วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๘ รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

พระธรรมเทศนา

 

 

ตอนที่ ๘

ความรู้ประมาณ

รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

๒. ความมั่นคงของสังคมสงฆ์

          ในช่วงเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น ได้มีภัยอันตรายเกิดขึ้น แก่พระพุทธศาสนาหลายครั้งหลายหน พระองค์ก็ทรงยืนหยัดแก้ไขจนผ่านวิกฤตการณ์มาได้ทุกครั้ง แต่เมื่อใกล้เวลาที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงตระหนักว่าพระพุทธศาสนาจะมีอายุยืนยาวต่อไปได้ ก็ต้องอาศัยความเข้มแข็งของหมู่สงฆ์เป็นปราการปกป้องพระพุทธศาสนาให้รอดพ้นจากภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

          ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ อารามที่ภูเขาคิชฌกูฏ นอกกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ทรงมีรับสั่งให้พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก เรียกประชุมสงฆ์ด่วน โดยให้พระ ภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในกรุงราชคฤห์ทั้งหมด เดินทางมาประชุมพร้อมกันที่ศาลาหอฉัน เพื่อรับฟัง พระโอวาทสำคัญที่จะใช้เป็นหลักธรรม ในการบริหารองค์กรสงฆ์ ให้สามารถดำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้นานแสนนาน

          เมื่อพระภิกษุสงฆ์ทั้งกรุงราชคฤห์ เดินทางมาประชุมพร้อมกันแล้ว พระองค์ก็เสด็จประทับบนพุทธอาสน์ แล้วแสดงพระธรรมเทศนา ที่เป็นการสรุปหลักการบริหารหมู่สงฆ์ ซึ่งทรงใช้ทำงานมาตลอดพระชนม์ชีพเลยทีเดียว นั่นคือ ภิกขุอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ดังนี้

          ๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุ ยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง

          ๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุ ยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำ

          ๓.ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่เราบัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามสิกขาบท ที่เราบัญญัติไว้แล้ว

          ๔.ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุ ยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง

          ๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุ ยังไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา ก่อให้เกิดภพใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว

          ๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุ ยังเป็นผู้มุ่งหวังเสนาสนะป่า

          ๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุ ยังตั้งสติไว้ในภายในว่า "ทำอย่างไร เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลงามที่ยังไม่มา พึงมา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก"

          ภิกขุอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สถาบันสงฆ์ สามารถดำรงรักษาพระพุทธศาสนา ให้ยั่งยืนตราบนานเท่านาน ซึ่งมีความจริงอยู่ว่า การบริหารงานเพื่อให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งพัฒนาถาวรไม่ล้มละลาย หรือเพื่อมิให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง ล่มสลายนั้น มิใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตามหากบริหารถูกวิธี ก็ย่อมจะทำให้ดำรงคงอยู่คู่โลก ไปนานแสนนาน แต่ถ้าบริหารงานไม่ถูกต้องเหมาะสม ย่อมมีแต่ความเสื่อมโทรมล่มสลายประการเดียว

          การที่พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่ มีอายุยืนยาวมากว่าสองพันห้าร้อยปี เป็นสถาบันที่เก่าแก่ มีอายุยืนยาวกว่าสถาบันต่าง ๆ และประเทศหลาย ๆ ประเทศในโลกนี้ ก็เพราะดำเนินตามการบริหารงาน ที่ทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกำหนดไว้

          ภิกขุอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ กำหนดแนวทางในการบริหารองค์กรสงฆ์ไว้ ๓ ด้าน ได้แก่ การบริหารองค์กรที่ดี การฝึกตนของสมาชิกที่ดี และการสมานไมตรีกับสงฆ์หมู่อื่น

๑ การบริหารองค์กรที่ดี

อปริหานิยธรรมข้อที่ ๑-๔ คือ หลักการบริหารองค์กรที่ดี

เริ่มต้นจาก อปริหานิยธรรมข้อที่ ๑ "การหมั่นประชุมเป็นเนืองนิตย์"

          การประชุมรวมหมู่คณะเป็นเนืองนิตย์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงรักษาองค์กร ให้มีอุดมการณ์ร่วมกันในระยะยาว ทั้งนี้เพราะการรวมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา จะทำให้ สมาชิกขององค์กรเกิดความรู้สึกที่ดีในการอยู่ร่วมกันอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

          ๑ รู้สึกว่าตนเป็นเจ้าขององค์กร

          ๒ รู้สึกว่าตนมีโอกาสในการสร้างสรรค์องค์กร

          ๓ รู้สึกว่าตนเป็นผู้รับผิดชอบองค์กร

          องค์กรใดที่สมาชิกมีความรู้สึกที่ดีทั้ง ๓ ประการนี้ ย่อมจะนำไปสู่ความมีอุดมการณ์ เป็นหนึ่งเดียวกัน และพร้อมที่จะพิทักษ์ปกป้องรักษาองค์กร อย่างเต็มกำลังความรู้ความสามารถ แม้แต่ชีวิตก็อุทิศให้กับองค์กรได้ นี่คืออานุภาพของการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ของหมู่สงฆ์ ซึ่งทำให้พระพุทธศาสนา มีความมั่นคงอยู่ในโลกนี้ ยาวนานกว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว

          อปริหานิยธรรมข้อที่ ๒ พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำ ความพร้อมเพรียงกันของหมู่คณะทั้ง ๓ วาระนี้ คือการแสดงออกถึงเอกภาพของหมู่คณะ หรือความพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียวกันของสมาชิกทั้งหมู่คณะ ยินดีเต็มใจที่จะร่วมเป็นร่วมตายกันทั้งในยามทุกข์และในยามสุข เพื่อแบกรับภารกิจ ของหมู่คณะให้สำเร็จลุล่วงไปได้ตามเป้าหมายและกำหนดเวลา ขณะเดียวกัน หากในยามใด ที่มีภัยอันตรายมากล้ำกราย สมาชิกทั้งหมดต่างก็พร้อมใจกันพิทักษ์รักษาองค์กรให้ผ่านพ้น อุปสรรคและวิกฤตอันตรายไปได้อย่างปลอดภัยและสง่างาม โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ลำบากใด ๆ ทั้งสิ้น นี่คืออานุภาพแห่งความเป็นเอกภาพของหมู่สงฆ์ ซึ่งทำให้พระพุทธศาสนา มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน

          อปริหานิยธรรมข้อที่ ๓ ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

          สำหรับข้อนี้ ถือเป็นความมั่นคงสูงสุดของพระพุทธศาสนา เปรียบเหมือนประเทศชาติ จะมั่นคงสูงสุดก็ต้องมีบทบัญญัติที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแม่บทกฎหมายสูงสุดที่ทุกคน ต้องยึดถือปฏิบัติตามนั้น ใครจะละเมิดมิได้ จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามใจชอบมิได้ เพราะรัฐธรรมนูญคือโครงสร้างของระบอบการปกครองประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามใจชอบ ก็คือการทำลายโครงสร้างระบอบการปกครองของประเทศโดยตรง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ไร้ระเบียบวินัยขึ้นในสังคมและประเทศชาติ อันจะนำพาบ้านเมืองไปสู่ ความล่มสลายในที่สุด

          พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมอบไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ก็เปรียบ ได้กับรัฐธรรมนูญของพระพุทธศาสนา การแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระธรรมคำสอนตามใจชอบ ย่อมเป็นการทำลายโครงสร้าง ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาโดยตรง เป็นเหตุให้เกิดการ ปฏิบัติผิด ๆ ขึ้นในหมู่สงฆ์ ซึ่งจะยังผลให้พุทธบริษัททั้งหลาย สิ้นศรัทธาในพระพุทธศาสนา แล้วเกิดสิ่งเลวร้ายตามมาอีกมากมาย จนกระทั่งทำให้พระพุทธศาสนา ต้องสูญหายไปจากโลกนี้โดยปริยาย

          ดังนั้น หมู่สงฆ์ทั้งหมดจำเป็นต้องตั้งใจศึกษา และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้ครบถ้วน ทั้ง ๓ ประการ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ชนิดอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อให้ประจักษ์แจ้งในอริยมรรค อริยผล ระดับต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง แม้เพียงระดับต้นก็ตาม ซึ่งย่อมจะสามารถค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยืนยงมั่นคงต่อไปได้ โดยไม่อันตรธานหายไปจากโลก นี่คือ อานุภาพของการรักษาพระธรรมวินัยไว้ด้วยการศึกษาและปฏิบัติของ หมู่สงฆ์พร้อมกันทั้งแผ่นดิน ซึ่งจะยังผลให้พระพุทธศาสนา มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นจากการ ทำหน้าที่เผยแผ่อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ของหมู่สงฆ์

          อปริหานิยธรรมข้อที่ ๔ ให้ความเคารพภิกษุที่เป็นประธานสงฆ์ และรับฟังถ้อยคำของท่าน

          สำหรับข้อนี้ มุ่งใช้การเคารพนับถือซึ่งกันและกันเป็นหัวใจในการปกครองสงฆ์ กล่าวคือ ในพระภิกษุสงฆ์หมู่หนึ่ง ๆ ที่บวชกันมานาน จะประกอบด้วยสมาชิก ๔ ประเภท คือ ๑) พระเถระผู้บวชมานานและมีอายุมาก ๒) พระเถระผู้มีพรรษามาก ๓) พระอุปัชฌาย์ ผู้เป็นสังฆบิดร ๔) สังฆปริณายกผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหัวหน้า และมีอำนาจในการปกครองสงฆ์หมู่นั้น

          การที่สงฆ์ยังปกครองกันอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยความเคารพอยู่ ๒ สถานะ คือ ๑) ในด้านการปกครอง ก็อาศัยความเคารพนับถือเชื่อฟังตามฐานะของท่านผู้มีอำนาจที่ได้รับการ แต่งตั้งนั้น ๒) ในด้านความประพฤติ ก็อาศัยความเคารพเชื่อฟังท่านผู้มีอายุพรรษามากกว่า ผู้สามารถเป็นต้นแบบความประพฤติให้กับเราได้

          ดังนั้น การปฏิบัติด้วยความเคารพนับถือ และเชื่อฟังถ้อยคำของพระเถระผู้ใหญ่เช่นนี้ ย่อมทำให้การปกครองสงฆ์มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง เพราะมีพระเถระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นต้นแบบด้านความประพฤติ เป็นผู้ชี้นำ และเป็นต้นแบบด้านการปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่คืออานุภาพของการปฏิบัติต่อกัน ด้วยความเคารพ และให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน ย่อมทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น

          ๒ การฝึกตนของสมาชิกที่ดี

          อปริหานิยธรรมข้อที่ ๕-๖ คือหลักการฝึกตนของสมาชิกที่ดี

          อปริหานิยธรรมข้อที่ ๕ ไม่ลุแก่อำนาจความอยากที่เกิดขึ้น

          สำหรับข้อนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกในองค์กร รู้จักการดำรงชีวิตด้วยความมักน้อย สันโดษ คือเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับ และการใช้ปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นของชีวิต เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประชาชน เพื่อควบคุมกิเลสไม่ให้กำเริบเสิบสาน และเพื่อเป็นต้นแบบ การดำเนินชีวิตที่ดีงามแก่ประชาชน อันจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความศรัทธามั่นคง ต่อพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอไม่เสื่อมคลาย

          ความไม่รู้ประมาณในการรับและการใช้ปัจจัย ๔ นี้เอง เป็นตัวการส่งเสริมกิเลส คือ ความอยาก หรือที่เรียกว่า ตัณหา ให้กำเริบเสิบสานขึ้นในใจคนเรา ทำให้เกิดความอยากมี อยากได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่าง ๆ ต่อไปอีก ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ตามมาด้วย เมื่อได้เป็นอะไรสมใจอยากแล้ว ครั้นต่อมารู้สึกเบื่อหน่ายก็ไม่อยาก เป็นเช่นนั้นต่อไป ความอยากมี อยากเป็น และความไม่อยากมี ไม่เป็น ดังกล่าวแล้วนี้ ล้วนเป็นเหตุให้คนเราก่อกรรมทำชั่วต่าง ๆ นานา ทำให้เกิดปัญหาทุกข์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันตามมาอีก และกลายเป็นวิบากกรรม ที่ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร อย่างไม่รู้จบสิ้น

          หมู่สงฆ์ใดก็ตามที่สมาชิกส่วนใหญ่ปล่อยให้ตัณหาท่วมใจ ก็จะถูกอำนาจตัณหาบีบคั้น ให้เกิดความคิดอิจฉาริษยากัน ใส่ร้ายป้ายสี ชิงดีชิงเด่นกัน ฟ้องร้องผู้ใหญ่ หรือยกตนข่มท่าน เพื่อแย่งชิงลาภสักการะและตำแหน่งในการปกครอง จนทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นภายในหมู่สงฆ์

          การที่หมู่สงฆ์คณะ ใดสามารถฝึกฝนอบรมตนเอง ให้มีความรู้ประมาณในการบริโภค การใช้สอยปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นของชีวิต ไม่ทำสิ่งใดตามอำนาจกิเลสตัณหา หมู่คณะ นั้นย่อมมีแต่ความสงบเรียบร้อย น่าเลื่อมใสศรัทธา ประชาชนย่อมอยากเข้าใกล้ อยากฟังธรรม อยากปฏิบัติธรรม และยินดีทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยความเต็มใจ ทำให้วัด ไม่ร้างเพราะประชาชนนิยมเข้ามาทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้พระพุทธศาสนา ดำรงอยู่อย่างมั่นคงเรื่อยไป

          อปริหานิยธรรมข้อที่ ๖ ยินดีในเสนาสนะป่า

          สำหรับข้อนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิก ในองค์กรมุ่งการบำเพ็ญภาวนาเพื่อปราบกิเลส ให้หมดสิ้น อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการบวชในพระพุทธศาสนา และเป็นการสานต่ออุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ด้วยการบรรลุมรรคผลนิพพาน

