ไม่เสียดาย คนเป็นๆ ได้อ่านแล้ว
เมื่อเอ่ยนาม “ดังตฤณ” แทบไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ทั้งในวงการผู้อ่านธรรมะ และนักอ่านทั่วไป คุณดังตฤณ มีข้อคิดจากหลักธรรมง่ายๆมาเสนอท่านผู้อ่านอย่างผู้รู้ ผู้เข้าใจเชิงลึก ด้วยภาษาเป็นเหตุเป็นผล ผ่านประสบการณ์การบ่มเพาะ และการศึกษาเรียนรู้ทั้งปริยัติ และปฏิบัติ จึงเป็นผลงานเขียนที่มีเสน่ห์ ที่เข้าถึงคนกลุ่มวัยต่างๆได้ดี
ความเกรียวกราวของหนังสือ “เสียดาย..คนตายไม่ได้อ่าน” ทำให้ใครต่อใครรู้จักนักเขียนธรรมะชื่อดังตฤณขึ้นมาทันที ยอดพิมพ์ซ้ำกว่า ๑๙ ครั้ง จำนวนพิมพ์จนถึงปัจจุบันกว่าแสนเล่มแล้ว เรียกได้ว่าเป็นหนังสือธรรมะขนาด ๒๐๐ หน้า ที่เป็น Top Hit ทีเดียว
หนังสือต่อจากนั้นอาทิ “เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว, คิดจากความว่าง, กรรมพยากรณ์ ๒ ตอน, วิปัสสนานุบาล, ๗ เดือนบรรลุธรรม และอื่นๆอีกหลายเล่ม เล่มที่น่าสนใจ ที่อยากหยิบยกมาฝากทุกท่านที่กำลังตัดสินใจจะบวช คือ “มีชีวิต..ที่คิดไม่ถึง”
คุณดังตฤณ ไม่เคยคิดว่าการเขียนหนังสือธรรม จะทำให้เป็นคนรวย หรือมีชื่อเสียง แต่คุณดังตฤณคิดแต่เพียงว่า “อยากเขียนในสิ่งที่อยากเขียน ไม่ได้เขียนเพราะอยากดัง”
ในช่วงอายุ ๑๖-๑๗ ปี คุณดังตฤณเล่าว่า “ผมก็เป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดา ๆ ไม่ได้แตกต่างจากเด็กคนอื่น แต่ที่แตกต่าง คือ ความคิดข้างใน ผมมีความรู้สึกว่า ถ้าในอนาคตข้างหน้า เราไม่ชอบทำอะไรเลยสักอย่างเดียว ดูไปแล้วไม่เห็นมีอะไรที่น่าจับต้อง น่าศึกษา เราจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร จากนั้น ๑ หรือ ๒ ปี ก็เกิดความสนใจคำว่า “วิปัสสนา” จึงไปซื้อหนังสือเล่มเล็กๆ ของท่านอาจารย์ธรรมรักษามาอ่าน จึงเริ่มมีความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของพุทธศาสนา”
คุณดังตฤณเคยบวชเมื่ออายุ ๒๐ ปี ขณะที่เรียนอยู่ที่เอแบค วัดที่คุณดังตฤณบวชเป็นวัดป่าของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอนนั้นบวชประมาณ ๑ เดือน จากนั้นก็อ่านหนังสือธรรมะหลายเล่ม และลงมือปฏิบัติธรรมจนอายุ ๒๒ ปี เกิดแรงบันดาลใจในการเขียน จึงเริ่มเขียนบทความส่งนิตยสารธรรมะ และกลายมาเป็นหนังสือหลายเล่ม ที่ให้ความรู้ธรรมะด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ จนเป็นที่ติดตา ติดใจแฟนนักอ่าน
คุณดังตฤณมีวัตถุประสงค์ในการเขียนหนังสือทุกเล่ม คือ
ข้อแรก ตั้งใจจะให้ผู้อ่านรู้ และให้เข้าใจจริงๆว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร
ข้อสอง คือ ให้ศึกษาว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้สามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้ เป็นของจริง ไม่ใช่ของที่คิดเอา แต่งเอา
ข้อสาม มีการตั้งความปรารถนาไปถึงประโยชน์สูงสุดที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้
คุณดังตฤณบอกว่า “ผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า คนไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน หรือชาติไหน ถ้ารู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไรไว้ สนใจกันทั้งนั้น แต่ที่ไม่สนใจ เพราะไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสอะไร ผมแค่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมคนที่อยู่ยุคเดียวกัน ตรงนี้แหละผมเข้ามาทำหน้าที่”
เคยบ้างไหมที่รู้สึกว่า.. ไม่อยากตามใจตัวเอง ต้องฝืนใจตัวเอง รู้สึกเซ็ง เครียด เบื่อ กลุ้ม รู้สึกกลัดกลุ้มหาทางออกไม่ได้ อยู่ในวังวนของปัญหา หากเราเคย.. อารมณ์แบบนี้ คือ ดัชนีของคุณภาพจิตและใจที่ไม่สู้จะดีนัก
เมื่อเราพลิกไปอ่าน “มีชีวิตที่คิดไม่ถึง” บทที่ ๑๑ หน้า ๒๓๒ คุณดังตฤณ เขียนเรื่องจิตไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว
“เมื่อตั้งใจรักษาศีลแล้วรักษาได้ แม้เกมกรรมจะส่งเรื่องยั่วยวนชวนเสียสัตย์ให้ลองใจ สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดในระยะสั้น คือ จิตจะเบา อบอุ่น สว่างจากภายใน แล้วรู้สึกไว้ใจตัวเอง เห็นตนเองเป็นคนที่ไว้ใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ...”
“...จิตใจสงบเยือกเย็น ความคิดด้านร้ายแม้มีอยู่ก็เบาบางลงมาก สามารถควบคุมความคิดได้ง่ายขึ้น..
...ผู้มีความฉลาดทางจิตย่อมมีจิตที่สงบ หนักแน่น และรู้เห็นโลกอย่างเที่ยงตรง
...อะไรจะมีค่าไปกว่าการมีจิตที่ดีขึ้น
...ในเมื่อจิต คือ สิ่งที่คุณต้องทนรำคาญ หรือชื่นชมยินดีอยู่ตลิดวันตลอดคืน
...และจิตนี่เองเป็นต้นเค้าของกรรมทั้งปวง
...เมื่อจิตสว่างย่อมปรารถนาที่จะทำกรรมขาว สุคติย่อมเป็นที่หวัง
...เมื่อจิตมืดยิ่มใคร่ที่จะทำกรรมดำ ทุคติย่อมเป็นที่หวัง
...สรุปคือ ขอเพียงจิตคุณดีอย่างเดียว อะไรอย่างอื่นที่จะตามมาก็ดีหมด
...หากการเปลี่ยนแปลงของคุณเข้าลึกมาได้ถึงจิต
...ก็แปลว่าทั้งปัจจุบันและอนาคตไม่มีอะไรน่าห่วงอีกแล้ว”
การฝึกจิตให้มีคุณภาพที่ดี ไม่เพียงแค่นึกๆอยากๆเท่านั้น คงต้องผ่านกระบวนกล่อมเกลา ขัดเกลาทั้งกายและใจ ในระยะเวลาช่วงหนึ่ง เหมือนเคี่ยวให้ได้ที่ นึ่งให้ได้ที่ กวนให้ได้ที่ จึงจะได้อะไรๆที่อร่อยดี มีคุณภาพ
จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้
อยากมีจิตที่ฝึกดีแล้ว มาบวชสักทีดีไหม
จะได้รู้จักจิตที่ฝึกดีแล้ว ว่าเป็นอย่างไร
ขอขอบคุณหนังสือ จุดเปลี่ยน
สงวนลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
ห้ามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไร ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย