ผู้นำการเปลี่ยนแปลง

วันที่ 04 กย. พ.ศ.2558

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง


โลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การใช้หลักธรรมดำเนินชีวิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีบทบาทของการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง หรือ เป็นผู้รับการเปลี่ยนแปลงก็ตาม
แนวคิดและวิธีการของผู้นำการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับองค์กรหมู่คณะ ไปจนถึงระดับประเทศและระดับโลก


ดังนั้นเมื่อเราต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง จึงมีข้อที่ควรคำนึงถึง 4 ประการคือ


1.    การมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องแม่นยำเท่านั้น จึงจะนำพาผู้คนไปสู่ความสุขและความสำเร็จได้ ตรงกันข้ามหากวิสัยทัศน์ของผู้นำไม่ชัดเจน ย่อมสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงเราคงจำได้ว่าครั้งหนึ่งสหภาพโซเวียตคือ หนึ่งในอภิมหาอำนาจของโลก แต่ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อผู้นำในขณะนั้นคือ ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ดำเนินนโยบาย เปเรสตรอยกา และกลาสนอสต์ เพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและการเมืองของสหภาพโซเวียต
ครั้งนั้นมีผู้ถามปราะธานาธิบดีกอร์บาชอฟว่า “ สิ่งที่ท่านกำลังเปลี่ยนแปลงนี้จะนำพาประเทศไปทางไหน ” ก็ได้รับคำตอบทำนองว่า ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่อาจรู้ได้ชัดเจน แต่สิ่งที่สำคัญคือถึงเวลาแล้วที่สหภาพโซเวียตต้องเปลี่ยนแปลง โดยต้องเปิดกว้างทั้งเศรษฐกิจและการเมืองไปพร้อมๆกัน แม้ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟจะได้รับเสียงตอบรับชื่นชมอย่างมากจากทั่วโลก แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไปเพียง 5 ปี สหภาพโซเวียตที่ยิ่งใหญ่กลับแตกสลายกลายเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย 15 ประเทศ เป็นการล่มสลายจากภายใน โดยที่ฝ่ายโลกทุนนิยมเสรีไม่ต้องออกแรงรบเลย ฉะนั้น วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนจึงสำคัญยิ่งสำหรับผู้นำการเปลี่ยนแปลง


2.    ทดลองดูก่อนจนมั่นใจ เพราะการเปลี่ยนแปลงใช่ว่าจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเสมอไป หากมีเรื่องไหนที่ยังไม่มั่นใจ 100 % ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องไม่ด่วนตัดสินใจ แต่ควรใช้วิธีทดลองดูก่อนให้มั่นใจ จึงก้าวเดินต่อไป นี้คือที่มาของคำว่า “ Pilot Project หรือโครงการนำร่อง ” คือทดลองดูในกลุ่มเล็กๆก่อน ว่าจะเกิดผลอย่างไร ดีจริงไหมมีส่วนใดที่ต้องปรับแก้ เมื่อวิเคราะห์ปรับปรุงทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว จึงค่อยขยายผลไปสู่วงกว้างต่อไป 
นอกจากนี้ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องคอยมองภาพรวมเพื่อดูแลให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ โดยเมื่อพิจารณารอบด้านแล้ว ต้องชั่งน้ำหนักได้ว่าศักยภาพและความน่าเชื่อถือของตนจะสามารถรับมือกับผลกระทบที่จะตามมาได้มากน้อยแค่ไหน เร็วช้าเพียงใด เพราะการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แม้เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเกิดขึ้นเร็วเกินไปหรือมากเกินไป ผู้ได้รับผลกระทบย่อมไม่สามารถปรับตัว หรือปรับความคิดได้ทันการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็อาจสร้างความเสียหายตามมา


            ดังตัวอย่างการเลิกทาส ในกรณีของสหรัฐอเมริกา เมื่ออับบราฮัม ลินคอร์น ประกาศเลิกทาสนั้น ประชาชนในมลรัฐฝ่ายใต้คือผู้เสียผลประโยชน์มหาศาลทันที เพราะมลรัฐทางใต้เป็นสังคมการเกษตรต้องอาศัยแรงงานทาสเป็นหลัก ในขณะที่มลรัฐทางฝ่ายเหนือซึ่งเป็นสังคมอุตสาหกรรม กลับต้องการผู้ใช้แรงงานที่มีอิสระเพื่อการจัดหาแรงงานมาป้อนโรงงานอุตสาหกรรมจะทำได้ง่ายขึ้น


            เมื่อผลประโยชน์ขัดกัน ฝ่ายใต้จึงประกาศแยกตัว อเมริกาจึงเกิดสงครามกลางเมืองสร้างความเสียหายและมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงครั้งนั้น จึงเป็นบาดแผลของอเมริกาจนถึงทุกวันนี้
            ในขณะที่การเลิกทาสของไทยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขั้นต้น ทรงเริ่มจากทาสในเรือนเบี้ย โดยทรงประกาศว่า ลูกทาสที่เกิดภายหลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์แล้วให้ถือว่าเป็นลูกของพระองค์ จึงทรงขอให้ลูกทาสเหล่านั้นเป็นไทแก่ตัว การที่พระองค์ทรงขอเฉพาะทาสในเรือนเบี้ยก่อนทำให้ผู้เสียผลประโยชน์ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากลูกทาสเหล่านั้น อายุยังน้อยยังใช้งานไม่ได้ จึงไม่ค่อยมีราคาค่างวดเท่าไร พระองค์ทรงกระทำทีละขั้นทีละตอนเช่นนี้โดยทรงใช้เวลากว่า 30 ปี จึงเลิกทาสได้ทั่วทั้งแผ่นดิน กระบวนการเลิกทาสของไทยจึงเกิดขึ้นโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ ไม่มีความขัดแย้งรุนแรง  เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน  การพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงความรอบคอบของผู้นำการเปลี่ยนแปลง
ประเทศจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงนานถึง 27 ปี เมื่อเหมาเจ๋อตุงละโลกไปเติ้งเสี่ยวผิงได้ขึ้นมามีอำนาจ และได้เสนอนโยบายนำเศรษฐกิจการตลาดเข้ามาสู่จีน เติ้งเสี่ยวผิงจึงต้องเผชิญกับแรงต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในพรรคคอมมิวนิสต์อย่างมาก เพราะถูกมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นแนวคิดแบบทุนนิยม ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ แม้จะเป็นผู้นำประเทศมีอำนาจสูงสุด แต่เติ้งเสี่ยวผิงใช้วิธีการดำเนินอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้นที่จุดเล็กๆก่อน โดยประกาศให้เสินเจิ้นซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะมีทำเลดีอยู่ฝั่งตรงข้ามฮ่องกง มีการให้สิทธิพิเศษกับคนที่มาลงทุน เช่น การยกเว้นภาษี การอำนวยความสะดวกต่างๆ 


            แม้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ จะไม่เห็นด้วยโดยหลักการแต่ก็มิได้ขัดขวาง เนื่องจากเสินเจิ้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ มีพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตร มีประชากรแค่ 3 หมื่นคนเท่านั้น แต่จากจุดเล็กๆนี้เอง เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี กลับมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว 
            เมื่อถึงเวลานี้เติ้งเสี่ยวผิงได้รับความเชื่อถือเพิ่มขึ้น เพราะแนวคิดที่นำเสนอไปนั้นกลายเป็นสิ่งที่ทำได้จริง ทั้งมีผลดีเป็นที่ประจักษ์จึงสามารถขยายเศรษฐกิจการตลาดไปยังจุดอื่นๆ ในระดับที่กว้างขึ้น การเปลี่ยนแปลงทีละเมือง ทีละมณฑล แรงต้านจากผู้ที่เคยไม่เห็นด้วยทั้งหลายก็ลดลง ในที่สุดก็สามารถนำระบบเศรษฐกิจการตลาดมาใช้ได้ทั้งประเทศ
ผลก็คือเศรษฐกิจของประเทศจีนเติบโตสูงถึง 10 % ต่อปีทั้งยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 มาถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกทำได้มาก่อนเราจะเห็นได้ว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีวิสัยทัศน์และวิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้องนั้น สามารถส่งผลดีพลิกวิถีชีวิตของคนนับพันล้านคนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้านำผิดทางก็ทำให้ชีวิตคนนับร้อยนับพันล้านคนเดือดร้อนได้เช่นกัน


            การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้ผลดีหลายประการเช่นทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ช่วยให้แก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันทั้งสามารถพิสูจน์ได้ว่า วิธีการที่เลือกใช้นั้นเหมาะสมหรือไม่ ผู้นำเองก็เกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันก็ได้รับความเชื่อถือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะได้เห็นผลงานเป็นลำดับมา นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็มีเวลาในการปรับตัว
วิธีการนี้ยังใช้ได้ผลดีสำหรับผู้ดำเนินธุรกิจผลิตสินค้าต่างๆเมื่อจะวางตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็ต้องมีการทดลองตลาดก่อน คือแทนที่จะนำสินค้าไปวางขายทั้งประเทศ ควรทดลองวางตลาดในพื้นที่เล็กๆก่อน เพื่อที่ว่า ถ้ามีอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจะแก้ไขได้ง่าย สำรวจตลาดดูว่ากระแสตอบรับเป็นอย่างไร มีข้อเสียตรงไหน มีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุง เมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว การขยายตลาดไปทั้งประเทศย่อมทำได้อย่างมั่นใจ


