อาการของการให้

วันที่ 07 มีค. พ.ศ.2558

 

อาการของการให้

นอกจากองค์แห่งการให้ทานทั้ง 3 ประการดังกล่าวแล้วความคิดที่เป็นจิตเจตนาของผู้ให้ ซึ่งส่งผลไปสู่การกระทำทางกายที่เห็นได้จากกิริยาอาการที่แสดงออกมาในเวลาให้ทานก็มีความสำคัญมาก เช่นกัน เพราะนอกจากจะบ่งบอกถึงคุณภาพใจของผู้ให้แล้ว ยังมีผลกระทบต่ออานิสงส์ที่จะได้รับอีกด้วย
     อสัปปุริสทานŽ คือทานของอสัตบุรุษ (อสัตบุรุษ คือคนไม่ดี ไม่ฉลาดในการดำเนินชีวิต) อสัตบุรุษ เมื่อให้ทานก็ให้ด้วยวิธีการที่ไม่ดี ไม่ฉลาด การให้แบบนี้จึงเป็นการให้ที่ไม่สมบูรณ์ ตามธรรมดาคนที่ให้ทาน จะได้ผลบุญ ได้อานิสงส์ที่ดีงามตอบสนองทั้งในปัจจุบันนี้และอนาคตกาลข้างหน้า แต่ถ้าเป็นอสัปปุริสทานแล้ว การให้นั้นแทนที่จะได้บุญกุศลมาก ก็กลับได้น้อย (เหมือนคนค้าขายลงทุนลงแรงมาก แต่ทำไม่ดีไม่ฉลาด ผลกำไรจึงได้น้อย) หรือแทนที่บุญจะส่งผลที่ดีล้วนๆ ก็กลับได้ดีปนเสียมาด้วย ข้อนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอสัปปุริสทานสูตรว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน 5 ประการนี้ 5 ประการเป็นไฉน คือ อสัตบุรุษย่อมให้โดยไม่เคารพ 1 ให้โดยไม่อ่อนน้อม 1 ไม่ให้ด้วยมือตนเอง 1 ให้ของที่เป็นเดน 1 ไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ 1"

     1. ให้โดยไม่เคารพ บางคนเวลาจะให้ขาดความเคารพในทาน คือไม่ตระหนักถึงคุณค่าของการให้ สิ่งของที่ให้ ตลอดถึงผู้ที่เราจะให้ หรืออาจจะเกิดจากการขาดความรู้ในเรื่องของบุญบาปเท่าที่ควร เมื่อใจขาดความเคารพแล้ว ก็เท่ากับว่าจำใจให้ ให้แบบไม่เต็มใจ กิริยาอาการที่ให้ก็หยาบคายแข็งกระด้าง เช่น ให้ของแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ ก็แสดงกิริยาอาการเหมือนให้แก่ขอทาน เป็นต้น สภาพใจของผู้ให้เป็นอย่างไรผลทานก็จะได้อย่างนั้นจะไปเกิดในภพชาติใดก็จะเป็นคนต่ำศักดิ์ถูกคนดูหมิ่นขาดความเคารพนับถือ

     2. ให้โดยไม่ยำเกรง บางคนจะให้ก็ขาดความยำเกรง คือใจไม่เป็นกลาง ไม่ตั้งใจที่จะเอาบุญอย่างเต็มที่ เช่น เวลาจะถวายสังฆทานเห็นพระที่รู้จักก็ชอบใจพอเจอพระที่ทุศีลก็เสียใจที่ถูกต้องคือควรทำใจเป็นกลาง มีใจมุ่งต่อสงฆ์ มุ่งต่อพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้โดยตั้งใจมีความยำเกรงในสงฆ์ จะได้ผลานิสงส์มาก

     3. ไม่ให้ด้วยมือของตน บางคนอาจจะมีศรัทธา แต่เมื่อเวลาให้กลับใช้ให้คนอื่นไปทำแทน เช่น ให้คนรับใช้ทำแทนบ้างให้คนรับใช้ตักบาตรให้บ้างความจริงเราเกิดมาโชคดีแล้วที่มีมือมีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อมีโอกาสจึงควรให้ด้วยมือตน จะเกิดความศรัทธาขึ้นในใจเราอย่างเต็มที่ ภาพของการทำบุญจะติดตาติดใจของเราทำให้เกิดความปีติใจตลอดเวลาบุญที่ได้ก็มีพลังส่งผลได้ดีส่วนการให้ผู้อื่นทำทานแทนนั้น ทำให้กาย วาจา ใจของเรามีโอกาสได้สัมผัสบุญน้อย ความบริสุทธิ์ที่จะติดกาย วาจา ใจ ก็น้อยตามไปด้วย เวลาจะนึกถึงบุญก็นึกไม่ออก บุญที่ได้ก็ไม่มีพลัง ส่งผลได้น้อย

     4. ให้โดยทิ้งขว้าง เหมือนโยนของเสียทิ้งไปทั้งที่บางทีของที่ให้เป็นของดีแท้ๆพอเราให้ไปแบบทิ้งขว้างสภาพใจก็เสียไปคุณภาพใจก็เสียผลบุญที่ได้ก็พลอยเสียคุณภาพไปด้วยเวลาบุญส่งผลก็ทำให้ได้ รับแต่ของที่มีตำหนิบ้างแตกร้าวบ้างหรือได้มาไม่นานก็มีอันจะต้องตกแตกไปบ้างเหมือนของที่ถูกทิ้ง ฉะนั้นอีกความหมายหนึ่งก็คือ ให้แล้วละทิ้งไปกลางคันบ้าง ให้ไม่ต่อเนื่องบ้างเวลาส่งผลก็ขาดๆ หายๆ เช่น เกิดเป็นคนรวยไม่นานก็ตกยาก รวยไม่ตลอด เป็นต้น

     5. ให้โดยไม่เชื่อผลที่จะมีในอนาคต บางคนให้โดยไม่แน่ใจว่าจะมีผลในอนาคตหรือผลในชาติหน้า ให้แบบนี้ใจจะไม่ทุ่มเทในบุญ ความดีก็เกิดกับใจได้ไม่เต็มที่ เหมือนเวลาที่เราทำงานอย่างมีความเชื่อมั่น ในผลสำเร็จ เราจะทุ่มเทความพอใจ และความเพียรไปอย่างเต็มที่ ผลงานที่ออกมาก็จะดีงาม ตรงกันข้ามถ้าทำอย่างไม่เชื่อมั่นไม่แน่ใจความทุ่มเทในงานนั้นก็จะลดลงผลสำเร็จของงานก็ลดคุณภาพลงตามส่วนการให้แบบนี้จึงได้บุญน้อยได้บุญไม่เต็มที่ได้บุญแบบที่ไม่มีความมั่นใจในผลของบุญอสัปปุริสทานนี้ เป็นการให้ที่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตน้อย คือทำแล้วใจไม่ใสสว่างมากนักบางครั้งกลับมีความขุ่นมัวปนมาก็มีเวลาบุญให้ผลก็ให้ไม่เต็มที่ให้ผลไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น
     

     สัปปุริสทาน เป็นทานของสัตบุรุษในทางตรงกันข้าม คือเป็นการให้ของคนดี คนมีปัญญา ผู้ฉลาดในการดำเนินชีวิตนั้นจะให้ด้วยวิธีการที่ดี ซึ่งเมื่อให้แล้วจะไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ให้ให้ดีขึ้นประณีตขึ้น การให้แบบนี้จึงเป็นการให้ที่สมบูรณ์ทั้งผล และอานิสงส์ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอสัปปุริสทานสูตรว่า
 

    สัปปุริสทานอย่างที่ 1 "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน 5 ประการนี้ 5 ประการเป็นไฉน" คือ

สัตบุรุษย่อมให้โดยเคารพ 1 ให้โดยอ่อนน้อม 1

ให้ด้วยมือตนเอง 1 ให้ของไม่เป็นเดน 1

เห็นผลที่จะมาถึงให้ 1

     ดังนั้นคนดีมีปัญญาเมื่อให้ก็ควรให้แต่สัปปุริสทานซึ่งจะนำความสุขความดีงามที่สมบูรณ์มาสู่ชีวิต
 

    สัปปุริสทาน อย่างที่ 2 ยังมีการให้ของคนดีอีกอย่างหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน สัปปุริสทานสูตร 2 มี 5 ประการดังนี้ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน  5 ประการเป็นไฉน" คือ

สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา 1

ย่อมให้ทานโดยเคารพ 1

ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร 1

เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน 1

ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น 1

     1. สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา คือให้ด้วยความเลื่อมใสในกรรม และผลของกรรมว่า ทำดีย่อม ได้ผลที่ดี ทำชั่วก็ได้ผลเป็นทุกข์ให้เดือดเนื้อร้อนใจ เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน คือเป็นไปตาม กรรมที่ตนกระทำ และเชื่อในปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า คนเราจะบริสุทธิ์ได้ ด้วยการ ประกอบความดีด้วยกาย วาจา ใจที่บริสุทธิ์มาก และจะสามารถเข้าถึงธรรมะภายในตน ซึ่งมีอยู่แล้วใน สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ การน้อมนำธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาปฏิบัติ จะทำให้ตนมีความบริสุทธิ์ขึ้น จนถึงขั้นตรัสรู้ธรรมได้ ผู้ที่ให้ทานด้วยความศรัทธา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นส่งผล

     2. สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยความเคารพ คือเคารพในตัวบุคคล มีความอ่อนน้อม เช่น การยก ประเคนด้วยมือทั้งสอง รวมทั้งให้ด้วยกิริยาอาการที่เคารพในทาน เช่น ยกขึ้นจบเหนือหัวแล้วจึงให้ เป็นต้น ผู้ที่ให้ทานด้วยความเคารพ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และจะเป็นผู้ที่มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน อยู่ในโอวาท คอยฟังคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้น ส่งผล

     3. สัตบุรุษย่อมให้ทานตามกาล คือ ให้ในเวลาที่สมควรซึ่งเป็นเวลาจำเพาะที่จะต้องให้ในช่วงนี้ ท่านั้นเลยเวลานี้ไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์แล้ว เช่น การถวายผ้ากฐินแด่สงฆ์ เป็นต้นสำหรับกาลทานอื่นทั่วไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใน กาลทานสูตร มี 5 อย่าง คือ

3.1 อาคันตุกะทาน ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน

3.2 คมิกะทาน ให้แก่ผู้ที่เตรียมตัวจะเดินทางไปยังที่ต่างๆ

3.3 ทุพภิกขะทาน ให้ในสมัยที่ข้าวยากหมากแพงหรือเศรษฐกิจตกต่ำ

3.4 นวสัสสะทาน ให้เมื่อมีข้าวใหม่ๆ ก็นำมาทำทานก่อน

3.5 นวผละทาน ให้เมื่อมีผลไม้ออกใหม่ ก็นำมาทำทานก่อน

     ผู้ที่ให้ทานตามกาลอันควรแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมากและย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ที่ทานนั้นส่งผล

     4. สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ เมื่อเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก ขาดแคลนปัจจัย 4 ก็มี จิตอนุเคราะห์ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน ผู้ที่ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ 5 สูงยิ่งขึ้นในที่ที่ทานนั้นส่งผล

     5. สัตบุรุษย่อมให้ทานโดยไม่กระทบตนเอง และผู้อื่น คือ การให้โดยไม่ทำลายคุณความดีของตนเอง และผู้อื่น สัตบุรุษไม่ผิดศีล ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนเพื่อถวายทาน เช่น ฆ่าสัตว์ทำอาหารเพื่อถวาย พระ เพราะการให้ทานอย่างนี้ เป็นการทำลายคุณงามความดีของตนเอง อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษไม่ทำทานด้วยการทำให้คนอื่นเดือดร้อน หมดกำลังใจ เกิดการกระทบกระเทือนใจ เช่นทำบุญข่มคนอื่น ดูถูกดูแคลนคนที่ทำน้อยกว่า เหล่านี้เป็นต้น ผู้ที่ให้ทานโดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาทในที่ที่ทานนั้นส่งผล
 

     สัปปุริสทาน อย่างที่ 3 ยังมีการให้ของคนดีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปฐมสัปปุริสสูตรมี 8 ประการ ดังนี้ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน 8 ประการนี้ 8 ประการเป็นไฉน" คือ

ให้ของสะอาด 1   ให้ของประณีต 1

ให้ตามกาล 1     ให้ของสมควร 1

เลือกให้ 1     ให้เนืองนิตย์ 1

เมื่อให้จิตผ่องใส 1    ให้แล้วดีใจ 1

     ดังนั้น เมื่อเราทำทาน นอกจากจะต้องทำให้ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ประการ คือวัตถุบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ (ทั้งก่อนให้ กำลังให้ และหลังให้) และบุคคลบริสุทธิ์ (ทั้งผู้รับและผู้ให้) แล้ว ยังต้องทำด้วยความ ชาญฉลาด คือให้ตามแบบอย่างของสัตบุรุษด้วย ทานที่ให้จึงจะชื่อว่าได้บุญมาก 

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00093133449554443 Mins