ความหมายของอรูปกัมมัฏฐาน
อรูป แปลว่า ไม่มีรูป หมายถึงภาวะที่ปราศจากรูป
อรูปกัมมัฏฐาน หมายถึง การเอาอารมณ์ที่ไม่ใช่รูปฌานเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ ที่เจาะจงเอาอารมณ์ที่ไม่ใช่รูปฌาน เพราะเห็นว่าฌานที่ต้องอาศัยรูปเป็นอารมณ์นั้นหยาบกว่า ฌานที่ไม่ใช้รูปเป็นอารมณ์ สมาธิที่เกิดจากรูปก็ต้องหยาบกว่าสมาธิที่เกิดจากสิ่งที่ไม่ใช่รูป ดังนั้น สมาธิที่เกิดจากอรูปฌานต้องมีกำลังมั่นคงและประณีตมาก เพราะปรารถนาจะได้ฌานที่ประณีตยิ่งและมีกำลังมั่นคง จึงเจริญอรูปกัมมัฏฐาน
ผู้ที่จะเจริญอรูปกัมมัฏฐาน จะต้องเป็นรูปาวจรปัญจมฌานลาภีบุคคล คือ บุคคลที่ได้ฌาน55) มาแล้ว และมีวสีภาวะ คือ ความคล่องชำนาญสามารถในฌานทั้ง 5 นั้น โดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีด้วย จึงจะเจริญอรูปกัมมัฏฐานได้
วสีภาวะ หรือความชำนาญในฌาน มี 5 ประการ คือ
1.อาวัชชนวสี ชำนาญในการระลึก
2.สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้าฌาน
3.อธิษฐานวสี ชำนาญในการกำหนดเวลาเข้า
4.วุฏฐานวสี ชำนาญในการกำหนดเวลาออก
5.ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน
อรูปกัมมัฏฐานที่บุคคลเจริญนั้น มี 4 ประการ ได้แก่
1.อากาสบัญญัต เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง อากาสานัญจายตนฌาน
2.อากาสานัญจายตนฌาน เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง วิญญาณัญจายตนฌาน
3.นัตถิภาวบัญญัติ เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง อากิญจัญญายตนฌาน
4.อากิญจัญญายตนฌาน เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
----------------------------------------------------------------------------
5) ฌาน 4 มาตามนัยอภิธรรม แตกต่างจากฌาน 4 ตามนัยพระสูตร คือ ท่านแยกทุติยฌาน ในนัยพระสูตรออก เป็น ทุติยฌาน ที่มีองค์ฌาม คือ วิจาร, ปีติ, สุข, เอกัคคตา และตติยฌาน มีองค์ฌาน คือ ปีติ, สุข, เอกัคคตา.
MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี