อากาสานัญจายตนฌาน

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2558

 

อากาสานัญจายตนฌาน

            ผู้ต้องการถึงอากาสานัญจายตนฌานต้องกระทำอากาสบัญญัติที่ได้มาจากการเพิกกสิณทั้ง 9 (เว้นอากาสกสิณ) ให้เป็นอารมณ์อากาสบัญญัติที่ได้มาจากการเพิกกสิณแล้วนั้นมีชื่อว่า กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ ซึ่งบางทีก็เรียกกันสั้นๆ ว่า อากาสบัญญัติ เท่านั้นก็ได้ ให้นึกหน่วงเอาอากาสบัญญัติเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมในใจว่า อากาโส อนนฺโต อากาโส อนนฺโต อากาศไม่มีที่สิ้นสุดๆ

             คำว่า อากาศไม่มีที่สิ้นสุดนี้ มีความหมายว่า ธรรมดาอากาศนั้นเป็นบัญญัติ หาใช่ ปรมัตถ์ไม่ ฉะนั้นจึงไม่มีเบื้องต้น คือ การอุบัติขึ้น และไม่มีเบื้องปลาย คือ การดับไป นี้แหละ ที่เรียกว่า อนนฺโต ส่วนบริกรรมนั้นจะใช้แต่เพียง อากาโส อากาโส หรือ อากาสํ อากาสํ เท่านี้ก็ได้

ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ตอนนิพพานปัญหา6) ได้แสดงคุณของอากาศไว้ 10 ประการ

1.น ชียติ ไม่แก่

2.น มียติ ไม่ตาย

3.น จวติ ไม่จุติ

4.น อุปฺปชฺชติ ไม่เกิด

5.อปฺปสยฺหํ ไม่มีใครข่มเหง

6.อโจรคหณียํ ไม่มีโจรลัก

7.อนิสฺสิตํ ไม่มีที่พึ่งอาศัย

8.วิหงฺคคมนํ เป็นทางไปของเหล่าวิหค (สัตว์ที่ไปในอากาศเวหา)

9.นิราวรณํ ไม่มีอะไรกั้น

10.อนนฺตํ ไม่มีแดนที่สุด

 

            เมื่อบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่พะวงถึงนิมิตของกสิณที่จะเพิก แต่มาใฝ่ใจในความว่างเปล่าของอากาสบัญญัติ การใฝ่ใจย่อมทวีกำลังมากขึ้น สติก็จะตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ ครั้นสติตั้งมั่นแน่แน่วจนสามารถเพิกปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณ ซึ่งเป็นนิมิตกัมมัฏฐาน ที่ติดแนบแน่นใจอยู่นั้นเสียได้โดยเด็ดขาดในเวลาใด อากาสบัญญัติก็ปรากฏขึ้นในเวลานั้น อากาสานัญจายตนฌานก็เกิดขึ้นพร้อมกันในทันทีนั้นด้วย เป็นอันว่าโยคีผู้นั้นถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ สำเร็จเป็นอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล

              “อากาสานัญจายตนฌาน” นี้ มีชื่อเรียกได้เป็น 3 อย่าง คือ อรูปฌาน 1 อากาสา-นัญจายตนฌาน 1 และปฐมารุปปฌาน 1 ที่เรียกว่า อรูปฌาน เพราะว่าปัญจมฌานลาภีบุคคลนี้มิได้สนใจเพ่งปฏิภาคนิมิตที่เป็นรูปเป็นอารมณ์แต่ประการใดเลย เมื่อฌานจิตเกิดขึ้น ฌานจิตนี้ก็ปราศจากรูปเป็นอารมณ์ ดังนั้นจึงเรียกว่า อรูปฌาน ที่เรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน เพราะว่าฌานจิตนี้มีความมั่นคง ตั้งอยู่โดยไม่หวั่นไหว เกิดขึ้นโดยอาศัยอากาสบัญญัติ ซึ่งไม่ปรากฏเบื้องต้น คือ ความเกิด เบื้องปลาย คือ ความดับ ดังนั้นจึงเรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน ที่เรียกว่า ปฐมารุปปฌาน เพราะว่าภายหลังที่ได้เว้นจากบัญญัติกัมมัฏฐานที่ เกี่ยวกับรูปได้แล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ได้ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นรูปกัมมัฏฐานได้แล้ว และมาถึงฌานที่มีอารมณ์อันไม่ใช่รูปเป็นอันดับแรก เป็นอันดับที่ 1 จึงได้ชื่อว่า ปฐมารุปปฌาน

 

----------------------------------------------------------------------------

6) พระธรรมมหาวีรานุวัตร มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมอรรถกถา ฎีกา (กรุงเทพฯ : ลูก ส. ธรรมภักดี, 2528.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016316850980123 Mins