมาก่อน


                                  กลุ่มที่ ๒ คือ ครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา เพราะควรแก่การบูชา


                                  กลุ่มที่ ๓ คือ ภรรยาหรือสามีเป็นทิศเบื้องหลัง เพราะสามารถติดตามอย่างใกล้ชิด


                                  กลุ่มที่ ๔ คือ มิตรและผู้ร่วมงานเป็นทิศเบื้องซ้าย เพราะช่วยให้ข้ามพ้นภัยได้

 

                                  กลุ่มที่ ๕ คือ ลูกน้องและบริวารเป็นทิศเบื้องล่างช่วยทํางานในกิจการทั้งปวง


                                 กลุ่มที่ ๖ คือ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน เพราะชี้นำให้ตั้งอยู่ในของสูงคือศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม

 

2567_07_16_01.JPG

 

ภาพที่ ๒-๒ กลุ่มคนในทิศทั้ง ๖

 

ตารางที่ ๒-๑ หน้าที่ของบุคคลทั้ง ๖ กลุ่มที่พึงปฏิบัติต่อกันในแต่ละกลุ่ม

 

ทิศเบื้องหน้า : มารดา บิดา <----> บุตร

หน้าที่ของมารดาบิดาต่อบุตร

๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

๒. ให้ตั้งใจอยู่ในความดี

๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา

๔. หาภรรยาหรือสามีที่สมควรให้

๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร

หน้าที่ของบุตรต่อบิดามารดา

๑. ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ

๒. ช่วยทำการงานของท่าน

๓. ดำรงวงศ์ตระกูล

๔. ประพฤติตนให้สมควรเป็นผู้รับมรดก

๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน

ทิศเบื้องขวา : ครูอาจารย์ <----> ศิษย์

หน้าที่ของสามีต่อภรรยา

๑. แนะนำดี

๒. ให้เรียนดี

๓. บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด

๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง

๕. ทำการป้องกันในทิศทั้งหลาย

หน้าที่ของสามีต่อภรรยา

๑. ลุกขึ้นยืนรับ

๒. เข้าไปคอยรับใช้ใกล้ชิด

๓. เชื่อฟัง

๔. ปรนนิบัติรับใช้

๕. เรียนศิลปวิทยาด้วยความเคารพ

ทิศเบื้องหลัง : ภรรยา<----> สามี

หน้าที่ของสามีต่อภรรยา

๑. ให้เกียรติยกย่อง

๒. ไม่ดูหมิ่น

๓. ไม่ประพฤตินอกใจ

๔. มอบความเป็นใหญ่ให้

๕. ให้เครื่องแต่งตัว

หน้าที่ของภรรยาต่อสามี

๑. จัดการงานดี

๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงดี

๓. ไม่ประพฤตินอกใจ

๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้

๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทั้งปวง

 

ทิศเบื้องซ้าย : ตัวเรา<----> มิตร

หน้าที่ของเราต่อมิตร

๑. การแบ่งปันสิ่งของให้

๒. กล่าววาจาเป็นที่รัก

๓. ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์

๔. วางตนสม่ำเสมอ

๕. ไม่พูดจาหลอกลวงกัน

หน้าที่ของมิตรต่อเรา

๑. ป้องกันมิตรผู้ประมาทแล้ว

๒. ป้องกันทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว

๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้

๔. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย

๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของมิตร

ทิศเบื้องล่าง : หัวหน้า <----> ลูกน้อง

หน้าที่ของหัวหน้าต่อลูกน้อง

๑. สามารถจัดการงานให้สมควรแก่กำลัง

๒. ให้อาหารและรางวัล

๓. ดูแลรักษายามเจ็บป่วย

๔. แจกของแปลก ๆ พิเศษให้กิน

๕. ให้หยุดตามโอกาส

หน้าที่ของลูกน้องต่อหัวหน้า

๑. เริ่มทำงานก่อนหัวหน้า

๒. เลิกทำงานหลังหัวหน้า

๓. ถือเอาแต่ของที่หัวหน้าให้

๔. ทำงานให้ดีขึ้น

๕. นำเกียรติคุณของหัวหน้าไปสรรเสริญ

ทิศเบื้องบน : สมณพราหมณ์ <----> คฤหัสถ์

หน้าที่ของสมณะ (พระสงฆ์) คฤหัสถ์

๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี

๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจงาม

๔. ให้ได้ฟัง (ธรรม) สิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

๖. บอกทางสวรรค์ให้

หน้าที่ของคฤหัสถ์ต่อสมณะ (พระสงฆ์)

๑. จะทำสิ่งใดก็ทำด้วยเมตตา

๒. จะพูดสิ่งใดก็พูดด้วยเมตตา

๓. จะคิดสิ่งใดก็คิดด้วยเมตตา

๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ

๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

2567_07_16-1.JPG

หลักในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองต่อทิศ ๖


          เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ไม่อาจอยู่ตามลำพังตนเองได้ยังต้องพึ่งพาอาศัยสัตว์โลกผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดตลอดเวลาแก่ เจ็บ ตายด้วยกันอยู่มิได้ขาด ขณะที่เราเป็นแกนกลางก็ถูกล้อมรอบด้วยทิศ ๖ ขณะที่ผู้อื่น เช่น เพื่อนเป็นแกนกลาง เราก็เป็น ๑ ในทิศ ๖ของเพื่อน หรือขณะที่คนรับใช้ของเราเป็นแกนกลาง เราก็เป็น ๑ ใน ๖ ทิศของเขาเช่นกัน


            ดังนั้นเพื่อให้สัมพันธภาพระหว่างตัวเรากับผู้คนทั้ง ๖ ทิศดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยดี และเพื่อเป็นการร่วมกันรับผิดชอบต่อการสร้างมิตรแท้ให้แก่สังคม คนเราต่างต้องยึดถือหลัก ๒ ประการเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของตนบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ดังนี้


               ๑. ต่างคนต่างต้องตั้งใจละเว้นกรรมชั่ว ๑๔ ประการโดยเด็ดขาด ได้แก่ กรรมกิเลส ๔ (ศีล ๔ ข้อแรกในศีล ๕) อคติ ๔ และอบายมุข ๖ เกี่ยวกับการละเว้นกรรมชั่วให้สัมฤทธิผลนั้น มีข้อเตือนใจให้ระลึกถึงอยู่ ๔ ประการ คือ


                  ๑) เราต้องตั้งใจเว้นอย่างเด็ดขาดตลอดไป มิฉะนั้นเราก็จะไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงตนเองให้เป็นต้นแบบของผู้คนรอบข้างเราได้


               ๒) ขณะที่เรากำลังตั้งใจปรับปรุงตนเองอยู่นั้น ก็พึงพยายามซึมซับคุณงามความดีต่าง ๆ ของบุคคลในทิศ ๖ ของเราไว้ให้ได้มากที่สุด


                   ๓) แท้ที่จริงแล้วคนเราทุกคนต่างมีบทบาทของครู ผู้ทำหน้าที่อบรมบ่มนิสัยของกันและกันโดยปริยาย


                   ๔) การละกรรมชั่วเพื่อปรับปรุงแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีนั้น เป็นเรื่องการฝืนใจ หรือสวนกระแสกิเลส ดังนั้นจำเป็นต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง มิฉะนั้นก็ยากที่จะทำได้สำเร็จ


                   ถ้าทิศ ๖ ในสังคมใดก็ตามมีลักษณะเป็นมิตรแท้สมบูรณ์พร้อมด้วยมาตรฐานของคนดีที่โลกต้องการทั้ง ๔ ประการสังคมนั้นย่อมเป็นสังคมสันติสุข และได้ชื่อว่า เป็นสังคมที่สามารถจัดการศึกษาได้สมบูรณ์แบบที่สุด


                       ๒. ต่างคนต่างต้องทำตนเป็นศูนย์กลางของทิศ ๖ แล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประจำทิศของตนที่พึงปฏิบัติต่อแต่ละบุคคลทั่วทั้ง ๖ ทิศให้ถูกต้องเหมาะสมและสมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ โดยใช้สังคหวัตถุธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจซึ่งกันและกันตลอดเวลา


                         สังคหวัตถุธรรม คือ ธรรม ๔ ประการสำหรับยึดเหนี่ยวใจและประสานกันไว้ให้เหนียวแน่น แข็งแกร่ง และถาวรด้วยน้ำใจที่อดทนเป็นผลให้แต่ละคนต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรักใคร่สามัคคีปรองดองเมื่อมีเรื่องขัดใจกันก็อภัยให้กันได้โดยง่ายประกอบด้วย ๑) ทาน ๒) ปิยวาจา ๓) อัตถจริยา ๔) สมานัตตตา


                           เหตุที่ใช้สังคหวัตถุธรรมเป็นหลักปฏิบัติในการยึดเหนี่ยวน้ำใจซึ่งกันและกันของกลุ่มคนในทิศ ๖ นั้น ก็ด้วยเหตุผลสำคัญอยู่ ๒ ประการคือ


                           ๑) ความแตกต่างระหว่างบุคคลในทิศ ๖ กล่าวคือ บุคคลที่ล้อมรอบตัวเราทั้ง 5 กลุ่มนั้น ไม่มีใครเหมือนกันเลย แต่ละคนล้วนแตกต่างกันในหลายแง่มุม ซึ่งอาจแยกได้เป็นสิบเป็นร้อยประเด็นทีเดียว เช่น เพศ อายุ อาชีพ ฐานะ ตระกูล สถานภาพทางสังคม การศึกษา อบรม เชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ความเชื่อ นิสัย ทัศนคติประสบการณ์ทางโลกและทางธรรม สติปัญญา สุขภาพ ฯลฯ


                            ๒) สังคหวัตถุธรรมสามารถสนองความต้องการหรือความขาดแคลนของบุคคลได้กว้างขวางครอบคลุมมากกว่าธรรมหมวดอื่น กล่าวคือ


                             ๑. ทาน หมายถึงการให้ การแบ่งปัน รวมถึงการสงเคราะห์ด้วย


                     สําหรับบุคคลที่ยากจนย่อมขาดแคลนทรัพย์สินเงินทองบุคคลที่ประสบภัยธรรมชาติ ย่อมต้องการความช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ในด้านปัจจัย๔อย่างรีบด่วนการทำทานของเราย่อมสามารถสนองความต้องการและความขาดแคลนได้ทันท่วงทีแม้ผู้ที่ไม่ขาดแคลนเมื่อมีผู้นำสิ่งของมาให้ด้วยความปรารถนาดีก็จะรู้สึกปลาบปลื้มใจไม่รู้ลืมและเกิดความรักความปรารถนาดีต่อผู้ให้ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก


                          ๒. ปิยวาจา หมายถึง วาจาไพเราะหรือการพูดดีต่อกัน คนเราโดยทั่วไปมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกำลังใจ บุคคลที่เคยมีความรู้ความสามารถสูงส่ง มีทรัพย์ศฤงคารมากมาย มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ แต่บางคราวอาจจะมีสิ่งใดมาบั่นทอนกำลังใจทำให้รู้สึกท้อถอยและสิ้นหวัง ไม่สนใจใยดีที่จะพากเพียรประกอบการงาน ให้ชีวิตเกิดความเจริญก้าวหน้าต่อไปในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่บุคคลต้องการที่สุดก็คือปิยวาจา ได้แก่ คำพูดประโลมใจ คำพูดปลอบขวัญ ฯลฯ จากคนรอบข้าง


                                  ดังนั้นถ้าเราสังเกตเห็นว่าบุคคลใดในทิศ ๖ ของเรากำลังใจตก ก็จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบช่วยเติมพลังใจแก่เขาด้วยปิยวาจาเพื่อให้เขาเกิดความอาจหาญพร้อมที่จะฟันฝ่าอุปสรรคเอาชนะทุกข์ต่อไปให้ได้


                                ๓. อัตถจริยา หมายถึง การช่วยเหลือกันด้วยกำลังกายกำลังทรัพย์ กำลังปัญญา กำลังความคิด กำลังบุญบารมีเป็นต้น ซึ่งเป็นไปโดยชอบธรรมและถูกต้องตามทำนองคลองธรรม


                                เมื่อใดก็ตาม ถ้าสังเกตเห็นว่าบุคคลใดในทิศ ๖ ของเรากำลังต้องการหรือขาดแคลนแรงงานประสบการณ์ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการหรือการใช้อุปกรณ์ต่างๆหรือมีปัญหาในการติดต่อประสานงานกับบุคคลหรือองค์กรใดๆถ้าตัวเรามีความรู้ความสามารถและความพร้อมที่จะช่วยเหลือได้ก็พึงขันอาสาเข้าไปช่วยให้ทันท่วงทีด้วยแต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปโดยถูกต้องทำนองคลองธรรมทุกประการ ไม่มีเรื่องผิดศีลผิดธรรมแอบแฝงอยู่


                                  ๔. สมานัตตตา หมายถึง วางตัวดีต่อกันเสมอต้นเสมอปลายไม่ถือตัว เป็นกันเอง มีความซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน


                               ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันมักมีปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจอยู่ประการหนึ่ง คือ ยากที่จะไว้วางใจในตัวบุคคลที่เป็นทิศ ๖ ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เป็นทิศเบื้องซ้ายหรือเพื่อนฝูงเช่นเพื่อนบางคนที่เคยได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากเราในการแก้ปัญหาในยามที่เขาเดือดร้อนให้ลุล่วงไปด้วยดีครั้นเวลาล่วงเลยไปเมื่อเราไปขอความช่วยเหลือจากเขาบ้างเขาก็ยินดีช่วยเหลือแต่ประพฤติทุจริตต่อเราทำให้ความเป็นมิตรแท้ต้องสูญสิ้นไปหรือบางรายที่เราเคยช่วยเหลือไว้แต่ครั้นภายหลังฐานะของเขาเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย มียศ ตำแหน่งใหญ่โต เขาก็แสดงอาการเมินเฉยในยามที่เราไปขอความช่วยเหลือจากเขาบ้าง พฤติกรรมเช่นนี้ก็ทำให้ความเป็นมิตรแท้ฝ่อไปอีกเหมือนกัน


                         ดังนั้นเมื่อสังเกตพบว่าบุคคลใดในทิศ ๖ ของเราขาดความมั่นใจในตัวเรา ก็พึงแสดงความเป็นกันเองต่อเขาให้ปรากฏชัดเจน เพื่อให้เขาเห็นว่าเราเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย พฤติกรรมเช่นนี้ ย่อมเป็นการร่วมกันรับผิดชอบต่อการสร้างมิตรแท้ให้แก่สังคม


                         ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ชาวโลกทั้งหลายจะต้องหันหน้ามารับผิดชอบร่วมกันในการสร้างมิตรแท้ ผู้อุดมไปด้วยความรู้วิชาการมี

                           ความประพฤติดีงาม และสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นมาเต็มโลกให้ได้ เพราะการสร้างมิตรแท้เพิ่มขึ้นหนึ่งคนก็ย่อมเป็นการกําจัดมิตรเทียมให้หมดไปจากโลกนี้ได้หนึ่งคนเช่นเดียวกัน


มิตรแท้ผลของการจัดการศึกษาที่ถูกต้อง


         ตามหลักพระพุทธศาสนาแบ่งมิตรแท้ออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่


             ๑. มิตรมีอุปการะ


             ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์


             ๓. มิตรแนะนำประโยชน์


             ๔. มิตรมีความรักใคร่


             มิตรแท้แต่ละประเภทต่างแสดงพฤติกรรมที่น่ารักเป็นปกติ ทั้งในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบต่อการดำรงชีวิตของตนเอง ส่วนที่เป็นความรับผิดชอบต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม และส่วนที่กำลังหักหาญกับกิเลส เพื่อปิดนรกและเปิดสวรรค์ให้กับตนเองและทิศ ๖ ของตน ดังนี้


                 ๑. มิตรมีอุปการะ มีพฤติกรรมน่ายกย่อง ๔ ประการคือ


                      ๑) เพื่อนประมาทย่อมช่วยรักษาตัวเพื่อน


                      ๒) เพื่อนประมาทย่อมช่วยรักษาทรัพย์ของเพื่อน


                      ๓) เป็นที่พึ่งให้เพื่อนยามเพื่อนมีภัย


                      ๔) หากจำเป็นย่อมออกทรัพย์ให้เพื่อนเกินกว่าที่ขอ


                 ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีพฤติกรรมน่ายกย่อง ๔ ประการ คือ


                       ๑) บอกความลับของตนแก่เพื่อน


                       ๒) ปิดความลับของเพื่อน


                       ๓) เมื่อเพื่อนมีภัยไม่ละทิ้ง


                       ๔) แม้ชีวิตก็สละให้ได้

 

                  ๓. มิตรแนะประโยชน์ มีพฤติกรรมน่ายกย่อง ๔ ประการ คือ


                       ๑) ห้ามเพื่อนให้เว้นจากความชั่ว


                       ๒) แนะให้ตั้งอยู่ในความดี


                       ๓) ให้ได้ฟัง ได้รู้ ในสิ่งที่ไม่เคยฟัง ไม่เคยรู้


                       ๔) บอกทางสุข ทางสวรรค์ให้


                   ๔. มิตรมีความรักใคร่ มีพฤติกรรมน่ายกย่อง ๔ ประการ คือ


                        ๑) เพื่อนมีทุกข์ก็ทุกข์ด้วย


                        ๒) เพื่อนสุขก็ยินดีด้วย


                        ๓) ช่วยกล่าวแก้ เมื่อเพื่อนถูกติเตียน


                        ๔) รับรองผู้ที่พูดสรรเสริญเพื่อน


                     จากคุณลักษณะนิสัยของมิตรแท้ทั้ง ๔ ประเภทนี้ ทำให้สามารถกล่าวได้ว่า ถ้าวงการศึกษาสามารถสร้างผู้คนส่วนมากในสังคมให้เป็นมิตรแท้ได้แล้วไซร้ มิตรเทียมก็จะหมดฤทธิ์เดชไปเอง เพราะจําเป็นต้องปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นเพื่อความอยู่รอดของตน


                      ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การจัดการศึกษาที่กำหนดให้มาตรฐานวิชาการสมดุลกับมาตรฐานศีลธรรม และมาตรฐานศีลธรรมก็อยู่ใน กรอบของมาตรฐานศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ๔ ประการ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องการปลูกฝังความรับผิดชอบทั้งสิ้นอีกทั้งผู้คนในสังคมต้องร่วมมือกันปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างเข้มแข็งเป็นระบบ ก็จะทำให้สังคมเต็มไปด้วยมิตรแท้ นั่นคือสันติสุขอย่างแท้จริงย่อมต้องเกิดขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน

 

แม่พิมพ์ต้นแบบ


                           งานฝีมือ งานช่าง งานศิลป์หลายๆ อย่าง จําเป็นต้องมีแม่พิมพ์เป็นต้นแบบ เช่น งานหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ช่างหล่อจำเป็นต้องสร้างแม่พิมพ์เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับหล่อพระพุทธรูปขึ้นมาก่อนต่อจากนั้นจึงหลอมโลหะให้เหลวเทใส่ลงในแม่พิมพ์ปล่อยให้โลหะเย็นและแข็งตัวแล้วถอดแม่พิมพ์ออก จึงจะได้พระพุทธรูปโลหะตามต้องการ


                          การปลูกฝังอบรมหล่อหลอมนักเรียนให้เป็นคนดีมีศีลธรรมมีลักษณะเป็นมิตรแท้ก็เช่นเดียวกันจำเป็นต้องมีแม่พิมพ์เป็นต้นแบบและแม่พิมพ์ที่จะเป็นต้นแบบของศิษย์ก็คือครูนั่นเองเพราะเหตุนี้คนในสังคมจึงนิยมเรียกครูว่าแม่พิมพ์ของชาติหรือครูดีที่โลกต้องการ


คุณสมบัติแม่พิมพ์ของชาติ


                           ถ้าถามว่า แม่พิมพ์ของชาติหรือแม่พิมพ์ต้นแบบต้องมีคุณสมบัติอย่างไรครูผู้ได้ชื่อว่าเป็นแม่พิมพ์ต้นแบบต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย ๓ ประการ คือ


                               ๑. เป็นต้นแบบความรู้ความสามารถด้านวิชาการทางโลกได้จริง คือ มีความรู้ในสาขาวิชาการที่ตนสอนจริงในระดับที่สามารถถ่ายทอดความรู้นั้นให้ผู้อื่นเข้าใจ และยึดเป็นวิชาชีพสำหรับทำมาหากินเลี้ยงชีวิตได้ขณะเดียวกันก็รู้จักดูแลรักษาสุขภาพของตนให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ เพราะกายคืออุปกรณ์สำหรับใช้ในการทำความดีตลอดชีวิต

2567_07_16_05.JPG


ภาพที่ ๒-๔ คุณสมบัติของครูดีที่โลกต้องการ


                                ๒. เป็นต้นแบบความประพฤติ หรือความมีศีลธรรมประจำใจมั่นคงจริง การที่จะสามารถเป็นต้นแบบดังนี้ได้จำเป็นต้องมีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนซึ่งอาจแยกออกให้เข้าใจได้ง่ายดังนี้ คือ


                                       ๒.๑ มีความรู้วิชาพระพุทธศาสนา รวมทั้งหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี


                                       ๒.๒ มีความรับผิดชอบสมบูรณ์พร้อมทั้ง ๔ ประการ คือทั้งรับผิดชอบต่อศีลธรรมในตน ศีลธรรมของสังคมศีลธรรมทางเศรษฐกิจและต่อการสร้างมิตรแท้ให้แก่สังคม ไม่ยอมนำความรู้ด้านวิชาการไปใช้ในทางผิด ๆ เช่น ไม่นำความรู้ด้านเคมีไปสร้างวัตถุระเบิด หรือ ผลิตยาเสพติด เป็นต้น


                                        ๓. มีวิชาครู คือมีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดวิชาการและนิสัยดี ๆ ให้แก่ลูกศิษย์ได้อย่างเต็มภาคภูมิอาจกล่าวโดยสังเขปได้ว่า หัวใจของวิชาครูประกอบด้วยองค์ ๓ คือ


                                         ๑) มีความกรุณาอย่างยิ่ง


                                          ๒) สามารถแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองได้ทุกอย่าง


                                        ๓) มีความเข้าใจองค์ประกอบของมนุษย์ตลอดจนศัตรูและมิตรที่แท้จริงของมนุษย์


                     ปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะก่อให้เกิดคุณลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ต้องเริ่มจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงองค์ประกอบสำคัญของมนุษย์ คือ กายกับใจ รวมทั้งศัตรูตัวสำคัญคือกิเลส ซึ่งบงการให้มนุษย์ก่อบาปกรรมขณะเดียวกันก็เชื่อมั่นในศักยภาพของมิตรที่แท้จริงคือบุญที่สามารถปราบศัตรูให้สิ้นฤทธิ์ได้ ซึ่งได้ให้รายละเอียดไว้แล้วในบทที่ ๑


                       การที่คณาจารย์ทั้งหลายจะเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องกาย ใจ กิเลส บุญ บาป ดังกล่าวแล้ว จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจหลักธรรมสําคัญอย่างน้อย ๓ ประการ คือมรรคมีองค์ ๘ ทิศ ๖ และสังคหวัตถุ ๔ แล้วนํามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยผสมผสานกันในการทํากิจกรรมต่าง ๆ ใน ๕ ห้องแห่งชีวิต (คำอธิบายเรื่องมรรคมีองค์ ๘ และ ๕ ห้องแห่งชีวิตมีอยู่ในบทต่อๆไป) เมื่อปฏิบัติอย่างต่อเนื่องวันแล้ววันเล่าก็จะก่อให้เกิดเป็นวินัยและคุณธรรมประจำใจของตนเองกลายเป็นนิสัยที่ดีงามเกิดความรักบุญและกลัวบาปอย่างที่สุด


                        คุณธรรมประจำใจเหล่านี้เองคือเครื่องมือสำคัญที่คุณครูสามารถนํามาสำรวจและแก้ไขข้อบกพร่องทุก ๆ อย่างของตนเองได้สำเร็จ โดยไม่ต้องมีใครตักเตือนหรือชี้แนะ นอกจากนี้ยังจะรู้สึกว่าตนเองมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข มีอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี มีความเห็นพ้องกับหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายของเราทั้งสิ้น เมื่อใดที่เห็นผู้คนแสดงพฤติกรรมเลวร้ายต่อตนก็อภัยให้ได้ ยิ่งกว่านั้นยังคิดด้วยจิตเมตตาที่จะช่วยพวกเขาให้รู้โทษภัยของพฤติกรรมเช่นนั้น แล้วเปลี่ยนใจสร้างแต่บุญกุศล นั่นคือความกรุณาได้ถูกพัฒนาขึ้นในมโนธรรมของคุณครูแล้ว


                        ความกรุณานี้เอง ที่จะเป็นเสมือนน้ำทิพย์หรือยาบำรุงใจขนานวิเศษที่สร้างแรงบันดาลใจให้ครูพากเพียรพัฒนาตนให้สมบูรณ์พร้อมทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้สามารถปั้นศิษย์แต่ละคนให้เป็นมิตรแท้ผู้สร้างสันติสุขให้แก่ตนเองครอบครัวทิศทั้ง 5 ของตนสังคม ประเทศชาติ และแก่โลกได้ในที่สุด เหล่านี้คือคุณลักษณะโดยรวมของครูผู้มีวิชาครูอย่างแท้จริงผู้ชื่อว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติ


                        ถ้าขาดครูบาอาจารย์ประเภทแม่พิมพ์ของชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติ ๓ คือเป็นต้นแบบความรู้ด้านวิชาการทางโลก เป็นต้นแบบความประพฤติศีลธรรมและมีวิชาครูอย่างเต็มภาคภูมิเสียแล้วก็จะไม่มีผู้ใดสามารถแก้ปัญหามิตรเทียมที่ระบาดท่วมโลกในขณะนี้ได้สงครามก็จะไม่เคยว่างเว้นไปจากโลกและสงครามที่ไม่เคยว่างเว้นแม้แต่นาทีเดียวก็คือการทำสงครามกับกิเลสที่อยู่ภายในใจของแต่ละคนแม่พิมพ์ต้นแบบนี้เองคือครูดีที่โลกต้องการ ครูที่สามารถสอนตนเองและลูกศิษย์ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม


ความร่วมมือของครูประจำโลก ๓ ประเภท


       ครูคนที่หนึ่งหรือครูในบ้าน
                        เนื่องจากคนเราต่างเกิดมาพร้อมกับอวิชชา คือความไม่รู้ทุกๆ เรื่องจึงจำเป็นต้องมีครูปลูกฝัง อบรม สั่งสอนความรู้ต่างๆให้ตามธรรมดาครูคนแรกหรือครูคู่แรกของเราก็คือ พ่อและแม่ซึ่งเป็นครูในบ้าน สิ่งที่พ่อแม่ต้องปลูกฝังอบรมสั่งสอนลูกตั้งแต่เกิดมาก็คือ นิสัยดีๆเช่น การให้กินอาหาร นอนหลับพักผ่อน และขับถ่ายให้เป็นเวลา และตรงเวลาฯลฯ ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังวินัยให้ติดเป็นนิสัยของเด็กตั้งแต่เยาว์วัย


                            ในทางกลับกัน การปล่อยให้ลูกหิวต้องส่งเสียงร้องจนคอแหบแห้งจึงจะได้กินนม เมื่อขับถ่ายออกมาก็ถูกปล่อยให้นอนแช่อุจจาระปัสสาวะอยู่เป็นเวลานานกว่าจะได้รับการดูแล การถูกปล่อยปละละเลยให้ลูกอยู่ในสภาพ ดังกล่าว ย่อมจะกลายเป็นการเพาะนิสัยไม่ดีหลาย ๆ ด้านให้แก่ทารก


                              ครั้นเมื่อลูกเจริญเติบโตขึ้นมาพอที่จะสามารถรับรู้สื่อสารด้วยภาษาท่าทางหรือถ้อยคำได้ ก็ควรได้รับการปลูกฝังอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับคุณธรรมต่างๆเช่น การกราบไหว้พระ การกราบไหว้ผู้ใหญ่ การกล่าวคำทักทาย และการสวดมนต์ไหว้พระ


                           โดยสรุปก็คือ พ่อแม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพุทธกำหนดในเรื่องทิศ ๖ ที่สำคัญที่สุดคือห้ามลูกไม่ให้ทำความชั่วสอนลูกให้ตั้งอยู่ในความดีมีคุณธรรมต่างๆเพิ่มขึ้นตามวัยทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เด็กเกิดความคิดเห็นที่เป็นมิจฉาทิฐิด้วยประการทั้งปวง
                            สำหรับพ่อแม่ที่ไม่รู้หรือไม่สนใจปลูกฝังนิสัยดีๆให้แก่ลูกหรือพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวที่ยังแสดงพฤติกรรมเลวทรามทั้งทางกายและวาจาให้ลูกเห็นเป็นประจำลูกก็จะซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมเลวทรามเหล่านั้นซึ่งในที่สุดก็จะกลายเป็นนิสัยไม่ดีจนกระทั่งถึงคราวไปโรงเรียน ก็จะไปสร้างปัญหาหนักใจให้แก่ครูบาอาจารย์ต่อไปอีก


ครูคนที่สองหรือครูในโรงเรียน


                          ต่อจากพ่อแม่ก็คือครูในโรงเรียน ซึ่งแต่ละท่านต่างต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพุทธกำหนดในเรื่องทิศ ๖ ที่สำคัญที่สุดคือ การปลูกฝังอบรมคุณธรรมเป็นอันดับแรก ดังคำกล่าวที่ว่า แนะนำดี และเรื่องวิชาการทางโลกเป็นอันดับรองดังคำกล่าวที่ว่าให้เรียนดีดังนั้นครูทุกคนในโรงเรียนจึงต้องให้ความใส่ใจในเรื่องการปลูกฝังอบรมศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมแก่ศิษย์ ช่วยแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของศิษย์ พร้อมทั้งป้องกันมิให้ศิษย์เป็นมิตรเทียมกล่าวได้ว่าครูคนที่สองหรือบรรดาคณาจารย์ที่โรงเรียนเป็นผู้มีบทบาทยาวนานที่สุดและสำคัญที่สุดในการปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้แก่ศิษย์


ครูคนที่สามหรือครูในวัด


                               คือ สมณะหรือพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นแหล่งความรู้และความประพฤติทางธรรมให้แก่ชาวโลก ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพุทธกำหนดในเรื่องทิศ ๖ ที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว และแก้ไขไม่ให้มีความเห็นเป็นมิจฉาทิฐิ แล้วให้ตั้งอยู่ในความดี คือปลูกฝังสัมมาทิฐิให้


                          เป็นสิ่งที่แน่นอนเหลือเกินว่า ถ้าความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ของครูทั้ง๓ประเภทรวมอยู่ในตัวครูท่านใดท่านหนึ่งโดยเฉพาะก็จะวิเศษอย่างยิ่ง


                            แต่ถ้าการรวมความรู้ความสามารถดังกล่าวเอาไว้ในตัวครูแต่ละคนยังเป็นไปไม่ได้ครูทั้ง๓ประเภทนี้ก็จำเป็นต้องช่วยกันทำหน้าที่เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามิตรเทียมและสร้างสังคมให้มีแต่มิตรแท้ซึ่งครูทั้ง๓ประเภทนี้จําเป็นต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์จึงจะสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้สําเร็จ

 

ความสําคัญของศาสตร์และศิลป์


                          คำว่า ศาสตร์ ตามพจนานุกรมหมายถึงตำราวิชา ได้แก่ วิชาการต่าง ๆ ทางโลก ซึ่งมีทั้งวิชาที่เป็นความรู้พื้นฐานทั่วไปเช่นวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ประวัติศาสตร์เป็นต้นและวิชาการที่เป็นวิชาชีพชั้นสูงเช่นวิศวกรรมศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์แพทยศาสตร์ เป็นต้น


                           สำหรับศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาการที่เป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น กว่าผู้เรียนจะเรียนจบหลักสูตรก็นับว่าเป็นเรื่องยากยิ่งอยู่ในระดับหนึ่งแล้วครั้นเมื่อเรียนจบแล้วการที่จะนำความรู้ภาคทฤษฎีไปประกอบอาชีพยิ่งยากขึ้นอีกเพราะต้องนำศาสตร์มาประยุกต์ใช้สร้างงานให้เกิดประโยชน์สุขอีกต่อหนึ่งใครจะสามารถประยุกต์ศาสตร์ที่ตนเรียนรู้มาสร้างงานให้เกิดประสิทธิผลได้มากน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องของความสามารถเฉพาะตัวซึ่งเป็นเรื่องของฝีมือหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าศิลป์

                                                                                           
                          กล่าวได้ว่า บัณฑิตทุกคนที่เรียนจบสาขาวิชาชีพเดียวกันย่อมมีความรู้ในศาสตร์ที่เรียนมาเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน แต่ฝีมือหรือศิลป์ในการนําศาสตร์มาใช้สร้างงานนั้นย่อมแตกต่างกันไปตัวอย่างเช่นสถาปนิกบางคนมีชื่อเสียงมากเพราะมีผลงานออกแบบอาคารโดดเด่นมากมายในขณะที่บางคนไม่เคยมีผลงานโดดเด่นแม้แต่เพียงชิ้นเดียวศาสตร์และศิลป์ของแต่ละคนนั่นเองที่ทำให้ผลงานด้านวิชาชีพของบัณฑิตสาขาต่างๆ แตกต่างกันออกไป


                           ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การที่คนเราจะประสบความสําเร็จในอาชีพการงานนั้น จะมีแต่ศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่ได้จําเป็นต้องมีศิลป์ด้วยและศิลป์นี่เองที่เป็นเครื่องบ่งชี้ความสําเร็จของการทํางานความแตกต่างระหว่างศิลป์ของครูกับอาชีพอื่น ๆ


                         สำหรับความสำเร็จในการทำหน้าที่ของครูก็เช่นเดียวกันจำเป็นต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์โดยสิ้นเชิงแต่ศิลป์ของครูนั้นแตกต่างจากวิชาชีพอื่นๆทั้งนี้เพราะครูจะต้องนำศาสตร์มาเปลี่ยนให้เป็นความสามารถและฝึกตนให้เกิดนิสัยละอายต่อความชั่วและเกรงกลัวต่อผลของบาปครูต้องมีหิริโอตตัปปะเป็นนิสัยเพื่อจะได้เป็นเครื่องมือสําหรับปิดนรกและเปิดสวรรค์ให้กับตนเองขณะเดียวกันก็มีความเป็นครูหรือมีวิชาครูสามารถฝึกอบรมศิษย์ให้มีนิสัยดีๆดังกล่าวมาแล้วด้วยนี่คือศิลป์ของครูซึ่งจัดว่ายังเป็นศิลป์ขั้นต้นเท่านั้น


                       ส่วนศิลป์ขั้นสูงสุดก็คือ ความสามารถในการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นแล้วบรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งผู้ที่จะสอนได้ก็ต้องเป็นครูเหมือนกัน แต่เป็นครูประเภทที่ ๓ คือ สมณะ


                   กล่าวโดยสรุปได้ว่า ครูบาอาจารย์ผู้ชื่อว่าครูดีนั้นต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์เหนือกว่าบรรดาลูกศิษย์ของตนในลักษณะต่อไปนี้ คือ


              ๑. ในด้านวิชาการทางโลกครูต้องรู้จริงทำได้จริงและทางธรรมนั้นครูต้องมีนิสัยหรือความประพฤติดีเยี่ยมจริง จึงสามารถตั้งหลักฐาน สามารถปิดนรกและเปิดสวรรค์ให้ตัวเองได้จริง


                      ๒. สามารถถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้ลูกศิษย์รู้จริงทำได้จริง มีความประพฤติดีเยี่ยมจริง สามารถตั้งหลักฐานได้จริงปิดนรก และเปิดสวรรค์ให้ตนเองตามอย่างครูได้จริง


                        ความรู้ในหนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ให้ครูสามารถสอนลูกศิษย์ให้สามารถตั้งหลักฐานได้สามารถปิดนรกและเปิดสวรรค์ให้ตนเองเช่นเดียวกับครูได้เท่านั้นส่วนความรู้ในระดับการบรรลุนิพพานซึ่งเป็นศิลป์ขั้นสูงสุดนั้นควรต้องศึกษาจากสมณะโดยตรง

 

เส้นทางการพัฒนาครูดี


                 จากธรรมบรรยายที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วว่าครูดีต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์จึงมีคำถามว่า การที่จะพัฒนาตนให้สมบูรณ์ทั้งศาสตร์และศิลป์นั้นต้องปฏิบัติตนอย่างไรก่อนอื่นพึงทราบว่าครูที่จะเป็นครูดีได้อย่างแท้จริงนั้นก็ต้องได้รับการฝึกอบรมมาก่อนจากครูที่สมบูรณ์พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์เช่นกันนั่นคือต้องฝึกตนเองตามหลักวุฒิธรรม ๔ ได้แก่


                  ๑. ต้องหาครูดีให้พบ


                  ๒. ต้องฟังคำครูให้ชัด


                  ๓. ต้องตรองค่าครูให้ลึก


                  ๔. ต้องปฏิบัติตามคำสอนของครูให้ครบ

                  สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับวุฒิธรรม ๔ นั้นได้อธิบายไว้แล้วในบทที่ ๖


                 อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาต่างให้ความสนใจแต่เฉพาะการทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ในโลกนี้เท่านั้นมิได้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลไปถึงชีวิตหลังความตายในโลกหน้าจึงมิได้สนใจเรื่องการปิดนรกและเปิดสวรรค์ให้แก่ตนเองทั้งๆที่ศาสดาในแต่ละศาสนาได้มองไปถึงเรื่องนรกและสวรรค์ทั้งสิ้นนี่คือความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในการจัดการศึกษาอันเป็นปัจจัยให้เกิดมิตรเทียมขึ้นมากมายและก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคมโดยที่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหากันอย่างไรนอกจากจะต้องเริ่มต้นที่การจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานศีลธรรมควบคู่ไปกับมาตรฐานวิชาการ

 

ครูที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์


                 ต่อไปนี้ขอให้ คุณครูทั้งหลายลองสำรวจตัวเองว่า มีคุณสมบัติอยู่ในระดับไหน


                  ๑. มีศาสตร์ แต่ไม่มีศิลป์


                  ๒. มีศาสตร์ และมีศิลป์ แต่ไม่มีศีล


                  ๓. มีศาสตร์ มีศิลป์ และมีศีล


             ๔. มีศาสตร์ มีศิลป์ มีศีล และสามารถอบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีทั้งศาสตร์ ศิลป์ และศีลตามข้าพเจ้าด้วย


                  ในสมัยโบราณมีครูที่มีคุณสมบัติในระดับที่ ๔ นี้เป็นจำนวนมากแต่เพราะยุคนี้เราต่างมองข้ามศีลธรรม จึงมีผลให้ครูประเภทนี้แทบจะหมดไปจากสังคม


                   ในสมัยโบราณถ้าพ่อลูกจูงมือกันเดินไปตามถนนแล้วได้พบครูประเภทนี้โดยบังเอิญ ผู้เป็นพ่อก็จะบอกกับลูกว่าครูท่านนี้ไม่ใชแค่เป็นครูของลูกเท่านั้นแต่เป็นครูของพ่อด้วยเป็นเพื่อนของปู่ด้วยการที่พ่อมีความรู้มาสอนลูกได้ทุกวันนี้ก็เพราะได้ครูท่านนี้สอนมาไม่ใช่เฉพาะพ่อเท่านั้น ปู่ของลูกก็ได้ครูท่านนี้คอยช่วยเหลือกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแล้ว เป็นต้น


                   ขอให้ลองหลับตานึกดูว่าครูที่มีคุณสมบัติในระดับที่ ๔ นี้จะต้องทำงานหนักแค่ไหน เพราะการที่ใครจะรู้ว่าตัวเองมีมิจฉาทิฐิก็ยากแล้วยังต้องมาแก้ไขมิจฉาทิฐิของตนให้หมดสิ้นไปอีกก็ยิ่งยากกว่าหลายเท่าแม้ท่านเหล่านี้จะต้องแบกภาระหนักเพียงใดแต่ท่านก็ทำสำเร็จเมื่อท่านไปถึงไหนผู้คนจึงเรียกท่านว่า ปูชนียบุคคล เพราะท่านเป็นคนที่ควรกราบไหว้ได้จริง

                    ตามธรรมดาคนเราอย่าว่าแต่จะแก้ไขนิสัยเลวๆให้คนอื่นเลยแค่เพียงจะแก้ไขตัวเองก็ยากแล้วและอย่าว่าแต่แก้ไขตัวเองเลย แค่จะรู้ว่าตัวเองมีนิสัยเลวๆอะไรบ้างก็ยังยากแต่ท่านเหล่านี้รู้จริงจึงสามารถแก้นิสัยให้คนทั้งหมู่บ้านได้ทำให้มหาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบ


                   ความสงบของสังคมไม่ได้ตกลงมาจากท้องฟ้าแต่ต้องได้ครูดีเช่นนี้มาสอนครูที่สอนได้ก็เสมือนเทวดาเดินดินมาเสกคนให้เป็นคนดีได้ฉะนั้นก็น่าอัศจรรย์จริงๆที่เทวดาท่านนี้ก็มีปากเดียวมีสองมือเหมือนกับคนทั้งหลายแต่ว่าถึงเวลาทํางานเทวดาตัวจริงยังสู้ท่านไม่ได้เพราะท่านมีดีกว่านั้นนั่นคือเมื่อท่านพูดอะไรขึ้นมาคนทั้งบ้านทั้งเมืองเขาเชื่อถือเพราะว่าท่านสามารถปิดนรกและเปิดสวรรค์ให้ตัวเองให้คนรุ่นปู่คนรุ่นพ่อคนรุ่นลูกได้จริงเพราะฉะนั้นเวลาท่านดำริจะทำอะไรคนทั้งบ้านทั้งเมืองต่างต้องกุลีกุจอลงมาช่วยท่านอย่างจริงจัง


                  ท่านไม่ได้มีร้อยมือพันมือท่านมีแค่สองมือแต่เพราะเหตุที่ใจของท่านมีธรรมวินัยมีความกรุณาและมีน้ำใจของความเป็นครูอยู่เปี่ยมล้นที่สำคัญยิ่งก็คือท่านมีทั้งศาสตร์และศิลป์จึงทำได้


                      ครูที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ไม่เกี่ยงเรื่องอายุมากหรือน้อยตัวเล็กหรือตัวใหญ่ผู้หญิงหรือผู้ชายมีปริญญาหรือไม่มีปริญญาแต่ท่านมีศีลธรรมพอจะอบรมตัวท่านให้บริสุทธิ์มีความรู้ทางโลกพอประมาณแต่สามารถเปลี่ยนคำพูดของท่านมาเป็นความรู้ที่ใช้ในการปิดนรกและเปิดสวรรค์ได้เป็นอย่างดีทุกคำพูดของท่านจึงมีแต่ความบริสุทธิ์มีแต่ความกรุณาเพราะใจท่านมีศีลธรรมและเปี่ยมด้วยความเป็นครู


                     ปัญญาทางโลกจะมากหรือน้อยก็ไม่เกี่ยงแต่ท่านมีปัญญาที่คนทั้งโลกขาดแคลนคือปัญญาในการปิดนรกและเปิดสวรรค์และมีความ

                     กรุณาที่มนุษย์ขาดแคลนท่านเห็นแก่ความอยู่รอดของคนทั้งบ้านทั้งเมืองมองคนทั้งบ้านทั้งเมืองเหมือนกับลูกหลานเหงื่อแต่ละหยดของท่านมันแฝงด้วยความบริสุทธิ์ไม่มีความคิดร้ายๆออกจากใจท่านไม่มีคำพูดร้ายๆออกจากปากท่านไม่มีการกระทำร้ายๆออกจากตัวท่านอย่าว่าแต่ตัวท่านศักดิ์สิทธิ์เลยแค่รอยเท้าของท่านก็ศักดิ์สิทธิ์แล้ว


                   นี่คือครูที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ชาวโลกรออยู่ต้องช่วยกันสร้างขึ้นมาเยอะๆถ้าไม่รู้จะสร้างจากไหนก็สร้างตัวเองฝึกตัวเองให้เป็นครูที่ปิดนรกและเปิดสวรรค์ขึ้นมาโลกก็จะมีครูที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์เพิ่มขึ้นเองส่วนวิธีการฝึกหัดตัวเองให้เป็นครูตีนั้นจะต้องทำอย่างไรโปรดติดตามอ่านในบทต่อๆ ไป

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0025145848592122 Mins