บุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรควรมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2557

 บุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรควรมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ

 บุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรควรมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ

     มีสติ หมายถึง ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว ทั้งที่เคยคิด เคยพูด และเคยทำมาก่อน ระลึกได้ทุกครั้งที่ต้องการ ไม่เลื่อนลอยเผลอตัวในเรื่องปัจจุบัน ไม่หวาดหวั่นฟุ้งเฟ้อในเรื่องอนาคต สติจะคอยเป็นธรรมกั้นความพลั้งเผลอ ทำอะไรมักจะไม่พลาดไม่พลั้ง

    สัมปชัญญะ คือความรู้ตัวขณะกำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด ความรู้ตัวอยู่เสมอนี้เป็นการป้องกัน รักษา ซึ่งการกระทำ การพูด การคิด ทั้ง 3 กาล ไม่หันเหไปทางผิดตามกิเลส ระวังให้ตั้งอยู่ในทางถูกเท่านั้น ธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอุปการะมาก เพราะนำมาซึ่งความเกื้อกูลในการงานทั้งปวง ธรรมอื่น ๆ นอกจากนี้ก็มีอุปการะมากเหมือนกัน แต่ไม่สำคัญเท่า 2 ข้อนี้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่มีแล้ว ธรรมอื่นก็มีไม่ได้ เพราะสติสัมปชัญญะมีอุปการะแก่ธรรมเหล่าอื่นด้วย

 

หิริโอตตัปปะ ธรรมะคุ้มครองโลก คุ้มตน

หิริ ความละอายแก่ใจ
โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป

     หิริ คือ ความละอายแก่ใจในขณะกำลังจะทำชั่ว ทั้งทางกาย วาจา ใจ รู้สึกขยะแขยงใจไม่กล้าทำความชั่ว โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต คิดเห็นภัยที่เกิดจากการทำความชั่ว ธรรมเหล่านี้ท่านเรียกว่า ธรรมสำหรับคุ้มครองโลก เพราะย่อมคุ้มครองโลกให้อยู่กันด้วยความรัก สามัคคี ไม่มีความอาฆาต พยาบาทปองร้ายกันและกัน ทำให้การเป็นอยู่ร่วมกัน มีความสงบสุขร่มเย็น นอกจากนี้หิริโอตตัปปะยังเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งห้ามปรามไม่ให้กล้าทำความชั่วลงได้ แม้มีโอกาสที่จะกระทำ เมื่อเข้าใจว่าการที่จะทำเป็นความชั่วแล้ว ก็รู้สึกละอาย หวาดหวั่นใจไม่อาจทำลง เพราะถือหิริโอตตัปปะเป็นใหญ่ โลกจึงมีความสุข และตั้งอยู่ยั่งยืนสืบมา ดังนั้นผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรจะต้องทำคุณธรรมข้อนี้ให้มีให้เป็นขึ้นมาในใจ เพราะในขณะทำหน้าที่กัลยาณมิตร จะทำให้เราสามารถพิชิตเป้าหมายได้อย่างงดงาม โดยไม่มีรอยแผลคือบาปอกุศลที่ทำให้นึกถึงแล้วแหนงใจตนเอง หิริโอตัปปะบางครั้งท่านเรียกว่า “สุกกธรรม” เพราะเป็นธรรมฝ่ายกุศลอันเปรียบด้วยสีขาว และเป็นไปเพื่อความผ่องแผ้วแห่งจิต บางครั้งเรียกว่า “เทวธรรม” เพราะเป็นธรรมทำบุคคลให้เป็นเทวดาหรือให้เป็นผู้รุ่งเรือง บุคคลเมื่อละจากโลกนี้แล้ว จะเข้าถึงความเป็นเทพในสวรรค์ต้องมีธรรม 2 ประการนี้อยู่ในใจ

 

ขันติ โสรัจจะ ธรรมะที่จะทำตนให้งดงาม

ขันติ ความอดทน
โสรัจจะ ความเสงี่ยม

     ขันติ คือ ความอดทนต่ออารมณ์ที่ไม่เป็นที่พอใจ (อกนิฏฐารมณ์) ไว้ได้ อด คือ ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ทำให้อด ส่วนทน คือได้ในสิ่งที่ไม่ปรารถนา จึงจำเป็นต้องทน


ความอดทน โดยประเภทมี 4 คือ

      1.ทนต่อความลำบากตรากตรำ ได้แก่ ทนต่อการทำงาน ไม่หวั่นหวาดต่อความเหนื่อยยาก หนาว ร้อน และลมแดด เป็นต้น

      2.ทนต่อความเจ็บป่วยไข้ ได้แก่ อดทนต่อทุกขเวทนา อันเกิดมีเพราะความเจ็บไข้มีประการต่าง ๆ แม้ที่สุดทนทุกขเวทนาแสนสาหัส ก็ไม่แสดงอาการกระสับกระส่าย

    3.ทนต่อความเจ็บใจ  ได้แก่  ทนต่อการหมิ่นประมาท  ที่ผู้อื่นกล่าวคำเสียดสี หรือกระทบกระทั่งในขณะทำงาน เป็นต้น

       4.ทนต่ออำนาจกิเลส คือราคะ โทสะ และโมหะที่คุกรุ่นอยู่ในใจของเรา พร้อมที่จะแสดงออกมาได้ทุกเมื่อ

     การอดทนต่อความลำบากตรากตรำ   มีผลดีทำให้การงานลุล่วงไปได้ อดทนต่อความเจ็บป่วยไข้จะทำให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะครบบริบูรณ์ อดทนต่อความเจ็บใจและกิเลสตัณหาจะช่วยป้องกันความผิดพลั้ง อันจะเกิดขึ้นด้วยโทสะเสียได้ ผู้ที่มีความอดทนจะทำให้การทำหน้าที่กัลยาณมิตรประสบความสำเร็จ เหมือนลักษณะของแผ่นดิน แม้ต้นไม้ ภูเขา และอื่น ๆ แผ่นดินก็ยังทรงไว้ได้ อดทนจนเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นเรื่องดี ยอมรับด้วยใบหน้าชื่นบาน เขาจะตำหนิติเตียน ด่าว่าหยาบคาย เสียดสีให้เจ็บใจอย่างไรก็ทนได้ ไม่แสดงอาการโต้ตอบ

     โสรัจจะ ได้แก่ ความเสงี่ยม ความรู้จักทำใจให้แช่มชื่น ในเมื่อต้องอดทน มีความยิ้มแย้มและแช่มชื่นเบิกบาน ความเสงี่ยมใช้ในลักษณะที่ต้องอดทน คือไม่แสดงกิริยาเสียอกเสียใจให้ปรากฏเกินงาม


ขันติ มีอานิสงส์ 5 ประการ คือ

1.คือเป็นที่รักใคร่ของคนเป็นอันมาก

2.ไม่มากด้วยเวร

3.ไม่มากด้วยโทษ

4.ไม่หลงทำกาลกิริยา

5.เมื่อกายแตกดับขันธ์เบื้องหน้าแต่มรณะ ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน 5 ประการนี้ 5 ประการเป็นไฉน คือ

       ผู้อดทนย่อมเป็นที่รัก   เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก 1 ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยเวร 1 ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ 1 ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ 1 เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทนทั้ง5 ประการนี้แล

       โสรัจจะ มีอานิสงส์เช่นเดียวกับขันติ แต่เป็นคุณธรรมที่ส่งเสริมขันติให้เด่นชัดขึ้น

      ขันติธรรมข้อนี้เป็นสิ่งที่กัลยาณมิตรจะต้องมุ่งมั่นที่จะพิชิตให้ได้ต้องไม่ให้อำนาจกิเลสคือ ความโลภ โกรธ หลงมาบีบคั้นจิตใจ ต้องหาโอกาสขจัดออกไปจากใจ ด้วยการหมั่นทำสมาธิภาวนา และรักษาอุดมการณ์ของตนเอง ในการที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่โลกให้ได้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0038871844609578 Mins