ทำไมบางคนจึงมีปิยวาจาแต่บางคนมีอัปปิยวาจา
สาเหตุของปัญหานี้อาจมองได้หลายแง่มุมถ้ามองในแง่ของทิฏฐิ หรือความเห็น ย่อมกล่าวได้ว่าพฤติกรรมทางวาจาของคนเราสืบเนื่องมาจากความคิด และความคิดก็สืบเนื่องมาจากความเห็นกล่าวคือบุคคลที่มีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ ย่อมคิดถูก คิดดี จึงพูดถูก พูดดี คือ พูดสุภาพอ่อนน้อมเป็นคำจริง มีประโยชน์ มีความปรารถนาดีอย่างจริงใจ และพูดถูกกาลเทศะ คำพูดของสัมมาทิฏฐิชนย่อมเป็นคำพูดที่สร้างสรรค์ ทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจทำคุณความดีและบุญกุศลทุกรูปแบบในทางกลับกัน บุคคลที่มีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมคิดผิดๆ คิดชั่วๆ จึงมีแต่วาจาชั่วร้าย เช่น พูดโกหก พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด เพ้อเจ้อนินทา พูดดูถูกเหยียดหยาม พูดกระทบกระเทียบ เป็นคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ มีแต่จะก่อให้เกิดความร้าวฉาน แตกสามัคคีกันในหมู่พวก คนที่เคยรักกันก็ระแวงกัน โกรธกัน เป็นศัตรูกัน แม้บางครั้งจะเป็นถ้อยคำสุภาพ แต่ก็มีจุดมุ่งหมายดูถูกดูแคลนผู้ฟังเป็นต้น
ดังนั้น คำพูดของมิจฉาทิฏฐิชน จึงเป็นคำพูดที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกท้อถอยหมดกำลังใจในการทำความดีสำหรับตัวผู้พูดเอง นอกจากไม่น่ารักแล้ว ยังเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของเพื่อนฝูง และอาจจะมีภัยมาถึงตัวเป็นเนืองนิตย์
ถ้ามองในแง่ของการปลูกฝังอบรมบ่มนิสัย ย่อมกล่าวได้ว่า พฤติกรรมทางวาจาของคนเราสืบเนื่องมาจากบุคคลหรือทิศที่แวดล้อมตัวเรานั่นเอง กล่าวคือ บุคคลที่ได้รับการปลูกฝังอบรมสัมมาทิฏฐิมาจาก ทิศเบื้องหน้า เบื้องขวา รวมทั้งทิศเบื้องบน มาตั้งแต่เยาว์วัย ให้ละชั่ว ตั้งอยู่ในความดี อีกทั้งมีบุคคลในแต่ละทิศเหล่านั้นคอยเป็นแบบอย่างให้ยึดถือปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนเป็นนิสัย บุคคลประเภทนี้ย่อมมีปิยวาจาเสมอ เพราะคุ้นกับการกล่าววาจาไพเราะ และตระหนักถึงโทษภัยของอัปปิยวาจา เป็นอย่างดี จึงเป็นคนน่ารัก น่าคบในทางกลับกัน บุคคลที่เติบโตมาจากครอบครัวที่มีทิศเบื้องหน้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบมิจฉาอาชีวะ พัวพันกับอบายมุข หรือมาจากครอบครัวประเภทบ้านแตกสาแหรกขาดมาตั้งแต่เยาว์วัย แม้เมื่อไปโรงเรียน ได้รับการอบรมจากทิศเบื้องขวาบ้าง แต่ก็ไม่มีพลานุภาพพอที่จะเปลี่ยนนิสัยสันดานของเขาได้บุคคลเหล่านี้ย่อมคุ้นอยู่กับอัปปิยวาจาโดยไม่รู้ถึงโทษภัยของพฤติกรรมชั่วร้ายนี้เลย จึงเป็นคนไม่น่ารัก ไม่น่าคบ
ถ้ามองในแง่อารมณ์ของผู้พูด ย่อมกล่าวได้ว่า พฤติกรรมทางวาจาของคนเราขึ้นอยู่กับ
อารมณ์ของบุคคลในขณะที่พูดกล่าวคือ บุคคลที่ได้รับการอบรมปลูกฝังอย่างดีมาแต่เยาว์วัย ย่อมจะมีอารมณ์เย็นสุขุม ไม่วู่วาม ย่อมพูดถ้อยคำสุภาพอ่อนน้อม เป็นคำจริง มีประโยชน์ ยกใจผู้คน โดย สรุปก็คือบุคคลประเภทนี้จะมีปิยวาจาเสมอ ขณะใดที่อารมณ์ขุ่นมัวก็จะพยายามข่มใจ แล้วจึงค่อยพูดออกมาด้วยอารมณ์เป็นปกติ แต่ถ้ายังข่มใจให้ สงบไม่ได้ ก็จะเงียบเสีย ไม่กล่าววาจาใดๆ ออกมา เพราะรู้ตัวดีว่า ถ้ากล่าวถ้อยคำใดๆ ออกไปในขณะนั้น ก็จะต้องเป็นอัปปิยวาจา ซึ่งจะก่อให้เกิดโทษภัยได้มากมายตามมาในทางกลับกัน บุคคลที่มีมิจฉาทิฏฐิ เนื่องจากขาดการปลูกฝังอบรมสัมมาทิฏฐิมาแต่เยาว์วัยย่อมตกอยู่ใต้อำนาจกิเล ตลอดเวลา จึงเป็นคนอารมณ์ร้อน เพราะอำนาจโทสะที่นอนเนื่องอยู่ในใจ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ก็จะขาดหิริโอตตัปปะ กล้าพูดคำหยาบคายรุนแรงพูดดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นโดยไม่มีความเกรงใจและไม่อายใคร หรือพูดโกหกโดยไม่กลัวบาปกรรม บุคคลอารมณ์ร้อน ประเภทนี้ย่อมเป็นคนกักขฬะหยาบคาย จึงเป็นคนไม่น่ารัก ไม่น่าเข้าใกล้อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการสาวกลับไปหาเหตุก็จะเห็นว่า บุคคลที่สามารถเจรจาไพเราะหรือมีปิยวาจาอยู่เสมอ ก็เพราะมีอารมณ์ดี มีความอดทนต่อการกระทบกระทั่งสูง เหตุที่มีอารมณ์ดี ก็เพราะเคยได้รับการฝึกอบรมมาดีจนเกิดนิสัยดีๆ นิสัยดีๆ เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีสัมมาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคงถาวรนั่นเอง จึงเป็นคนน่ารักเสมอ
ส่วนบุคคลที่เจรจาไม่ไพเราะ หรือมีอัปปิยวาจาอยู่เสมอ ก็เพราะมีอารมณ์ร้อนโกรธง่าย ไม่มีความอดทนต่อการกระทบกระทั่ง เมื่อบันดาลโทสะก็จะกล่าวคำหยาบคายเป็นอาจิณ ประกอบกับไม่ใคร่ได้รับการฝึกฝนอบรมในด้านศีลธรรมและคุณธรรม อีกทั้งมีแบบอย่างไม่ดี จากผู้คนแวดล้อมให้ดูเป็นประจำแม้ขณะที่อารมณ์ดีก็เจรจาไม่ไพเราะ เนื่องจากคุ้นเป็นนิสัยแล้ว เมื่อสั่งสมไว้แต่นิสัยที่ไม่ดี จิตใจของเขาจึงหนาแน่นไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ชอบกล่าวอัปปิยวาจา จึงเป็นคนไม่น่ารัก ไม่น่าเข้าใกล้
จากหนังสือ DOU
วิชาGB 203 สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก
กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก