9 แนวคิดระหว่าง “คนมั่งมี” กับ “คนไม่มี”

วันที่ 19 กย. พ.ศ.2558

 

9 แนวคิดระหว่าง “คนมั่งมี” กับ “คนไม่มี”

 

9 แนวคิดที่แตกต่างระหว่าง “คนมั่งมี” กับ “คนไม่มี”
ทำไมถึง “จน” เพราะคุณยังมีความคิดแบบคนจนที่ยังไม่พัฒนา 
คนจน กับ คนรวย ว่าคิดต่างออกไปอย่างไร ?


          1. คิดลบทุกเรื่อง (Negative Thinking) ความคิดแง่ลบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะกำหนดการดำเนินชีวิตให้ตกต่ำลง เพียงแค่แวบแรกที่คุณคิดลบ มันจะปิดกั้นการกระทำที่จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของคุณในทันที เพราะคุณก็จะหาวิธีการทำแต่อะไรที่แย่ๆ ที่ไม่สร้างสรรค์   แตกต่างกับคนรวย ที่ความคิดส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะความคิดบวก (Positive Thinking) ยกตัวอย่างเช่น คำพูด “ไม่ได้ กับ ได้” คนที่คิดลบ ที่พูดว่า ไม่ได้ เหมือนเป็นการปิดกันทางความคิดและการกระทำของเราให้หยุดอยู่ตรงนั้น แต่ถ้าเราคิดว่า ได้ จะเป็นการเปิดรับความคิด การเรียนรู้ เพื่อที่จะพัฒนาตนเองไปอีกขั้นหนึ่ง ถึงแม้สิ่งที่เราทำจะไม่สำเร็จแต่อย่างน้อยเราได้ลองทำ ลองเรียนรู้ และสิ่งที่ได้กลับมาคือประสบการณ์นั่นเอง 


       2. ไม่คว้าโอกาส “คนรวยมองหา โอกาสคนจนมองหา อุปสรรค” คำพูดนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนได้ดีถึง การโฟกัสทางความคิดที่แตกต่างกันทำให้บางครั้งเราพลาดสิ่งดีๆที่เข้ามาในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย บางครั้งโอกาสที่ผ่านเข้ามาอาจจะไม่กลับมาให้อีกเป็นครั้งที่สอง เหตุผลที่เราไม่คว้าโอกาสนั้นไว้มีเพียงแค่เหตุผลเดียวคือ คือ “อุปสรรค” ที่ทำให้เรากลัวไม้กล้าที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ ถ้าเราเปลี่ยนความคิดให้เหมือนอย่างคนรวยที่มักจะไม่ปล่อยโอกาสที่เข้ามาถึงให้หลุดมือ ถึงแม้คนรวยเหล่านี้จะต้องเผชิญปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆมากมาย แต่พวกเขามองอุปสรรคต่างๆเป็นเรื่องเล็กแล้วส่วนใหญ่อุปสรรคเหล่านั้นก็สามารถผ่านพ้นไปได้ 


       3. มีรายได้เพียงช่องทางเดียว คนจนมักจะมีรายได้จากงานประจำเพียงช่องทางเดียว อาจจะไม่เพียงพอที่จะสามารถทำให้คุณมั่งคั่งร่ำรวยได้ แตกต่างกับคนรวย คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่แล้วรายได้ไม่ได้มาจากการทำงานเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง คนรวยส่วนใหญ่จะกระจายรายได้ในหลากหลายธุรกิจ ตัวอย่างเช่น คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี รายได้ไม่ได้มาจากธุรกิจน้ำเมาเพียงอย่างเดียว ยังมีรายได้มาจาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเครื่องดื่ม ของกินเล่น เป็นต้น ทำให้เวลาธุรกิจหนึ่งทรุดตัวลงก็ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งคอยประคองรายได้ไม่ให้หายไปจนขาดมือซึ่งถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน 


      4. คิดว่าตัวเองรู้หมดแล้ว คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะพยายามค้นคว้าหาความรู้เปิดรับสิ่งใหม่ตลอดเวลา ไม่ปิดกั้นโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่และยอมรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น การวางตัวในลักษณะนี้จึงทำให้เกิดการพัฒนาเปิดรับมุมมองใหม่ๆตลอดเวลา แตกต่างกับคนจน ที่มักคิดว่าตนเองเก่งแล้ว ฉลาดแล้ว อีโก้ไม่ยอมฟังผู้อื่น ความคิดลักษณะนี้จะเป็นการสั่งสมองไม่ให้รับฟังความคิดเห็น ไม่เรียนรู้เพิ่มเติม สุดท้ายจะทำให้เราไม่พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอดีตเป็นอย่างไรปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ 


         5. ไม่มีวินัย วินัยในที่นี้ หมายถึง วินัยในการทำงานและวินัยทางการเงินวินัยเป็นสิ่งที่สำคัญของคนที่ต้องการรวยหรือต้องการที่จะประสบความสำเร็จ เราจึงฝึกวินัยให้ติดตัวเราไปตลอด วินัยจะช่วยให้เรามีระเบียบในการดำเนินชีวิตไม่ออกนอกลู่นอกทางและเป็นการสร้างโอกาสที่จะประสบความสำเร็จให้มีมากยิ่งขึ้นด้วย การฝึกให้ตัวเองมีวินัยในช่วงแรกอาจจะเป็นอะไรที่อึดอัด แต่เมื่อทำไปทุกวันแล้วจะติดตัวเราไปเอง เราจะสังเกตได้ว่า คนจน ทำไมถึงไม่รวยซักที เพราะไม่มีวินัยทางการเงิน ไม่รู้จักเก็บออม ใช้จ่ายเกินตัว ใช้เงินผ่อนยืมเงินอนาคตมาใช้กับสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งไม่ก่อเกิดรายได้มาจุนเจือดอกเบี้ยที่ต้องเสียไปในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการขาดวินัยทั้งสิ้น ถ้าเป็นแบบนี้ทำอย่างไรก็ไม่รวยซักที ดังนั้นจึงต้องมองกลับมาทำไมคนรวยถึงรวยแล้วรวยขึ้นไปอีก เพราะคนเหล่านี้ มีแผนในการบริหารเงินที่ดี ทุกบาททุกสตางค์ที่เสียไปมีเหตุผลเสมอ และที่น่าสังเกตบุคคลเหล่านี้มักจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่อวดรวย ทำตัวเรียบเงียบในสังคม คำตอบก็คือคนเหล่านี้มี วินัยทางการเงิน วินัยด้านการทำงาน                     

          ตัวอย่างบุคคลที่เป็นแบบอย่าง เช่น คุณเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าพ่อกระทิงแดง มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ด และค้าขายผลไม้ ถึงแม้จะเป็นทำธุรกิจกระทิงแดง จนประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐี แต่คุณเฉลียวก็ยังคงทำตัวเรียบง่าย ขับรถเบนซ์เก่าๆไปทำงาน ตรวจโรงงาน คุมงาน อย่างพนักงานทั่วไป และไม่มีลักษณะการจับจ่ายใช้สอยฟุ้งเฟ้อแม้แต่น้อย 


          6. อิจฉาผู้ที่ได้ดีกว่าตนเอง ผู้ที่อิจฉาผู้อื่นที่ได้ดีกว่ามักจะพลาดโอกาสดีๆที่จะได้เรียนรู้จากผู้ประสบความสำเร็จ สุดท้ายคนจนก็จะคบค้าสมาคมกับคนระดับเดียวกัน จนเหมือนกัน เพราะเราอิจฉาคนที่รวยกว่าเรา จึงต้องอยู่แบบจนๆต่อไป แต่กลับกัน คนรวยมักจะค้าสามาคมกับรวย และมักจะแลกเปลี่ยนมุมมอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โลกจะดูกว้างขึ้นและมีโอกาสดีๆเข้ามาเสมอๆ 


          7. คิดได้แต่ไม่ลงมือทำ ความแตกต่างของคนเราอยู่ที่เราจะเริ่มลงมือทำเมื่อไร คนจนมักจะคิดเล็กคิดน้อย จะเริ่มก็ไม่เริ่มเพราะแต่คิดถึงอุปสรรค ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่เริ่มไม่ลงมือทำ แต่คนที่จะประสบความสำเร็จเหล่านี้ไม่ใช่ไม่คิดคนรวยก็ต้องเผชิญกับอุปสรรค เผชิญกับความเสี่ยงเช่นกัน แล้วอะไรคือทำให้คนรวยกล้าที่จะลงทุนกล้าที่จะลงมือทำ นั้นก็คือ “การลดความเสี่ยง” ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงค่อยเริ่มที่จะทำมันให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา 


         8. คิดเล็กไม่คิดใหญ่ คนจนมักจะคิดอะไรเล็กๆ แค่จะคิดให้ใหญ่ยังไม่กล้าคิด ขนาดของความสำเร็จถูกกำหนดจากขนาดของความเชื่อ ถ้าคิดอะไรเล็กๆก็จะได้แต่อะไรเล็กๆ เพราะสมองคุณถูกสั่งให้คิดที่จะได้เพียงแค่นั้น ถ้าคุณคิดใหญ่มันจะดึงดูดสิ่งเหล่านั้นเข้ามา จึงทำให้บุคคลผู้ที่จะประสบความสำเร็จ มักจะมีความเชื่อและมีความมั่นใจที่จะอะไรใหญ่ๆ และเชื่อว่าต้องประสบความสำเร็จและได้เตรียมแผนไว้สำหรับอนาคตว่าธุรกิจสามารถโตได้ขนาดไหนสามารถต่อยอดสิ่งที่กำลังทำได้มากน้อยเพียงใด 


          9. ทำงานเพื่อเงินไม่ได้ให้เงินทำงาน (วลีนี้ฮิตของผู้ที่ใฝ่หาความสำเร็จ) ข้อแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน คือ “การเก็บออมแล้วนำเงินนั้นไปสร้างรายได้” คนจนมักแต่คร่ำเคร่งที่จะทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำแต่สุดท้ายไม่มีเงินเก็บออมเพื่อสร้างรายได้กินดอกผลต่อไป (ทำงานเพื่อเงิน) แต่คนรวยคิดตรงกันข้ามกับคนจน เงินที่หามาได้ต้องรู้จักบริหารเก็บบางส่วนออมและส่วนที่เหลือเอาไว้สำหรับใช่จ่ายตามปกติ สิ่งที่ได้คือ เงินก้อนที่เติบโตจากการเก็บออมเอาไว้ลงทุนกินดอกผลต่อไป ไม่ว่าจะลงทุนใน สินทรัพย์มีค่า หุ้น ที่ดิน ทำธุรกิจ เป็นต้น (ให้เงินทำงาน) คนเริ่มออมก่อนมักจะได้เปรียบกว่าคนที่ออมช้าหลายเท่าจากประโยชน์ของอัตราดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งเป็นเคล็ดลับด้านการลงทุนอย่างหนึ่ง 

           ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือ Warrant Buffet นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก Buffet ซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี (เขารู้สึกเสียใจที่เริ่มต้นช้าไป) และปัจจุบันได้เป็นต้นแบบนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย ถึงแม้ Warrant Buffet จะร่ำรวยแล้วยังเป็นผู้ใจบุญบริจาคเงินให้กับมูลนิธิต่างๆ จำนวนกว่า 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 85 ของทรัพย์สินเพื่อการกุศล 

           TerraBKK ขอฝากทิ้งท้ายถึงผู้ที่อยากประสบความสำเร็จทุกท่านว่า จุดเริ่มต้นระหว่างความร่ำรวยและความยากจน มีจุดเล็กๆที่แตกต่างกันคือ ความคิด (Mind Set) จะเห็นว่า 9 ข้อคิดข้างต้นนั้นแตกต่างกันชัดเจน คนรวยกับคนจนมีความคิดที่ตรงกันข้ามกัน ถ้าสารตั้งต้น (ความคิด) ถูกต้อง ผลลัพธ์ (Result) ที่ได้ก็มีโอกาสถูกมากขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ท่านแล้วว่าอยากมีความคิดเหมือนกับคนประเภทไหนและจะแก้ไขความคิดหรือความเชื่อที่ไม่ดีนั้นเพื่อพัฒนาตนเองหรือไม่ – เทอร์ร่า บีเคเค

 

 

CR: อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com

 

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037522232532501 Mins