เรื่องของโอโม กล่องที่ 19 : พระธรรมทายาท
สถานที่อบรมหลักของเราคือศาลาจาตุมหาราชิกา และเต้นท์ยักษ์ที่เนินประดู่ ซึ่งถือว่าอยู่หน้าวัด ส่วนกลดที่ใช้พักอยู่ท้ายวัด วันหนึ่งเดินมาอบรม เดินกลับไปที่พัก ทำภารกิจส่วนตัว ทั้งรอบเช้ามืด รอบสาย รอบบ่าย รอบค่ำ เดินหน้าวัดไปหลังวัดวันละหลายๆรอบ ในช่วงแรกๆของการอบรม ธรรมทายาทเลยใช้เวลานี้ในการท่องสวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เดินไปท่องไป ส่วนเราเด็กชมรมพุทธฯ สวดได้ตั้งแต่อยู่ชมรมแล้ว มาถึงช่วงใกล้บวชก็มาท่องคำขานนาค บทให้พรพระ เมื่อถึงเวลาไปบวชจริง นาคธรรมทายาทจึงท่องคำขานนาคได้อย่างดี และเมื่อบวชเสร็จก็สวดมนต์ให้พรกับญาติโยมได้ทันที
อีกความจดจำหนึ่งที่เล่าขานสำหรับธรรมทายาท คือ การปฏิบัติธรรมรอบค่ำ ที่ศาลาจาตุมหาราชิกา กว่าจะเสร็จก็เกือบสามทุ่ม ขากลับต้องเดินผ่านอาคารยามา ศาลาดุสิต แล้วก็ผ่านกุฏิคุณยายฯ ช่วงนี้จะมืดหน่อย หน้ากุฏิคุณยายฯจะมีดงต้นแก้ว ออกดอกสีขาว หอมสดชื่น การเดินช่วงนี้ห้ามเผลอสติเด็ดขาด ถ้าเผลอคุยกัน พี่เลี้ยงที่ซุ่มอยู่หลังต้นแก้วก็จะปรากฏตัว แล้วเชิญคุณกลับไปที่ศาลาจาตุมหาราชิกา พร้อมมอบสิทธิ์พิเศษให้ที่เรียกว่า "Extra" ซึ่งพิเศษสมชื่อ คือ นั่งต่ออีก 1ชั่วโมง ลองคิดดู ศาลาโล่งๆ ดึกก็ดึก แต่จะมีเพื่อนเยอะคือ ยุง ถ้าพูดถึงยุงวัดพระธรรมกายแล้ว เค้าจะสุภาพ ใจกล้า ไม่กลัวใคร เพราะรู้ว่าไม่มีใครตบ อย่างมากก็สะกิดๆ แต่ก็เฉย ตั้งหน้าตั้งตาตั้งฐานเจาะ แล้วก็ดูดๆๆ จนหนำใจ แล้วก็นอนพักตรงนั้นเพราะไปไม่ไหว การนั่งExtra จึงเป็นเรื่องที่กล่าวขานไปได้ตลอดชีวิตของธรรมทายาทสมัยนั้น
และแล้วก็มาถึงวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชีวิตลูกผู้ชายที่จะได้บวชเข้ามาอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนา ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย
การบวชสมัยนั้นจะมาบวชที่วัดเบญจมบพิตรฯ ซึ่งมีพระเดชพระคุณ พระพุทธิวงศมุนี (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังท่านดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ และ มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2537
นาคธรรมทายาทจะมานอนพักค้างที่วัดเบญจฯ 1คืน เพื่อมาซักซ้อมการบวช ในรุ่น ที่ 12 ผมได้บวชอยู่ในลำดับที่ 107 ได้ ชื่อ ฉายาว่า "พระวันชัย ชยภทฺโท"(มาจาก ชัย+ภัทร)