การทำทาน

วันที่ 10 สค. พ.ศ.2554

               ในบรรดาการทำบุญในพระพุทธศาสนา ระหว่าง ทาน-ศีล-ภาวนา สิ่งที่ทำง่ายที่สุด ก็คือ การให้ทานนั่นเอง

เพราะทาน : ต้องใช้เงินเป็นส่วนใหญ่
ศีล : ใช้งดเว้นความชั่วทางกายทางวาจา
ภาวนา : ใช้ทำบุญด้วยใจ

ทานตรงข้ามกับความตระหนี่ และสิ่งที่ผู้คนตระหนี่กันอยู่เสมอมา มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ที่อยู่ สกุล ลาภ วรรณะ
และธรรม ทั้ง ๕ อย่างนี้ ใครตัดใจเสียสละบริจาคได้อยู่เรื่อยๆ จิตใจจะมีคุณภาพสูงขึ้น

ลักษณะของความตระหนี่ คือ ความหวงแหน ถ้าต้องให้อะไรแก่ใครแล้วใจจะหดหู่เจ็บร้อนไม่สบายใจ ความตระหนี่เป็นเครื่องบั่นทอนคุณภาพของใจ และข้าศึกของความตระหนี่ ก็คือ การทำทาน

การทำทานเป็นเครื่องปรุงแต่งใจให้สูงขึ้น เป็นพื้นของการรักษาศีลและการภาวนา ความตระหนี่เป็นอกุศล ผลคือบาป ตายแล้วไปเกิดในอบายภูมิ เช่น เป็นเปรตหวงสมบัติ

ปุพเพ ทานาทิกัง ทะตวา อิมานิ ละภะตี สุขัง
มูเลวะ สิญจิตัง โหติ อัคเค จะ ผะละทายะกัง

ให้ทานเป็นต้นมาก่อน จึงได้สุขอยู่ในบัดนี้
เหมือนรดน้ำต้นไม้ที่โคน (แล้ว) ผลเกิดที่ปลาย (กิ่ง)

แต่แม้ถึงจะตัดใจจากความตระหนี่ทำทานได้แล้ว ก็มีเรื่องควรรู้เกี่ยวกับอานิสงส์การทำทานโดยเจตนาต่างๆ กันไว้ดังนี้

ถ้าทำทานแล้วหวังไปใช้สอยในสิงที่ทำ มีอานิสงส์แค่สมบัติในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
ถ้าทำเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีงามน่าทำ มีอานิสงส์สมบัติชั้นดาวดึงส์
ถ้าทำทานตามประเพณีของบรรพบุรุษ (คือมีความกตัญญู) มีอานิสงส์สมบัติชั้นยามา
ถ้าทำทานเพื่อให้ความอนุเคราะห์ (คือมีเมตตา) มีอานิสงส์สมบัติชั้นดุสิต
ถ้าทำเพราะเห็นตัวอย่างบัณฑิตทำ (คือมีปัญญา) มีอานิสงส์สมบัติชั้นนิมมานรดี
ถ้าทำเพื่อให้จิตเกิดความเลื่อมใส (มีปีติ) มีอานิสงส์สมบัติชั้นปรนิมมิตรสวัสดี
ถ้าทำเพื่อให้ปรุงแต่งจิตใจให้มีสภาพดีงามยิ่งๆ ขึ้น มีอานิสงส์เข้าถึงพรหมโลกและไม่ต้องเกิดอีก (คือเป็นกำลังให้เข้าถึงพระนิพพาน)

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0020944476127625 Mins