คนมีความรู้ ถูกหลอก
การมีความรู้สูงไม่ได้เป็นหลักประกันว่า คนเราจะไม่ถูกหลอกและการมีความรู้น้อย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ เพราะการตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อของคนเรา มาจาก 2 แนวทางอย่างแรกก็คือ ตัดสินด้วยหลักตรรกะ คือใช้เหตุผล อีกอย่างหนึ่งคือตัดสินจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่สามารถเห็นหรือสัมผัสได้
คนมีความรู้มีการศึกษาดี มักมีแนวโน้มที่จะตัดสินเรื่องราวต่างๆ โดยใช้หลักตรรกะในการไตร่ตรองมากกว่าคนที่มีความรู้น้อยแต่การใช้หลักเหตุผลนั้นจะต้องอาศัยข้อมูลที่มากพอ เพราะถ้าข้อมูลบกพร่องไม่รอบด้าน แม้จะไตร่ตรองอย่างดีเพียงใด ก็ยากที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงก็ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้
ผู้ที่ต้องการชี้นำสังคม จึงใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้ผู้คนคล้อยตามได้อย่างง่ายดาย เพียงอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการชี้นำให้เหตุผล แต่เป็นเหตุผลเพียงบางมุมบางด้าน เมื่อคนฟังคิดตามตรองตาม ก็จะถูกชักจูงไป ตามการชี้นำนั้น
ดังเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เมื่อโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมากมาย นายทุนต่างพากันร่ำรวยในขณะที่คนงานมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นเพราะถูกกดค่าแรง ในช่วงเวลานั้น คาร์ลมาร์กซ์ ได้คิดระบอบคอมมิวนิสต์ขึ้นมา โดยเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งชนชั้นกรรมาชีพต้องทนไม่ได้ ลุกฮือขึ้นปฏิวัติ ยึดโรงงานจากนายทุน มาแบ่งปันให้คนงานทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน มีกำไรเท่าไรก็แบ่งกัน ทุกคนมีรายได้เสมอภาคเท่ากัน เป็นสังคมในอุดมคติ ไม่มีนายทุนเข้ามากดขี่ขูดรีด
มีผู้คนมากมายเชื่อในหลักการนี้ตาม คาร์ลมาร์กซ์ โดยเฉพาะกลุ่ม “ ปัญญาชน ” จนสามารถปฏิวัติรัฐเซียให้กลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เป็นประเทศแรก จากนั้นก็แพร่ขยายไปยังจีน คิวบา เกาหลี เวียดนาม และประเทศต่างๆ มากมายถึงครึ่งค่อนโลก กว่าจะพิสูจน์พบความจริงว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ไม่สามารถนำความอยู่ดีกินดีมาสู่ผู้คนได้นั้น ใช้เวลาถึง 70 กว่าปี
ณ เวลานี้ คงไม่มีใครเชื่ออีกแล้วว่า การปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์จะสามารถเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้จริง แม้ยังมีบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์อยู่ เช่นจีน เวียดนาม ต่างก็หันมาพัฒนาเศรษฐกิจด้วยระบอบการตลาดทั้งสิ้น เพียงแต่ด้านการเมืองยังไม่เปิดกว้าง ยังให้พรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดในการปกครองประเทศเท่านั้น แต่การพัฒนาเศรษฐกิจต้องใช้การตลาดจึงจะก้าวหน้า
