1. สภาพคณะสงฆ์ ในครั้งพุทธกาล กับการกำเนิดพระไตรปิฎก

วันที่ 13 สค. พ.ศ.2567

2567%2008%2014%20b.jpg

 

1. สภาพคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาล

กับการกำเนิดพระไตรปิฎก


      สภาพสังคมสงฆ์ในครั้งพุทธกาลได้มีผู้เคยวิจัยไว้บ้างแล้วเป็นส่วนๆ ในบทนี้จะได้วิเคราะห์กำเนิดคัมภีร์พระไตรปิฎก โดยดูจากภาพรวมของสภาพความเป็นไปของคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาล


         1.1 ความจำเป็นของการมีคัมภีร์พระไตรปิฎก


     หลังตรัสรู้ธรรมได้เพียง  1  ปี  คณะสงฆ์ได้เติบโตขึ้นจนมีจำนวนมากกว่า  1,300  รูป  เริ่มตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ทั้ง  5  ยสกุมารกับสหายอีก 55 คน ชฎิล 3 พี่น้องกับบริวารอีก 1,000 คน พระสารีบุตร (อุปติสสะ) และพระโมคคัลลานะ (โกลิตะ) กับบริวารของสัญชัยปริพาชกอีก 250 คน เป็นต้น เรื่องนี้มีบันทึกไว้ใน มหาขันธกะ ของพระวินัยปิฎกทุกนิกายตรงกัน หลังจากนั้นคณะสงฆ์ยังคงเติบใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของสาธุชนก็มีผู้เลื่อมใสศรัทธาปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะมากมาย รวมถึงพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธและพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นโกศล ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในยุคนั้นของอินเดีย และพระภิกษุทั้งหลายไม่ได้อยู่รวมกันในที่เดียวติดตามพระพุทธเจ้า แต่ได้จาริกไปในดินแดนต่างๆตามที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทไว้ว่า “เธอจงไปคนเดียวหลายๆทาง อย่าไปทางเดียวหลายๆคน" เพื่อเผยแผ่ธรรมะ


    เฉพาะดินแดนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกไปแสดงธรรมด้วยพระองค์เองก็มีขนาดพื้นที่พอๆกับประเทศไทยแล้ว (ดูแผนที่ในเรื่องถิ่นกำเนิดภาษาบาลีประกอบ) ยิ่งถ้ารวมดินแดนที่พระสาวกเผยแผ่ไปถึงด้วยแล้ว อาทิ การเผยแผ่ยังดินแดนอินเดียตะวันตกของพระมหากัจจายนะ พื้นที่ที่พระภิกษุจาริกไปก็จะยิ่งกว้างใหญ่ไพศาล


    พื้นภูมิเดิมของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็หลากหลายแตกต่างกันมาก   มีทั้งที่มาจาก   วรรณะกษัตริย์พราหมณ์  แพศย์  ศูทร  จัณฑาล  มีทั้งอำมาตย์ ข้าราชการ พ่อค้า ชาวไร่ชาวนา กรรมกร นักวิชาการ นักบวชในศาสนาอื่น ภิกษุที่บวชโดยคณะสงฆ์ที่จาริกไปเผยแผ่ยังดินแดนต่างๆ โดยยังไม่เคยพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ก็มีเป็นจํานวนมาก


    เมื่อคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลมีพระภิกษุเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ในดินแดนต่าง  ๆ   อันกว้างใหญ่ไพศาล  โดยภิกษุเหล่านี้มีพื้นภูมิของสังคมก่อนบวชหลากหลายแตกต่างกันเช่นนี้ แน่นอนว่าระเบียบปฏิบัติต่างๆ อาทิ ระเบียบปฏิบัติในการบวช วัตรปฏิบัติที่ภิกษุพึงปฏิบัติกัน วินัยซึ่งระบุถึงสิ่งที่ภิกษุพึงกระทำและไม่พึงกระทำในชีวิตประจำวันเป็นต้น รวมทั้งการจัดหมวดหมู่คำสอนเพื่อให้การศึกษาแก่ภิกษุผู้บวชใหม่จะได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ย่อมมีความจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ มิฉะนั้นคณะสงฆ์จะไม่สามารถรักษาความกลมกลืนเป็นเอกภาพอยู่ได้นานนับร้อยปีหลังพุทธกาล

 

  1.2 ความสามารถด้านการปกครอง และการจัดระบบคำสอนของคณะสงฆ์ครั้งพุทธกาล


       ในหัวข้อที่แล้ว ได้แสดงให้เห็นว่าระเบียบปฏิบัติต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ในพระวินัยปิฎกและคำสอนต่างๆ ดังที่รวมรวมไว้ในพระสุตตันตปิฎก เป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้ต่อคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลซึ่งขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง


      ในหัวข้อนี้จะตรวจสอบว่า     คณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลมีความสามารถในด้านการปกครอง    โดยการบัญญัติพระวินัยและมีความสามารถในการจัดหมวดหมู่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งมีความสามารถสร้างระบบการถ่ายทอดพระวินัยและคำสอนที่จัดหมวดหมู่แล้วนี้แก่คณะสงฆ์ที่กระจายตัวอยู่อย่างกว้างขวางหรือไม่


        1.2.1 ความสามารถด้านการปกครอง


      ดังที่ทราบกันดีว่า  พระพุทธเจ้าเดิมทรงเป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ  กษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ทรงได้รับการศึกษาที่ดีเลิศที่สุด ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และในขณะที่ทรงออกบวชนั้นมีพระชนมายุได้ 29 พรรษาแล้ว เราจึงสามารถสรุปได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะผู้ทรงเป็นรัชทายาทแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงมีความรู้ความสามารถในการปกครองเป็นอย่างดี


      นอกจากนี้ในบรรดาพระสาวกก็มีผู้ที่เคยเป็นกษัตริย์   หรือมาจากวรรณะกษัตริย์จำนวนมาก   อาทิพระภัททิยะ1) อดีตกษัตริย์แห่งศากยวงศ์ พระมหากัปปินะ2) อดีตกษัตริย์แห่งกรุงกุกกุฏปุระ พระโมฆราช3) พระกังขาเรวัต4) พระอภัย5) พระสีวลี6) พระภัททิยกพิโคธาบุตร7) พระวิมลโกณฑัญญะ8) เป็นต้น


      เราจึงสรุปได้ว่าในคณะสงฆ์ครั้งพุทธกาล    มีภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถทางการปกครองอยู่จํานวนมาก

 

1)  Vin 2, p. 182, l. 26-37.
2)  Apadāna, p. 469, I. 18-19.
3)  Apadāna, p. 487, I. 19-20.
4)  Apadāna, p. 491, I. 29-30.
5)  Apadāna, p. 503, I. 25-26.
6)  Apadāna, p. 494, I. 17-18.
7)  AN1, p. 23, I.22.
8)  Theragāthā, p. 10, l. 10-11.

 

        1.2.2  ความสามารถในการจัดระบบคำสอนและการสร้างระบบการสืบทอดคำสอน


   ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงพระภิกษุจำนวนมากที่เกิดมาในวรรณะพราหมณ์  และมีความเชี่ยวชาญในพระเวท อาทิ พระเสละ1) พระมหากัจจานะ2) พระวังคีสะ3) พระวาเสฏฐะ4) พระภารทวาช5) ศิษย์ทั้ง 16 คนของพราหมณ์พาวรี7) เป็นต้น

 

1) Suttanipāta, p.104, I.27-p.105,I.1.
2) Apadāna, p. 465, I. 3-4.
3) Apadāna, p. 497, 1.11-12.
4) Suttanipāta, p.116, I 19; DN 3, p 80, I. 21 - p. 81, I.4.
5) ที่เดียวกับ 4)
6) Culaniddesa, p.3, I.12-p.4.I.14.
7) Poussin [ 1927 : 12 ] ได้ยืนยันว่าพระพุทธเจ้าไม่มีความรู้เรื่องพระเวท แต่ Gombrich ได้วิจารณ์แย้งความเห็นของ Poussin โดยได้ยกหลักฐานว่า ในการแสดงธรรมหลายๆแห่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทรงมีความรู้เรื่องพระเวทเป็นอย่างดี ดังนี้


        Some of the great modern scholars of Buddhism have said that the Buddha had no direct knowledge of Vedic texts, but that is certainly wrong. The joke about how brahmins are born satirizes the Puruṣa-sūkta, the text in which brahmins are said to originate from the mouth of the cosmic Man. There are similarly satirical allusions to the Bṛhad-āranฺyaka Upaniṣad. One example is the anecdote about Brahmā's delusion that he created other beings. It occurs in the Brahmajāla Sutta of the Dīgha Nikāya to explain why some people think that the world and the soul are partly eternal and partly not; but, as Rhys Davids points out in the footnote to his translation, it also occurs in the Majjhima and Samฺyutta Nikāyas and in the Jātaka - just what one would expect if my view of the preservation of the Buddha-vacana is anywhere near the truth. Brahmā is reborn(in Rhys Davids' words) "either because his span of years has passed or his merit is exhausted"; he then gets lonely and upset and longs for company. Then, "either because their span of years had passed or their merit was exhausted", other beings are reborn alongside him. Post hoc, propter hoc, thinks silly old Brahmā, and gets the idea that the other beings are his creation. I suppose that many who have read and even taught this passage(since it is in Warder's Introduction to Pali) have noticed that this is just a satirical retelling of the creation myth in the Bṛhad- āraṇyaka Upanisฺad, in which Brahmā is lonely and afraid and so begets for company; but I am not aware that anyone has pointed it out in print
(Gombrich,R. [ 1990:14 ]).

 

      B. G. Gokhale [ 1965 ; 1980 ]  ได้อาศัยข้อมูลจากอรรถกถา  วิเคราะห์ถึงสถานะทางสังคมก่อนบวชของพระเถระและพระเถรีที่ปรากฏนามในคัมภีร์เถรคาถาและเถรีคาถา ได้ผลลัพธ์ดังนี้


        จำนวนพระเถระพระเถรีทั้งหมด    328     รูป
        เกิดในวรรณะพราหมณ์              134     รูป (~ 40%)
        เกิดในวรรณะกษัตริย์                  75     รูป (~ 23%)
        เกิดในวรรณะแพศย์                   98      รูป
        เกิดในวรรณะศูทร                     11      รูป
        เกิดเป็นจัณฑาล                       10      รูป


และพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของพระเถระพระเถรีเหล่านั้นเกิดในครอบครัวที่มีฐานะดีภิกษุที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ส่วนใหญ่ อยู่ในครอบครัวของชนชั้นสูงในเมือง1) ดังนั้นเราสามารถคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า พระเถระพระเถรีเหล่านั้นช่วงก่อนบวชได้ศึกษาเรียนรู้พระเวทมาแล้วอย่างดี


Gombrich ได้กล่าวถึงการศึกษาพระเวทไว้ดังนี้


    Already for centuries the brahmins had been orally preserving their sacred texts, Vedic literature, by making that preservation virtually coterminous with their education. That education, which was the right and the duty of every brahmin male, might last up to 36 years ; it consisted of memorizing Vedic texts, and in some case also subsidiary treatise(vedānga). By the time of the Buddha, Vedic literature was too vast to be memorized by any single person except perhaps the rare genius; it was divided into various branches(śākhā) of oral tradition (Gombrich, R.L. [ 1988:31 ]).


     เราจึงสามารถสรุปได้ว่า      คณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลมีพระภิกษุผู้ซึ่งก่อนบวชมีความเชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวทจำนวนมาก ดังนั้น คณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลจึงมีความสามารถในการจัดระบบและสืบทอดคัมภีร์แน่นอน

 

1.) ดู Gombrich, R. [ 1988a: 55-56 ] ประกอบ

 

1.3. เวลาในการจัดระบบคำสอนและสร้างระบบการสืบทอด


     แม้จะมีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมเมื่อทรงพระชนม์มายุ   35  พรรษา   ปรินิพพานเมื่อทรงพระชนมายุ  80  พรรษา  ตลอดระยะเวลา 45 พรรษาในการเผยแผ่ธรรมแก่ชาวโลกคณะสงฆ์โดยภาพรวมมีความมั่นคง แม้จะมีปัญหาเรื่องพระเทวทัต พระภิกษุชาวกรุงโกสัมพีทะเลาะกัน หรือเรื่องพระบางรูปกระทำผิดพระวินัยบ้างแต่ปัญหาเหล่านั้นก็สามารถแก้ไขได้ในเวลาไม่นาน คณะสงฆ์โดยรวมอยู่กันอย่างมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวจนถึง 100 ปีหลังพุทธกาล จึงได้มีการแยกนิกายครั้งแรกเป็นเถรวาทและมหาสังฆิกะ หลังการสังคายนาครั้งที่ 2 ซึ่งเรื่องนี้มีบันทึกอยู่ในสัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องการสังคายนาครั้งที่ 2 ของพระวินัยทุกนิกาย


     ด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกก็ค่อนข้างเป็นไปด้วยความราบรื่น มีกษัตริย์แคว้นต่าง ๆ เลื่อมใสพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แคว้นโกศล เป็นต้น ในครั้งพุทธกาลคณะสงฆ์จึงไม่ถูกเบียดเบียนคุกคามจากอำนาจทางการเมือง แม้พระเจ้าอชาติศัตรู ซึ่งทำปิตุฆาตฆ่าพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดาแล้วขึ้นครองราชย์ แต่ภายหลังก็กลับมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ถ้ามีบันทึกหลักฐานในสามัญญผลสูตรแห่งทีฆนิกายและพระองค์ยังทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งขันธกะของพระวินัยทุกนิกายกล่าวไว้ตรงกัน นอกจากนี้คณะสงฆ์ยังได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากเศรษฐีจำนวนมาก อาทิ อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้สร้างเชตวันมหาวิหาร วิสาขามหาอุบาสิกา ผู้สร้างบุพพาราม เป็นต้น มีการสร้างวัดอุทิศถวายคณะสงฆ์ยังท้องที่ต่างๆ จำนวนมาก


     สภาพสิ่งแวดล้อมทั้งภายในคณะสงฆ์เองและสังคมภายนอกที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยให้นี้    ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องถึง 45 ปี เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า คณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลมีเวลาอย่างเพียงพอในการบัญญัติพระวินัยเพื่อสร้างระบบแบบแผนของหมู่คณะ ทั้งระเบียบในการดำรงตนของภิกษุแต่ละรูปและระเบียบในการทำกิจของสงฆ์โดยรวม รวมทั้งมีเวลาเพียงพอในการจัดระบบคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและสร้างระบบการทรงจำถ่ายทอดคำสอนนี้ไปยังภิกษุผู้พำนักอยู่ในดินแดนต่างๆ อย่างกว้างขวาง

 

1.4  ระบบการถ่ายทอดคำสอนของคณะสงฆ์จากหลักฐานในพระไตรปิฎก


     Mayeda, Egaku [ 1964 ] ได้ค้นคว้าโดยอาศัยหลักฐานจากคัมภีร์บาลีและสรุปสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาตลอด 45 พรรษาไว้ดังนี้


        พรรษาที่ 1         เมืองพาราณสี      (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน)
        พรรษาที่ 2         กรุงราชคฤห์        (เวฬุวนาราม)
        พรรษาที่ 3         กรุงราชคฤห์        (เวฬุวนาราม)
        พรรษาที่ 4         กรุงราชคฤห์        (เวฬุวนาราม)
        พรรษาที่ 5          เมืองเวสาลี        (กูฏาคารศาลา)
        พรรษาที่ 6          กรุงราชคฤห์       (เขามังกุละ)
        พรรษาที่ 7          สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
        พรรษาที่ 8          สุงสุมารคีรี         (เภสกลาวัน)
        พรรษาที่ 9          กรุงโกสัมพี
        พรรษาที่ 10        แคว้นวังสะ         (ป่าปาริเลยยก)
        พรรษาที่ 11        ทักขิณคีรี           (นาละ)
        พรรษาที่ 12        เวรัญชา
        พรรษาที่ 13        แคว้นมคธ, จาลิยปัพพต
        พรรษาที่ 14        กรุงสาวัตถี         (เชตวัน)
        พรรษาที่ 15        กรุงกบิลพัสดุ์
        พรรษาที่ 16        อาฬาวี
        พรรษาที่ 17        กรุงราชคฤห์
        พรรษาที่ 18        จาลิยปัพพต
        พรรษาที่ 19        กรุงราชคฤห์
        พรรษาที่ 20-44   กรุงสาวัตถี      (เชตวันและบุพพาราม)
        พรรษาที่ 45        เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลี

 

       นอกจากนี้   Mayeda   ยังได้สำรวจวิเคราะห์ข้อมูลสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับหรือสถานที่ที่พระองค์ทรงแสดงธรรม  ที่มีการระบุไว้ในพระสุตตันตปิฎก พบว่าสถานที่ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ


        กรุงสาวัตถี เมืองหลวงแคว้นโกศล        มากกว่า   910   ครั้ง
        กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแคว้นมคธ        มากว่า     126   ครั้ง
        เมืองเวสาลี เมืองหลวงแคว้นวัชชี                        49   ครั้ง
        กรุงกบิลพัสดุ์ (อยู่ในเขตแคว้นโกศล)                   31   ครั้ง
        กรุงโกสัมพี เมืองหลวงแคว้นวังสะ                       19   ครั้ง


      ผลการสำรวจนี้สอดคล้องกับข้อมูลสถานที่จำพรรษาของพระพุทธเจ้าดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือกรุงสาวัตถีและกรุงราชคฤห์ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอยู่จำพรรษามากที่สุด ก็มีจำนวนการแสดงธรรมมากครั้งที่สุด


      แต่ที่เราควรใส่ใจเป็นพิเศษคือ  กรุงสาวัตถี  ตั้งแต่พรรษาที่  20  ถึงพรรษาที่  44  พระพุทธเจ้าทรงอยู่จำพรรษาที่เชตวันมหาวิหารหรือบุพพาราม ในกรุงสาวัตถีอย่างต่อเนื่องถึง 25 พรรษา เชตวันมหาวิหารและบุพพารามนี้เอง คือ ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล ได้ทำหน้าที่อย่างสำคัญในการจัดระบบคำสอนและสร้างระบบการถ่ายทอดคำสอน


      ในพระวินัยปิฎก  มหาวิภังค์  สังฆาทิเสส  สิกขาบทที่ 8 ได้กล่าวถึงวิธีการจัดแจงเสนาสนะของพระทัพพมัลลบุตรไว้ดังนี้


      ก็แล  ท่านพระทัพพมัลลบุตร  ได้รับแต่งตั้งแล้วย่อมจัดแจงเสนาสนะสำหรับหมู่ภิกษุผู้มีคุณสมบัติเสมอกันรวมไว้ที่เดียวกัน  ดังนี้  คือ จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ทรงพระสูตรรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า ภิกษุเหล่านั้นจักซักซ้อมพระสูตรกัน


    จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ทรงพระวินัยรวมกันไว้แห่งหนึ่ง    ด้วยประสงค์ว่าภิกษุเหล่านั้นจักวินิจฉัยพระวินัยกัน


     จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้เป็นพระธรรมกถึกรวมกันไว้แห่งหนึ่ง   ด้วยประสงค์ว่า   ภิกษุเหล่านั้นจักสนทนาธรรมกัน


      จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ได้ฌานรวมกันไว้แห่งหนึ่ง    ด้วยประสงค์ว่าภิกษุเหล่านั้นจักไม่รบกวนกัน


     จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ชอบกล่าวติรัจฉานกถา   ผู้มากไปด้วยการบำรุงร่างกายรวมกันไว้แห่งหนึ่ง  ด้วยประสงค์ว่า  ภิกษุเหล่านี้จะอยู่ตามความพอใจ


    sammato ca panāyasmā Dabbo Mallaputto sabhāgānamฺ bhikkhūnamฺ ekajjham senāsanam paññāpeti. ye te bhikkhusuttantikā tesam ekajjhamฺ senāsanamฺ paññāpeti te aññamaññamฺ suttantamฺ samฺgāyissantīti, ye te bhikkhū vinayadhaā tesam ekajjhamฺ senāsanamฺ paññāрeti te aññamaññamฺ vinayamฺ vinicchissantiti, ye te bhikkhū dhammakathikā tesamฺ ekajjhamฺ senāsanamฺ paññāpeti te aññāmaññamฺ dhammamฺ sākacchissantīti, ye te bhikkhū jhāyino tesamฺ ekajjhamฺ senāsanamฺ paññāpeti te aññamaññamฺ na vyābādhissantīti, ye te bhikkhū tiracchānakathikā kāyadaIฺhībahulā viharanti tesam pi ekajjhamฺ senāsanamฺ naññāpeti imāya p' ime āyasmantā ratiyā acchissanti. (Vin3, p. 159,l.9-20)1)


      และในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ปวารณาขันธกะ มีข้อความต่อไปนี้


   ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ในอาวาสแห่งหนึ่งในวันปวารณานั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวธรรมกัน ภิกษุผู้ชำนาญพระสูตรก็สาธยายพระสูตรกัน พระวินัยธรก็วินิจฉัยพระวินัยกัน พระธรรมกถึกก็สนทนาธรรมกัน ภิกษุทั้งหลายทะเลาะกันจนราตรีจวนสว่าง


    idha  pana bhikkhave aññatarasmim āvāse tadahu pavāraṇāya bhikkhūhi dhammamฺ bhaṇantehi suttantikehi suttantamฺ samฺgāyantehi vinayadharehi vinayamฺ vinicchinantehi dhammakathikehi dhammamฺ sākacchantehi bhikkhūhi kalahamฺ karontehi yebhuyyena ratti khepita hoti. (Vinl, p. 169, l.5-9)


   จากหลักฐานที่ยกมานี้   จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็มีพระภิกษุที่ชำนาญเฉพาะด้านเช่น  ภิกษุผู้เชี่ยวชาญพระสูตร ผู้เชี่ยวชาญพระวินัย พระธรรมกถึก เป็นต้นแล้ว

 

1) ข้อความเดียวกันรี้ยังพบใน พระวินัยปิฎก จูฬวรรค สมถขันธกะ (Vin2,p.75, I.30-p.76, I.3)


     นอกจากนี้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ปวารณาขันธกะ ยังได้กล่าวว่าเป็นประเพณีที่ภิกษุทั้งหลายจะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังออกพรรษาดังนี้


    มีประเพณีอยู่ว่า   เมื่อภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาครบ  3  เดือนแล้วจึงเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวรหลีกไปทางกรุงสาวัตถี จาริกไปโดยลำดับ ถึงกรุงสาวัตถี ไปถึงพระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี โดยลำดับแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร


     acınฺṇamฺ  kho  pan'etamฺ  vassamฺ  vutthānamฺ bhikkhūnamฺ  bhagavantamฺ dassanāya upasamฺkamitumฺ atha kho te bhikkhū vassamฺ vutthā temāsacca-yena senāsanamฺ samฺsāmetvā pattacīvaram ādāya yena Sāvatthī tena pakkamimฺsu. anupubbena yena Sāvatthī Jetavanamฺ Anāthapinฺdฺikassa ārāmo, yena bhagavā ten' upasamฺkamimฺsu, upasamฺkamitvā bhagavantamฺ abhivādetvā ekamantamฺ nisīdimฺsu. (Vin1, p. 158,I.11-17)


     ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ   เมื่อออกพรรษาแล้วก็จะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคจะได้ศึกษาพระสูตรใหม่ ๆ  ที่พระองค์ทรงแสดงธรรม และพระวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติเพิ่มเติมขึ้น และในสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าซึ่งมีเชตวันและบุพพารามเป็นศูนย์กลางนั้น ที่พักพระภิกษุก็จะถูกจัดแบ่งกันตามความถนัดทั้งพระธรรมธร พระวินัยธร พระธรรมกถึก เป็นต้น ภิกษุอาคันตุกะก็จะไปพักรวมกับภิกษุผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ตามที่ตนสนใจและศึกษาพระสูตร พระวินัย การแจกแจงอธิบายธรรมจากนั้นก็จะกราบทูลลาพระพุทธเจ้าจาริกไปในท้องที่ต่างๆ และนำพระสูตร พระวินัย การอธิบายธรรมที่ตนได้ศึกษาท่องจำมา ถ่ายทอดสู่ภิกษุทั้งหลายในที่นั้นๆ


     พระวินัยธรซึ่งมีพระอุบาลีเป็นหัวหน้านั้น   เมื่อพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทใหม่ขึ้น   ก็จะรวบรวมเรียบเรียงเหตุการณ์อันเป็นต้นบัญญัติ ตัวเนื้อหาสิกขาบท อธิบายศัพท์และข้อความที่สำคัญในตัวสิกขาบท กรณีตัวอย่างการวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดของพระพุทธเจ้า เมื่อรวบรวมเรียบเรียงเสร็จก็ท่องบ่นทรงจำไว้เป็นอย่างดี ส่วนพระธรรมธรซึ่งมีพระอานนท์เป็นหัวหน้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องใด ๆ แล้ว ก็จะเรียบเรียงให้กระชับรัดกุมอยู่ในรูปแบบที่เหมาะแก่การท่องจำ สูตรใดมีเนื้อหาหลักธรรมคล้ายกับสูตรอื่นที่พระพุทธเจ้าเคยทรงแสดงไว้แล้ว ก็จะใช้เนื้อหาหลักธรรมเดิมที่เรียบเรียงท่องจำไว้แล้วมาใช้เลยทำให้ไม่ต้องท่องจำใหม่เราจึงพบว่าเนื้อหาในพระไตรปิฎก เช่น ทีฆนิกาย จะมีเครื่องหมาย ฯเปฯ คือ ละไว้ว่าข้อความตรงนี้เหมือนกับข้อความที่กล่าวไว้ในสูตรที่ผ่านมา ตรงนี้ไม่ได้แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมต่างกรรมต่างวาระโดยใช้ถ้อยคำเหมือนกันทุกตัวอักษร แต่เนื่องจากเป็นข้อความที่ผ่านการเรียบเรียงแล้วโดยพระภิกษุสายพระอานนท์


       พระวินัยและพระสูตรที่เรียบเรียงไว้ดีแล้วนี้   ก็จะถูกถ่ายทอดแก่ภิกษุจากที่ต่าง ๆ  ที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังออกพรรษา  และถ่ายทอดต่อไปยังภิกษุทั้งแผ่นดิน นี่คือระบบการสื่อสารถ่ายทอดพระวินัยและคำสอนของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล


        ในพระไตรปิฎกยังมีคำเรียกพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ  เช่น  พระธรรมธร  พระวินัยธร พระมาติกาธร ปรากฏอยู่จำนวนมาก ซึ่งจะได้วิเคราะห์เรื่องนี้ในหัวข้อต่อไป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022807049751282 Mins