พระนาลกะ – พระยสะ ๓

วันที่ 17 กค. พ.ศ.2548

 

 

..... เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ยสะตามที่ท่านทูลขอโดยตรัสว่า

 

“ เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”

 

จบพระพุทธดำรัส ยสะก็ได้เป็นพระสมบูรณ์แบบในพระพุทธศาสนา และปรากฏชื่อว่า พระยสะ มานับแต่นั้น พระยสะบวชด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกับพระปัญจวัคคีย์ ต่างแต่ว่าท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนบวชไม่ต้องบำเพ็ญเพียรเพื่อละกิเลสอีกต่อไป พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสไว้ในตอนท้ายว่า “ เพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไปโดยชอบ” อย่างที่ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์

 

วันรุ่งขึ้นพระยสะได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปโปรดโยมมารดา และภรรยาเก่าที่บ้านของท่าน พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้บุคคลทั้ง ๒ ฟังจนได้บรรลุโสดาปัตติผลด้วยเช่นกัน

 

โยมบิดาของพระยสะได้เป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา ส่วนโยมมารดาและภรรยาเก่าได้เป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนาเช่นกัน

 

งานสำคัญ

 

พระยสะอยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรกที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๖๐ รูป แต่น่าเสียดายที่ในคัมภีร์ไม่มีกล่าวถึงผลงานของท่านไว้จึงทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่า ท่านเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ที่ใดและมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร รวมทั้งเรื่องราวชีวิตบั้นปลายของท่านก็ไม่มีบันทึกไว้

 

อย่างไรก็ตาม พระยสะก็ถือได้ว่าเป็นสาวกสำคัญรูปหนึ่งของพระพุทธเจ้าในฐานะที่การออกบวชของท่านนอกจากทำให้ โยมบิดาโยมมารดาและภรรยาเก่าได้เป็นอุบาสกอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมานั้นแล้วยังเป็นเหตุจูงใจให้บุตรเศรษฐีคนอื่น ๆ อีก ๕๔ คน ซึ่งเป็นเพื่อนของท่านออกบวชตามและได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งต่อมาได้รวมอยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรกด้วย

 

เอตทัคคะ- อดีตชาติ

 

พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแต่งตั้งพระยสะไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะท่านมิได้ตั้งจิตปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะไว้ ได้แต่ตั้งจิตปรารถนาเพื่อการบรรลุอรหัตผลเท่านั้น อรรถกถาธรรมบท และอรรถกถาเถรคาถา ( ปรมัตถทีปนี) กล่าวถึงชีวิตในอดีตชาติของท่านช่วงที่พบพระพุทธเจ้าสุเมธะ พระพุทธเจ้าสิทธัตถะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะไว้ ดังนี้

 

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสุเมธะนั้น ท่านเกิดเป็นพญานาคมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า วันหนึ่งได้นิมนต์ให้เสด็จมายังที่อยู่ของท่านพร้อมด้วยพระสาวก ท่านพร้อมทั้งบริวารได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกรวมทั้งได้ถวายผ้าไตรจีวรให้ครอง จากนั้นได้ตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล พระพุทธเจ้าสุเมธะทรงเห็นด้วยพระญาณว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่จึงทรงพยากรณ์ว่า

 

“ ในอีก ๓๐, ๐๐๐ กัปข้างหน้าพระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์แล้ว จักได้บรรลุอรหัตผล”

 

ท่านฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้ทำบุญอื่น ๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าสิทธัตถะ

 

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสิทธัตถะนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองสุทัสสนะ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้นำเอาแก้ว ๗ ประการไปบูชาต้นกรรณิกาอันเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวีนยว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

 

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านก็มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ถึงขั้นยอมสละบ้านเรือนออกบวชบำเพ็ญสมณธรรม จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธันดรหนึ่ง

 

ในช่วงพุทธันดรนั้น ท่านได้เวียนว่ายตายเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ มีอยู่ชาติหนึ่งท่านเกิดเป็นคนเก็บซากศพโดยร่วมกับเพื่อน ๕๔ คน เที่ยวเก็บศพไม่มีญาติไปไว้หรือเผาในป่าช้า

 

วันหนึ่งท่านกับเพื่อนพบศพหญิงตายทั้งกลมจึงพร้อมใจกันนำไปเผาในป่าช้า ขณะที่กำลังเผาอยู่นั้นท่านเกิดอสุภสัญญาคือความรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่ของสวยงามจึงเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังเพื่อน ๆ พิจารณาตามที่ท่านเล่าแล้วได้อสุภสัญญาเช่นเดียวกัน

 

นอกจากบอกเพื่อน ๆ แล้ว ท่านยังกลับไปบอกบิดามารดาและภรรยาด้วย จนคนเหล่านั้นได้อสุภสัญญาขึ้นมาด้วย

 

ว่ากันว่าอสุภสัญญาแต่อดีตชาตินั้นได้เป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ท่านออกบวชในชาติปัจจุบันกล่าวคือ อสุภสัญญาแต่อดีตชาติเกิดขึ้นกระตุ้นเตือนจิตให้ท่านเห็นบรรดานางระบำที่นอนหลับใหลไม่ได้สติ มีสภาพเหมือนซากศพในป่าช้าจึงทำให้ท่านเกิดความเบื่อหน่าย จนต้องออกบวชดังกล่าวแล้ว-

 

วาจานุสรณ์

 

 

พระยสะเป็นพระสาวกรูปแรกที่ได้บรรลุอรหัตผลขณะครองเพศฆราวาส ท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกของท่านไว้ความว่า

 

ทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยังหอมกรุ่นด้วยเครื่องลูบไล้

 

ทั้ง ๆ ที่ร่างกายยังงามพร้อมด้วยเครื่องประดับ

 

เราก็ได้บรรลุวิชชา ๓ เราทำตามคำสอนของ

 

พระพุทธเจ้าได้แล้ว

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019514350096385 Mins