3.    ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ต้องสร้างเครดิตให้กับตนเองก่อนถ้าเครดิตในตัวเราดี จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ง่าย เพราะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเชื่อถือในตัวเรา แต่ถ้าเครดิตไม่ดี เรื่องง่ายก็กลายเป็นเรื่องยาก เรื่องยากก็จะยิ่งยาก การสร้างเครดิต สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเองนั้นสามารถทำได้ดังนี้


ก.    สั่งสมบารมี คือหมั่นสร้างผลงานที่ดี ออกมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเกิดความมั่นใจเชื่อมั่นในตัวเรา
ข.    ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ในการทำกิจการงานต่างๆ ต้องไม่มีผลประโยชน์ของตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่มีนอกไม่มีใน และต้องหวังผลเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

 

4.    มีความเที่ยงธรรม ในการนำการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องไม่ลืมว่า จะมีผู้ได้รับผลกระทบ มีผู้เสียผลประโยชน์ มีผู้ได้ประโยชน์ ต้องพิจารณาให้ดีว่าเราทำทุกอย่างด้วยความเที่ยงธรรมหรือยัง อีกทั้งพยายามหาวิธีลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด และสำหรับผู้ที่เสียประโยชน์นั้นก็ต้องพยายามสร้างความเข้าใจถึงเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม 
ขณะเดียวกันผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่ไม่ใช่ผลกระทบในด้านของผลประโยชน์โดยตรง แต่เป็นผลกระทบในแง่ความคิด ทิฐิหรือความคุ้นเคยเดิมๆ เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันสิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยค่อยๆปรับความคิด ปรับความเข้าใจกันไป เพราะการเปลี่ยนแปลงทางความคิดนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเช่นกัน ดังนั้นการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงต้องเป็นผู้รู้จักให้เกียรติผู้อื่น


สำหรับผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้รับการเปลี่ยนแปลง ก็มีข้อควรคิดเช่นกัน คือ เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ต้องใคร่ครวญดูว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ดีหรือไม่ดีอย่างไร จะปรับให้เหมาะสมอย่างไร และหากการเปลี่ยนแปลงนั้นๆเป็นสิ่งที่ดี เราก็ควรเข้าไปร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยในส่วนที่เราสามารถทำได้ อย่างนี้จะเป็นประโยชน์ที่สุด เราควรจะฝึกนิสัยให้รู้จักเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้ตัวเอง ทุกสิ่งรอบตัวเราล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งสิ่งแวดล้อมเทคโนโลยี กติกาสังคม กฏหมาย กฏระเบียบต่างๆ เราจะนำการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาสร้างประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็นำมาเปลี่ยนแปลงตัวเราเองให้ดีขึ้น คนที่ทำอย่างนี้ได้จะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ ดังตัวอย่าง


คนที่สร้าง YouTube เขามองเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบอินเตอร์เน็ตว่ามีการพัฒนาความเร็วในการส่งข้อมูลขึ้นอย่างมาก จนทำให้สามารถดูวีดีโอทางอินเตอร์เน็ตได้ เขาจึงไปรวบรวมวีดีโอที่ไม่มีสิทธิ์มาได้ 50 เรื่อง แล้วตั้งเว็ปไซต์ YouTube ขึ้นมาจากนั้นก็เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้ามาดูกัน นับว่าวิสัยทัศน์ของเขาดีมาก เพราะมีผู้ที่สนใจเข้ามาดูมากมายและผู้ดูเหล่านั้นยังพากันนำคลิป VDO ที่ตนถ่ายเอง มาแบ่งให้คนอื่นดูด้วย เพราะวิสัยคนเราก็อยากให้คนอื่นเขาเห็นผลงาน หรือสิ่งที่ตัวเองบันทึกไว้ เมื่อมีคนเข้ามาดูก็ปลื้มใจ ผ่านไปเพียงปีเศษ ผลในเว็ปไซด์ YouTube มีวีดีโออยู่ถึง 100 ล้านเรื่อง เจ้าของเว็ปไซด์ก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดระเบียบจัดหมวดหมู่ เพื่อคนที่เข้ามาดูจะได้ค้นหาได้ง่าย ต่อมา บริษัท Google จึงมาขอซื้อเว็ปไซด์ YouTube ไปในราคาหนึ่งพันหกร้อยล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ ห้าหมื่นล้านบาท
ลองไตร่ตรองดูว่าเราเป็นคนยึดติดกับสิ่งเก่าๆ หรือไม่ เพราะการเปิดตาเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พิจารณาว่าจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร และจะปรับตัวเราเองอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงจะก่อเกิดประโยชน์มากที่สุด

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 3  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027406748135885 Mins