เรื่องของโอโม กล่องที่ 20 : ออกบิณฑบาตร
รอบเช้ามืดเราจะถูกปลุกตื่นที่ ตีสามสี่สิบห้า ลุกขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน แล้วเร่งครองผ้าให้ทัน เราต้องจับคู่ที่ความสูงใกล้เคียงกัน จะได้ช่วยกันครองผ้าได้เร็วขึ้น จีวรต้องพับไว้แล้วตั้งแต่ก่อนนอน เวลาพาดปลายจีวรด้านหนึ่งที่บ่าซ้ายต้องแนบและยาวไปอย่างน้อยก็ถึงสะบัก แล้วทับด้วยจีวรที่ห่มไปด้านหน้า คาดผ้ารัดอกผูกให้แน่น จัดแต่งทุกอย่างให้เรียบร้อย ก็ตั้งแถวออกเดินไปที่ศาลาจาตุมหาราชิกา ไปนั่งสมาธิต่อด้วยสวดมนต์ทำวัตรเช้า ราวๆหกโมงเช้าก็ตั้งแถวเดินลงจากศาลา
ตรงบันได หลวงพ่อทัตตะชีโวมายืนรออยู่แล้ว ทุกรูปจะถูกกระตุกจีวรด้านอกซ้าย ถ้าตอนครอง ท่านใดสอดจีวรไม่ลึก ไม่แนบพอ รัดอกไม่แน่นพอ จีวรที่บ่าซ้ายก็หลุดติดมือหลวงพ่อออกมา เป็นอันว่าพระธรรมทายาทท่านนั้น วันนั้นจะไม่ได้ออกไปบิณฑบาตร
เส้นทางการบิณฑบาตร ก็ออกประตูหน้าวัด เลียบคลองสามไป แล้วไปเข้าถนนคลองหลวง ซึ่งสมัยนั้นเป็นถนนลาดยาง สองเลน มุ่งหน้าเดินไปทางคลองสอง ข้างทางช่วงแรกจะเป็นสวนส้มเขียวหวาน เดินผ่านคลองแอนจนถึงตีนสะพานคลองสองก็จะเลี้ยวกลับ แต่ชุดพระที่ตัวสูงสิบกว่ารูป ต้องเดินข้ามสะพานคลองสอง ไปรับบาตรญาติโยมอีก 2-3 บ้านแล้วถึงจะเลี้ยวกลับได้ ผมก็ติดในชุดตัวสูงด้วย
ระหว่างทางก็จะมีชาวบ้าน มีญาติพี่น้องมารอดักใส่บาตร แต่ละวันข้าวสุกบางทีเกินครึ่งบาตร หนักพอสมควร เดินกลับมาถึงเต้นท์ยักษ์ที่เนินประดู่ก็มาถ่ายใส่กะละมังอลูมิเนียม แยกเป็นข้าว กับข้าว ขนม
พอถ่ายบาตรเสร็จหมดครบทุกรูปแล้ว ก็ตั้งแถวไปตักแบบบุฟเฟ่ต์ ใส่ลงไปในบาตร กฏกติกา ตักมาเท่าไรต้องฉันให้หมด วันแรกยังกะไม่ถูกรู้สึกว่า ความลึกของบาตรจะหลอกตา จุกไปตามๆกัน
ฉันเสร็จหลวงพ่อทัตตชีโว มักจะเทศน์ต่อเลย ท่านเทศน์เรื่องพุทธประวัติ บางทีเป็นชั่วโมง บาตรก็ยังไม่ได้ล้าง ตั้งอยู่ข้างหน้าบนขาตั้ง พระธรรมทายาทก็เริ่มเคลิ้มจากอาการเดินมาเหนื่อยกับอาการข้าวกำลังเรียงเมล็ด บางรูปเผลอโงกไปโดนบาตร บาตรหล่นจากขาตั้งดังเคร้ง ตัวบาตร ฝาบาตร ช้อน ส้อม กลิ้ง กระเด็นไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็ช่วยทำให้พระธรรมทายาท alert ขึ้นมาได้บ้าง