องค์ของการทำทานที่ได้บุญมาก

วันที่ 07 มีค. พ.ศ.2558

องค์ของการทำทานที่ได้บุญมาก

องค์ของการทำทาน

    หรือเรียกว่าทานสมบัติในทางพระพุทธศาสนามุ่งสอนในเรื่องของการให้เพื่อทำให้ใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ ยิ่งมีความบริสุทธิ์สะอาดมากก็จะได้ผลคือบุญมากโดยผู้ให้จะต้องทำให้ครบด้วยองค์ทั้ง 3 ที่เรียกว่าทานสมบัติ 3 ข้อ คือ

1. วัตถุบริสุทธิ์

2. เจตนาบริสุทธิ์

3. บุคคลบริสุทธิ์
     

     วัตถุบริสุทธิ์ หมายถึง สิ่งของที่จะทำทาน จะเป็นอะไรก็ตาม จะซื้อเขามาหรือขอเขามาก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งของที่เราทำมาหาได้โดยสุจริต ไม่ได้ลักขโมย คดโกง เบียดเบียน หรือหลอกลวงเขามา ถ้าเป็นของซื้อ เงินที่ซื้อจะต้องเป็นเงินที่เราทำมาหากินได้โดยสุจริตธรรม และที่สำคัญของที่ให้นั้น ต้องไม่น้อมนำให้เกิดอกุศลใดๆ เช่น ต้องไม่ให้สิ่งเสพติด อาวุธ หรือสื่อยั่วยุทางกามารมณ์เป็นต้น ทานนี้จึงจะชื่อว่าบริสุทธิ์
 

     เจตนาบริสุทธิ์ หมายถึง เจตนาของผู้ที่ให้ จะต้องให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งให้เกิดความ ดีงาม ให้ใจใส ใจสะอาด ไม่ได้ให้เพื่ออวดมั่งมี อวดรวย อวดดี หรือโอ้อวดอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นต้น เพราะการให้เช่นนั้นจะเป็นการให้ที่มีเจตนาเห็นแก่ตัวทำไปแล้วใจจะไม่สบายใจไม่บริสุทธิ์ในข้อนี้จึงสนับสนุนและชี้ให้เห็นว่า การให้สังฆทานเป็นการทำทานที่มีผลสูงสุด เพราะผู้ให้ตัดเจตนาเห็นแก่ตัวออกไปทั้งหมดซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของการทำทานอย่างแท้จริงเจตนาจะบริสุทธิ์เต็มที่ผู้ให้ต้องรักษาใจให้มีความบริสุทธิ์ให้ได้ทั้ง 3 กาล คือ

     ปุพพเจตนา หมายถึง เจตนาก่อนที่จะทำทาน เช่น ตั้งใจว่าพรุ่งนี้เช้าจะตักบาตรก็มีความดีใจ ปลื้มใจ ปีติใจว่าเราจะได้ทำบุญด้วยการให้ทาน หรือนึกถึงความโชคดีของเราที่มีโอกาสได้ให้ทานในคราวนี้ เพราะในบางทีที่เราไม่มีไทยธรรม ก็ให้ทานไม่ได้ บางทีมีไทยธรรม แต่กลับไม่มีศรัทธา ก็ให้ทานไม่ได้ หรือบางทีมีทั้งไทยธรรม มีทั้งศรัทธา แต่กลับไม่มีปฏิคาหก (ผู้รับทาน) ก็ให้ทานไม่ได้ แต่ในคราวนี้ เรามีความพร้อมทั้งไทยธรรมทั้งศรัทธา และมีปฏิคาหกมารับทานของเราคิดดังนี้ใจก็มีความชุ่มชื่นยินดีที่จะได้ให้ทานนั้น

     มุญจนเจตนา หมายถึง เจตนาในขณะกำลังให้ เช่น ในเวลาตักบาตรก็มีใจเลื่อมใส คือเลื่อมใส ทั้งในคุณธรรมความดีงามของพระภิกษุผู้มารับทานของเราและเลื่อมใสเพราะเคารพในทานที่เราให้ด้วย อาการนอบน้อมยินดีที่ได้ทำเต็มอกเต็มใจถวายทานนั้นทั้งไม่ยอมให้อารมณ์ขุ่นมัวเกิดขึ้นในขณะที่ทำเลย

     อปราปรเจตนา หมายถึง เจตนาหลังจากที่ให้ทานแล้ว เช่น หลังจากตักบาตรเรียบร้อยแล้วก็มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานใจครั้นตามระลึกนึกถึงการให้ทานเมื่อไรก็ปลาบปลื้มยินดี มีแต่ความสุขใจ ว่าเราได้ทำทานกุศลที่ยิ่งใหญ่ โดยไม่มีความร้อนใจ หรือนึกเสียดายสิ่งที่ให้ไปแล้วเลย 

     การรักษาเจตนาให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาลนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้ให้ที่ยังตัดความตระหนี่ออกจากใจไม่ได้เด็ดขาดหรือคาดหวังบางสิ่งบางอย่างจากการให้ทานมากเกินไปย่อมมีโอกาสที่ใจจะหวั่นไหวจนทำให้บุญที่ควรจะได้ตกหล่นไปอย่างน่าเสียดายเหมือนกัน เช่นในบางครั้งได้ผู้รับทานที่ไม่มีศีลหรือมีกิริยาอาการไม่น่าเลื่อมใสผู้ให้อาจเกิดความเศร้าเสียใจนึกเสียดายของที่จะให้ไปหรือไม่พอใจที่ต้องให้กับคนเหล่านั้นเป็นต้น

     ดังนั้จึงต้องระวังรักษาจิตเจตนานี้ให้บริสุทธิ์มั่นคงทั้ง 3 กาล เพื่อให้เป็นทานที่บริบูรณและเกิดบุญอย่างเต็มที่ ทายก (ผู้ให้) ก่อนแต่จะให้ทาน เป็นผู้ดีใจ กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ นี้เป็นยัญสมบัติ (ความบริบูรณ์ของทาน)
 

    บุคคลบริสุทธิ์ หมายถึง บุคคลสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทานนั้น คือ ผู้ให้และผู้รับ ต้องเป็น คนที่บริสุทธิ์ ทายก (ผู้ให้) ต้องเป็นผู้มีศีลธรรม ฉะนั้นก่อนถวายทาน จึงมีประเพณีสมาทานศีลก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิคาหก (ผู้รับ) ต้องมีศีลาจารวัตรงดงาม มีคุณธรรมสูง ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ตรัสถึงความสำคัญของผู้ให้และผู้รับไว้ใน ทักขิณาวิภังคสูตร ว่า ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์ ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังตรัสอุปมาไว้ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อีกว่า

ภิกษุสงฆ์ (ปฏิคาหก) เปรียบเหมือน นา

ผู้ถวาย (ทายก) เปรียบเหมือน ชาวนา

สิ่งของที่ถวาย เปรียบเหมือน พืช

     เมื่อชาวนาหว่านพืชลงในนาที่ดี ผลย่อมไพบูลย์ คือมีผลมาก ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึง ทรงสอนให้พิจารณาถึงนาบุญหรือบุญเขต ถ้าจะนิมนต์พระเจาะจง คือเป็นปาฏิปุคคลิกทาน ก็ให้พิจารณา นิมนต์พระที่เคร่งครัดสิกขาวินัย น่าเลื่อมใส ถ้าจะไม่นิมนต์พระเจาะจง คือเป็นสังฆทานก็ให้พิจารณานิมนต์จากหมู่ที่ประพฤติสิกขาวินัยเคร่งครัดก่อนแล้วจึงให้ ดังพระบาลีว่า วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ การให้ด้วยพิจารณา พระตถาคตเจ้าทรงสรรเสริญเป็นต้น ในข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างจากเรื่องดังต่อไปนี้

     อังกุรเทพบุตร ในสมัยหนึ่ง พระศาสดาเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดา ขณะประทับ ณ บัณฑุกัมพลศิลา บนภพดาวดึงส์นั้น ทรงมีรัศมีแผ่กว้างครอบคลุมหมู่เทวดา เทพบุตรพุทธมารดาก็เสด็จมาจากภพดุสิต ประทับในที่ข้างขวา อินทกเทพบุตรก็มานั่งในที่ข้างขวาเหมือนกัน ส่วนอังกุรเทพบุตรมานั่งในที่ข้างซ้าย แต่เมื่อเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่กว่าทยอยกันมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า อังกุรเทพบุตรก็ต้องถอยห่างไปเรื่อยๆ จนถอยไปถึงที่สุดของบริษัทไกลถึง 12 โยชน์ ขณะที่อินทกเทพบุตรก็ยังนั่งอยู่ที่เดิม ไม่ต้องย้ายไปไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมองดูเทพบุตรทั้งสองแล้ว มีพระประสงค์จะประกาศความแตกต่างระหว่างทานที่ บุคคลถวายแด่ทักขิไณยบุคคลในศาสนาของพระองค์ กับทานที่บุคคลให้แล้วแก่โลกียมหาชน จึงตรัสถาม อังกุรเทพบุตรว่า  “ดูก่อนอังกุระ ท่านให้ทานมาเป็นเวลานานถึง 10,000 ปี ก่อเตาหุงข้าวยาวเป็นแถวถึง 12 โยชน์ ทุกวัน แต่เมื่อมาสู่สมาคมของเรา ท่านกลับต้องนั่งห่างออกไปถึง 12 โยชน์ ไกลกว่าเทพบุตรทั้งปวงนั่น เป็นเพราะเหตุใดŽ” อังกุรเทพบุตรกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้าได้บริจาคทานมากก็จริงในสมัยที่เป็นมนุษย์ แต่ก็ได้ให้ทานแก่ โลกียมหาชน คือให้ทานในเวลาที่ปราศจากทักขิไณยบุคคล ส่วนอินทกเทพบุตรนี้ แม้ถวายทานเพียงน้อยนิด แต่เพราะได้ทำในทักขิไณยบุคคล จึงรุ่งเรืองกว่าข้าพเจ้า เหมือนดวงจันทร์รุ่งเรืองกว่าหมู่ดาว ฉะนั้นŽ” พระศาสดาจึงตรัสถามอินทกเทพบุตร ผู้นั่งอยู่กับที่มิได้เคลื่อนย้ายไปไหนเลย

     อินทกเทพบุตร กราบทูลว่า “ ข้าพระองค์ได้ถวายทานแด่ทักขิไณยบุคคล ดุจหว่านพืชแม้น้อยนิดในเนื้อนาดี ผลย่อมงอกงาม ไพบูลย์Ž” และเพื่อจะประกาศความสำคัญของทักขิไณยบุคคล จึงกราบทูลต่อไปว่า “ พืชแม้มากที่บุคคลหว่านลงในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ชาวนาเองก็ ไม่ปลื้มใจฉันใด ทานแม้มีมากที่บุคคลให้แล้วในผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทายกก็ ไม่ปลื้มใจฉันนั้น ส่วนพืชแม้น้อยที่หว่านแล้วในนาดี ย่อมมีผลไพบูลย์ ชาวนาก็ปลาบปลื้มฉันใด ทานเล็กน้อยที่บุคคลทำในเขตบุญ ในท่านผู้มีศีล มีคุณธรรมที่มั่นคง ย่อมอำนวยผลไพบูลย์ ยังผู้ให้ให้ชื่นชมยินดีฉันนั้นŽ” อินทกเทพบุตรนั้น เมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ ได้ถวายข้าวเพียงทัพพีเดียวแด่พระอนุรุทธ เถรผู้เป็นพระอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญนี้ย่อมมีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตรทำแล้ว คือได้ก่อเตาไฟ หุงข้าวเป็นแถวยาว 12 โยชน์ ทุกวัน แก่โลกียมหาชนถึง 10,000 ปี ซึ่งเมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลแล้ว พระศาสดาจึงตรัสกับอังกุรเทพบุตรว่า “ ธรรมดาการให้ทาน ควรพิจารณาแล้วจึงให้ ทานนั้นย่อมมีผลมาก เหมือน การหว่านพืชในนาดี แต่เธอหาได้ทำเช่นนั้นไม่ เหตุนั้นทานของเธอจึงมีผลไม่มาก ทานที่บุคคลให้แล้วในเขตใดมีผลมาก ควรพิจารณาให้ในเขตนั้น การให้ ด้วยพิจารณา พระตถาคตสรรเสริญ ทานที่ให้แล้วในทักขิไณยบุคคล ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่บุคคลหว่านลงในนาดี ฉะนั้นŽ”

     ทานจะให้ผลไพบูลย์เมื่อได้ถวายแด่ผู้รับที่บริสุทธิ์ เป็นทักขิไณยบุคคล ผู้รับจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ทานนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010514684518178 Mins