วันลอยกระทง

วันที่ 26 พย. พ.ศ.2547

 

 

 

แสงจันทร์จรูญเมฆจแจ่ม จแหร่ม ณ นภา -

กาศเรืองระยับรัศมิดา รกพรายโพยมบน

 

ระมหานาค วัดท่าทราย กวีเรืองนามในแผ่นดินบรมโกศ ได้บรรยายความงามของพระจันทร์วันเพ็ญในปุณโณวาทคำฉันท์ไว้อย่างจับใจ … อย่างรับกับบรรยากาศเฉิดฉายของคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง … คืนที่คนไทยในทุกภาคพื้น รื่นเริงกับประเพณีทางน้ำที่ต่างรู้จักกันดีว่าเป็น วันลอยกระทง

คนไทย … ได้ชื่อว่าผูกพันใกล้ชิดกับสายน้ำมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล เพราะภูมิประเทศของเรามีแม่น้ำคอยหล่อเลี้ยงเป็นเส้นเลือดอยู่ทุกหนแห่ง วัฒนธรรมประเพณีจึงล่องไหลไปกับแม่น้ำเหล่านี้ สร้างประเพณีในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองให้พร่างพราย คึกคัก สดใส ไปทั่วทุกท้องน้ำ เพียงแต่มีชื่อเรียกและมีวิธีการที่แตกต่างกันไปบ้างเท่านั้น เช่น ทางภาคเหนือ แต่เดิมเรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า ลอยโขมด หรือ ลอยไฟ หรือในสมัยสุโขทัยเรียกว่า งานเผาเทียนเล่นไฟ

ในขณะที่ทางภาคอีสานนั้นมีควบถึงสองประเพณีติดกัน คือในเดือนสิบเอ็ดเรียกว่า พิธีลอยไฟ และเดือนสิบสองเรียกว่า ไหลเรือไฟ แต่ทั้งหมดนี้คือ ประเพณีลอยกระทง ของคนไทยนั่นเอง

ลอยกระทงกันทำไม ? แน่นอนต้องมีความหมาย หรือมีที่มา แต่เดิมหลายคนคิดว่าประเพณีนี้น่าจะมาจากพิธีพราหมณ์ ด้วยเห็นว่าพราหมณ์นั้นใกล้ชิดสนิทสนมกับไทยและพระพุทธศาสนามาช้านาน เพราะนิยมทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งตรงกับประเพณีจองเปรียงทีปาวลี เดือนสิบสองของพราหมณ์ ในวันที่พระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์ถึงราศีพฤศภ

แต่ความจริงแล้ว … การลอยกระทงนั้น เป็นไปเพื่อปรารถนาถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อกันว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย เพียงแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนเท่านั้นว่า เริ่มต้นในแผ่นดินไหน เนื่องจากตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้น ในภายหลังเริ่มมีผู้วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นว่า น่าจะเขียนขึ้นภายหลังยุคสมัยของสุโขทัย แต่แน่ใจว่าเป็นพุทธประเพณีอย่างแน่นอน

ด้วยในแผ่นดินสุโขทัย พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ผู้คนถือศีลบำเพ็ญภาวนา การลอยประทีปจึงเป็นไปตามคตินิยมของคนส่วนใหญ่ ที่ผูกใจไว้กับพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุด

ดังกล่าวมาแล้ว จุดประสงค์ของการลอยกระทงนั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น เพื่อลอยบาป เพื่ออธิษฐานจิต แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ลอยเพื่อนำสุคันธมาลาทั้งหลาย พร้อมด้วยดวงใจอันบริสุทธิ์ถวายเป็นพุทธบูชา รอยพระบาททางตอนเหนือแห่งแม่น้ำนัมมทา ในประเทศอินเดีย และยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า นางสุชาดานั่นเอง ที่เป็นผู้ริเริ่มการลอยกระทงเป็นคนแรก

ด้วยในกาลก่อนที่พระพุทธองค์จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณนั้น นางได้นำข้าวมธุปายาสไปถวาย ด้วยสำคัญว่าพบเทวดา เมื่อทรงเสวยแล้วตั้งสัตย์อธิษฐานลอยถาดทองคำลงในแม่น้ำเนรัญชราว่า ถ้าพระองค์สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณในครั้งนี้ ขอให้ถาดทองคำลอยทวนน้ำขึ้นมายังใจกลางแม่น้ำ ได้ปรากฎเหตุอัศจรรย์ ถาดทองคำลอยทวนน้ำขึ้นไปจริงๆ ทั้งยังตกลงกระทบขนดหางของพญานาคที่ใต้บาดาล ตามคำอธิษฐานแห่งพญานาคที่ต้องการรับรู้ถึงกาลอันวิเศษนั้นด้วย

เมื่อพญานาคทราบเหตุแล้ว จึงได้ประกาศโกญจนาทขึ้นทั่วไป เหล่าเทวาทั้งหลายได้กราบอาราธนาจขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้ตอนเหนือแห่งแม่น้ำนัมมทานี้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงรับด้วยอาการดุษฎี เหตุการณ์สำคัญเหล่านี้นางสุชาดาได้ประสบด้วยจิตที่เลื่อมใส ปิติใจว่าตนได้สร้างบุญใหญ่แด่ทักขิไณยบุคคลอันประเสริฐ ดังนั้นจึงปรารถนาสั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

เป็นเหตุให้ทุกปี นางสุชาดาจะน้อมนำเอาเครื่องหอม และสุคันธมาลีทั้งปวงใส่ลงในถาดทองคำ แล้วลอยลงในแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันตรัสรู้ครั้งนั้น ซึ่งการสร้างบุญของนางได้เป็นแบบอย่างให้แก่บุตรหลานยึดถือปฏิบัติสืบต่อมา

และกิจอันงามนี้เอง ที่กระจายออกไปยังบรรดาชาวพุทธทั้งหลาย โดยไทยเรามากำหนดเวลาให้พร้อมเพรียงกันในภายหลัง โดยถือเอาวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์เทวโลก ซึ่งตรงกับคืนวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ดเป็นเกณฑ์ แต่คงเป็นเพราะในประเทศไทยเรานั้น ช่วงวันเพ็ญเดือนสิบสองเป็นช่วงน้ำนองเต็มตลิ่งมากที่สุด เหมาะแก่การลอยประทีป จึงเป็นที่นิยมกว่าเดือนอื่น

ส่วนดอกบัวนั้นสำคัญอย่างไร ? จึงกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของการลอยกระทง ทั้งที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นการลอยถาดทองคำ มิใช่ลอยกระทง

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประเพณีนิยมเมื่อสมัยสุโขทัย พอถึงพระราชพิธีจองเปรียงในเดือน ๑๒ กำหนดให้เป็นวันนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยฟ้า เพื่อบูชาพระมหาเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ครั้นเวลาพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้า กษัตริย์แห่งสุโขทัย ได้เสด็จประทับริมน้ำพร้อมด้วยพระบรมวงศ์และเหล่าสนมกำนัล ฝ่ายพราหมณ์ถวายเสียงสังข์เป็นมงคล ข้าราชบริพารทั้งหลายได้ประดิษฐ์โคมลอยฟ้าขึ้นประกวดประชันกัน ปล่อยโคมถวายให้ทอดพระเนตรตามลำดับ ครั้นถึงลำดับโคมของพระธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีลักษณะแปลกกว่าโคมอื่น คือเป็นโคมรูปกลีบดอกบัวแล้วตามประทีปให้ลอยบนน้ำ

สมเด็จพระร่วงเจ้าทอดพระเนตรแล้วตรัสชมว่า โคมประหลาดเช่นนี้หาเคยมีไม่ เป็นของผู้ใดกระทำฤา มหาเสนาบดีกราบทูลว่า เป็นโคมของ นางนพมาศ ธิดาของพระศรีมโหสถ ครั้นทรงสดับแล้วจึงตรัสยกย่องว่ามีปัญญาสมเป็นตระกูลนักปราชญ์ แล้วโปรดให้มีพระราชบัญญัติต่อมา

“ ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดวันนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้กระทำโคมลอยน้ำเป็นรูปดอกโกมุท ( ดอกบัว ) สักการบูชาพระพุทธบาทเหนือแม่น้ำนัมมทาตราบเท่ากัลปาวสาน …” จึงปรากฎโคมประทีปลอยน้ำเป็นรูปดอกบัวจนกระทั่งปัจจุบัน

ดังมีบันทึกในพระคัมภีร์ ดอกบัว ถือเป็นดอกไม้ต้นกัป เมื่อแผ่นดินเย็นลงได้ปรากฎดอกบัวเป็นพืชชนิดแรกของโลก จำนวนดอกบัวหมายถึงการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าในกัปนั้น หากไม่มีดอกบัวเกิดขึ้นเลยเหล่าเทวดาทั้งหลายจะโศกาอาดูร ด้วยว่ามนุษย์ไร้ที่พึ่ง เรียกช่วงเวลาเช่นนี้ว่า สุญกัป แต่ในกัปของเรานี้มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นมากที่สุด คือ ๕ พระองค์ เรียกว่า ภัทรกัป

ดอกบัวจึงเป็นดอกไม้อันสูงค่า เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา หมายถึงการเจริญรุ่งเรืองทางปัญญา ตั้งแต่ตูมสนิทจนเบ่งบานเต็มที่ ดังนั้น การบูชาด้วยดอกบัวบานจึงมีนัยถึงการบูชาด้วยวิถีแห่งปัญญาอันเบิกบาน มีจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้วด้วยสมาธิภาวนา ดอกไม้หอมและสุคันธชาติทั้งหลาย รวมทั้งกลิ่นหอมของควันธูปและเทียนที่อบร่ำ คือความหอมของการอยู่ในศีล และแสงสว่างแห่งเปลวเทียน คือประทีปธรรมแห่งพระพุทธองค์ที่คอยขจัดความมืดมิดทั้งหลายให้หมดสิ้น

แม้กาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง แต่พระสัทธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาไม่เคยคลายจากความจริง กลับยิ่งฉายชัดว่าทุกสิ่งล้วนไม่จีรังยั่งยืน มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา

ฉะนั้น … ปีนี้ ไม่ว่าเราจะลอยกระทงลงในแม่น้ำสายใด ให้น้อมนำความงามของประทีปย้อนกลับมาจรรโลงใจของผู้ลอย ตระหนักถึงการเวียนว่ายในสังสารวัฏ เตือนตนว่าเวลาได้ล่วงเลยมาอีกหนึ่งปี ชีวิตนี้มีความดีเต็มที่ พอจะประกันให้เราไม่หวั่นไหวกับความเป็นไปในอนาคตแล้วหรือยัง

โดยตั้งความปรารถนา … ว่าจะเป็นพุทธมามกะผู้มีปัญญา มีจิตอันสงบระงับและมีปัญญาแย้มบานดังดอกปทุม ท่ามกลางแสงนุ่มนวลของพระจันทร์วันเพ็ญ ที่กวีบางท่านเปรียบว่า ประดุจดวงเนตรแห่งพระชินสีห์ ยามสอดส่องมายังหมู่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณเต็มปรี่ ยิ่งกว่าความเนืองนองเต็มที่ของแม่น้ำสายใด …

 

อุบลเขียว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029334851106008 Mins