เรื่องที่ ๑๗ ช่วยชีวิตถึงต่างแดน
คุณนพภรณ์ วงษ์จริต เล่าไว้ว่า
เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๑ หลานสาวผู้หนึ่งของคุณนพภรณ์ ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลีกับพี่สาว ได้รับโทรศัพท์พูดกับเธอว่า พี่เขยกำลังป่วยหนักอยู่ห้อง ไอ.ซี.ยู. ในโรงพยาบาล จะต้องผ่าตัดหัวใจเวลาบ่าย ๓ โมงในวันนั้น ขอให้น้าสาวทั้งสองคนคือ คุณนพภรณ์และคุณนวลจันทร์ช่วยทำบุญปล่อยชีวิตปลา ๒๐๐ กิโลกรัมให้ด้วย คุณนพภรณ์จึงแนะนำให้หลานทำบุญสร้างองค์พระที่แกนกลางเจดีย์ บูชาคุณพระเดชพระคุณหลวงพ่อเพิ่มอีกรายการหนึ่ง เพราะเป็นบุญใหญ่ อาจช่วยคนเจ็บได้มาก ทั้งนี้เพราะแพทย์ผู้ผ่าตัดแจ้งต่อญาติผู้ป่วยว่าไม่รับรองความปลอดภัยของผู้ป่วย เกรงว่าอาจเกิดอาการช็อกขณะอยู่ระหว่างการผ่าตัด
หลานสาวผู้โทรศัพท์ตอบว่า เธอไม่สามารถตัดสินใจแทนพี่สาวได้ หลังจากเตรียมการเรื่องปล่อยปลาให้เรียบร้อยแล้ว หลานสาวคนพี่ ชื่อ จิรวรรณ ซึ่งเป็นภรรยาคนป่วยโทรศัพท์พูดกับคุณนพภรณ์ด้วยอาการ พูดไปร้องไห้ไป "น้าช่วยกั๊สด้วย น้าช่วยกั๊สด้วย" (กั๊ส เป็นชื่อของสามี ชื่อเต็มว่า ออกั๊สโต้ เป็นชาวอิตาเลียน)
คุณนพภรณ์พูดปลอบใจหลาน และชักชวนสร้างองค์พระที่แกนกลางให้สามี ฝ่ายนั้นรีบตอบตกลงทันที คุณนพภรณ์เป็นคนดำเนินการให้ โดยกำชับให้หลานบอกให้สามีทราบเรื่องการทำบุญทั้งสองอย่าง เพื่อคนป่วยสามารถรับรู้ และให้คนป่วยตั้งใจว่า เมื่อหายป่วยจะเดินทางมาประเทศไทย มากราบมหาธรรมกายเจดีย์ กราบหลวงพ่อวัดปากน้ำ หลวงพ่อธัมมชโย และคุณยายอาจารย์พร้อมกับไปรับพระของขวัญพระมหาสิริราชธาตุด้วยตนเอง
พร้อมกันนั้นผู้เป็นน้าสาวยังแนะนำเพิ่มเติมให้หลานสาวผู้เป็นภรรยาคนป่วยทำภาวนา "สัมมาอะระหังๆๆ" ไปด้วยตลอดเวลา ขณะอยู่ระหว่างการผ่าตัด หลานสาวรับคำ
หลังจากนั้นคุณนพภรณ์และพี่สาวชื่อ คุณนวลจันทร์ พากันไปจุดธูปปักไว้กลางแจ้ง อธิษฐานจิตอาราธนาความศักดิ์สิทธิ์ของมหาธรรมกายเจดีย์ บารมีของพระบรมพุทธเจ้า หลวงพ่อวัดปากน้ำ หลวงพ่อธัมมชโย หลวงพ่อทัตตชีโว และคุณยายอาจารย์อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง คุ้มครองผู้ป่วยให้ปลอดภัย
สรุปแล้วน้าสาวทั้งสองคนของคุณจิรวรรณ ทำบุญให้ผู้ป่วยเรียบร้อยในเวลาราวบ่าย ๔ โมงเย็น คนไข้จะเข้าห้องผ่าตัดเวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษตามเวลาในประเทศไทย ทั้งหลวงพี่ผู้รับเงินทำบุญสร้างองค์พระ และหลวงพี่ที่ทำพิธีปล่อยปลาต่างให้ศีลให้พร เพื่อให้คนป่วยหายเป็นอัศจรรย์ รวมทั้งหลวงพี่รูปที่เป็นพระน้องชายของคุณจิรวรรณก็พูดให้กำลังใจโยมพี่สาว ให้ทำจิตใจให้เข้มแข็ง เพราะจิตใจของสามีภรรยาสามารถรับรู้กันได้ ให้ผู้เป็นภรรยาทำสมาธิตลอดเวลาการผ่าตัด สมาชิกทางเมืองไทยก็จะทำสมาธิจิตตามเวลาดังกล่าวร่วมด้วย ผู้เป็นภรรยาผู้ป่วยรับคำทุกประการ
วันรุ่งขึ้นเมื่อมีการโทรศัพท์สอบถามข่าวคราว ปรากฏว่าการผ่าตัดปลอดภัย อาการทุกอย่างดีขึ้นอย่างอัศจรรย์ คุณนวลจันทร์ พี่สาวคุณนพภรณ์จึงกล่าวย้ำกับหลานสาวว่า เมื่อสามีหายดีแล้วให้ทำตามคำสัญญาทุกประการ และไม่ควรประมาท ต้องนั่งสมาธิให้ต่อเนื่องตลอดไป ฝ่ายหลานรับคำ
ผู้เล่ากล่าวตอนท้ายว่า "ปกติข้าพเจ้าได้ยินเรื่องอานุภาพบุญจากผู้อื่นเล่าให้ฟัง ก็ได้แต่ยินดีและอนุโมทนาบุญไปด้วย เวลานี้ตนเองกลับเป็นผู้ได้เห็นอานุภาพบุญสร้างองค์พระที่แกนกลางเจดีย์ อานุภาพบุญที่มีพระมหาสิริราชธาตุเป็นสมบัติ ทำให้ต้องคิดอยู่เสมอว่า ตัวเองช่างมีบุญมากที่ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ณ วัดพระธรรมกาย ได้พบครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐจริงๆ ได้เป็นลูกหลวงพ่อ พี่นวลจันทร์พี่สาวของข้าพเจ้า จะพูดเสมอว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว มัวเสียเวลาเดินทางอ้อมมาเสียหลายปี บัดนี้เมื่อได้พบครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐดังนี้แล้ว จะไม่ไปไหนๆ อีก จะอยู่สร้างบารมี ณ วัดพระธรรมกายตลอดไป"
เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยมีสาเหตุอยู่ ๔ ประการคือ
เกิดจากกรรมฝ่าย อกุศลที่เคยทำไว้ให้ผล
เกิดจากจิตใจของผู้ป่วยเอง เช่น มีจิตอ่อนแอควบคุมความคิดและอารมณ์ไม่อยู่ ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน เป็นมากจนกลายเป็นโรคจิต โรคประสาทไปก็มี
สาเหตุประการที่สาม เกิดจากดินฟ้าอากาศ เช่น ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ถิ่นที่อยู่มีมลพิษต่างๆ สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมทำให้เกิดโรคได้
สาเหตุสุดท้าย เกิดจาการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีคุณภาพ หรือเป็นอาหารแสลงต่อสุขภาพของตนเอง
อย่างรายสามีคุณจิรวรรณ ซึ่งเป็นหลานสาวของผู้เล่าเรื่อง เป็นโรคหัวใจ อาจมีสาเหตุมาจากบาปกรรมเก่าตามมาทัน เคยเบียดเบียนทำร้ายจิตใจผู้อื่นไว้ ให้ฝ่ายนั้นเจ็บปวด เศร้าโศก เมื่อกรรมนั้นตามมาส่งผล จึงทำให้ต้องเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถ้าส่งผลตั้งแต่เกิดเรียกว่าเป็นชนกกรรมฝ่ายไม่ดี มีหัวใจพิการด้วยอาการต่างๆ ถ้าเป็นโรคหัวใจตอนโต อาจมาจากสาเหตุของกรรมเก่า หรือบริโภคอาหารผิดหลัก เช่นรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป จนเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โลหิตไหลเวียนไม่สะดวก เป็นได้ทั้งสองสาเหตุ
การเจ็บป่วยนั้น หากอยู่ในขั้นแพทย์ผู้รักษาไม่อาจรับรองความปลอดภัย เรียกว่าหมดที่พึ่งจากมนุษย์ด้วยกันแน่นอน ยังเหลืออยู่ก็แต่การพึ่งบุญ ให้กระแสพลังบุญมีกำลังเข้มแข็งสามารถตัดรอนกระแสบาปกรรมที่ตามให้ผลทันอยู่ให้เบาบางลงหรือเลิกส่งผล กลายเป็นอโหสิกรรมไปเสีย ผู้ป่วยจึงจะมีหนทางรอด
อย่างไรก็ดี การเร่งสร้างบุญกุศลในยามเจ็บป่วย ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ รอจนบาปกรรมตามทัน เหมือนสุนัขไล่กัด ปล่อยให้มันฟัดได้ถึงตัว โอกาสที่มันจะปล่อยยากมาก การแก้ไขที่ต้นเหตุคือทำเรื่องป้องกัน ทำบุญกุศลให้มากเข้าไว้ เหมือนเติมน้ำไม่เติมเกลือ (เกลือคือบาป น้ำคือบุญ) เมื่อน้ำมีมากขึ้นทุกทีๆ ในที่สุดเกลือก็หมดฤทธิ์ ไม่ทำให้น้ำเค็มได้อีกต่อไป แม้มีอยู่ก็เหมือนไม่มี
คนฉลาดจึงไม่รอให้เจ็บไข้ได้ป่วย เขาย่อมใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท สั่งสมบุญกุศลไว้เป็นเกราะป้องกันตนเองตลอดเวลา ไม่รอจนหิวข้าวจึงคิดทำนา ไม่รอจนถึงหน้าหนาวจึงปลูกฝ้าย ใช้ทอผ้าห่ม ไม่รอจนไม่มีอะไรกินอะไรใช้จึงค่อยหางานทำ รอเวลาดังที่กล่าวแล้วเป็นชีวิตของคนประมาทอย่างยิ่ง
ขอเราทุกคนจงเป็นคนที่ทั้งฉลาด และคนที่ไม่ประมาทตลอดเวลา ตลอดไป