วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เป้าหมายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาของว

พระธรรมเทศนา

 






 

 

   คุณสมบัติของคนดีประกอบด้วยอะไรบ้าง

           บุคคลที่มีสัมมาทิฐิเข้าไปตั้งมั่นอยู่ในใจ ย่อมสามารถประมวลคุณสมบัติของคนดีตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสูตรต่าง ๆ แล้วนำมาสรุปเพื่อยึดเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ดังนี้

           ๑. รู้จักตั้งเป้าหมายที่ถูกต้องดีงาม ๓ ระดับ คือ 

         ๑) เป้าหมายชีวิตระดับต้น หมายถึง การตั้งตนเป็นหลักฐานมั่นคง ไม่เป็นคนหลักลอย มีอาชีพ สุจริต มีรายได้ประจำแน่นอน รู้จักเก็บทรัพย์สมบัติ ที่หามาได้ให้ปลอดภัย รู้จักบริหารรายได้ให้มีเงินเหลือเก็บ คือ เก็บไว้ใช้ในยามที่มีอันตราย และเก็บ ไว้สร้างบุญกุศล

         ๒) เป้าหมายชีวิตระดับกลาง หมายถึง การ ตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่สุคติโลกสวรรค์ หลังจากละโลก นี้ไปแล้ว

        ๓) เป้าหมายชีวิตระดับสูง หมายถึง การอุทิศ ชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างบารมี เพื่อบรรลุมรรคผล นิพพาน หรือทำพระนิพพานให้แจ้ง หลุดพ้นจากสังสารวัฏไปโดยเด็ดขาด

 





 

           การที่สัมมาทิฐิชนรู้จักการตั้งเป้าหมายชีวิต ๓ ระดับนี้ ก็เพราะปัญญาทางธรรมของเขานั่นเอง บุคคลที่มีปัญญาทางธรรมย่อมมีปัญญาทางโลกอย่างแน่นอน แม้เขาจะมีฐานะไม่ร่ำรวย แต่เขาก็สามารถ พึ่งตนเองได้ เลี้ยงตนเองได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ ไม่ต้องเป็นภาระของสังคมหรือของใคร ๆ ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นภัยต่อสังคม เพราะเขาเป็นคนดี ขณะเดียวกัน เขาก็อาจจะเป็นที่พึ่ง หรือผู้ชี้ทางสว่าง ให้แก่สังคมได้ในงานที่เขาถนัดและมีประสบการณ์ แต่ถ้าเขามีฐานะร่ำรวย เขาก็จะสามารถเป็นทั้งที่พึ่ง และผู้ชี้ทางสว่างให้แก่สังคมได้อย่างกว้างขวาง เพราะเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าคนดีมีสัมมาทิฐิเป็นคนมีปัญญา หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า "ไม่โง่" นั่นเอง

          ๒. มีความสำนึกรับผิดชอบ บุคคลที่มีสัมมา-ทิฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคง ย่อมจะพัฒนาสำนึก รับผิดชอบด้านต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างกว้างขวาง แต่ความสำนึกรับผิดชอบที่เป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งของ คนดีที่โลกต้องการนั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

           ๑) ความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่ง ความเป็นมนุษย์ของตนเอง ด้วยการละกรรมกิเลส ๔ ประการ คือ การรักษาศีล ๔ ข้อแรกในศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั่นเอง
           ๒) ความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่ง ความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นซึ่งอยู่ร่วมสังคม ด้วยการละอคติ ๔ ประการ
           ๓)ความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจด้วยการไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ๖ ประการ
           ๔)ความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

           ๔.๑)สิ่งแวดล้อมที่เป็นบุคคล ได้แก่ ทิศ ๖ ของตนเอง ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อทิศ ๖
           ๔.๒)สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งมีทั้ง สิ่งแวดล้อมในเมือง และสิ่งแวดล้อมที่เป็นทรัพยากร ตามธรรมชาติ ตามหุบเขาลำเนาไพร ด้วยการไม่ทำลายและพยายามช่วยกันอนุรักษ์ไว้

           จากความตั้งใจและพยายามตั้งตนให้อยู่ในความดีดังกล่าวแล้วนี้ ย่อมแสดงว่า คนดีมีสัมมาทิฐิ มีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า "ไม่แสบ" นั่นเอง

           ๓. รู้จักสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตร การสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชน และสังคมโดยทั่วไป เพราะการสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรเป็นวิธีเดียว ที่สามารถป้องกันและกำจัดมีจฉาทิฐิชนให้หมดไปจากหมู่บ้าน ชุมชน และสังคมได้โดยเด็ดขาด

           หมู่บ้านใดที่สมาชิกแต่ละคนล้วนมีคุณสมบัติ ของกัลยาณมิตร แน่นอนเหลือเกินว่าหมู่บ้านนั้นจะประสบแต่สันติสุขและมีความเจริญรุ่งเรือง เพราะอะไร เพราะทุกคนในหมู่บ้านล้วนเป็นคนมีศีล ปลอดอบายมุข แต่ละคนล้วนขวนขวาย พากเพียรสั่งสมบุญกุศลไปพร้อม ๆ กับการทำมาหากิน เนื่องจากแต่ละคนมีเป้าหมายชีวิตเหมือนกัน คือ มุ่งตั้งตนให้ได้ในโลกนี้ ละโลกนี้แล้วก็จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ในโลกหน้า