          ความดีงามและความเจริญรุ่งเรือง ของหมู่สงฆ์ขึ้นอยู่กับการฝึกอบรมจิตใจ ด้วยการบำเพ็ญภาวนา ถ้าหากหมู่สงฆ์ละทิ้งการทำภาวนาเมื่อใด พระพุทธศาสนาก็ถึงแก่กาลเสื่อม เมื่อนั้น เพราะไม่มีผู้บรรลุธรรมแม้ระดับต้น ๆ ตามคำสอนของพระพุทธองค์ สิ่งจำเป็น ในการบำเพ็ญภาวนานั้นก็คือ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สงบวิเวก กลางวันไม่มีคนพลุกพล่าน กลางคืนปราศจากเสียงรบกวน สถานที่แบบนี้ก็คือป่านั่นเอง

          การที่สงฆ์หมู่ใดยังคงหมั่นเพียรอบรมจิตใจ ด้วยการบำเพ็ญภาวนา สงฆ์หมู่นั้นย่อมมีแต่สมณะ ผู้สงบเสงี่ยมน่าเลื่อมใส เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย และเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐของโลก ใครได้ทำบุญด้วยก็ได้บุญมาก ใครได้ฟังธรรมก็สามารถน้อมนำใจให้เข้าถึงความสงบสุขภายในได้เร็วไว ขณะเดียวกัน พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญ การสอนการเจริญสมาธิภาวนา ให้กับประชาชนก็จะทวีจำนวนมากขึ้น ๆ ทำให้การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางเอกสายเดียวแห่งการตรัสรู้ธรรม แพร่หลายเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น อุดมการณ์สูงสุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะรื้อขนสรรพสัตว์ไปสู่พระนิพพาน ก็ยังมีผู้สืบทอดต่อไปอีกตราบนานเท่านาน

          ๓ การประสานไมตรีกับสงฆ์หมู่อื่น

          อปริหานิยธรรมข้อที่ ๗ คือหลักการประสานไมตรีกับสงฆ์หมู่อื่น

          อปริหานิยธรรมข้อที่ ๗ คิดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรเพื่อนสหธรรมิกผู้มีศีลที่ยังไม่มาสู่อาวาสพึงมา ที่มาแล้วก็ขอให้อยู่เป็นสุข

          สำหรับข้อนี้ มีจุดมุ่งหมายให้วัดแต่ละวัดในพระพุทธศาสนามีการประสานงานกันด้วย ไมตรีจิตอันดีงาม มีการสนับสนุนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งกันและกัน มีการช่วยเหลือ กันในคราวที่ประสบภัยร้ายแรงต่าง ๆ โดยไม่ทอดทิ้งกัน เช่น ภัยธรรมชาติบ้าง ภัยจากการรุกรานจากต่างศาสนาบ้าง เป็นต้น ทั้งนี้เพราะการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความร่วมมือกันจากหมู่สงฆ์ทั่วโลก ย่อมทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นในสังฆมณฑล ซึ่งจะช่วยดำรง รักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนาน

          การที่สงฆ์หมู่ใดให้ความสำคัญ ในเรื่องการต้อนรับปฏิสันถาร เพื่อนสหธรรมิกผู้มีศีลจากสงฆ์หมู่อื่นหรือวัดอื่น ย่อมเป็นการเปิดประตู รับผู้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยทำ ความเจริญให้เกิดขึ้น แก่วัดวาอารามของตน ให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ กว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันสิ่งใดที่หมู่คณะ ของตนทำได้ดีอยู่แล้ว ก็จะได้รับการเผยแพร่บอกต่อ ๆ กันไป จากเพื่อนสหธรรมิกที่มาเยี่ยมเยียนไปยังสงฆ์หมู่อื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป ทำให้กิตติศัพท์อันดีงาม ขจรขจายไปทั่วทั้งสังฆมณฑล และทำให้เกิดเครือข่ายองค์กรสงฆ์ เพื่อช่วยกันทำงานจรรโลงพระพุทธศาสนา ให้รุ่งเรืองไปทั่วทั้งประเทศและทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า พระพุทธศาสนาจะยังคงดำรง อยู่อย่างมั่นคงเป็นปึกแผ่น และได้รับการเผยแผ่ไปทั่วทุกมุมโลก อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ว่าจะก้าวย่างไปที่ใดในโลกนี้ ก็มีเพื่อนสหธรรมิกยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกัน อยู่ทั่วโลก

          จากเรื่องวิธีสร้างความมั่นคง ของหมู่สงฆ์ที่บรรยายมาตามลำดับนี้ ย่อมเห็นได้ว่า องค์กรใดหรือสงฆ์หมู่ใด ที่บริหารองค์กรด้วยอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เพราะมีการบริหารงานที่ดี มีการฝึกบุคลากรที่ดี และมีเครือข่ายสหธรรมิก ที่ดีในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกันนั่นเอง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 122 เดือนธันวาคม ปี2555

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล