ดุสิตาเทวภูมิ
สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นที่ 4 จัดอยู่ในกามภพ เป็นปรโลกฝ่ายสุคติภูมิ เป็นสวรรค์ที่มีอายุทิพย์ วรรณทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ ละเอียดและประณีตกว่าสวรรค์ทั้ง 3 ชั้นที่ผ่าน และมีความพิเศษกว่าสวรรค์ทุกชั้น เนื่องจากเป็นที่ประทับของเหล่าพระบรมโพธิสัตว์ทั้งนิยตะ และอนิยตะ ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตเป็นจำนวนมากตลอดจนผู้ที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสาวก ก็ย่อมบังเกิดในชั้นดุสิตนี้ก่อนทั้งสิ้น เป็นสวรรค์ที่น่าศึกษาอีกชั้นหนึ่ง รายละเอียดของสวรรค์ชั้นนี้มีกล่าวไว้มากในพระไตรปิฎก
คำแปลและความหมาย
ในลำดับแรกเรามาทำความเข้าใจความหมายโดยรวมของคำว่า ดุสิตาเทวภูมิ คำว่า ดุสิตาแปลว่า ทำให้ปราศจากความร้อนใจ มีแต่ความยินดีและเบิกบานแก่ผู้อยู่อาศัย ดังนั้นคำว่า ดุสิตาเทวภูมิ หมายถึง สถานที่อันเป็นที่อยู่ของเทวดาที่ปราศจากความร้อนใจ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานมาให้แก่ผู้อยู่อาศัย
ที่ตั้งและลักษณะของสวรรค์ ชั้นดุสิต
สวรรค์ชั้นดุสิตนี้ มีความกว้างใหญ่ไพศาลมาก มีท้าวสันตดุสิต ซึ่งบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว เป็นผู้ปกครองภพและมีเหล่าพระบรมโพธิสัตว์จำนวนมาก อยู่ในภูมินี้ด้วย ที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดุสิตอยู่สูงขึ้นไปจากยอดเขาสิเนรุ อยู่ในอากาศเหนือสวรรค์ชั้นยามา 42,000 โยชน์ บนสวรรค์ชั้นนี้จะไม่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ทำให้ไม่มีเงา ไม่มีมุมมืดบนสวรรค์ อยู่ได้ด้วยความสว่างจากวัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น กายของเหล่าเทวดาก็สว่าง วิมาน สวน สระ สิ่งแวดล้อมต่างๆ มีแต่ความสว่าง จึงไม่ต้องอาศัยดวงอาทิตย์
ลักษณะของสวรรค์ชั้นดุสิตจะไม่ได้กลมอย่างโลกมนุษย์ จะกลมแบบราบ ถ้ามองจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไป จะมองเห็นเป็นแสงสว่างนุ่มเนียนตา ถ้าก้มมองไปข้างล่างจะเห็นสวรรค์ ชั้นยามา ถ้ามองจากสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไปก็จะ เห็นแสงสว่างนุ่มเนียนตาของสวรรค์ชั้นนิมมานรดี หรือถ้ามองลงไปที่ดาวดึงส์ก็จะเห็นว่ามีขนาดเล็กนิดเดียว เพราะสวรรค์ชั้นดุสิตใหญ่กว่า
ลำดับต่อไปเรามาศึกษาโครงสร้างของสวรรค์ชั้นดุสิต โดยมีวิมานของท้าวสันตดุสิตเป็นศูนย์กลางของสวรรค์ แล้วก็แบ่งออกเป็น 4 เขต วนโดยรอบวิมานของท้าวสันตดุสิต ดังนี้
เขตที่ 1 เป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า พระโสดาบัน พระสกิทาคามี
เขตที่ 2 เป็นที่อยู่ของนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว และจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
เขตที่ 3 เป็นที่อยู่ของอนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับพยากรณ์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังต้องสร้างบารมีอีกมาก
เขตที่ 4 เป็นที่อยู่ของผู้ที่ทำกุศลมากทั่วไปที่มีกำลังบุญที่จะได้อยู่สวรรค์ชั้นดุสิตนี้
ในเขตทั้ง 4 ที่กล่าวมา จะมีชุมชนเทวดา มีวิมานอยู่กันเป็นกลุ่มตามกำลังบุญ
ก. ลักษณะวิมานของชาวสวรรค์ชั้นดุสิต
ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ คือ บ้าน ใช้เป็นที่กันร้อน กันฝน กันแดด กันลม ส่วนที่อยู่ของเทวดา คือ วิมาน วิมานของเทวดาแต่ละองค์จะมีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ตามกำลังบุญที่สั่งสมในอดีต ใน พระไตรปิฎกกล่าวว่า วิมานมีขนาดสูง 30 โยชน์ บ้าง วิมานสูง 120 โยชน์บ้าง เป็นต้น
ลักษณะวิมานของชาวสวรรค์ชั้นนี้มีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ วิมานแก้ว วิมานทอง วิมานเงิน ซึ่งจะตั้งเรียงรายล้อมรอบผู้ปกครองภพอย่างเป็นระเบียบสวยงาม คล้ายกับเป็นวงคลื่นที่ขยายออกไป วิมานที่ใกล้กับวิมานของท้าวสันตดุสิต จะมีรัศมีสว่างไสว รุ่งเรืองมาก แล้วจะค่อยๆ ลดหลั่นกันตามกำลังบุญ แต่ละวิมานจะมีความวิจิตรอลังการไม่ซ้ำกัน เพราะการทำบุญที่แตกต่างกัน
วิมานนี้จะลอยอยู่กลางอากาศ เป็นกลุ่มตามกำลังบุญที่สั่งสมมาร่วมกัน มีกลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้าง ดูเหมือนว่าจะมีพื้นที่ติดกัน แต่ความจริงไม่ติดกัน มีช่องว่างระหว่างวิมาน บนสวรรค์ไม่มีภูเขา ไม่มีท้องทะเล ไม่มีมหาสมุทร เป็นของกลาง แต่ว่ามีอยู่ที่วิมานเป็นของส่วนตัว ต้นไม้ก็จะเป็นต้นไม้ที่สวยงาม ไม่แข็งกระด้างเหมือนเมืองมนุษย์ ภูเขาก็เป็นภูเขาทอง ภูเขารัตนชาติ และพื้นบนวิมานก็จะเป็นพื้นทองคำ เดินแล้วนุ่มเนียนเท้าไม่ลื่น
วิมานของชาวสวรรค์จะเหมือนเป็นเมืองหนึ่ง ซึ่งเจ้าของวิมานจะเหมือนพระราชา พระราชินี เป็นผู้มีอธิปไตย คือความเป็นใหญ่ในการปกครองวิมานของตน และจะมีบริวารคอยดูแลรับใช้ ทำหน้าที่ต่างๆ มากมาย ถ้ามีบุญมากก็จะมีบริวารมาก เป็นแสน เป็นล้าน เป็นโกฏิ บริวารก็จะเกิดตามกำลังบุญของเจ้าของวิมาน วิมานจะเป็นเครื่องประดับบารมี ประดับอิสริยยศ และใช้เป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ
การสัญจรของเหล่าเทวดา จะไปได้หลายวิธี ไปด้วยเทวรถบ้าง หรือไปด้วยสัตว์อันเป็นทิพย์ ไปตามลำพังบ้าง ไปพร้อมบริวารบ้าง เมื่อเทวรถของผู้มีศักดิ์ใหญ่ผ่านมา เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยก็จะหลบให้กับเทวรถของผู้มีศักดิ์ใหญ่ผ่านไปก่อน แล้วก็มีมารยาทในการสัญจร จะแล่นเทวรถ ไปตามรอยต่อของวิมาน ไม่เหาะข้ามวิมานผู้อื่น เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
กิจกรรมของชาวสวรรค์ชั้นนี้ นอกจากจะมีการเที่ยวเล่นเพลิดเพลินอย่างชาวสวรรค์ทั่วไปแล้ว ยังมีความโดดเด่นอีกประการหนึ่ง คือ มีการสนทนาธรรม ฟังธรรมกันเป็นปกติ เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตในสวรรค์ เพราะล้วนเป็นเหล่าบัณฑิตที่จะลงมาสร้างบารมีในโลกมนุษย์ เพื่อที่จะหลุดพ้นจากกิเลสโดยส่วนมาก
ข. โครงสร้างของวิมาน
วิมานจะบังเกิดขึ้น เพื่อรอรับเจ้าของวิมาน คือ เทพบุตร เทพธิดาที่จะมาอุบัติ โครงสร้างของวิมานจะเกิดจากการประกอบกุศล ทาน ศีล ภาวนา เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ บุญนี้จะไปเป็นส่วนประกอบวิมาน ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วนหลัก คือ
ส่วนที่ 1 โครงสร้างชั้นล่าง ที่ประกอบขึ้นจากทานบารมีที่สั่งสมไว้ของเจ้าของวิมาน ไม่ได้มีชั้นเดียว แต่ว่ามีหลายชั้น ซ้อนๆ กันสูงขึ้นไป รอยต่อระหว่างชั้น จะกว้างมาก มีลักษณะเป็นทางสี่เหลี่ยม ถ้าสร้างทานมาก เช่น สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ ส่วนที่ 1 นี้ก็จะกว้างขวางใหญ่โต
ส่วนที่ 2 เป็นโครงสร้างส่วนกลาง ที่ประกอบขึ้นจากศีลบารมีของเจ้าของวิมาน จะมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่าง มีลักษณะทรงกลม มีหลายชั้น สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ส่วนที่ 3 เป็นโครงสร้างส่วนบนสุด ที่ประกอบขึ้นด้วยบุญจากการทำภาวนาของเจ้าของวิมาน มีลักษณะเป็นทรงกลม มีหลายชั้น สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ในระหว่างชั้นก็จะมีกำแพงกันอีก ถ้าทำทานมากส่วนฐานล่างก็จะใหญ่โต ถ้ารักษาศีลมากส่วนกลางก็จะใหญ่โต ถ้าทำภาวนามากส่วนบนก็จะใหญ่โต แล้วแต่การกระทำทาน ศีล ภาวนา ของเจ้าของวิมาน เมื่อครั้งเป็นมนุษย์
------------------------------------------------------------------
จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา
เทวภูมิ