สร้างบุญอย่างไร..ให้ได้ลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๙ และ ๑๙

วันที่ 23 กพ. พ.ศ.2554

590120_y02.jpg

ลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๙ แม้ยืนไม่ย่อตัวลงก็สามารถแตะเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง

ลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๑๙ มีทรวดทรงดุจต้นไทร คือ กายกับวาเท่ากัน

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า..
“เมื่อตถาคตเป็นมนุษย์ ในชาติก่อน ได้เป็นผู้สังเกตชั้นเชิงของมหาชน รู้ได้สม่ำเสมอ รู้ได้เองรู้จากบุรุษธรรมดา และบุรุษพิเศษกว่า ผู้นี้ควรแก่สิ่งนี้ๆ ได้เป็นผู้ทำประโยชน์อย่างวิเศษในชนชั้นนั้น ๆ
เพราะกรรมนั้นๆ ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ ๒ ข้อนี้คือ มีทรวดทรงดุจต้นไทร และยืนตรง ไม่ย่อกายลูบถึงเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง ย่อมมั่งคั่งมีทรัพย์มากมีโภคะมาก ทรัพย์ของตถาคตเหล่านี้ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะการศึกษา (สุตะ) จาคะ และปัญญา”

 

           พระองค์ใช้คำว่า “ได้เป็นผู้สังเกตชั้นเชิงของมหาชน” ทั้งนี้ ย่อมหมายถึงการดูคนเป็น ซึ่งจะทำให้สามารถใช้คนเป็นด้วย ทำให้เรารู้จักแบ่งบุญให้เขาไปทำกัน เช่น ถ้าสังเกตว่าใครมีบุญที่คำพูด เราก็ให้เขาทำหน้าที่บอกบุญ ใครมีบุญที่เสียง ก็ให้เขานำสวดมนต์ เพื่อว่าใครได้ยินเสียงสวดมนต์จะได้หมดกิเลส หรือบางคนมีบุญที่มือ ก็กำหนดหน้าที่ให้ทำครัวเลี้ยงพระ เป็นต้น แต่พวกที่มีหมัดหนักนั้นไม่เป็นบุญแต่เป็นบาปเนื่องจากพระองค์ทรงดูคนเป็น จึงทำให้ทรงใช้คนได้เหมาะกับงานบุญทุกชนิด เหตุนี้ จึงทำให้ได้รูปร่างที่สมบูรณ์ คือ มีกายเท่ากับวา เรียกว่า มีทรวดทรงดุจไทร หัวเข่าก็สูง มือก็ยาว เหมาะในการทำความดีทุกรูปแบบ สอนให้คนอื่นทำความดี ตัวเองจึงได้สิ่งดีๆ กลับมา

 

              นอกจากนี้ ยังมีอานิสงส์ตามมาอีก คือ ความมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ขอให้สังเกตว่า ทรัพย์ของพระองค์นั้นมิใช่เงินทอง แต่เป็นศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา ซึ่งเป็นทรัพย์ภายใน สามารถจะโน้มนำให้เกิดทรัพย์ภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวปลาอาหารได้ง่าย

 

* * ติดตามวิธีสร้างบุญอย่างไรให้ได้ลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๑๐ ได้ในตอนต่อไป * * 

 

ขอขอบคุณ หนังสือ “ลักษณะมหาบุรุษ”
ปาฐกถาธรรมของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ หลวงพ่อทตฺตชีโว
สงวนลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
ห้ามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไร ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022263165314992 Mins