อะไรคือความบกพร่องของแนวคิดคอมมิวนิสต์ สิ่งสำคัญที่ถูกมองข้ามไปก็คือ เรื่องของแรงจูงใจ เมื่อทุกคนถูกกำหนดให้ได้รับสิ่งต่างๆเท่ากันหมด ย่อมขาดแรงจูงใจในการทำงาน ยากที่ใครจะนึกถึงการสร้างความสำเร็จในชีวิต เพราะไม่ว่าจะขยันหรือขี้เกียจ ก็ได้รับผลตอบแทนเท่าเดิม ผู้คนจึงเฉื่อยชา ขาดความพากเพียรพยายามผลผลิตของประเทศตกต่ำลง ส่งผลกระทบต่อทุกระบบ ดังที่เราได้เห็นแล้วถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ส่วนจีน คอมมิวนิสต์ เติ้งเสี่ยวผิง ได้เข้ามากอบกู้เศรษฐกิจโดยเริ่มจากแนวคิดที่ว่า แมวสีอะไรก็ได้ขอให้จับหนูได้ก็เป็นอัรว่าใช้ได้ เอาระบบเศรษฐกิจการตลาดเข้ามาใช้ โดยทั่วไประบบการตลาดนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องของทุนนิยม แต่เติ้งเสี่ยวผิงเห็นว่าคอมมิวนิสต์ก็มีสิทธิ์ใช้การตลาดได้ เช่นเดียวกันกับที่เศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางซึ่งประเทศคอมมิวนิสต์นิยมใช้กัน ประเทศทุนนิยมก็มีการนำไปใช้ในรูปของรัฐวิสาหกิจ
ระบบเศรษฐกิจการตลาดที่เติ้งเสี่ยวผิงนำมาใช้นั้น ได้เริ่มต้นด้วยการให้ครอบครัวเกษตรกรมีที่ดินส่วนตัวผืนเล็กๆ เพื่อทำการเพาะปลูก ผลผลิตที่ได้สามารถนำไปขายเป็นของส่วนตัวได้ ไม่ต้องกลายเป็นสมบัติส่วนกลางเหมือนระบบคอมมูน ปรากฏว่าผ่านไปเพียงไม่กี่ปี ที่ดินแปลงเล็กๆ ของแต่ละคนแต่ละครอบครัวกลับให้ผลผลิตมหาศาลจนแทบจะเลี้ยงคนทั้งประเทศได้ เพราะทุกคนทุ่มเททำงานเต็มที่ด้วยความรู้สึกว่าตนได้รับผลตอบแทนที่ยุติธรรม ขยันมากก็ได้มากนี่คือแรงจูงใจ
โดยผิวเผิน ระบอบคอมมิวนิสต์ให้ภาพที่ดีมาก ในด้านความเท่าเทียมกันของประชาชนคนส่วนใหญ่ แต่ผลกลับกลายเป็นว่าทำให้ประชาชนทุกคนจนเท่ากันหมด จริงอยู่ชนชั้นนายทุนหายไป แต่กลับเกิดอภิสิทธิ์ชนคือชนชั้นปกครองขึ้น ในขณะที่ประชาชนทั่วไปมีชีวิตที่ขาดแคลน ต้องคอยรอรับส่วนแบ่งเท่าที่ได้รับการจัดสรรให้ ชีวิตจึงขาดแรงจูงใจ ขาดพลังที่จะสร้างผลงาน เริ่มต้นนั้นกลุ่มคนที่หลงเชื่อระบอบคอมมิวนิสต์มากที่สุดคือ คนมีความรู้ เพราะหลักการของคอมมิวนิสต์นั้นดูดีมีเหตุผล หากแต่เป็นเหตุผลที่ไม่รอบด้าน การชักจูงกันโดยใช้เหตุผลลักษณะแบบนี้ได้แพร่ต่อๆไป จนนำไปสู่การปฏิวัติที่ส่งผลกระทบอย่างยาวนานต่อชีวิตคนนับพันล้านชีวิต
การโฆษณาชวนเชื่อจึงเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง หากถูกใช้เป็นเครื่องมือในการชี้นำสังคม ปลุกระดมประชาชนให้เห็นคล้อยตามเหตุผลต่างๆที่ยกมาชักจูง สิ่งเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวกในสังคม ความแตกแยกที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวฉุดรั้งประเทศให้ถอยหลังไม่ว่าประเทศนั้นจะมีศักยภาพมากเพียงใดก็ตาม
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ขอยกตัวอย่างประเทศจีนซึ่งมีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้ย่อมบ่งบอกประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาลจีน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจีนจะไม่มีข้อบกพร่องใดๆเลย ในการบริหารประเทศลองนึกภาพว่า ถ้ามีนักโฆษณาชวนเชื่อคอยชี้นำประชาชนให้เห็นแต่ข้อบกพร่องในการบริหารประเทศ โดยยกเหตุผลตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ในที่สุดประชาชนจีนย่อมจะสูญเสียความเชื่อมั่นเกิดความระส่ำระสายในสังคมเศรษฐกิจที่กำลังรุดหน้าย่อมตกต่ำได้ทันที
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีข้อบกพร่อง ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์พร้อม ดังนั้นในการที่เราจะตัดสินสิ่งใด เราต้องพิจารณาด้วยว่าประเด็นใดบ้างที่ควรใช้ในการตัดสิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องวางใจเป็นกลาง เพื่อมองให้เห็นภาพโดยรวม ไม่เพ่งเล็งแต่เพียงบางมุมบางด้าน มิเช่นนั้นเราก็อาจจะกลายเป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนมีความรู้ แต่กลับถูกหลอกโดยไม่รู้ตัว
ความรู้ความเข้าใจในการใช้หลักตรรกะ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของคนเรา นับตั้งแต่เรื่องในครอบครัว เราต้องไม่ลืมว่าทุกคนล้วนมีข้อบกพร่องทั้งสิ้น เมื่อมีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้น ขออย่าเพิ่งด่วนตัดสินใคร เพราะนั่นอาจเป็นการใช้เหตุผลที่ขาดการมองภาพรวม รอยตำหนิเพียงเล็กน้อย หากใช้แว่นขยายมาส่อง ย่อมมองเห็นแต่ความไม่งามในขณะที่ถ้าเราถอยออกมามองในมุมกว้าง มองคนรอบข้างด้วยความเข้าใจ เราก็จะสามารถประคับประคอง ให้ทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง มุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเราก็เช่นกัน เราต้องมีสติในการรับข้อมูล เพราะกระบวนการในการโฆษณาในโลกทุกวันนี้ มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง จนแทบจะกล่าวได้ว่าต้องการให้ผู้คนชอบสิ่งใด เห็นดีเห็นงามหรือเห็นความจำเป็นในสิ่งใดก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น ด้วยกระบวนการตอกย้ำชี้นำให้คนคิดตามนั่นเอง
ทำนองเดียวกัน ในเรื่องของการเมืองการปกครอง การที่เราจะใช้สิทธิ์สนับสนุนหรือคัดค้านใครนั้น ขอให้เราใช้หลักเหตุผลที่มาจากการมองภาพรวม มองทั้งส่วนของแนวคิด การบริหาร และผลงานที่เกิดขึ้นจริง มองให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย อีกทั้งสิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนไม่สำคัญ เหมือนการที่เรามองต้นไม้แบบมองให้เห็นทั้งต้น มิใช่มองแค่ดอกผล หรือกิ่งใดกิ่งหนึ่งของมัน เมื่อเราพิจารณาอย่างมีหลักการเช่นนี้ ผู้มีวาทศิลป์ดีแค่ไหน ก็มิอาจชักจูงหลอกลวงเราได้
แม้แต่ในเรื่องการเข้าวัดทำบุญ ก็ยังต้องอาศัยมุมมองที่ถูกต้องคนเข้าวัดก็คงเคยได้ยินคำพูดทำนองว่าวัดนั้นดี วัดนี้ไม่ดี วัดนั้นสอนดี วัดนี้สอนไม่ดี การพิจารณาเรื่องนี้ เราต้องรู้ก่อนว่าหน้าที่หลักของวัดคืออบรมสั่งสอนให้คนเป็นคนดี เพราะฉะนั้นจะดูว่าวัดดีหรือไม่ดีก็ให้ดูว่าวัดนั้นสามารถสอนผู้คนให้เป็นคนดีมีศีลธรรมหรือไม่ บอกว่าวัดดีแต่ไม่สามารถสอนคนให้เป็นคนดีได้ อย่างนี้ก็พิกลอยู่ หรือถ้าบอกว่าวัดนี้สอนไม่ดี แต่คนเข้าวัดนี้กลับเป็นคนดีมีศีลธรรมทั้งนั้น ก็ต้องเอะใจแล้วว่า คนที่พูดเช่นนั้นอาจเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อ ที่ใช้เหตุผลแค่บางส่วนมาชักจูงให้คนคล้อยตามไปในทางที่ไม่ถูก การตัดสินเรื่องนี้จึงต้องมองภารกิจหลักของบุคคลนั้น องค์กรนั้น ว่ามีหน้าที่อะไร แล้วเขาสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ มีข้อดีอย่างไรข้อเสียอย่างไร มีข้อบกพร่องอะไรบ้าง และมีผลต่อองค์รวมแค่ไหน หากใช้เหตุผลรอบด้านด้วยความรอบคอบ เราก็ไม่ถูกหลอกง่ายๆ
คราวนี้มาดูมุมมองของผู้ที่มีความรู้น้อยดูบ้าง แน่นอนว่าถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาการ คนมีความรู้น้อยย่อมทำความเข้าใจได้ยากกว่าคนที่มีความรู้มากเป็นธรรมดา แต่ในบางแง่มุม คนที่มีความรู้น้อยกลับถูกหลอกได้ยากกว่า ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะคนมีความรู้มากมักจะตัดสินสิ่งต่างๆ โดยใช้หลักตรรกะ คือเรื่องเหตุผล เมื่อมีโอกาสได้รับฟังข้อมูลที่ดูมีสาระจากคนที่เป็นนักโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการคัดสรรข้อมูลอยู่แล้ว ย่อมเกิดความสนใจใคร่รู้ เมื่อตรองตามไปเรื่อยๆ ความคิดก็จะเป็นไปในทิศทางของการโฆษณาชวนเชื่อนั้น
ขณะที่คนความรู้น้อย มักจะตัดสินเรื่องต่างๆ โดยสังเกตจากสิ่งที่ใกล้ตัวเขา มีผลต่อตัวเขา เป็นรูปธรรมจับต้องได้ โดยสรุปคือ ตัดสินด้วยความจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิต ไม่ใช่ด้วยตรรกะ ดังนั้นการโฆษณาชวนเชื่อจึงใช้ไม่ได้ผล ถ้าหากสิ่งที่เขาเห็นด้วยตาไม่ตรงกับโฆษณาเหล่านั้น ไม่ว่าเหตุผลข้อมูลที่นำมาอ้างอิงจะดูสมเหตุสมผลเพียงใด ก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อได้ ตรงกันข้าม หากต้องการความเชื่อถือจากกลุ่มผู้มีความรู้น้อย ต้องสร้างด้วยผลงานที่ปรากฏเป็นจริงให้เขาจับต้องได้ในชีวิตจริง เช่นมีข้าวในหม้อ มีเงินในกระเป๋า มีหยูกยายามป่วยไข้ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การใช้วิธีชี้นำด้วยข้อมูล ด้วยหลักตรรกะ จึงยากที่จะหลอกคนมีความรู้น้อยได้ เราคงเห็นแล้วว่าสังคมไทยได้เกิดเหตุการณ์ที่ความคิดของผู้คนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย เราจะมีหนทางกลับมาเชื่อมโยงกันได้อย่างไรคำตอบในเรื่องนี้มีเพียงอย่างเดียวคือ ทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งกลุ่มที่มีความรู้มากและกลุ่มที่มีความรู้น้อย คือเรียกว่า ทั้งปัญญาชน และ รากหญ้า จะต้องมาพบกัน ณ จุดสมานฉันท์ คือ จุดแห่งความเป็นจริง โดยเราจะต้องก้าวข้ามพ้นการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อจะได้มองเห็นความจริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการมองภาพรวม เริ่มต้นจากการศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธองค์ทรงสอนให้เห็นภาพรวมเสมอ ธรรมะแต่ละเรื่อง ล้วนให้ภาพรวมที่ครบถ้วน บริบูรณ์ การหมั่นศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและปฏิบัติสมาธิอย่างสม่ำเสมอคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ชีวิตเราไม่ถูกหลอกลวงอีกต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 3 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