ปัญจาวุธชาดก ชาดกว่าด้วยการทำความเพียร

วันที่ 10 ธค. พ.ศ.2565

ข้อคิดจากชาดก ปัญจาวุธชาดก  ชาดกว่าด้วยการทำความเพียร

ข้อคิดจากชาดก

ปัญจาวุธชาดก

ชาดกว่าด้วยการทำความเพียร

 

สถานที่ตรัสชาดก

.....เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี



สาเหตุที่ตรัสชาดก

     ในสมัยพุทธกาล ขณะเมื่อพระบรมศาสดาประทับ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงทราบว่า ในเวลานั้นมีภิกษุรูปหนึ่ง มีนิสัยเกียจคร้านในการศึกษาและปฏิบัติธรรมครองเพศสมณะอยู่ไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น

     พระพุทธองค์จึงทรงเรียกพระภิกษุรูปนั้นมาสอบถาม เมื่อทรงทราบแล้วจึงทรงตักเตือนว่า

     “ ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลายกระทำความเพียรในที่ที่ควรประกอบความเพียร ก็ยังบรรลุถึงราชสมบัติได้ ”

     แล้วทรงระลึกชาติแต่หนหลังของพระองค์เอง ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า ปัญจาวุธชาดก มีเนื้อความดังนี้

 

เนื้อหาชาดก

     ในอดีตกาลนานมาแล้ว ที่เมืองพาราณสี มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าพรหมทัต ทรงปกครองบ้านเมืองโดยทศพิราชธรรม ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากัน

     ในเวลาต่อมา พระอัครมเหสีได้ประสูติพระราชโอรส ซึ่งมีพระลักษณะสมบูรณ์ด้วยบุญญาธิการ ครั้งล่วงถึงวันสมโภชพระนาม บรรดาโหรหลวงผู้ชำนาญในการดูลักษณะ ต่างพากันถวายคำทำนายว่า

     “ พระราชกุมารพระองค์นี้ ต่อไปภายหน้าจะได้ครองราชสมบัติ จะมีความเชี่ยวชาญเป็นเยี่ยมทั้งในด้านการปกครอง และด้านการสงคราม จะปรากฏชื่อลือชา ด้วยการใช้เพลงอาวุธ ๕ ชนิด ”

     เมื่อได้ฟังคำทำนายเช่นนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงปลาบปลื้มพระทัยยิ่งนัก จึงทรงพระราชทานพระนามพระราชโอรสว่า ปัญจาวุธกุมาร

     ปัญจาวุธกุมารทรงเจริญวัยขึ้นตามลำดับ ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด และสมบูรณ์ด้วยพละกำลัง ยิ่งกว่ากุมารทั้งหลายในวัยเดียวกัน เมื่อพระชนมายุครบ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาทรงมีรับสั่งให้เดินทางไปศึกษาศิลปวิทยา ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลา แคว้นคันธาระ ( บัดนี้อยู่ในเขตปากีสถาน )

     เพียงเวลาผ่านไปไม่นาน ปัญจาวุธกุมารก็สามารถศึกษาศิลปศาสตร์ ได้สำเร็จครบทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรบพุ่ง ทรงมีความชำนาญเป็นเลิศในการใช้อาวุธสำคัญ คือ ธนู พระขรรค์ หอกซัด กระบอง อีกทั้งทรงมีพระสติปัญญาเป็นเลิศ สมดังคำทำนายของบรรดาโหราจารย์ทุกประการ

     จากนั้น พระราชกุมารก็กราบลาพระอาจารย์ ออกจากสำนักทิศาปาโมกข์ เสด็จมุ่งหน้ากลับกรุงพาราณสีตามลำพัง โดยทรงลัดเลาะไปตามป่าเขาต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ทางที่ทรงดำเนินมาแต่แรก เพราะมีประสงค์จะชมภูมิประเทศที่แปลกตาออกไป

     จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่กำลังเสด็จผ่านหมู่บ้านเล็กๆ มุ่งเข้าสู่ดงไม้อีกแห่งหนึ่ง ชาวบ้านย่านนั้นเห็นหนุ่มน้อยแปลกหน้ากำลังเดินทางเข้าสู่แดนอันตราย ก็รีบพากันมาร้องห้ามว่าในป่านี้มียักษ์ขนเหนี่ยวอาศัยอยู่ พระราชกุมารได้ฟังดังนั้น ก็มิได้ทรงนึกเกรงกลัวยักษ์นั้นเลย

     เจ้ายักษ์ตนนี้มีชื่อว่า สิเลสโลม แปลว่า “ มีขนเหนียวเป็นตัง ” มันชอบดักจับมนุษย์ และสัตว์ป่ากินเป็นอาหาร เมื่อยักษ์เห็นหนุ่มน้อยเดินเข้ามาถึงที่อยู่ของมันตามลำพังจึงรีบแปลงกายให้ใหญ่โต สูงลิ่วเท่าลำตาล ศีรษะโตเท่าเรือนยอด นัยน์ตาแต่ละข้างขนาดเท่าล้อเกวียน ตาลุกวาวแดงก่ำน่ากลัว ดูรูปร่างทั้งน่าอัปลักษณ์ ทั้งน่าสะพรึงกลัว มันแสยะปากหัวเราะพร้อมกับย่างสามขุมตรงเข้ามาหาปัญจาวุธกุมาร

     แต่แทนที่ปัญจาวุธกุมารจะหวาดหวั่นครั่นคร้าม กลับร้องตวาดขึ้นว่า

     “ ชะ ชะ เจ้ายักษ์ขนเหนียว วันนี้เราจะปราบเจ้าให้สิ้นฤทธิ์เลยทีเดียว ”

     พูดแล้วปัญจาวุธกุมารก็ชักธนูอาบยาพิษขึ้นมา แล้วยิงไปยังเจ้ายักษ์ขนเหนียวทันที แต่ลูกธนูก็ไม่อาจทำอันตรายยักษ์ได้ กลับไปติดแน่นอยู่ที่ขนหน้าแข้งของมัน

     ยักษ์ชะงักอยู่กับที่นิดหนึ่ง ด้วยคาดไม่ถึงว่า จะมีมนุษย์คนใดใจกล้าถึงปานนี้ มันก้าวเข้ามาอีกก้าวหนึ่ง ปัญจาวุธกุมารก็ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษเข้าไปอีก แต่ลูกศรไม่อาจทำอันตรายเจ้ายักษ์ขนเหนียวได้ กลับไปติดระเกะระกะอยู่ตามขนหน้าแข้งของมัน แต่ปัญจาวุธกุมารไม่ละความพยายาม ระดมยิงลูกศรใส่เจ้ายักษ์จนหมด ยักษ์ขนเหนียวสลัดลูกศรทั้งหมดให้ร่วงอยู่แทบเท้า แล้วย่างสามขุมใกล้เข้ามา

     “ หยุดนะ !!” ปัญจาวุธตวาดมันอีกครั้ง แล้วชักพระขรรค์อันคมกริบโถมเข้าประชิดยักษ์ แล้วฟันฉับลงไปด้วยพละกำลังอันมหาศาล แต่พระขรรค์ก็ติดอยู่เพียงแค่ขนหน้าแข้งยักษ์เท่านั้นเอง

     ปัญจาวุธกุมารไม่ละความพยายาม ชักหอกซัดขึ้นฟาดฟันเจ้ายักษ์ขนเหนียวด้วยกำลังแรง แต่หอกซัดก็ไปติดอยู่ที่ขนหน้าแข้งของมันอีกเช่นกัน และชักกระบองขึ้นหวดเจ้ายักษ์ แต่กระบองก็ไปติดที่ขนของมันอีก แม้อาวุธทุกอย่าง จะไปติดอยู่ที่ขนหน้าแข้งของยักษ์ขนเหนียว แต่กำลังใจของปัญจาวุธกุมารก็มิได้ลดลงไปเลย กลับประกาศก้องขึ้นว่า

     “ เฮ้ย เจ้ายักษ์ เจ้าไม่เคยได้ยินชื่อของเราผู้มีนามว่า ปัญจาวุธกุมารเลยหรือ วันนี้เราจะปราบเจ้าให้แหลกเป็นผงไปเลย ”

     ว่าแล้ว ปัญจาวุธกุมารก็โถมเข้าหายักษ์ ทั้งต่อย เตะ กระแทกด้วยศีรษะ เป็นอันว่าทั้งอาวุธ และทั้งตัวของปัญจาวุธกุมาร ติดห้อยต่องแต่งอยู่ตรงหน้าแข้งยักษ์นั่นเอง แต่ถึงกระนั้น ปัญจาวุธกุมาร ก็ไม่มีท่าทีสะทกสะท้านหรือหวาดกลัวอยู่เลย

     เจ้ายักษ์ขนเหนียวไม่เคยพบเคยเห็นใคร ที่มีใจเด็ดเยี่ยงบุรุษอาชาไนย เช่นนี้มาก่อน มันรู้สึกนับถือในความกล้าของปัญจาวุธกุมารมาก มันก้มลงมองแล้วพูดว่า “ เจ้าหนุ่มเอ๋ย เจ้าแน่มาก ข้ากินเจ้าไม่ลงจริงๆ ข้าอยากรู้นักว่า ทำไม่เจ้าจึงไม่กลัวตาย ”

     ปัญจาวุธจึงตอบยักษ์ไปว่า

     “ ยักษ์เอ๋ย ทำไมเราจะต้องกลัวตาย ทุกคนเกิดมาก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น แต่เจ้ารู้หรือไม่ว่า ในท้องยองเรามี วชิราวุธ ถ้าเจ้ากินเรา เจ้าก็ต้องตายเหมือนกัน เพราะวชิราวุธในท้องเรา จะบาดไส้พุงของเจ้าให้ขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่ะ เจ้ายักษ์เอ๋ย เราไม่ตายคนเดียวหรอก ถ้าเราตาย เจ้าก็ต้องตายด้วย ”

     ยักษ์ขนเหนียวได้ฟังคำขู่ของปัญจาวุธกุมารก็รู้สึกครั่นคร้าม จึงจับปัญจาวุธวางลงบนพื้นดิน แต่แทนที่ปัญจาวุธจะเดินจากไป กลับหันหน้าพูดกับยักษ์ว่า

     “ ขอบใจ เจ้ายักษ์ แต่ก่อนที่เราจะไป เราขอเตือนเจ้าว่า เจ้าได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มาก ตั้งแต่เมื่อชาติก่อนแล้ว เจ้าจึงต้องมาเกิดเป็นยักษ์ มีชีวิตอยู่ด้วยความตาย และเลือดเนื้อของผู้อื่น นับว่าเกิดมาสร้างกรรมแท้ๆ เมื่อเจ้าสิ้นชีวิตละโลกนี้ไป เจ้าต้องไปเกิดในอบายภูมิคือ นรก เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เหมือนอย่างที่เจ้าต้องมาเกิดเป็นยักษ์อีกแน่ๆ แม้หมดเวรจากอบายภูมิมาเกิดเป็นมนุษย์ อายุของเจ้าจะสั้น เพราะได้ทำลายชีวิตของผู้อื่นไว้มาก เจ้าจงอย่าได้ฆ่าใครๆ อีกเลย จงประพฤติธรรมรักษาศีลดีกว่า ”

     ยักษ์ขนเหนียวนั่งนิ่งฟังคำของปัญจาวุธกุมารอย่างสงบ นับเป็นการฟังธรรมครั้งแรกในชีวิตของใน เจ้ายักษ์รู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา จึงตั้งใจฟังเป็นอย่างดี ปัญจาวุธกุมารจึงขอให้ยักษ์รักษาศีล ๕ แล้วเตือนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

     เมื่อปัญจาวุธกุมารปราบยักษ์ได้แล้ว จึงเก็บอาวุธของตนเดินทางออกจากป่าเข้าสู่หมู่บ้าน เพื่อบอกชาวบ้านให้เลิกหวาดกลัวยักษ์ขนเหนียว แล้วให้นำข้าวปลาอาหารไปให้ยักษ์กินด้วย เพราะยักษ์จะรักษาศีลแล้ว จากนั้น ปัญจาวุธกุมาร จึงเดินทางเข้าสู่เมืองพาราณสีต่อไป

 

ประชุมชาดก

     เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ก็ตรัสพระคาถาเพิ่มเติม มีใจความว่า

     “ นรชนผู้ใด มีจิตไม่ท้อแท้ มีใจไม่หดหู่ บำเพ็ญกุศลธรรม เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ นรชนผู้นั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างโดยลำดับ ”

อธิบายโดยย่อว่า

     “ คนเรา ถ้าไม่ย่อท้อ ไม่รวนเร ไม่หดหู่ ก็จะเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคง สามารถฝึกสติให้ดีได้ สมาธิก็จะก้าวหน้า บรรลุธรรมขั้นสูงๆ ขึ้นไปตามลำดับ ”

     พระภิกษุผู้มีความเพียรย่อหย่อน ก็กลับมีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ จิตใจผ่องใส ชุ่มชื่น เบิกบาน พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงอริยสัจสี่โดยเอนกปริยาย พระภิกษุรูปนั้นก็สามารถประคองใจให้หยุดนิ่ง เข้าถึงธรรมกายอรหัต สำเร็จเป็นพระอรหัตในบัดนั้นเอง

ครั้นแล้วพระบรมศาสดา จึงทรงประชุมชาดกว่า

ยักษ์             ในครั้งนั้น         ได้มาเป็นองคุลีมาล

ปัญจาวุธกุมาร                    ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก

     ๑ . การทำความเพียรอย่างไม่ลดละ ทำให้เกิดอำนาจในตัวได้ ถึงเป็นคนธรรมดา ไม่มีอำนาจราชศักดิ์ ก็ยังเป็นที่ครั่นคร้ามของคนทั่วไป แม้อันธพาลก็ยังลังเล ไม่กล้ารุกราน เพราะอัศจรรย์ในพลังจิตที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของผู้นั้น

     ๒ . ขึ้นชื่อว่า คน ย่อมกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อถึงคราวจะตาย คนบางพวกกลับไม่หวาดหวั่น

     คนพวกนี้ คือ ผู้ที่ฝึกสมาธิอย่างช่ำชอง ตัดสินใจสละชีวิตเพื่อบำเพ็ญเพียร เพื่อเข้าถึงนิพพานมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น จึงมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นว่า แม้ถึงตาย บุญที่ทำไว้ดีแล้ว ย่อมทำให้ไปเกิดในที่ดี จึงไม่เสียดายชีวิตเลย

 

 

นิทานชาดก ปัญจาวุธชาดก ​ชาดกว่าด้วยการทำความเพียร

ข้อคิดจากชาดก
ปัญจาวุธชาดก
ชาดกว่าด้วยการทำความเพียร

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017180840174357 Mins