วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งกว่าเดิม เริ่มตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่

พระธรรมเทศนา

 

 

 

               ต้นเดือนนี้ก็เข้าสู่ช่วงปีใหม่แล้ว ถ้าเป็น เด็กๆ ก็ต้องบอกว่า โตขึ้นมาอีกหนึ่งปี ส่วนผู้ใหญ่ก็บอกว่า แก่ไปอีกหนึ่งปีแล้ว และถ้ายังอยู่ใน วัยกำลังทำงานก็จะบอกว่า งานการก้าวหน้ามาอีกหนึ่งปี ซึ่งบางท่านอาจยังไม่ค่อยรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตกันมากนักกับวันขึ้นปีใหม่ แต่ถ้าเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ โดยเฉพาะที่เกษียณอายุแล้ว ขึ้นปีใหม่ทีไรใจหายวูบ เพราะรู้สึกว่าเราเข้าใกล้ปล่องสูงๆ (เมรุ) เข้าไปอีกก้าวโตๆ แล้ว

แก่ขึ้นเหมือนกันแต่คุณค่าไม่เท่ากัน

               แต่ถ้าเรามองวันขึ้นปีใหม่ในแบบที่ พระพุทธศาสนามอง ก็ต้องบอกว่าทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้เฒ่า ทุกคนล้วนก้าวเข้าสู่ความตายด้วยกัน ทั้งนั้น หลวงปู่วัดปากน้ำท่านเคยพูดถึงความแก่ของคนว่า แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

                ประเภทที่ ๑ แก่แดดแก่ลม คือ ผู้ที่ปล่อย วันเวลาผ่านไปแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี โดยไม่ได้ทำความดีเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา อยากจะทำอะไรก็ทำตามแต่อารมณ์จะบงการ ใช้ชีวิตไปวันๆ ประเภทนี้ต้องบอกว่า แก่ตายเปล่า

                ประเภทที่ ๒ แก่บุญแก่บารมี คือ ผู้ที่รู้ว่า ห้ามวัน ห้ามเวลาไม่ได้ แต่ห้ามความชั่วได้ เพราะฉะนั้น ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ความชั่วไม่ว่ากี่รูปแบบ ทั้งความชั่วหยาบ เช่น อบายมุขต่างๆ หรือความชั่ว ละเอียด เช่น ความคิดที่ไม่ดีไม่งามก็พยายาม ห้ามใจตัวเองไม่ให้คิด คำพูดที่จะทำให้ผู้อื่นสะเทือนใจก็ห้ามปากตัวเองไม่ให้พูด เบรคตัวเองตัวโก่ง ไม่ยอมแตะต้อง ไม่ยอมเฉียดเข้าไปใกล้ ส่วนการทำความดีนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม หากมีโอกาสเป็นต้องทำกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ใช้ชีวิตอย่างนี้ วันคืนที่ล่วงเลยผ่านไปก็เปลี่ยนเป็นบุญเป็นบารมีติดตัวข้ามภพข้ามชาติ

อดีตและอนาคตมีประโยชน์ถ้ารู้จักจับแง่คิด

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวพุทธ ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต โดยให้คาถาเอาไว้ ให้หมั่นสวดทบทวนตัวเอง ๒ บท

                บทแรกใช้สำหรับเตือนคนที่ค่อนข้างเกียจคร้าน ชอบผัดวันประกันพรุ่ง คือ ให้หมั่นถามตัวเองทุกวันทุกคืนว่า "วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่" พอถามตัวเองอย่างนี้เป็นประจำแล้ว ผู้มีปัญญาจะหายประมาททันที และจะมีกำลังใจที่จะทำความดีต่อไป

                คาถาบทที่ ๒ "สิ่งที่แล้วก็แล้วไป เรียกกลับคืนมาไม่ได้ สิ่งที่ยังมาไม่ถึงก็ไม่แน่ว่าจะมา เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ประมาทสมควรที่จะทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด"

                ความจริงแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ถึงกับทรงห้ามไม่ให้คิดถึงอดีตและอนาคต เพราะทั้งอดีตและอนาคตล้วนมีประโยชน์ ถ้ารู้จักจับแง่คิดเป็น

                ในเรื่องของอดีตนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงสอน และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น การระลึกชาติย้อนหลัง กลับไปเป็นอสงไขย เป็นกัป เพื่อนำมาเป็นครูสอนตัวเองว่า ต่อไปข้างหน้าเราควรจะต้องปรับปรุงแก้ไข ระมัดระวังตัวเองอย่างไรบ้าง นึกถึงอดีตอย่างนี้แล้วจะมีสติที่จะละชั่ว ทำความดี กลั่นใจให้ผ่องใส ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อเราทบทวนอดีตแล้วพบข้อบกพร่อง ก็ให้รีบแก้ไข สิ่งที่ดีอยู่แล้วก็ปรับปรุงพัฒนาให้อยู่ในขั้นดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก

                ส่วนเรื่องของอนาคต หากจะทำงานหรือ จะดำเนินชีวิตอย่างผู้ไม่ประมาท จำเป็นจะต้องมีการวางแผนอนาคตอย่างมีสติ กำหนดทิศทางของชีวิตให้ดี แต่อย่าให้ถึงกับคิดฟุ้งซ่านทางบวก มากไป จะกลายเป็นคนฝันหวานเกินเหตุ เรียกว่าสร้างวิมานในอากาศ ส่วนการคิดฟุ้งซ่านในทางลบมากไปก็ไม่ดีอีกเช่นกัน ทำให้ใจขุ่นมัว เศร้าสร้อยหงอยเหงา กลายเป็นทุกข์กินเปล่า

ตรวจสอบตัวเราเองด้วยหลักธรรม

               การสำรวจตรวจสอบตนเองตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ว่าเรามีข้อบกพร่องหรือข้อดีอะไรบ้างนั้น ให้ใช้สัปปุริสธรรม ๗ ประการ เป็นหัวข้อธรรมหลักในการประเมินตัวเอง ซึ่งได้แก่

                ๑. ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ ต้องถามตัวเองว่า ก่อนที่จะลงมือทำสิ่งใดทุกครั้ง เราเป็นคน มีเหตุมีผลเพียงพอ คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบก่อนแล้วจึงค่อยลงมือทำหรือไม่ หรือจะทำอะไรก็เอาแต่ใจตัวเอง เวลาทำงานอยากจะทำอะไรก็ทำโครมๆ ลงไป ยอมให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล คนที่เขามีเหตุมีผลนั้น เมื่อจะลงมือทำอะไรก็ตาม เขาต้องมองไปถึงอนาคตว่า ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

                ๒. ความเป็นผู้รู้จักผล คือ เมื่อเห็นอะไรปรากฏอยู่ต่อหน้า จะเป็นผลดีหรือผลเสียก็ตาม สามารถที่จะตรวจสอบ คิดเชื่อมโยงไปถึงต้นตอได้ว่า ผลที่ออกมาเป็นอย่างนี้นั้น เกิดมาจากสาเหตุอะไร

                ๓. ความเป็นผู้รู้จักตน คือ ตรวจสอบ ความเป็นผู้รู้จักตัวเองของเราว่า โดยคุณสมบัติของเรานั้น เราเป็นใคร อยู่ในฐานะใดในบ้าน ในเมืองนี้ อยู่ในครอบครัว มีหน้าที่ มีตำแหน่งอะไรในบ้าน มีฐานะอะไรในที่ทำงาน เมื่อมาถึงวัดแล้ว ก็ต้องถามตัวเองอีกว่า เราอยู่ในฐานะใด มีหน้าที่อะไรบ้างในวัด หมั่นถามตัวเองบ่อยๆ แล้วเราจะมองตัวเองออกและจะได้รู้ว่า เราทำหน้าที่อย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง

                ๔. ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ทุกครั้ง ที่ลงมือทำงาน เราเป็นผู้รู้จักประมาณทุกครั้งไหม หากเรามีกำลังความรู้ความสามารถมาก เราได้ช่วยเต็มที่เต็มกำลังแล้วหรือยัง หรือหากมีความรู้ความสามารถน้อย แต่ได้ทุ่มเทให้ทางวัดมาก จนบางครั้งเกิดติดๆ ขัดๆ มีปัญหากับทางครอบครัวหรือไม่ นี้ก็ต้องย้อนกลับมาตรวจสอบดูว่า เราละเลยหน้าที่บางอย่างทางบ้านไปหรือไม่ สำรวจตัวเองดูให้ดี

                ๕. ความเป็นผู้รู้จักกาล คือ เราแบ่งเวลาได้เหมาะสมแล้วหรือยัง ทั้งเวลาปฏิบัติธรรม เวลาทำงาน เวลาที่ต้องแบ่งให้ครอบครัว เรื่องแบ่งเวลานี้สำคัญมาก เพราะเรามีเวลาแค่วันละ ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน ถ้ารู้จักแบ่งเวลาเป็น วันหนึ่งๆ จะทำงานได้มาก การที่คนเรามีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตไม่เท่ากัน ก็มาจากเรื่องการแบ่งเวลานี่เอง

                ๖. ความเป็นผู้รู้จักชุมชน คือ การรู้จักสังคมที่อยู่แวดล้อมเรา ทั้งรอบๆ บ้าน สังคมญาติพี่น้องในครอบครัวของเราเอง สังคมในที่ทำงาน แล้วเวลามาวัดสังคมของวัดเป็นอย่างไร เราได้วางตัวเหมาะสมแล้วหรือยัง

                ๗. ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ การรู้จักบุคคลรอบข้างที่เราต้องเกี่ยวข้องเป็นประจำ เพื่อที่จะได้วางตัวให้เหมาะกับฐานะที่เราเป็นอยู่

                สำหรับในเรื่องของความเป็นผู้รู้จักบุคคลนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้มองบุคคลรอบ ตัวเรา โดยแบ่งออกมาเป็น ๖ ทิศ เพื่อให้เรา ทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ได้แก่

                ๑) ทิศเบื้องบน หมายถึง สมณชีพราหมณ์ ได้แก่ หลวงปู่ หลวงพ่อ พระสงฆ์ที่เราไปศึกษาธรรมะจากท่าน

               ๒) ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ คุณพ่อและคุณแม่ของเรา เมื่อก่อนท่านยังแข็งแรงอยู่ ยังดูแลตัวเองได้ แต่บัดนี้ท่านแก่มากแล้ว ร่างกายก็เสื่อมลงไปตามวัย และอาจเริ่มมีโรคน้อยใจบ้าง เราควรทำความเข้าใจและเอาใจใส่ในแต่ละรายละเอียดของท่านให้ดี

               ๓) ทิศเบื้องหลัง คือ สามีหรือภรรยา คนเราพออายุมาก วันเวลาเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป จิตใจก็มีสิทธิ์เปลี่ยนไปด้วย แต่ในฐานะที่มีชีวิตอยู่แบบเป็นครอบครัว ก็ต้องหาทางประคับประคองกันไปด้วยกันให้ได้ การอบรมลูกให้ดีเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้บ้านเย็น ฝ่ายชายก็ต้องรู้จักให้ กำลังใจและดูแลสุขภาพของภรรยาด้วยเพราะ อยู่ในฐานะเป็นแม่เรือน หากเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วจะกระทบกระเทือนไปทั้งบ้าน ฝ่ายหญิงนอกจากดูแลครอบครัวแล้ว ก็ควรดูแลปรนนิบัติพ่อกับแม่สามีให้ดีด้วย หากมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น พ่อกับแม่สามีจะทำหน้าที่คอยประสานใจครอบครัวเราได้ หากมีโอกาสก็ชวนกันเข้าวัดฟังธรรมบ่อยๆ เมื่อเราค่อยๆ ปรับปรุงกันไปอย่างนี้แล้ว ทุกคนในครอบครัวจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

               ๔) ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูบาอาจารย์ เหตุที่เราตั้งหลักตั้งฐานมาได้อย่างทุกวันนี้ เพราะว่ามีครูที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เรามาใช้ประกอบอาชีพ จัดดอกไม้ธูปเทียนไปกราบอวยพรท่าน แสดงความ กตัญญูกตเวที ข้าวของสิ่งใดที่ควรแก่ท่าน ก็นำไปเป็นเครื่องสักการะด้วย จัดสรรเวลาให้ดี หาเวลาอยู่สนทนากับท่าน แล้วจะได้รับฟังโอวาทดีๆ ได้ความรู้และเทคนิคดีๆ นำมาใช้ต่อไปอีก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

              ๕) ทิศเบื้องซ้าย คือ พรรคพวกเพื่อนฝูง เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดี เพราะเพื่อนบางคนขณะนี้โดยฐานะ หรือตำแหน่งหน้าที่การงาน ของเขาอาจจะล้ำหน้าเราไปแล้ว ก็ไปแสดงมุทิตาจิตยินดี กับเพื่อน ส่วนคนที่ยังย่ำแย่กว่า ทำท่าจะไปต่อไม่ไหว ก็ช่วยประคับประคองกันไป ให้กำลังใจกัน มีอะไรพอช่วยกันได้ก็ช่วยกัน เพราะไม่แน่ว่าวันใดวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจถึงคราวตกทุกข์ได้ยากบ้าง ความที่เคยช่วยเหลือผู้อื่นไว้ ก็จะทำให้มีคนยื่นมือ มาช่วยเหลือเวลาที่เราลำบาก สำหรับเพื่อนที่เสมอๆ กันก็ให้ไปมาหาสู่ วางตัวให้สม่ำเสมอ อย่าเหินห่าง จืดจางกันไป

               ๖) ทิศเบื้องล่าง หมายถึง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง ถ้าเราเป็นผู้บังคับบัญชา ต้องถามตัวเองว่า เราให้ความรู้กับลูกน้องดีพอไหม รู้จักลูกน้องแต่ละคนชัดเจนดีหรือยัง เพื่อจะได้มอบหมายงานที่เหมาะสม กับความรู้ความสามารถของเขา งานจะได้ไม่ติดขัด

                คนส่วนใหญ่ในโลกมักถือโอกาสใช้วาระ ขึ้นปีใหม่ ในการเริ่มต้นทำสิ่งดีงามใหม่ๆ ในชีวิตในด้านต่างๆ ส่วนเราเป็นนักสร้างบารมี ก็มีแง่มุมในการใช้วันขึ้นปีใหม่นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของ การปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดียิ่งขึ้นไป อย่างนี้ได้ชื่อว่า เป็นผู้ใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา ใช้เวลาในโลกนี้ ที่จำกัดได้อย่างคุ้มค่าที่สุด บุญที่เราได้สั่งสมมา ในอดีตนั้น ส่งผลให้เราได้มาสร้างบุญสร้างความดีอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และบุญบารมีที่เราตั้งใจกระทำในวันนี้ ก็จะกลายไปเป็นบุญใหม่ที่ส่งผล ต่อไปยังอนาคต ให้เราได้มีโอกาสและความพร้อมที่จะสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิม เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนต้องหมั่นทบทวนปรับปรุงแก้ไข ตัวเองตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการนี้อย่างสม่ำเสมอและวางแผนชีวิตในอนาคตให้ดี แล้วการสร้างบารมีของเราย่อมประสบความสำเร็จทั้ง ทางโลกและทางธรรมอย่างแน่นอน..

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 51 มกราคม ปี 2550

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล