แม้ทำดีแต่ก็ยังมีคนเกลียด

วันที่ 04 กย. พ.ศ.2558

 

แม้ทำดีแต่ก็ยังมีคนเกลียด


โดยปกติคนที่ตั้งใจทำดีย่อมคาดหวังว่าจะมีคนรักใคร่นับถือ แต่เหตุใดจึงมีบางคนทั้งที่ทำความดีกลับมีคนเกลียด เลยพาลท้อใจเลยมีคำพูดว่า ทำดีไม่ได้ดีบ้าง ทำคุณบูชาโทษบ้าง ทำบุญกับใครไม่ขึ้นบ้าง
อันที่จริงการทำดีแล้วยังมีคนเกลียดนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคนเรานั้นมีสิ่งต่างๆมากมายที่เราได้กระทำทั้งในอดีตและปัจจุบัน และสิ่งเหล่านั้นอาจไปเกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบกับคนอื่น ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบใจ ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ดังสุภาษิตว่า “ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ”


อย่างไรก็ตามหากเราปรารถนาจะเป็นที่รักใคร่นับถือของผู้อื่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ยึดหลักสังคหวัตถุ 4 คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และก็สมานัตตตา ในการปฏิบัติตน


1.    ทาน คือการให้ ความมีน้ำใจแบ่งปัน ช่วยเหลือกันย่อมก่อให้เกิดความรักความผูกพัน โดยเฉพาะผู้ที่หยิบยื่นความช่วยเหลือ หรือแบ่งปันวัตถุสิ่งของให้กับผู้อื่นในยามที่ผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากก็ย่อมจะเป็นที่รักนับถือ ระลึกในบุญคุณไปเนิ่นนาน ส่วนผู้ที่ทำทานมีน้ำใจต่อผู้อื่นแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่รักนั้นให้ลองพิจารณาดูว่าเราได้ปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุในข้อถัดไปครบถ้วนหรือไม่


2.    ปิยวาจา วาจาเป็นที่รัก ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคำพูดที่ไพเราะเพียงอย่างเดียว ความหมายที่แท้จริง คือการรู้จักใช้ถ้อยคำสื่อสารกับคนอื่น เพื่อให้เขาเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งเห็นประโยชน์และมีความรู้สึกที่ดี ในสิ่งที่เราต้องการบอกกล่าว หากขาดปิยวาจาเรื่องดีก็อาจเป็นเรื่องร้ายได้เพราะไม่เข้าใจ
ปิยวาจายังต้องประกอบด้วยการให้เกียรติ ตระหนักในคุณค่าความสำคัญของผู้อื่น บางคนช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเจตนาบริสุทธิ์แท้ๆ แต่เผลอใช้คำพูดที่ทำให้เขารู้สึกเสียหน้า แม้เพียงคำเดียวก็อาจสร้างความขุ่นเคืองใจ กลายเป็นความเกลียดชังก็มี เรื่องราวทำนองนี้มีให้เห็นมากมาย แม้แต่ในระดับประเทศ ตัวอย่างเช่นในยุคหนึ่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือหลายๆประเทศให้ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ด้วยบทบาทของความเป็นมหาอำนาจที่แข็งกร้าวผู้คนจำนวนไม่น้อยในโลกนี้ ก็มิได้มีความรู้สึกที่ดีต่ออเมริกา การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นจึงควรให้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและให้เกียรติทุกๆคนที่เกี่ยวข้องจึงจะได้มิตรภาพที่ซาบซึ้งใจนี่คือ ปิยวาจา การสื่อสารให้เข้าใจกันโดยให้เกียรติทุกคน


3.    อัตถจริยา ประพฤติตนเป็นประโยชน์ เราควรฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีความขวนขวาย ในการสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นไม่ได้ทำให้เราเป็นที่รักของทุกคนเสมอไป เพราะเรื่องบางเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ย่อมมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ก็ย่อมไม่ชอบใจหรือโกรธแค้น เป็นเรื่องยากมากที่จะมีสิ่งใดอำนวยประโยชน์ต่อทุกคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้เป็นเรื่องดีที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ก็ยังมีคนส่วนน้อยที่รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เกิดความโกรธผู้ทมี่กระทำเรื่องนั้นๆ ได้เช่นกัน
จึงเป็นข้อคิดว่า เมื่อเราจะทำเรื่องใดก็ตามอย่ามองแต่ข้อดีอย่างเดียว ให้มองสียด้วย มีหลักง่ายๆคือพิจารณาว่าเรื่องที่เราทำมีใครได้รับผลกระทบบ้าง เราต้องพยายามลดผลกระทบนั้นให้เหลือน้อยที่สุด อีกทั้งต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพื่อให้งานสำเร็จประโยชน์ โดยเกิดผลกระทบด้านลบน้อยที่สุด


4.    สมานัตตตา ขอให้เราเป็นผู้มีความสม่ำเสมอปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสมกับบทบาทฐานะหน้าที่ของตน เคยดีกับใครอย่างไรก็จงทำดีให้ตลอดฝั่งไม่ใช่วันนี้ใจดีพรุ่งนี้ใจร้าย วันนี้ช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม อีกวันเฉยเมยเอาแต่ความสบายของตน หากวันนี้ทำความดีแล้วยังไม่มีใครเห็นความดี หรือยังไม่มีใครเชื่อถือ นั้นอาจเป็นเพราะในอดีตอาจมีภาพลักษณ์ไม่ดี หรือขาดผลงานที่ต่อเนื่อง ก็ต้องตั้งใจทำความดีต่อไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ย่อท้อผู้คนจะค่อยๆเกิดความเชื่อมั่นในความดีของเรา ต้นทุนทางสังคมของเราจะค่อยๆเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะเป็นที่เชื่อถือ และเป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย
ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา หากเราปฏิบัติครบทั้ง 4 ประการนี้ ดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยสติ ทำความดีอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเวลาผ่านไปย่อมเกิดความเชื่อถือ รักใคร่เป็นฐานให้ก้าวย่างต่อไป ไม่ว่าจะทำความดีอะไรก็จะราบรื่น เกิดความสำเร็จโดยไม่เกิดกรณี ทำดีแต่ยังมีคนเกลียดอีกต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 3  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015367348988851 Mins