อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ

พระมหาสิริราชธาตุ รุ่นดูดทรัพย์ สำหรับ ผู้สร้างพระธรรมกายประจำตัวภายในมหาธรรมกายเจดีย์นั้น จะได้รับของที่ระลึกเป็นพระธรรมกายของขวัญ

อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ พระธรรมเทศนาของพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

พระธรรมเทศนาของพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)
วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เราควรศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างไรดี
มีคำเปรียบพระพุทธศาสนาเหมือนมหาสมุทร ซึ่งค่อยลึกลงไปโดยลำดับ ใจกลางของมหาสมุทรนั้นลึกล้ำ ยากที่จะหยั่งถึง พระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ส่วนที่ลึกซึ้งที่สุดคือพระปรมัตถธรรม เพียงแต่ความรู้อันได้จากการศึกษาทางพระปริยัติธรรมหาพอเพียงที่จะเป็นเครื่องมือให้หยั่งรู้พระปรมัตถธรรมได้ไม่ เพราะความรู้ชั้นนั้นเป็นเพียงสุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา พระปรมัตถธรรม เป็นวิสัย แห่งการภาวนามยปัญญาจะพึงหยั่งรู้ได้


การศึกษาพระปริยัติธรรมต้องดำเนินตามลำดับขั้น คือ
๑) ธตา ท่องจำ
๒) วจสา ปริจิตา ทำให้คล่องปาก
๓) มนสานุเปกขิตา ทำให้ขึ้นใจ คือเพ่งด้วยใจและการคิดอ่านทำตาม
๔) ทิฏจิยา สุปฏิวิทฺธา ให้เห็นเหตุผล หรือความหมายทะลุปรุโปร่ง
การคิดอ่านธรรมะตามที่ศึกษาเล่าเรียนมา ก็อยู่ในลำดับขั้นการศึกษาพระปริยัติธรรม ขั้น ๓-๔ เท่านั้น ยังไม่จัดว่าก้าวขึ้นสู่ขั้นปฏิบัติ ที่เรียกว่า "ภาวนา" อันเป็นทางให้เกิดสติปัญญาแหลมคม เมื่อเรายังศึกษาอยู่แค่ชั้นปริยัติ ๔ ขั้นดังกล่าวนั้น เราก็ยังไม่มีปัญญาเพียงพอที่จะหยั่งรู้พระปรมัตถธรรมถูกต้อง เพียงแต่พูดได้ตามหลักพระปริยัติธรรมเท่านั้น ครั้นพูดออกนอกหลักพระปริยัติธรรมเมื่อไร ความผิดพลาดก็มักเกิดขึ้นเมื่อนั้น แทนที่จะเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนา ก็กลายเป็นทำลายพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว


สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้แสดงให้ผิดเพี้ยนไปจากที่ทรงแสดงไว้เป็นบาปหนัก เขาเป็นผู้ทำลายพระศาสนาของพระองค์ จักต้องเสวยทุกข์ไปนาน ฉะนั้นเราจึงควรสังวรในเรื่องนี้ให้มาก เมื่อเรายังรู้ไม่ทั่วถึงพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นพระศาสนาของพระบรมศาสดาแล้ว อย่าอวดรู้แสดงออกนอกหลักพระปริยัติธรรมดีกว่า


การอวดรู้ อวดฉลาด แสดงความหมายของพระพุทธศาสนาให้ผิดไปจากหลักพระปริยัติธรรมไม่ดีเลย ถ้าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่แสดงแล้ว ผู้น้อยก็จะแสดงตาม เลยผิดตามกันไปเป็นแถว หากมีใครทัดทานการแสดงธรรมผิดๆ ของผู้ใหญ่เช่นนั้นขึ้น ก็อาจถูกรุมตบตีด้วยวาทะอันหยาบช้า หาว่ารู้ดีกว่าผู้ใหญ่ เด็กวานซืนนี้แท้ๆ แต่หาสำนึกไม่ว่าสติปัญญาของคนนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับร่างกายใหญ่หรือเล็ก เด็กๆ ที่เจริญภาวนา อาจมีสติปัญญายิ่งกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งมีวัยตั้ง ๑๐๐ ปีก็ได้ สมัยพุทธกาล ปรากฏว่ามีเด็กอายุ ๗ ขวบบรรลุพระอรหัตตผลก็มี ทางที่ดีควรศึกษาพระพุทธศาสนาให้ตลอดทั้งทางปริยัติทั้งทางปฏิบัติ คือการเจริญภาวนาด้วย ความรู้ดีซึ่งถูกต้องตรงตามหลักพระพุทธศาสนาก็จะเกิดขึ้น ความเห็นผิดๆ ซึ่งคัดค้านหลักพระพุทธศาสนาก็จะไม่มี


ข้าพเจ้าเคยสลดใจที่ได้เห็นพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทางพระปริยัติธรรม กล่าวธรรมะผิดๆ โดยไม่รู้ตัว แถมยังอวดฉลาด ดูหมิ่นผู้เจริญภาวนาด้วย ถ้าภิกษุเช่นนี้ยังมีอยู่ในพระพุทธศาสนามากๆ แล้ว น่ากลัวว่า พระพุทธศาสนาจะถูกเปลี่ยนรูปโฉมไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น
๑.หลักพระนิพพาน ซึ่งมีความหมาย "ดับทุกข์ดับร้อน" ก็ถูกแปรความหมายไปว่า "ดับมอดหมดทุกสิ่งเหมือนไฟดับ" ซึ่งไปเข้ากับทฤษฎีสังสารสุทธิของพราหมณ์บางพวก ทฤษฎีนี้ถือว่า สัตว์เกิดมาเสวยสังสารทุกข์ไปตามกฎหมุนเวียนของโลก ๓ ประการ คือพระพรหมผู้สร้างโลก ซึ่งกำหนดอวสานของโลกไว้แล้วกำหนดขีดขั้นชีวิตของสัตว์ไว้ตายตัว และกำหนดเวลาสร้างโลก ซึ่งเรียกว่า "ประลัยกัลป์" ไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดแล้วทุกตัวสัตว์ก็พ้นสังขารทุกข์ไปเอง ทฤษฎีนี้ไม่นิยมความพากเพียรแก้ทุกข์ ไม่ยอมรับรู้กฎแห่งกรรม เขาเปรียบการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ เหมือนการคลี่ด้ายกลุ่ม เมื่อคลี่ไปจนหมดกลุ่มแล้ว ก็หมดการหมุนดับแค่นั้น


ทฤษฎีนี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธเพราะขัดแย้งหลักธรรม และความพากเพียรเพื่อพ้นทุกข์ที่พระองค์ตรัสรู้และสั่งสอน ถ้าเราพุทธศาสนารับเอาทฤษฎีนี้มาใช้อธิบายความหมายของพระนิพพานแล้ว เราก็กลายเป็นคนนอกครูไป จะชื่อว่าพุทธศาสนิกอย่างไรได้ เพราะเราดีดตัวของเราออกไปจากพระพุทธศาสนาเอง


๒.หลักอนัตตา ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับอัตตาตัวตน แต่แปรความหมายไปตามทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ในหลักพุทธศาสตร์โดยที่เขาทำการพิสูจน์ธาตุของโลกที่รวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่มก้อน ด้วยการแยกออกเป็นอย่างๆ ไปตามลักษณะธาตุนั้นๆ ครั้นแล้วก็ไม่มีอะรเหลืออยู่เป็นแก่นสารพอจะเรียกได้ว่าเป็นตัวตน เช่น ร่างกายของสัตว์ นักวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์แต่ในด้านรูปธรรมที่สัมผัสถูกต้องได้ หาได้พิสูจน์อรูปธรรมไม่ นักศึกษาพุทธศาสตร์ไม่ทันพิจารณาให้ตระหนัก ก็นำทฤษฎีนั้นมาใช้หมายครอบจักรวาลไปถึงพระนิพพานด้วย


ความจริงนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหลักอนัตตาไว้จำกัดวงแค่สังขารโลก สังขารธรรมเท่านั้น มิได้ครอบไปถึงพระนิพพาน แม้จะมีพระพุทธภาษิตว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาก็ตาม พระพุทธภาษิตนั้นจำกัดความแค่สังขารโลก - สังขารธรรมเท่านั้น ส่วนพระนิพพานอยู่นอกไตรลักษณ์ เพราะคำสรรเสริญพระนิพพานที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ล้วนแต่ตรงข้ามกับพระไตรลักษณ์ทั้งนั้น ถ้าพระนิพพานตกอยู่ภายใต้อำนาจของพระไตรลักษณ์แล้ว พระนิพพานก็ไม่ควรจะเรียกว่า "วิสังขาร" ควรจะเรียกว่า "สังขาร" เหมือนสังขารโลก สังขารธรรมทั้งหลาย การที่เรียกว่า "วิสังขาร" ก็เพราะพ้นจากความเป็นสังขารแล้ว หรือปราศจากสังขารซึ่งเป็นเปลือกเป็นกระพี้แล้ว เหลือแต่แก่นสารจึงเป็นพระนิพพาน หมดกิริยาเกิดตาย หมดกิริยาเสวยทุกข์ เป็นสุขล้วนๆ ตลอดกาลนิรันดร


อนัตตาบังอัตตา ตราบใดที่ยังไม่รู้จักอนัตตาแจ่มแจ้ง ตราบนั้นยังไม่รู้จักอัตตาตัวจริง จึงมีอุปาทานยึดถือเอาขันธ์ ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นอัตตาร่ำไป โดยความสำคัญผิด ครั้นเจริญภาวนาพิจารณาดูธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแก่ญาณอย่างถี่ถ้วน เห็นธรรมที่อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์และนอกอำนาจไตรลักษณ์แล้ว ก็รู้จักอนัตาตัวจริง แต่นั้นก็รู้จักอัตตาตัวจริงด้วย อุปาทานที่ยึดถือขันธ์เป็นอัตตาก็หลุดไป
ภูมิรู้ชั้นนี้เป็นชั้นสูง ซึ่งมีกำลังเพียงพอที่จะทำลายภพชาติได้ถ้าต้องการ เว้นแต่ผู้เจริญภาวนานั้นได้ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้แล้ว ทั้งได้รับพุทธพยากรณ์ว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอนในอนาคต เมื่อญาณขั้นสูงถึงขั้นรู้จักอนัตตาได้แล้ว ความปรารถนาพ้นจะลงมาขัดขวางได้มิให้ญาณก้าวไปสู่ขั้นตัดสินใจสละโลก ให้บังเกิดความห่วงใยในพระโพธิญาณในความเป็นพระบรมครูของโลกในอนาคต ญาณก็หยุดชะงัก ไม่ก้าวหน้าต่อไป คงยังอยู่เพียงแค่นั้น บุคคลผู้เช่นนั้น ท่านว่า ดำรงอยู่ในอรหัตตภูมิ แต่มิใช่พระอรหันต์ มีความรู้เท่าเทียมพระอรหันต์ กำลังจิตก็เข้มแข็ง อาจหาญและอดทนดียิ่ง คล้ายๆ พระอรหันต์เหมือนกัน บุคคลประเภทนี้มีได้แต่บรมโพธิสัตว์เท่านั้น เพราะมีบารมีแก่กล้า ควรแก่การบรรลุพระอรหัตตผลได้แล้ว พระบรมโพธิสัตว์ประเภทนี้ แม้ยังเป็นปุถุชนก็สามารถทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ให้คงความบริสุทธิ์สะอาดได้ พระบรมโพธิสัตว์จึงได้เอาธุระทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาเสมอมา ตามคราวที่พระพุทธศาสนามัวหมอง

๓.หลักสังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ พระบรมศาสดาทรงตรัสรู้หลักสังสารวัฏ ด้วยพระปุพเพนิวาสานุสติญาณ
๔.หลักกรรม - กฎแห่งกรรม พระบรมศาสดาตรัสรู้หลักกรรมด้วยจุตูปปาตญาณว่า สัตว์ดีเลวด้วยอำนาจกรรมของตนเอง มิใช่ด้วยสิ่งอื่นดลบันดาล


๕.หลักอริยบุคคล พระบรมครูทรงบัญญัติบุคคลผู้บรรลุธรรมด้วยวิวัฏคามีกุศลว่า พระอริยบุคคล คือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ในบรรดาพระอริยบุคคล ๔ จำพวกนี้ พระอรหันต์เป็นชั้นสูงสุด พ้นทุกข์โดยประการทั้งปวงแล้ว ท่านเรียกว่า ปรินิพพาน คือหมดทุกข์โดยครบถ้วน หมดภาระหนักที่ต้องบริหารแล้ว
ไม่เคยมีพระดำรัสไว้ที่ไหนว่า พระอรหันต์นิพพานดับสูญไปเลย แต่ปัจจุบันได้มีผู้เข้าใจและอธิบายการปรินิพพานของพระอรหันต์ไปในทำนองดับสูญไป เช่นเดียวกับความเห็นของพระยมกะเถระ เมื่อยังไม่บรรลุพระอรหัตตผล ร้อนถึงพระสารีบุตรเถระต้องเอาธุระไล่เลียง จนพระยมกะเถระสละความเห็นผิดเช่นนั้นได้


ถ้าพระอรหันต์ตายสูญ พระนิพพานก็ไร้ค่า ถ้าพระอรหันต์ตายแล้วไม่สูญล่ะ เป็นอย่างไรต่อไป พระอรหันต์เป็นวิสทธิเทพ* แล้ว เมื่อสังขารทั้งหลายซึ่งเกิดแต่เหตุปัจจัยสลายไปตามเหตุปัจจัยแล้ว วิสุทธิเทพซึ่งมิใช่สังขารก็ออกจากสังขารไป ไปอยู่ในสภาพอย่างไรนั้นสุดวิสัยที่จะบัญญัติ ท่านจึงเปรียบเหมือน เปลวไฟดับ ไฟไปอยู่ที่ไหนก็บอกไม่ได้ เพราะเกินวิสัยปัญญาของสามัญชนฉันใด พระอรหันต์นิพพานแล้วก็ฉันนั้น แต่ผู้มีปรีชาญาณชั้นสูงสุดย่อมรู้สภาพอันบริสุทธิ์นั้นว่า อยู่อย่างไร ณ ที่ไหน
วิสุทธิเทพแม้ปรินิพพานแล้วก็ย่มสามารถบำเพ็ญประโยชน์แก่เวไนยและพระโพธิสัตว์ได้ ผู้มีภูมิทางจิตใจพอ ย่อมได้รับการสงเคราะห์จากวิสุทธิเทพ คนสามัญทั้งหลายแม้กระทั่งเทวดาสามัญ พรหมสามัญ ก็ไม่อาจรู้เห็นวิสุทธิเทพ มีพระพุทธดำรัสไว้ในพระสุตตันตปิฎก ถึงเรื่องนี้เป็นหลักฐาน

อนึ่งในปารายวรรค ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระบรมศาสดาตอบปัญหาของมาณพหนึ่งในจำนวน ๑๖ มาณพ ก็ว่า "วิโมกฺโข ตสฺส นาปโร ความพ้นของเรา (พระอรหันต์) ไม่เป็นอย่างอื่น" หมายความว่า ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น คงเป็นความพ้นตลอดไป ทั้งนี้เพราะมาณพคนนั้นสงสัยตามทฤษฎีของพราหมณ์พวกหนึ่งว่า อาตมัน (อัตตา) บรรลุถึงความบริสุทธิ์ เป็นมหาตมัน (มหัตตา) แล้วเข้ารวมกับ ปรมาตมัน (ปรมัตตา) ภายหลัง เมื่อพระพรหมสร้างโลกใหม่แล้วก็แบ่งปรมาตมันนั้นลงมาสิงอยู่ในธาตุของโลก ท่องเที่ยวไปในโลก ทำดีทำชั่ว ได้เสวยสังสารทุกข์ ครั้นเกิดญาณตรัสรู้แล้วก็เป็นมหาตมันเข้ารวมกับปรมาตมันอีก เช่นนีไม่รู้ว่ากี่รอบต่อกี่รอบ ดูไม่แปลกจากสัตว์โลกสามัญ ไม่พ้นสังสารทุกข์จริง มาณพนั้นจึงทูลถามพระบรมศาสดาเช่นนั้น


เมื่อพระพุทธองค์ตรัสตอบยืนยันว่า ความพ้นของพระอรหันต์ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น มาณพนั้นก็พอใจ และปฏิบัติตาม ได้บรรลุถึงความพ้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้ ควรหรือที่เราจะเข้าใจไปว่า พระอรหันต์ปรินิพพานแล้วสูญหมด (ตายสูญ) ไม่มีอะไรเหลืออยู่โปรดสัตว์โลกได้อีก

คัดลอกจากหนังสือวิปัสสนาบันเทิงสาร
ปีที่ ๒ เล่ม ๘ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ หน้า ๙-๑๔


* วิสุทธิเทพ หมายถึง เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

(ขุ.จู.๓๐/๖๕๔/๓๑๒ ; ขุทฺทก.อ.๑๓๕.)


อินทรีย์แก้ว
ปกรณ์ของฝ่ายทักษิณนิกาย หรือเถรวาท (คือฝ่ายเรา) ท่านโบราณาจารย์ แบ่งพระกายของพระพุทธเจ้าเป็น ๓ ภาค เช่นเดียวกันกับปกรณ์ของฝ่ายมหายาน แต่เรียงลำดับจากต่ำไปหาสูง เมื่อเทียบดูแล้วก็จะเห็นว่าคล้ายคลึงกัน คือ


๑.พระรูปกาย เป็นพระกายซึ่งเอากำเนิดจาก พระพุทธบิดา พระพุทธมารดาที่เป็นมนุษย์ธรรมดา ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เหมือนกายของสามัญมนุษย์ เป็นแต่บริสุทธิ์สะอาดสวยงาม พระฉวีวรรณ เปล่งปลั่งเกลี้ยงเกลากว่ากายของมนุษย์สามัญ เป็นวิบากขันธ์ สำเร็จมาแต่พระบุญญาบารมี


๒.พระนามกาย ได้แก่กายชั้นใน ปราชญ์บางท่านเรียกว่ากายทิพย์ และว่าเป็นกายที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนกายชั้นนอก เป็นแต่ว่องไวกว่า และสามารถกว่ากายชั้นนอกหลายร้อยเท่า สามารถออกจากร่างกายไปในที่ไหนๆ ได้ตามต้องการ เมื่อกายหยาบสลาย กายชั้นนี้ยังไม่สลายจึงออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ต่อไป นามกายเป็นของมีทั่วไปแม้แต่สามัญมนุษย์ แต่ดีเลวกว่ากันด้วยอำนาจกุศล อกุศลที่ตนทำไว้แต่ก่อน ส่วนพระนามกายของพระพุทธเจ้า ท่านว่าดีวิเศษยิ่งกว่าของสามัญมนุษย์ ด้วยอำนาจพระบุญญาบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลาหลายอสงไขยกัลป์


๓.พระธรรมกาย ได้แก่ พระกายธรรมอันบริสุทธิ์ ไม่สาธารณะทั่วไปแก่เทวาและมนุษย์ หมายถึงพระจิตที่พ้นจากกิเลสอาสวะแล้ว เป็นพระจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีพระรัศมีแจ่มจ้า เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์อุทัยไขแสงในนภากาศฉะนั้น พระธรรมกายนี้เป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เป็นพระกายที่พ้นเกิด แก่ เจ็บ ตาย และทุกข์โศกทั้งหลายได้จริง เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่สูญสลายเป็นอยู่ชั่วนิรันดร แต่ท่านมิได้บอกให้แจ้งชัดว่า พระธรรมกายนี้มีรูปพรรณสัณฐานเช่นไรหรือไม่ เป็นที่รวมแห่งธรรมทั้งปวง ความเชื่อว่าพระอรหันต์นิพพานแล้ว ยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นพระอรหันต์แท้ไม่สลายตามกาย คือความเป็นพระอรหันต์ไม่สูญ ความเป็นพระอรหันต์นี้ท่านก็จัดเป็นอินทรีย์ชนิดหนึ่งเรียกว่า อัญญาตาอินทรีย์ พระผู้มรพระภาคเจ้าคงหมายเอาอินทรีย์นี้เอง บัญญัติเรียกว่า วิสุทธิเทพ เป็นสภาพที่คล้ายคลึงวิสุทธาพรหมในสุทธาวาสชั้นสูงเป็นแต่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าเท่านั้น เมื่อมีอินทรีย์อยู่ก็ย่อมจะบำเพ็ญประโยชน์ได้ แต่ผู้จะรับประโยชน์จากท่านได้ก็จะต้องมีอินทรีย์ผ่องแผ้วเพียงพอที่จะรับรู้รับเห็นเท่าท่านได้ เพราะอินทรีย์ของพระอรหันต์ประณีตสุขุมที่สุด แม้แต่ตาทิพย์ของเทวดาสามัญก็มองไม่เห็นมนุษย์สามัญซึ่งมีตาหยาบๆ จะเห็นได้อย่างไร อินทรีย์ของพระอรหันต์นั่นแหละเรียกว่าอินทรีย์แก้ว หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจของท่านเป็นแก้ว คือใสบริสุทธิ์ดุจแก้วมณีโชติ ผู้บรรลุถึงภูมิแก้วแล้วย่อมสามารถพบเห็นพระแก้ว คือพระอรหันต์ที่นิพพานแล้วได้


 

คัดลอกจากหนังสือวิปัสสนาบันเทิงสาร
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ หน้า ๒๐-๒๑
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล