วัดบ้านขุน จ. เชียงใหม่

วันที่ 17 มีค. พ.ศ.2551

     โรงเรียนวัดบ้านขุน เปิดการเรียนการสอนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 ในนามโรงเรียนแม่แจ่มปริยัติศึกษา สาขาวัดบ้านขุน ตั้งอยู่ที่ ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยใช้กุฏิที่พักและศาลาเป็นที่เรียน ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2545 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อนุญาตให้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สำหรับพระภิกษุสามเณร โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนวัดบ้านขุนเตรียมพุทธศาสตร์ เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีพระอธิการวิชาญ อิทฺธินาโค เป็นผู้จัดการ และพระมหาวงศกร ติกฺขญาโน เป็นครูใหญ่

พระครูสังวรสิทธิโชติ ท่านเล่าให้ฟังว่า “ตอนมาอยู่เป็นเจ้าอาวาสใหม่ๆ ตอนนั้นไม่มีพระเลย มีแต่เณร 4 รูป ไม่มีเจ้าอาวาส ชาวบ้านแถวๆนี้ ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องบุญเรื่องบาป ยังไม่มีความรู้เรื่องทาน ศีล ภาวนา พอมาเป็นเจ้าอาวาสได้จัดบรรพชา-อุปสมบท นักบุญขุนเขา ก็ต้องไปชวนเด็กๆ ตามโรงเรียน ตามหมู่บ้าน ซึ่งต้องเข้าไปในป่า ไปมาหมดทุกดอยเลย” พระครูสังวรสิทธิโชติ บอกว่า ที่นี่ห่างไกลจากความเจริญมาก ไม่มีไฟฟ้า บางแห่งรถยังเข้าไม่ถึงเลย ไม่มีถนน ยังเป็นทางคนเดินและยังไม่มีวัดวาอาราม แต่ที่นี่ มีคนจิตใจบริสุทธิ์

หลังจากที่มีสามเณรมาบวชเป็นสามเณรประจำและเพิ่มมากขึ้นทุกปี สอนสามเณรทุกเรื่องทุกอย่าง เวลาสอนก็จะนึกถึงคำของพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่บอกว่า เราต้องทำปากของเราให้เป็นเหมือนดินริมตลิ่ง คือต้องปากเปียก ปากแฉะ จ้ำจี้ จ้ำไซ ต้องบ่นอย่างมีศิลปะ บ่นอย่าให้เขาเบื่อและให้เขามีส่วนร่วมกับเรื่องที่เราบ่น สอนเขาทุกเรื่อง

การอบรมสามเณรจะพบกับอุปสรรคในเรื่องของภาษา ส่วนใหญ่สามเณรจะพูดกันคนละภาษา จนต้องออกกติกาให้พูดภาษาเดียวกัน คือภาษาไทย จะได้พูดกันรู้เรื่อง

ผลจากการบวชสามเณร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวของพวกเขา เมื่อสามเณรได้กลับไปเยี่ยมบ้าน แต่ละรูปจะนำธรรมะไปสอน บอกเล่าสิ่งดีๆที่ได้จากการบวรเรียน ให้โยมพ่อโยมแม่ได้รู้จักเรื่องบุญเรื่องบาป ชวนให้รักษาศีลและเลิกอบายมุข แต่ก็ทำได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะที่บ้านของสามเณรไม่มีวัดพวกเขาเกิดมาไม่เคยเจอพระ พอลูกชายมาบวช จึงเริ่มมีโอกาสสร้างบุญจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวัดบ้านขุนและหมู่บ้านรอบๆ คือการเทศน์สอนญาติโยม ให้ความเข้าใจในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนทุกวันนี้ชาวบ้านสนใจมาสวดมนต์นั่งสมาธิกันประมาณ 200 คน จนล้นศาลา และมีคนเฒ่าคนแก่มานอนวัด ถือศีล 8 ในวันพระ จากที่ชาวบ้านไม่ค่อยได้ตักบาตรกันเลย แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านตื่นแต่เช้า เพื่อรอใส่บาตรสามเณร วัดบ้านขุน ซึ่งเดินสายบิณฑบาตทั้งหมู่บ้าน และหมู่บ้าน “บ้านขุน”แห่งนี้ ได้พัฒนากลายมาเป็นชุมชนสีขาวตัวอย่างที่ปลอดอบายมุข

นโยบายเพื่อพัฒนางานบริหารโรงเรียนวัดบ้านขุน ใช้แนวทางการปฏิบัติอยู่ 11 บุญ คือ

1.บุญทรัพย์ คือ ซักจีวร สบงของเพื่อนๆในวัด

2.บุญวิมาณ คือ ทำความสะอาดห้องน้ำ วันละ 2 ห้อง ทุกวัน

3.บุญโรงเรียน คือ ทำความสะอาดห้องเรียนทุกห้องในวัด

4.บุญธุรการ คือ ดูแลเกี่ยวกับเอกสารเข้าหรือออกจากทางวัด

5.บุญอาหาร คือ จัดอาหารให้เพื่อนๆ พระภิกษุ สามเณร ภายในวัด

6.บุญต้นไม้ คือ ดูแลต้นไม้บริเวณรอบๆวัด เช่น รถน้ำ ตัดหญ้าและปลูกต้นไม้

7.บุญสถาน คือ จัดสถานที่เมื่อมีกิจกรรมต่าง

8.บุญกุฏิ คือ ดูแลเรื่องความสะอาดและระเบียบภายในวัด

9.บุญผัก คือ ปลูกผักและเก็บผักที่ปลูก

10.บุญหอฉัน คือ ดูแลสถานที่บนหอฉันสำหรับทำวัตรเช้า-เย็น

11.บุญห้องสมุด คือ ทำความสะอาดห้องเรียนและห้องสมุดทุกวัน

สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่เด่นในแต่ละกลุ่ม คือ

1.โครงการเด่นของสถานศึกษา

2.ลักษณะของการบริหารงาน

3.มาตรฐานด้านเกี่ยวกับผู้เรียน

4.มาตรฐานด้านเกี่ยวกับครู

5.มาตรฐานด้านเกี่ยวกับผู้บริหาร

6.วิธีการดำเนินงาน

“โรงเรียนวัดบ้านขุน”มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นบัณฑิตทางโลกนักปราชญ์ทางธรรม นำสังคมสร้างความดี โดยเน้นให้ผู้เรียนมีคุณธรรมนำความรู้มาปฏิบัติตนเป็นศาสนทายาทที่ดีและให้ความสำคัญต่อพระธรรมวินัย ภาษาบาลีควบคู่กับวิชาสามัญ และยังมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้เป็นแบบอย่างที่ดีมีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและทัศคติที่ถูกต้อง เป็นผู้นำด้านการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนา สืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ปกครอง ชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดการและพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อให้สมดังคำขวัญของโรงเรียน ที่ว่า “บัณฑิตทางโลก นักปราชญ์ทางธรรม เป็นผู้นำในการสร้างความดี”และตามปรัชญาว่า “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.07780598004659 Mins