2.ความสัมพันธ์ของคำที่ปรากฏในศิลาจารึกกับการใช้คำนั้นในพระไตรปิฎก

วันที่ 15 สค. พ.ศ.2567

2567%2008%2015b.jpg

 

2.ความสัมพันธ์ของคำที่ปรากฏในศิลาจารึก

กับการใช้คำนั้นในพระไตรปิฎก


ในพระไตรปิฎกมีคำที่แสดงถึงพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ด้านต่างๆ ปรากฏดังนี้ 1)


ตารางแสดงจำนวนศัพท์ที่พบในคัมภีร์ต่างๆ A)

 

  ธมฺมธร วินยธร ธมฺมกถิก มาติกาธร อาคตาคม สุตฺตนฺติก ภาณก
สุตุตวิภังค์   10 35  
ขันธก 22  28  22  22   
ทีฆนิกาย 14      
มัชฌิมนิกาย 2    
สํยุตตนิกาย 28         
อังคุตรนิกาย 33  48  40 14ฺB)  14     
รวม 77  98   118 40  42  1
มหานิทเทส   12   12     12   

 

1) คำว่าพระไตรปิฎกในที่นี้หมายเอา พระวินัยปิฎก สร้าง สุตตวิภังค์กับขันธกะ และพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกสร้างคัมภีร์บริวาร และขุททกนิกายเนื่องจากจะยังมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยความเก่าใหม่ จึงแยกการวิเคราะห์ต่างหาก

 

หมายเหตุ


        A) นับรวมส่วนที่ละในรูปของ ฯเปฯ และนับรวมศัพท์ที่เข้าสมาส และลงปัจจัยตัทธิตด้วย


     B) ในฉบับ PTS AN1, p. 117, I. 29 ใช้คำว่า “มาติกธรา" แต่ในฉบับสยามรัฐและฉบับพม่าใช้คำว่า “มาติกาธรา" และคำว่า "มาติกาธรา" นี้ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จะมาเป็นชุดของคำว่า “พหุสฺสุต อาคตาคม ธมฺมธร วินยธร มาติกาธร” เสมอ คำว่า “มาติกาธร” ไม่เคยพบเดี่ยวๆเลย ดังนั้นเราจึงทราบว่า คำว่า “มาติกธรา” ในฉบับ PTS น่าจะผิด จริงๆที่ถูกคือคำว่า “มาติกาธรา”


       C) พระอภิธรรมปิฎกและคัมภีร์อื่นของขุททกนิกาย ยกเว้น มหานิทเทส เราพบคำว่า ธมฺมธร วินยธร ธมฺมกถิก ประปราย อาจเป็นเพราะคัมภีร์เหล่านี้เนื้อหาไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับระบบการสืบทอดคัมภีร์


         ต่อไปจะได้วิเคราะห์ความหมายของการปรากฏคำเหล่านี้กับการกำเนิดคัมภีร์นั้นๆ


         2.1. คำว่า “วินยธร”  แปลว่าผู้ทรงพระวินัย  กับคำว่า “ธมฺมธร” แปลว่า ผู้ทรงพระธรรม (พระสูตร) คำทั้งสองพบกระจายอยู่ทั่วๆ ไป


        2.2. คำว่า “สุตฺตนฺติก”  แปลว่าผู้เชี่ยวชาญพระสูตร  มีความหมายคล้ายคำว่า “ธมฺมธร” แต่พบน้อยมากในพระไตรปิฎก และทั้งๆ ที่หมายถึงผู้เชี่ยวชาญพระสูตร แต่กลับไม่พบคำนี้เลยในพระสุตตันตปิฎกทั้ง 4 นิกายแรก และในคัมภีร์มหานิทเทส พบคำว่า “สุตฺตนฺติก” 12 ครั้ง แต่ไม่พบคำว่า “ธมฺมธร" เลย


         สาเหตุเรื่องนี้มีทางเป็นไปได้ 3 อย่างคือ


      ก. คำว่า “สุตฺตนฺติก” มีมาแต่เดิม แต่ภายหลังถูกคำว่า “ธมฺมธร” แทนที่ ทำให้ในพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกไม่ปรากฏคำว่า “สุตฺตนฺติก” เลย


      แต่ในคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งรวมอรรถกถาของพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกด้วย เราพบคำว่า “สุตฺตนฺติก” มากกว่า 23 ครั้ง1) ความเป็นไปได้นี้ จึงถูกปฏิเสธ เพราะถ้าคำว่า “สุตฺตนฺติก” มีมาแต่เดิม แล้วภายหลังถูกคำว่า "ธมฺมธร” เข้าแทนที่ จนในพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกไม่มีคำนี้เหลือเลยแล้วละก็ ในอรรถกถาซึ่งเกิดขึ้นหลังพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรก ไม่ควรมีคำว่า “สุตฺตนฺติก” จำนวนมากอย่างนี้


      ข. คำว่า “สุตฺตนฺติก"  กับคำว่า “ธมฺมธร” ไม่มีความสัมพันธ์ในแง่การใช้แทนกัน แต่ละคำก็ถูกใช้ตามความเหมาะสมแต่ละที่

 

        แต่คำว่า “สุตฺตนฺติก” ที่ใช้ในพระวินัยปิฎก  มีกรณีที่มาพร้อมกันกับคำว่า "วินัยธร” หรือ “ธมฺมกถิก” แต่ไม่มีที่ปรากฏว่า มาพร้อมกับคำว่า “ธมฺมธร” เลย ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า ในพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรก มีคำว่า “ธมฺมธร” ถึง 55 ครั้ง แต่ไม่มีใช้คำว่า “สุตฺตนฺติก” เลย ส่วนในคัมภีร์มหานิทเทส มีคำว่า “สุตฺตนฺติก” ปรากฏ 12 ครั้ง แต่ไม่มีคำว่า “ธมฺมธร” ปรากฏเลยแม้แต่ที่เดียว ถ้าหากคำว่า “สุตฺตนฺติก” กับคำว่า “ธมฺมธร” ไม่มีความสัมพันธ์ในแง่การใช้แทนกันแล้ว คำว่า "สุตฺตนฺติก" ก็ควรจะพบมาในที่เดียวกัน กับคำว่า “ธมฺมธร” เหมือนกรณีคำว่า “พหุสฺสุต” หรือ “อาคตาคม” ด้วย แต่ในความเป็นจริง คำว่า “สุตฺตนติก” กับคำว่า “ธมฺมธร” ไม่เคยมาคู่กันเลย เราจะพบเพียงคำใดคำหนึ่งเท่านั้น ที่มาคู่กับคำอื่นๆ เช่น “วินัยธร” คำว่า “สุตฺตนฺติก” กับคำว่า “ธมฺมธร” จึงมีความสัมพันธ์ในแง่การใช้แทนกันแน่นอน ความเป็นไปได้ในข้อ ข.นี้ จึงถูกปฏิเสธ


        ค. คำว่า “ธมฺมธร” มีมาแต่เดิม จึงพบกระจายทั่วไปในพระไตรปิฎก ส่วนคำว่า “สุตฺตนฺติก” มีการใช้กันแพร่หลาย เมื่อการสังคายนาเรียบเรียงพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจึงไม่พบคำนี้ในพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกเลย แต่พบคำนี้จำนวนมากในคัมภีร์ที่เกิดขึ้นชั้นหลัง เช่น มหานิทเทสและอรรถกถา


         เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ข้อ ค. นี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด


        ต่อไปจะได้วิเคราะห์ถึงการแพร่หลายของคำว่า   “สุตฺตนฺติก”   กับการกำเนิดคัมภีร์พระไตรปิฎก


     คำว่า “สูตติกินี” “สุตาติกินี” “สุตาติก” ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่เจดีย์ที่ Bhīlsa, (ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล) คำละ 1 แห่ง ในฐานะผู้บริจาค และเราพบคำว่า "สุตมติก" 1 แห่งบนจารึกที่เสาหินแห่ง Bhārhut (ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล) เราจึงทราบว่าในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล คำว่า “สุตฺตนติก” มีใช้กันแพร่หลายแล้ว

 

1) ในที่นี้ใช้อรรถกถาฉบับพม่าเป็นหลัก เพราะอรรถกถาฉบับ PTS ยังทำเป็น database ไม่เรียบร้อย

 

        ถามว่าจุดเริ่มต้นของการแพร่หลายของ คำว่า “สุตฺตนฺติก” เกิดขึ้นในยุคใด ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า คำว่า “สุตฺตนฺติก” ไม่พบในพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกเลย แต่พบจำนวนมากในคัมภีร์มหานิทเทสและอรรถกถา ดังนั้นการแพร่หลายของคำนี้จึงชัดเจนว่าต้องอยู่ในช่วงหลังจากการเรียบเรียงพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกเสร็จแล้ว และก่อนการเกิดคัมภีร์มหานิทเทสและอรรถกถา เมื่อนำเอาผลสรุปนี้ไปผนวกวิเคราะห์กับหลักฐานที่หนักแน่นทางประวัติศาสตร์ว่าในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล คำว่า “สุตฺตนฺติก” มีใช้อย่างแพร่หลายแล้ว ก็จะนำไปสู่บทสรุปที่สำคัญอย่างยิ่งยวดว่า พระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกได้เรียบเรียงเสร็จเรียบร้อยก่อนศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลนานพอสมควร


         ต่อไปจะได้วิเคราะห์คำว่า “ภาณก” เพื่อทำให้เห็นเวลาในการกำเนิดคัมภีร์ชัดเจนขึ้นไปอีก


      2.3. คำว่า “ภาณก” แปลว่าผู้ท่อง  ผู้สวด  เราพบคำนี้ในพระไตรปิฎกที่สุตตวิภังค์เพียง1) แห่งแต่ในอรรถกถาเราพบคำว่า “ภาณก” กว่า 100 แห่งในรูปคำว่า ทีฆภาณก มชฺฌิมภาณก ชาตกภาณก ธมฺมปทภาณก ภาณก ภาณกบุคคล เป็นต้น


        แต่คำว่า  ภาณก  เราพบในศิลาจารึกที่เจดีย์ที่ Bhīlsa (ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล) 1 แห่ง พบที่จารึกที่เสาหินแห่ง Bhārhut (ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล) 6 แห่ง ในฐานะผู้บริจาค2) เราจึงทราบว่าในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล คำว่า “ภาณก” นี้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว


         จากข้อมูลนี้เราทราบเรื่อง 3 ประการต่อไปนี้


        ก. ตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลซึ่งคำว่า “ภาณก” แพร่หลาย คัมภีร์พระไตรปิฎกรวมถึงมหานิทเทสเรียบเรียงเสร็จเรียบร้อย เพราะถ้าในขณะที่คำว่า “ภาณก" แพร่หลาย พระไตรปิฎกและคัมภีร์มหานิทเทสยังอยู่ในระหว่างการเรียบเรียง


         เราก็ควรพบคำว่า “ภาณก” นี้จำนวนมากในพระไตรปิฎกเหมือนในคัมภีร์อรรถกถา

 

1) Vin4, p.67, I.27. มาในรูป “อยฺโย ภาณโก, อยฺโย พหุสฺสุโต, อยฺโย สุตฺตนฺติโก, อยฺโย วินยธโร, อยฺโย ธมฺมกถิโก” จะเห็นได้ว่าในที่นี้ คำว่า “ภาณก” มาร่วมกับคำว่า “สุตฺตนฺติก” จึงเป็นไปได้ว่าคำทั้งสองต่างเกิดขึ้นที่นี่จากการถูกเปลี่ยนแปลงในยุคหลัง


2) ดู Tsukamoto, Keiyo [1980:397] ประกอบ

 

       ข. พระภิกษุผู้ทำหน้าที่ท่องจำสืบทอดคัมภีร์  มีท่าทีอนุรักษ์นิยมมาก ๆ  เพราะทั้งที่คัมภีร์พระไตรปิฎกทั้งหลายในยุคต่อมาถูกสืบทอดโดยคณะภิกษุที่เรียกตัวเองว่า “ภาณก” แต่ภิกษุเหล่านั้นกลับไม่ได้ใช้สรรพนามเรียกของพวกตนเอง แทรกไปแทนที่คำอื่นที่มีความหมายคล้ายกันในพระไตรปิฎก ศึกษามาอย่างไร ก็ทรงจำสืบทอดต่อไปอย่างนั้นอย่างเคร่งครัด


       ค. คำว่า  “สุตฺตนฺติก”  เกิดขึ้นก่อน  คือ  เกิดก่อนการเรียบเรียงคัมภีร์มหานิทเทสจะเสร็จ  ส่วนคำว่า  “ภาณก”  เกิดทีหลัง  คือ  เกิดภายหลังการเรียบเรียงคัมภีร์มหานิทเทสเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะเหตุนี้ทำให้ในคัมภีร์มหานิทเทสพบคำว่า “สุตฺตนฺติก” ถึง 12 ครั้ง แต่ไม่พบคำว่า “ภาณก” เลย


          ต่อไปจะได้วิเคราะห์หาจุดเริ่มต้นแพร่หลายของคำว่า “ภาณก


         ในพระวินัยปิฎก  จูฬวรรค  สัตตสติกขันธกะ  ว่าด้วยการสังคายนาครั้งที่  2  มีข้อความต่อไปนี้


        idāni ca panāyasmā Revato antevāsikamฺ sarabhānakam bhikkhumฺ ajjhesissati, so tvamฺ tassa bhikkhuno sarabhaññapariyosāne āyasmantamฺ Revatamฺ upasamฺkamitvā imāni dasa vatthūni puccheyyāsīti. evamฺ bhante'ti kho āyasmā Yaso Kākaṇḍakaputto āyasmato Sambhutassa Sāṇavāsissa paccassosi. atha kho āyasmā Revato antevāsikam sarabhānakam bhikkhumฺ ajjhesi. atha kho āyasmā Yaso Kākaṇḍakaputto tassa bhikkhuno sarabhaññapariyosāne yenāyasmā Revato ten' upasamฺkami (Vin2, p.300,L.15-24).


       แต่เวลานี้  ท่านพระเรวตจะเชิญภิกษุอันเตวาสิกให้สวดสรภัญญะ  เมื่อภิกษุรูปนั้นสวดสรภัญญะจบ ท่านควรเข้าไปหาท่านพระเรวตะถามวัตถุ 10 ประการเหล่านี้


        ท่านพระยสกากัณฑกบุตรรับคำท่านพระสัมภูตสาณวาสีแล้ว


      ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะเชิญภิกษุอันเตวาสิกให้สวดสรภัญญะ เมื่อภิกษุรูปนั้นสวดสรภัญญะจบ ท่านพระยสกากัณฑกบุตรจึงเข้าไปหาท่านพระเรวตะ


        จากข้อมูลตรงนี้  ทำให้เราทราบว่า  ในขณะที่เรียบเรียงขันธกะนี้ คำว่า “ภาณก” มีการใช้แพร่หลายแล้ว ดังนั้น คำว่า “ภาณก” จึงแพร่หลายมาก่อนหน้าการเรียบเรียง สัตตสติกขันธกะ1)


      นอกจากนี้ในคัมภีร์มิลินทปัญหา  มีคำว่า  “ภาณก”  ปรากฏอยู่จำนวนมาก  ในรูปของคำ  “ทีฆภาณก”  “มชฺฌิมภาณก”  “สํยุตฺตภาณก”  “องคุตฺตรภาณก” “ขุททกภาณก” เป็นต้น เราจึงทราบว่า คำว่า“ภาณก” นี้แพร่หลายมาก่อนจะมีการเรียบเรียงคัมภีร์มิลินทปัญหา


หากรวมข้อสรุปข้างต้น จัดลำดับตามเหตุการณ์ก่อนหลังจะได้ดังนี้


สุตตวิภังค์ ขันธกะ พระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรก เรียบเรียงเสร็จ

2567-08-15%20b.JPG

คำว่า “สุตฺตนฺติก” เริ่มแพร่หลาย

2567-08-15%20b.JPG

คัมภีร์มหานิทเทส เรียบเรียงเสร็จ

2567-08-15%20b.JPG

คำว่า “ภาณก” เริ่มแพร่หลาย (ก่อน ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลนานพอสมควร)

2567-08-15%20b.JPG

สัตตสติกขันธกะ และคัมภีร์มิลินทปัญหาเรียบเรียงเสร็จ2)

 

1) Rhys Davids (SBE Vol. 20, P.72 n.3) ได้กล่าวถึงคำว่า “ภาณก” ไว้ดังนี้
The reciters (or leaders of a common recitation) were known as sarabhāṇakā "intoners". Later on, the entire Canon was divided into lessons (bhānฺavāra) for the purpose of recitation (cf. Winternitz,M.[1983:11]; Norman, K.R.[1983:8]; Adikaram, E.W.[1946:24-32]).


2) การเกิดขึ้นของสัตตสติกขันธกะ ดู Tsukamoto, Keiyo [1980:208-228] ประกอบ

 

   โดยทั่วไปการวิจัยกำเนิดคัมภีร์พระไตรปิฎกจะกระทำโดยศึกษาถึงชั้นของแนวคิดชั้นของภาษาในเนื้อหาของคัมภีร์นั้นๆ หรือโดยการศึกษาเปรียบเทียบเนื้อหาของคัมภีร์ของนิกายต่างๆ แต่ทว่าดังที่ Watsuji ได้แสดงไว้แล้วว่า แม้จะสามารถทำความกระจ่างให้เกิดขึ้นได้ว่า ส่วนใดของคัมภีร์พระไตรปิฎกเกิดขึ้นก่อนหลังกว่ากัน เราก็ไม่สามารถจะนำข้อสรุปนั้นไประบุว่าคัมภีร์นั้นเกิดขึ้นในปีพุทธศักราชใดได้ทันที ดังที่ Shimoda ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า การที่ประวัติศาสตร์การกำเนิดของคัมภีร์เล่มหนึ่งจะสามารถนำไปใช้กำหนดประวัติศาสตร์ของคัมภีร์อื่นได้นั้น คัมภีร์ทั้งสองจะต้องมีเหตุการณ์หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ภายนอกที่ร่วมกัน1)


       คำว่า “สุตฺตนฺติก” กับคำว่า “ภาณก”  ที่จารึกอยู่ในศิลาจารึกที่ Bhīlsa และ Bhārhut ได้ให้หลักฐานอันทรงคุณค่าและหาได้ยากยิ่งในการเชื่อมโยงกำเนิดคัมภีร์กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ภายนอกที่สามารถระบุวัน เวลาที่แน่นอนได้ให้กับเรา


     และที่ทำให้การวิจัยในรูปแบบนี้เป็นไปได้นั้น  ก็คือการ Computerization ข้อมูลพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั้งหมดนั่นเอง


      การศึกษาว่าคำที่มีจารึกไว้ในศิลาจารึกโบราณ  มีการใช้ต่างกันอย่างไรในคัมภีร์ต่างๆ จึงเป็นหลักฐานที่ทรงคุณค่ายิ่งในการวิเคราะห์การกำเนิดคัมภีร์นั้นๆ


         2.4. คำว่า “ธมฺมกถิก” แปลว่าผู้แจกแจง แสดงธรรม มีปรากฏในพระไตรปิฎก 118 แห่ง ที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์ของคำคำนี้กับคำว่า “มาติกาธร"


        คำว่า "มาติกาธร" แปลว่าผู้ทรงมาติกา (แม่บทพระอภิธรรม) มีปรากฏในพระไตรปิฎก 40 แห่ง ทุกแห่งมาเป็นชุดในรูปแบบเดียวกันคือ “พหุสฺสุต อาคตาคม ธมฺมธร วินยธร มาติกาธร” คำว่า “มาติกาธร” ไม่มีที่ปรากฏมาเดี่ยวๆ เลย สิ่งนี้แสดงว่า คำว่า “มาติกาธร” เกิดขึ้นในยุคหลังกว่าคำว่า “ธมฺมธร” “วินยธร”และ “ธมฺมกถิก”

 

1) Shimoda, Masahiro [1997: 23, 93-96] Unau

 

       เป็นไปได้ว่า  พระธรรมกถึกได้แจกแจงแสดงธรรม  การจำแนกอธิบายธรรมนั้น  เป็นที่มาของอรรถกถาในภายหลัง แต่การจำแนกธรรมนั้นได้พัฒนาไปตามลำดับ จนเกิดมาติกาขึ้น1) จึงเกิดการใช้คำว่า “มาติกาธร” ขึ้น เมื่อดูจากการที่คำว่า “มาติกาธร” ทั้งหมดมาในชุดของคำที่มีรูปแบบเหมือนกันหมดทุกแห่ง ก็ชัดเจนว่ามาติกาเกิดขึ้นในยุคหลังจากการเรียบเรียงจัดระบบหมวดหมู่คำสอนเป็นระบบมากพอสมควรแล้ว


        2.5. คำว่า  “อาคตาคม”  แปลว่า  ผู้แตกฉานในอาคม2)  มีปรากฏในพระไตรปิฎก  42  แห่ง  40  แห่งในนั้นมาพร้อมกับคำว่า  “มาติกาธร” นี้แสดงให้เห็นว่า คำว่า “อาดตาคม” ก็เกิดในยุคหลังใกล้เคียงกับคำว่า “มาติกาธร”


        มีที่น่าสนใจอีกเรื่อง  คือ  คำว่า  “อาภิธมฺมิก”  แปลว่า  ผู้เชี่ยวชาญพระอภิธรรม  มีปรากฏเพียงที่เดียวในมหานิทเทส ไม่พบในพระวินัยปิฎก และ พระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกเลย3)


      สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า  เป็นไปได้ว่าในขณะที่การเรียบเรียงสุตตวิภังค์  ขันธกะ  และพระสุตตันตปิฎก 4 นิกายแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระอภิธรรมปิฎกยังไม่เกิดขึ้น มีเพียงรูปลักษณ์ที่เรียบง่ายในลักษณะมาติกาเท่านั้น

 

1) ดู Mizuno, Kogen [1997:50-54] ประกอบ


2) อาคมในที่นี้ไม่ใช่หมายถึง คาถาอาคม แต่หมายถึง เนื้อหาในนิกายต่างๆ ของพระสุตตันตปิฎก ดังจะเห็นได้ว่าเนื้อหาของพระสุตตันตปิฎกหินยานในพระไตรปิฎกจีนนั้น เนื้อหาส่วนทีฆนิกายจะเรียกว่า อาคมขนาดยาว มัชฌิมนิกายเรียกว่าอาคมขนาดกลาง เป็นต้น


3) ในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ Vin1, P. 369, I.7 มีปรากฏคำว่า “อภิธมฺมิก” แต่ในพระไตรปิฎกฉบับ PTS และฉบับพม่าในตำแหน่งเดียวกันใช้คำว่า “ธมฺมกถิก” อาจเป็นไปได้ว่าคำว่า “อาภิธมฺมิก” ในฉบับสยามรัฐเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในยุคหลัง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011483152707418 Mins