           ในการทำมาหากิน กัลยาณมิตรย่อมหาเป็น เก็บเป็น และใช้เป็น ขณะเดียวกันก็แบ่งทรัพย์ที่หามาได้ส่วนหนึ่งไว้เป็นงบประมาณสำหรับการสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตร

           เครือข่ายกัลยาณมิตรจะยั่งยืน ก็เพราะมวลสมาชิกมาประชุมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนมีการ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ การประชุม แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมวลสมาชิก เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า เครือข่ายกัลยาณมิตรจะยั่งยืนและเจริญรุ่งเรือง ก็เพราะน้ำใจเสียสละของมวลสมาชิกนั่นเอง

           การรู้จักสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรดังกล่าวมา นี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนดีมีสัมมาทิฐินั้น ล้วนมีใจเปี่ยมล้นด้วยความเมตตากรุณาและความเสียสละเป็นนิสัย หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า "ไม่เคยแล้งน้ำใจ"

ใครบ้างที่ต้องได้รับการปลูกฝังสัมมาทิฐิ

           ทุกคนในหมู่บ้าน ในชุมชน และในสังคมทุกระดับ ต้องได้รับการปลูกฝังสัมมาทิฐิ โดยไม่มีการยกเว้น แต่เพื่อให้การปลูกฝังเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง การปลูกฝังอบรมสัมมาทิฐิจำเป็นต้องจัดทำให้เหมาะสมกับวัยของแต่ละคน

 

 






แบบแผนหรือกระบวนการปลูกฝัง
อบรมสัมมาทิฐิควรทำอย่างไร


           แบบแผนหรือกระบวนการปลูกฝังอบรม สัมมาทิฐิ ควรที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับวัย สติปัญญา ความสามารถ ความสนใจ และความสะดวกของผู้เข้ารับการอบรม จึงควรแบ่งออกเป็น ๔ ลักษณะ คือ

           ๑. การปลูกฝังให้เกิดเป็นลักษณะนิสัย การปลูกฝังวิธีนี้เหมาะกับเด็กทารกทั่วไป ขณะที่ยังไม่เข้า โรงเรียน สิ่งที่นำมาปลูกฝัง คือ ศิลและคุณธรรมความดีต่าง ๆ เพื่อสร้างลักษณะนิสัยรักบุญกลัวบาป รักความดี เกลียดความชั่ว ตลอดจนวัฒนธรรมชาวพุทธเท่าที่เด็กจะสามารถทำได้

           ๒. การปลูกฝังลักษณะนิสัยควบคู่ไปกับการปฏีบัติกิจวัตรประจำวัน การปลูกฝังวิธีนี้เหมาะกับเด็กระดับอนุบาลและประถมต้น เนื้อหาสาระของธรรมะ ที่นำมาปลูกฝังฝึกฝนอบรม ควรเป็นเนื้อหาธรรมะจากสัมมาทีฐี ๑๐ ส่วนเด็กระดับประถมปลาย ก็ยังคงเน้นการปลูกฝังลักษณะนิสัยควบคู่กับการปฏิบัติ แต่เนื้อหาสาระของธรรมะที่นำมาปลูกฝังมีมากขึ้น

          ๓.การปลูกฝังธรรมะภาคปฏิบัติควบคู่กับ ภาคทฤษฎี การปลูกฝังวิธีนี้เหมาะกับเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา การปลูกฝังธรรมะภาคปฏิบัติ มีความหมาย ๒ ประการ คือ

           การนำธรรมะภาคทฤษฎีที่เรียนในชั้นเรียนมาปฏิบัติจริงในขณะที่อยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาแต่ละวัน ๆ ประการหนึ่ง กับการเจริญสมาธิภาวนาอีกประการหนึ่ง
           อนึ่ง การปลูกฝังธรรมะภาคปฏิบัติระดับนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การปลูกฝังลักษณะนิสัย กิจกรรมต่าง ๆ ควรมีลักษณะสืบเนื่องสอดคล้อง กับการปลูกฝังในข้อ ๒ ที่ผ่านมา
           ๔. การถ่ายทอดความดีซึ่งกันและกัน การปลูกฝังวิธีนี้เหมาะกับผู้ใหญ่โดยทั่วไป ซึ่งเข้าสู่อาชีพ การงานแล้ว กระบวนการปฏีรูปมนุษย์ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นก็จัดอยู่ในการปลูกฝังวิธีนี้ด้วย

ผู้ให้การปลูกฝังอบรมสัมมาทิฐิ

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ทิศ ๖ ของแต่ละคนทำหน้าที่รับผิดชอบ ในการปลูกฝังอบรมสัมมาทิฐิให้เข้าไปอยู่ในใจของคนเรา โดยทรงกำหนดเป็นอริยวินัยให้ปฏิบัติตามหน้าที่ ที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ในแต่ละทิศอย่างเคร่งครัด

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล