คุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ
จาก 3 บทที่ผ่านมา ได้กล่าวแล้วว่า บุคคลที่จะมีคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการนั้น ต้องเริ่มจากการมีคุณสมบัติพื้นฐาน คือสัมมาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคงถาวร ถึงขั้นที่เป็นลักษณะนิสัยประจำใจประจำตัวทีเดียว คุณสมบัติพื้นฐานนี้เองจะเป็นรากฐานให้เกิดความเจริญงอกงามของคุณสมบัติอย่างอื่นๆ ของคนดีที่โลกต้องการตามมาอีก ที่สำคัญก็คือ ความสำนึกรับผิดชอบ 4 ประการ ดังไดกล่าวแล้ว และความสำนึกรับผิดชอบนี้เอง ที่จะพัฒนางอกงามเป็นลักษณะนิสัยความรับผิดชอบในด้านต่างๆที่ละเอียดแยกย่อยต่อไป ตลอดจนพฤติกรรมของมิตรแท้ คนดี หรือกัลยาณมิตร และนักสร้างบุญบารมี
อย่างไรก็ตาม แม้บุคคลที่ได้ชื่อว่า มิตรแท้ หรือกัลยาณมิตร ก็ใช่ว่าแต่ละคนจะกอปรด้วยคุณความดีเท่าเทียมเสมอเหมือนกันหมดทุกประการ ทั้งนี้ก็เพราะแต่ละคนยังมีความรู้ ความสามารถ ความถนัดประสบการณ์ชีวิต ตลอดจนการปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยจากครอบครัวมาตั้งแต่ยังเป็นทารกแตกต่างกันออกไปอีกมาก ถ้าจะใช้ภาษาธรรมะ ก็อาจกล่าวได้ว่า กัลยาณมิตรแต่ละคนแต่ละท่านมีคุณความดีแตกต่างกันไปตาม การอบรมสั่งสมบุญบารมีของตนนั่นเองดังมีตัวอย่างพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ซึ่งล้วนสามารถ ปฏิบัติตนเป็นกัลยาณมิตรต่อชาวโลกทั้งสิ้น ทว่าแต่ละองค์ก็ทรงไว้ซึ่งคุณความดีแตกต่างกันออกไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงสถาปนาพระมหาสาวกแต่ละองค์ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ คือผู้เลิศด้วยคุณวิเศษแตกต่างกันไป เช่น ทรงสถาปนาพระมหากัสปะเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะในทางถือธุดงค์ และทรงสถาปนาพระกุมารกัสปเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะในทางแสดงธรรมวิจิตร เป็นต้น
จากหนังสือ DOU
วิชาGB 203 สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก
กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก