สัมมาทิฏฐิเบื้องสูง

วันที่ 05 มีค. พ.ศ.2558

สัมมาทิฏฐิเบื้องสูง

สัมมาทิฏฐิเบื้องสูง มี 4 ประการ คือ

1. ความรู้ในทุกข์

2. ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์)

3. ความรู้ในทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์)

4. ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ทางดับทุกข์)

    สัมมาทิฏฐิเบื้องสูงนี้เกิดขึ้นจากการมีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นเป็นพื้นฐานมาก่อน จากนั้น จะต้องผ่านการทำสมาธิจนเห็นผลแห่งการปฏิบัติมาในระดับหนึ่งจึงจะเกิดความเข้าใจแตกฉานได้ ซึ่งจะยังไม่ขยายความในที่นี้ แต่จะมุ่งไปที่สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก่อนเป็นอันดับแรก สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นทั้ง 10 ประการดังกล่าว ข้อที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อทุกชีวิต มากที่สุด คือข้อที่ 4 ได้แก่ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ที่ว่าใครทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ใครทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่วจากสิ่งที่ตนเองทำไว้ หากใครมีความเชื่อมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว เขาจะมีกำลังใจสูงที่จะทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมีความมั่นใจในบุญและกล้าที่จะประกาศว่า ชีวิตนี้เกิดมาก็เพื่อสร้างบุญสร้างบารมีให้มากที่สุด ความชั่วจะไม่ทำ คนลักษณะนี้จะต้องมีความเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมเป็นตัวค้ำไว้ ถ้าไม่มีความเชื่อนี้เสียแล้ว แม้มีโอกาสที่จะทำความดีก็จะไม่ทุ่มเต็มที่ เพราะยังลังเลอยู่ว่าจะได้บุญจริงหรือไม่ แม้ทำก็แค่คิดทำเพียงป้องกันเอาไว้ก่อน ทำแบบไม่สม่ำเสมอ ผลที่ออกมาก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนั้น ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมยังจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในสัมมาทิฏฐิข้ออื่นๆ มากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

    ดังนั้น หากมีสัมมาทิฏฐิครบทั้ง 10 ประการนี้แล้ว ต้องถือว่ามีวิถีชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุด ถึงคราวจะมีโอกาสทำความชั่ว ก็สามารถยับยั้งใจเอาไว้ได้ ใครจะรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม ถ้ารู้ว่าเป็นความชั่วแล้วเป็นไม่ทำเด็ดขาด ตรงกันข้าม ถ้าเป็นเรื่องบุญแล้ว จะมีใครรู้เห็น จะมีใครสรรเสริญหรือไม่ก็ตาม ก็จะทุ่มเททำอย่างสุดกำลัง
ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิต่อวิถีชีวิต สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทราบและศึกษาทำความเข้าใจเป็นประการแรก เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว การดำเนินชีวิตก็จะเป็นไปอย่างถูกทาง ความคิด คำพูด และการกระทำ ก็จะปรากฏออกมาในทางที่ดีงาม คนเราอาจจะมีความเข้าใจถูกในด้านวิชาการทางโลกเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง แต่ความเข้าใจถูกเหล่านั้นยังไม่จัดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับตัวเองหรือคนอื่นๆได้ ยกตัวอย่าง บางท่านอาจจะมีความเข้าใจถูกในเรื่องของดาราศาสตร์ ในเรื่องของเทคโนโลยี จนกระทั่งสามารถไปดวงจันทร์ ไปดวงดาวต่างๆ ได้ บางท่านอาจจะมีความเข้าใจถูกในเรื่องการแพทย์ ในเรื่องของการคำนวณ รวมทั้งการปกครองทั่วๆ ไป แต่ก็ยังไม่เรียกว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ ต่อเมื่อใดมีความเข้าใจในเรื่องโลก เรื่องชีวิตอย่างถูกต้อง เมื่อนั้นจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิเพราะฉะนั้น ใครก็ตามถึงแม้เขาจะเรียนจบปริญญาเอก เป็นศาสตราจารย์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดี เป็นมหาเศรษฐี นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ตราบใดที่เขายังเข้าใจไม่ถูกต้องในเรื่องโลกและชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนไว้ในที่หลายๆ แห่ง และเมื่อตรัสครั้งใด จะต้องยกสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้นทุกครั้งไป มีตัวอย่างดังนี้

     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียว เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์หิตสุข(เกื้อกูล)แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร คือบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากอสัทธรรมแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ หิตสุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย นอกจากนี้ สัมมาทิฏฐิยังเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงกุศลธรรมความดีที่กำลังจะ เกิดขึ้นในภายภาคหน้าอีกด้วย คือ เมื่อบุคคลมีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นในใจแล้ว ย่อมเป็นทางให้บุญกุศลทั้ง หลายได้เกิดแก่ขึ้นแก่บุคคลนั้น ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้

     “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งดวงอาทิตย์ เมื่อจะอุทัย คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สัมมาทิฏฐิ ฉันนั้น เหมือนกันแล

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010945161183675 Mins