สังคหวัตถุ คือ ลิ่มสลักใจ
รถแต่ละคันไม่ว่าจะเป็นรถ 2 ล้อ 3 ล้อ 4 ล้อ 6 ล้อ 10 ล้อ หรือมากกว่าก็ตาม ขณะที่รถเคลื่อนที่ไป ล้อทุกล้อของรถนั้นย่อมหมุนเคลื่อนไปพร้อมกัน การที่ล้อรถสามารถหมุนไปพร้อมกันได้ ก็เพราะมีเพลาเป็นแกน อดเข้าไปในดุมล้อ ทำให้ล้อทุกล้อสามารถทำงานพร้อมกันได้ด้วยความสามัคคี แต่อุปกรณ์เล็กๆ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องจากสามารถจีมหรือขัดเพลาทุกอันให้ยึดแน่นอยู่กับดุมล้อทุกล้อ ก็คือ "ลิ่มสลัก" แต่ละตัว
เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงเปรียบสังคหวัตถุว่าเป็นเสมือนลิ่มสลักเพลา (ให้ยึดติดกับดุมล้อ) เพื่อควบคุมรถให้สามารถแล่นไปได้ ดังที่ตรัสไว้ในสิงคาลกสูตร1 ดังนี้"ทาน (การให้) เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก) อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) ในโลกนี้ และสมานัตตตา (การวางตนสม่ำเสมอ) ในธรรมนั้นๆ ตามสมควร
สังคหธรรมเหล่านี้แลช่วยอุ้มชูโลก เหมือนลิ่มสลักเพลาคุมรถที่แล่นไปไว้ได้ ฉะนั้น"จากพุทธพจน์นี้มีนัยว่า จิตใจของผู้คนทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่เรากับทิศ 6 ของเรา ย่อมประสานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว กันได้ ก็ด้วยสังคหวัตถุ 4 ซึ่งเป็นธรรมสำหรับครองใจคน ดังนั้นสังคหวัตถุ 4 จึงควรจะชื่อว่า "ลิ่มสลักใจ"
ในหมู่มนุษย์ ถ้าขาดลิ่มสลักใจเสียแล้ว อย่าว่าแต่ผู้คนคนละหมู่พวกจะแตกร้าวกันเลย แม้ลูกที่เป็นสายโลหิตก็ไม่เคารพนับถือพ่อแม่ของตน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่าถ้าไม่มีสังคหธรรมเหล่านี้ มารดาหรือบิดาก็ไม่พึงได้การนับถือ หรือการบูชา เพราะบุตรเป็นเหตุ แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านี้จึงถึงความเป็นใหญ่และเป็นผู้น่าสรรเสริญ"
จากหนังสือ DOU
วิชาGB 203 สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก
กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก