วันวิสาขบูชา : วันพระพุทธเจ้า

วันที่ 13 พค. พ.ศ.2549

          วันวิสาขบูชาปีนี้ มีสิ่งต้องสนใจมากมาย นอกจากว่า เป็นวันที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติให้เป็น “วันสำคัญสากลของโลก” แล้ว ในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติจากชาวพุทธทั่วโลกให้เป็นเจ้าภาพและศูนย์กลางการจัดงาน ซึ่งในส่วนกลางมีการจัดหลัก ๓ จุด คือ พุทธมณฑล สนามหลวง และศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ

งาน วิสาขปุณณมี ณ ท้องสนามหลวง จัดแสดงเรื่องราวพุทธประวัติในรูปนิทรรศการไฮเทคแฟนตาซี โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย งบประมาณสิบล้าน งานนี้ต้องชื่นชมว่าทำได้ดีมากๆ เพราะจัดนิทรรศการบนแนวคิด สื่อสารเพื่อปัญญาและจิตวิญญาณร่วมสมัย นำพาให้คนดูเดินเข้าไปสู่ความรู้สึกร่วมของความรู้ตื่นและเบิกบาน ด้วยเทคนิคมัลติมีเดีย อาร์ต (Multimedia Arts) และมีเดีย อาร์ต เพื่อเป็นการเผยแผ่ให้ฝรั่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกิดความเข้าใจด้วย การจัดแสดงภายในห้องต่างๆ ประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศกาลที่บอกเล่าเรื่องราวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ เทศนาสั่งสอน ๔๕ พรรษา กระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดำเนินเรื่องราวตามวิถีแห่งสังสารวัฏให้ทุกคนเห็นสัจจะของชีวิตมนุษย์

ด้านงานนิทรรศการ พระพุทธรูปสำคัญ โดยกรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา และกรุงเทพมหานคร ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากพระบรมมหาราชวังเข้าสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และในวันจันทร์ที่ ๘ พฤษภาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิดงาน โดยสาธุชนสามารถเข้าเวียนเทียนสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ตลอด ๒๔ ชม.

ด้านงานนิทรรศการ คณะกรรมการได้อัญเชิญองค์จำลองของ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศกว่า ๖๙ องค์และ ได้จัดพิมพ์ภาพพระพุทธรูป และสร้างพระผงเหรียญ พระพุทธรูปสำคัญ ประจำ ๔ ภาค ได้แก่ พระพุทธชินราช (ภาคเหนือ) พระพุทธสิหิงค์ (ภาคใต้) หลวงพ่อโสธร (ภาคกลาง) และ หลวงพ่อพระใส (ภาคอีสาน)

งานที่พุทธมณฑลและถนนอุทยาน มีกิจกรรมทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรมของชาวไทยและชาวต่างชาติ การจัดนิทรรศการทางพระพุทธศาสนา การแสดงของเยาวชน และการจัดแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านวิชาการ รวมทั้งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามแนวทางของชาวไทยและชาวต่างชาติ

ยุทธศาสตร์เชิงพุทธ: ลดขัดแย้ง สร้างสันติภาพโลก

การประชุมชาวพุทธนานาชาติ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UN) มีทั้งการปาฐกถา การอภิปราย การประชุมกลุ่มย่อย ฯลฯ ดังเช่นปาฐกถาพิเศษเรื่อง คุณูปการของพระพุทธศาสนาต่อสันติภาพโลก และการพัฒนายั่งยืน โดย พระราชสุเมธาจารย์ (สุเมโธภิกขุ) กล่าวว่า ทุกสังคมมีปัญหาจากกิเลสรุมเร้า ทำให้ไม่สงบสุข เกิดความเครียด ความทุกข์ ความวุ่นวาย บทสรุปสุดท้ายของการแก้ปัญหา คือ การมีสติสัมปชัญญะ อันจะนำมาซึ่งสันติภาพโลก “การมองเห็นความจริงที่ว่า สรรพสิ่งบนโลกไม่มีอะไรจีรัง นอกเหนือจากการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป โดยในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครหมู่มนุษย์ที่จะอยู่ค้ำฟ้าได้ ทุกคนเกิดมาก็ล้วนต้องตกอยู่ใต้กฏเกณฑ์เดียวกันทั้งสิ้น”

การอภิปราย วิสัยทัศน์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์เชิงพุทธเพื่อสันติภาพโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย พระกากุฮัน อีนามิ ประเทศญี่ปุ่น ภิกษุณี ยี ฟา ประเทศสหรัฐอเมริกา นายเจฟฟรี แบมฟอร์ จากประเทศอังกฤษ ศาสตราจารย์ ดี.ดี. เปมสิริ ประเทศศรีลังกา และนายอนุรุธ ว่องวานิช ตัวแทนประเทศไทย เพื่อหารือถึงการนำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในโลก ทั้งนี้ พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวว่า ผู้นำสงฆ์ประเทศต่างๆ ต่างยกย่องว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งสันติภาพ เพราะมีสถาบันศาสนาที่เข็มแข็ง มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ส่วนพุทธศาสนิกชนรู้จักการให้ทาน รักษาศีล มีอริยสัจ ๔ ทำให้เกิดสังคมแห่งการเอื้ออาทร มีน้ำใจ มีศีลธรรม เป็นตัวอย่างให้กับประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก

สุนทรพจน์หลวงพ่อปัญญา

ยึดหลักพุทธสร้างโลกสะอาด สว่าง และสงบ
ในวันที่ ๓ ของการประชุมฯ พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ กล่าวสุนทรพจน์ว่า โลกเราในปัจจุบันยังไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ ยังมีความวุ่นวายสับสน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วทางด้านวัตถุ แต่ทางด้านจิตใจยังไม่เจริญก้าวหน้าเพราะความเห็นแก่ตัว ยึดติดในตนเอง ไม่นำหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาปฏิบัติ ซึ่งหากทุกคนนำมาประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องโลกจะสงบ สะอาดมากกว่านี้ โดยเฉพาะหลักธรรมในเรื่องเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร หรืออหิงสาคือการไม่เบียดเบียนกัน “หันหน้าเข้าหากัน ประนีประนอม พูดกันด้วยภาษาหมัดมวย มนุษย์ยังโง่เงิน ยังไม่เจริญด้วยปัญญา แม้ว่าจะสำเร็จการศึกษาสูง เพราะมีตัวโง่ ในการยึดติดสิ่งเหล่านี้”
ขณะที่ ผู้แทนภิกษุณีจากเกาหลี ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ขอโอกาสในการให้ภิกษุณีมีส่วนช่วยเหลือและร่วมเผยแผ่พระพุทธศาสนามากขึ้น ส่วนผู้แทนพระจากเกาหลีชี้ว่าแม้ว่าเศรษฐกิจของเกาหลีจะเจริญรุ่งเรืองแต่ ยังห่างไกลจากพระพุทธศาสนา โดยเสนอให้มีองค์กรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของ มนุษย์ให้สูงขึ้น
ตัวแทนจากนอร์เวย์เสนอให้แปลคำสอนเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่อย่าง กว้างขวาง และจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น รวมทั้งจัดตั้งสถาบันทางสังคมเพื่อให้เกิดความร่วมมือในระดับนานาชาติในการ ส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการหรือการสนับสนุนด้านการเงิน

ประกาศแถลงการณ์ร่วม: เน้นนำหลักธรรมสร้างสันติภาพในโลก

ในวันสุดท้ายของการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เริ่มด้วย ดร.พระชิ มิง ยี จากประเทศสิงคโปร์ ได้รายงานการประชุมตลอด ๓ วัน และการประชุมกลุ่มย่อยที่แบ่งออกเป็น ๗ กลุ่ม คือ กลุ่มสันติภาพโลก การศึกษาเชิงพุทธ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การธำรงรักษาวัฒนธรรชาวพุทธ การพัฒนาที่ยั่งยืน ความร่วมมือของชาวพุทธ และสตรีในพระพุทธศาสนา

โดยนางสาวอ่อง คิน ชวน จากประเทศเกากลี ผู้แทนกลุ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนา กล่าวว่า โลกยุคโลกาภิวัฒน์ชาวพุทธควรใช้สื่ออินเตอร์เน็ท เป็นตัวเผยแผ่พระพุทธศาสนา ขณะที่คนยากจนควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ในระดับชั้นเรียน อย่างไรก็ตามการสอนหลักธรรมต้องมีพระที่เข้าใจอย่างแท้จริง ดังนั้นขอเสนอให้พุทธมณฑลของไทย เป็นสถานที่สำคัญในการอบรมพระธรรมฑูต เพื่อนำไปเผยแผ่พุทธศาสนาต่อไป

ส่วนตัวแทนกลุ่มสันติภาพโลก ได้รายงานว่าในยุคโลกาภิวัฒน์เช่นปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาก สิ่งสำคัญที่จะสร้างสันติในโลกได้คือการสร้างความปรองดองของชาวพุทธทั่วโลก และการนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งเสนอที่ประชุมให้กำหนดวันวิสาขบูชาเป็นวันสันติภาพของชาวพุทธ เพื่อที่จะได้มีโอกาสในการปรึกษา หารือถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศชาวพุทธด้วยกัน โดยทางกลุ่มจะเสนอที่ประชุมก่อนประกาศแถลงการณ์ให้วันวิสาขบูชา ปี พ.ศ.๒๕๕๒ เริ่มเป็นวันสันติภาพของชาวพุทธ

กลุ่มการธำรงรักษาวัฒนธรรมชาวพุทธ กล่าวว่า ควรมีการส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในศาสนามากขึ้น เพื่อจรรโลงวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาให้มีความมั่นคง โดยเห็นว่าสื่อกับการโฆษณามีความสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมทางศาสนาให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตาม การธำรงรักษาวัฒนธรรมชาวพุทธ จะต้องขึ้นอยู่กับการรู้จักควบคุมความประพฤติของตัวเองของแต่ละบุคคลด้วย

ที่ประชุมฯ ได้เปิดให้มีการอภิปรายทั่วไป เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันก่อนที่จะมีการประกาศแถลงการณ์ร่วมกัน โดยที่ประชุมยังคงเน้นในเรื่องของการนำหลักธรรมไปใช้ในการสร้างสันติภาพในโลก จากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าวอนุโมทนา และปิดการประชุม หลังจากนั้นคณะผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ได้เดินทางไปประกอบ “พิธีธรรมยาตรา” และเวียนเทียนวันวิสาขบูชาโลก ณ ลานหน้าองค์พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ จังหวัดนครปฐม

..วุฑฒิวงศ์..

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034690050284068 Mins