ธรรมที่เกื้อกูลต่อการรักษาศีล

วันที่ 12 มีค. พ.ศ.2558

 

ธรรมที่เกื้อกูลต่อการรักษาศีล

     การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้นั้นสำหรับปุถุชนคนธรรมดาซึ่งต้องอยู่ท่ามกลางสิ่งล่อลวงใจหรือบางคนตกอยู่ในภาวะที่ขัดสนหรือแม้แต่อยู่ในที่ลับปราศจากการรู้เห็นของผู้คนนับเป็นเรื่องที่ยากต่อการจะหักห้ามใจไม่ให้ล่วงละเมิดศีลได้แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการรักษาศีลก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเหลือวิสัยที่จะทำได้นักขอเพียงแค่เรามีความตั้งใจจะทำจริงก็ย่อมจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้อย่างแน่นอน

 หิริ โอตตัปปะ เหตุแห่งการรักษาศีลการที่จะสามารถรักษาศีลให้ได้นั้นจะต้องมีคุณธรรมประจำใจที่สำคัญคือ หิริ และโอตตัปปะ 

หิริ คือ ความละอายใจต่อการทำชั่ว สิ่งใดก็ตามหากเป็นความชั่วเลวทรามจะไม่กล้าคิดไม่กล้าพูดไม่กล้าทำด้วยความที่รังเกียจ และขยะแขยง เห็นเป็นสิ่งสกปรก  

โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของความชั่วเมื่อรู้ว่าการทำความชั่วจะมีผลร้ายตามมาจึงเกรงกลัวอันตรายของความชั่ว ราวกับคนกลัวงูพิษ

     เมื่อ หิริ และ โอตตัปปะ เป็นคุณธรรมที่ทำให้เกลียดกลัวความชั่วเช่นนี้ผู้มีหิริ โอตตัปปะเป็นธรรมประจำใจย่อมมีศีลบริสุทธิ์เสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนอย่างไรจะต่อหน้าหรือลับหลังใครก็จะไม่ยอมให้ความชั่วใดๆมาแปดเปื้อนเลยดังเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าแก่ภิกษุทั้งหลายในสีลวีมังสชาดกว่า

     สีลวีมังสชาดก ครั้งหนึ่งพระภิกษุ 500 รูป ณ วัดเชตวัน ได้เกิดกามวิตกขึ้นในยามค่ำคืน ต่างคิดถึงความสุขที่เกิดจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เคยพบมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ทิพยจักขุญาณตรวจดูวาระจิตของภิกษุเหล่านั้นด้วยความห่วงใยดุจบิดามารดาห่วงใยบุตรทรงเล็งเห็นทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นแก่ภิกษุเหล่านั้นจึงโปรดให้พระอานนท์จัดการให้พระภิกษุเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกัน แล้วพระพุทธองค์จึงตรัสว่า

      “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่ลับย่อมไม่มีในโลกบัณฑิตในกาลก่อนเห็นอย่างนี้แล้วจึงไม่ทำบาปกรรมŽจากนั้นพระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาแสดงแก่ภิกษุเหล่านั้น

     เมื่อครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีพระโพธิสัตว์ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยก็ไปศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงแห่งกรุงพาราณสีและได้เป็นหัวหน้าของมานพ500คนซึ่งเล่าเรียนอยู่ในสำนักเดียวกัน ท่านอาจารย์มีธิดาผู้กำลังเจริญวัยซึ่งท่านคิดจะยกให้กับมานพผู้สมบูรณ์ด้วยศีลท่านจึงคิดจะทดสอบการรักษาศีลของมานพเหล่านั้นดูอาจารย์จึงเรียกมานพทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า “ธิดาของเราเจริญวัยแล้วเราจะจัดงานวิวาห์ให้แก่นางจึงจำเป็นต้องใช้ผ้า และเครื่องประดับต่างๆ พวกเธอจงไปขโมยผ้าและเครื่องประดับจากหมู่ญาติของเธอมาโดยอย่าให้ใครเห็นเราจะรับเฉพาะผ้าและเครื่องประดับที่ขโมยมาโดยไม่มีใครเห็นเท่านั้นของที่มีคนเห็นเราจะไม่รับŽ”มานพทั้งหลายรับคำแล้วก็ไปขโมยของจากหมู่ญาติของตนโดยไม่ให้ใครเห็นจากนั้นก็นำมามอบให้กับอาจารย์คงมีเพียงพระโพธิสัตว์เท่านั้นที่ไม่นำสิ่งใดมาเลย อาจารย์จึงถามพระโพธิสัตว์ว่า

“ เธอไม่นำสิ่งใดมาเลยหรือŽ”

พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า

“ ครับ อาจารย์Ž”

     เมื่ออาจารย์ถามถึงเหตุผล พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า “ เพราะว่าอาจารย์จะรับเฉพาะของที่เอามาโดยไม่มีใครเห็นผมคิดว่าไม่มีการทำบาปใดๆ จะเป็นความลับไปได้เลยŽ” แล้วพระโพธิสัตว์จึงกล่าวพระคาถาว่า

     “ ในโลกนี้ย่อมไม่มีที่ลับแก่ผู้กระทำบาปกรรมต้นไม้ที่เกิดในป่ายังมีคนเห็นคนพาลย่อมสำคัญผิดคิดว่าบาปกรรมนั้นเป็นความลับ ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นที่ลับ แม้ที่ว่างเปล่าก็ไม่มีในที่ใดว่างเปล่าถึงแม้ข้าพเจ้าจะไม่เห็นใครที่นั้นย่อมไม่ว่างเปล่าจากตัวข้าพเจ้าŽ”เมื่ออาจารย์ได้ฟังดังนั้นก็เกิดความรู้สึกเลื่อมใสในตัวพระโพธิสัตว์ยิ่งนักจึงกล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า

     “ ดูก่อนพ่อในเรือนของเราไม่มีทรัพย์สินอะไรแต่เรามีความประสงค์จะมอบธิดาของเราให้แก่ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีลเราต้องการทดสอบมานพทั้งหลายจึงได้ทำอย่างนี้และธิดาของเราเหมาะสมกับท่านเท่านั้นŽ”แล้วจึงประดับตกแต่งธิดามอบให้แก่พระโพธิสัตว์พร้อมทั้งกล่าวกับมานพทั้งหลายว่า“สิ่งของที่พวกเธอได้นำมาจงนำกลับไปคืนยังเรือนของพวกเธอเถิดŽ”ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนานี้จบลงภิกษุเหล่านั้นจึงเกิดความละอายและเกรงกลัวบาปอกุศลต่างรักษาสติอยู่ในธรรมจนกระทั่งจิตเป็นสมาธิเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่าจิตของภิกษุเหล่านั้นเป็นสมาธิดีแล้วจึงทรงประกาศอริยสัจในเวลาจบอริยสัจนั้นเองภิกษุทั้ง500รูปได้ตั้งอยู่ในพระอรหัตพระโพธิสัตว์สามารถรักษาศีลได้อย่างหมดจดงดงามทั้งที่ท่านเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญเป็นมานพผู้อ่อนเยาว์อยู่ในวัยเล่าเรียนทั้งยังต้องตกอยู่ในภาวะบีบคั้นอันเนื่องมาจากคำสั่งของผู้เป็นอาจารย์แต่ท่านกลับเลือกที่จะทำในสิ่งที่สวนทางกับสังคมคนรอบข้างอย่างไม่หวั่นไหวทั้งนี้เพราะท่านมี หิริ โอตตัปปะ อยู่ในใจจึงไม่ยอมให้สิ่งใดมาเป็นข้ออ้างหรือเงื่อนไขให้กระทำผิดศีลได้เลย

     ผู้รักษาศีลด้วย หิริ โอตตัปปะ จึงรักษาได้อย่างมั่นคงและรักษาด้วยความจริงใจโดยไม่ต้องให้ใครมาดูแลกำกับตรงข้ามกับผู้ที่ปราศจากหิริ โอตตัปปะ นอกจากจะเป็นผู้ไม่ขวนขวายในการสมาทานศีลแล้วยังเป็นผู้ที่ล่วงละเมิดศีลได้ง่ายไม่ว่าเวลาใด หรือในที่แห่งใดไม่ล่วงในที่แจ้งก็ล่วงในที่ลับเพราะไม่มี หิริ โอตตัปปะ คอยดูแลกำกับนั่นเองดังคำกล่าวที่ว่า

เมื่อมีหิริ และโอตตัปปะอยู่ ศีลก็เกิดขึ้น และตั้งอยู่ได้

เมื่อไม่มีหิริ และโอตตัปปะ ศีลก็ไม่เกิดขึ้น และตั้งอยู่ไม่ได้Ž

 

    หิริ โอตตัปปะ จึงเป็นธรรมะที่สร้างสรรค์สังคมให้ร่มเย็นเป็นสุขให้ทุกชีวิตปลอดภัยได้พบแต่สิ่งที่ดีงามมีความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปทั้งในชาติปัจจุบัน และสัมปรายภพ
 

     การเกิดหิริ แม้ว่า หิริ โอตตัปปะ จะเป็นธรรมะที่สูงส่งถึงเพียงนี้ แต่กลับเป็นธรรมะที่สร้างสมขึ้นได้ด้วยวิธีง่ายๆ กล่าวคือ หิริ ความละอายต่อบาป เกิดขึ้นด้วยการพิจารณาถึงฐานะของตนเอง 4 ประการ คือ

1.พิจารณาถึงชาติกำเนิดของตนเองว่าตัวเราเกิดในตระกูลที่ประกอบอาชีพสุจริตเราจึงไม่ควรผิดศีลเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล

2.พิจารณาถึงอายุของตนเองว่าคนมีอายุเช่นเราได้รับการสั่งสอนอบรมมาแล้วทั้งยังได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตว่า อะไรดี อะไรชั่ว ถ้าเรายังผิดศีลก็เสียทีที่มีอายุมากเสียเปล่าแต่ไม่มีสติปัญญาตักเตือนตนเองเสียเลย

3.พิจารณาถึงความกล้าหาญของตนเองว่าตัวเราต้องมีความกล้าหาญตั้งใจมั่นอยู่ในคุณความดีบำเพ็ญประโยชน์เพื่อตนเองและผู้อื่นต่างจากผู้ที่ทำผิดศีลเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนเพราะมีจิตใจอ่อนแอตกอยู่ในอำนาจของกิเลส

4.พิจารณาถึงความเป็นพหูสูตของตนเองว่าตัวเรานั้นเป็นผู้ศึกษาธรรมะมามากมีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เราจึงควรเป็นผู้มีศีลมีการกระทำอันงามต่างจากคนพาลซึ่งทำบาปอกุศลเพราะไม่มีหลักธรรมใดๆเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

     การเกิดโอตตัปปะ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปเกิดขึ้นได้เพราะกลัวว่าตนเองจะเดือดร้อนในภายหลังจากภัย 4 ประการ คือ

1.ภัยเพราะติเตียนตนเองเมื่อทำผิดศีลเราย่อมรู้สึกเดือดร้อนกระวนกระวายใจในภายหลังเพราะนึกติเตียนตนเองที่ทำในสิ่งไม่สมควร

2.ภัยจากการที่ผู้อื่นติเตียนเมื่อบัณฑิตได้รู้ถึงการกระทำที่ผิดศีลของเราเขาย่อมติเตียนว่าเราเป็นคนพาลเป็นผู้กระทำบาปกรรมเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน

3.ภัยจากอาชญาเมื่อเราผิดศีลจนเป็นผลให้ผู้อื่นเดือดร้อนย่อมต้องถูกลงโทษจากกฎหมายบ้านเมืองได้รับความเดือดร้อนตอบแทนกลับมา

4. ภัยในทุคติการผิดศีล ย่อมจะนำเราไปสู่อบายภูมิ มีนรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ทำให้ต้องประสบทุกข์ภัยเป็นอันมากในภพชาติเบื้องหน้าเมื่อละจากโลกไปแล้ว

     ด้วยวิธีการหมั่นฝึกคิดพิจารณาเช่นนี้ในที่สุด หิริ โอตตัปปะ จะเกิดขึ้นในใจของเราอย่างแน่นอนและเมื่อนั้นการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ย่อมไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0041751702626546 Mins