จาคสัมปทา
3) จาคสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยการเสีย สละ หมายถึงมีนิสัยชอบแบ่งปันสิ่งของ
ที่ตนมีตามมากตามน้อย ให้แก่ญาติมิตร เพื่อนฝูง ชอบ สงเคราะห์คนที่ด้อยโอกาสผู้ประสบสาธารณภัย และองค์กรการกุศล ชอบบริจาคทานแก่ สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเช่นนี้เป็นนิสัย
ย่อมเป็นการพัฒนาความเมตตากรุณา และความผ่องใสขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้น อันจะเป็นเหตุให้เขาสามารถตัดใจเสียสละทรัพย์สิ่งของได้อย่างแน่วแน่ เพราะเหตุนี้ความตระหนี่ จึงไม่สามารถครอบงำจิตใจของเขาได้ความตระหนี่มีโทษภัยอย่างไรก่อนอื่นพึงทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความตระหนี่คือความคิดที่จะไม่แบ่งปัน ไม่สงเคราะห์ผู้อื่นเนื่องจากกลัวความอดอยากยากจน นอกจากตนเองจะไม่ทำทานแล้ว คนตระหนี่ยังห้ามผู้อื่นทำทานอีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกในครอบครัว และผู้ใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็พยายามเสริมน้ำหนักให้แก่ทรรศนะของตน ด้วยการกล่าววิพากษ์วิจารณ์ผู้รับการ สงเคราะห์ ไม่เว้นแม้ สมณพราหมณ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญให้แก่ สัมมาทิฏฐิชน ถ้าผู้ที่ตนห้ามปรามไม่เชื่อฟังหรือโต้แย้ง เขาก็จะบันดาลโทสะแล้วแสดงกรรมชั่วทางกาย ทางวาจาออกมามากขึ้น พฤติกรรมเลวร้ายเหล่านี้นอกจากจะเพิ่มความเศร้าหมองขึ้นในจิตใจเรื่อยๆ แล้ว ยังจะกระตุ้นกิเลสในกมลสันดาน ของเขาให้กำเริบออกฤทธิ์ แล้วแสดงพฤติกรรมเลวร้ายรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น เห็นแก่ตัวมากขึ้น มีความโลภมากขึ้น ฯลฯ
พฤติกรรมอันเป็นบาปเหล่านี้ ล้วนมีจุดตั้งต้นที่ความตระหนี่นั่นเอง ซึ่งในที่สุดก็จะประมวล
รวมกันเป็นวิบากแห่งกรรมชั่วมาถึงตัวเขาอย่างรุนแรงถึงขั้นตกนรกทีเดียว ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน พิลารโกสิยชาดก 1 ดังนี้
"คนผู้ตระหนี่กลัวความยากจน ย่อมไม่ให้อะไรๆ แก่ผู้ใดเลย ความ
กลัวจนนั่นแหละจะเป็นภัยแก่คนผู้ไม่ให้ คนตระหนี่ย่อมกลัวความอยากข้าว
อยากน้ำ ความกลัวนั่นแหละจะกลับมาถูกต้องคนพาล (คนตระหนี่) ทั้งในโลกนี้
และโลกหน้า"และ"เพราะเหตุนั้น การไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษ (ผู้ให้ทาน) กับ อสัตบุรุษ
(คนตระหนี่) จึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปนรกสัตบุรุษย่อมไปสวรรค์"
จากหนังสือ DOU
วิชาGB 203 สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก
กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก