ละเลยหน้าที่ กาลีกินตัว

วันที่ 23 มค. พ.ศ.2559

ละเลยหน้าที่ กาลีกินตัว

            สาเหตุที่ตรัสชาดก พระทศพลโอวาทแก่พระเจ้าโกศลถึงราชธรรม แล้วตรัสถึงโบราณกษัตริย์ทั้งหลาย ทรงนำอดีตมาตรัสดังนี้..

             ยุคสมัยหนึ่ง มีพระราชานามว่าปัญจาละ แต่ละวันพระองค์เอาแต่เสวยราชสมบัติด้วยอธรรมหมกมุ่นอยู่แต่กับกามารมณ์และความเกียจคร้าน ทรงปล่อยปะละเลยราชกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง ปล่อยให้ขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวงอยู่ตลอดเวลา อำมาตย์และข้าราชบริพารก็กลายเป็นคนพาลไปทั้งเมืองชาวบ้านถูกภาษีอากรบีบจนต้องพาลูกเมียหลบหนีเข้าป่า ยอมมีชีวิตเป็นคนป่าหากินผลไม้พืชผักกลับยังประเสริฐกว่าอยู่เป็นคนเมือง บ้านกลับรกร้าง ป่ากลับแน่นขนัด บ้านร้างเริ่มก็เกิดขึ้นมากมายกลางวันผู้คนไม่ยอมอยู่บ้านเพราะเกรงกลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมารังแก กลางคืนก็นอนผวาอยู่ในบ้านเพราะกลัวพวกโจรมาปล้นชิง และทำร้ายทารุณกรรม

 

             กาลนั้นเอง ได้มีรุกขเทวดาตนหนึ่งซึ่งได้รับเครื่องสักการะจากพระราชาทุกๆ ปี เห็นว่าพระราชาองค์นี้ประมาทยิ่งนัก ประเทศจะฉิบหายกันก็คราวนี้ จึงคิดตอบแทนคุณพระราชาที่เลี้ยงดูตนมาทุกๆ ปี ตกดึกจึงเข้าไปยืนอยู่ข้างพระเศียรเปล่งรัศมีที่ห้องบรรทมแล้วกล่าวเตือนพระราชาว่า..
    "พระองค์เป็นผู้ประมาทแล้ว แว่นแคว้นทั้งสิ้นจะพินาศกันใหญ่ ราชสมบัติของพระองค์จะถูกยื้อแย่งแล้วท่านก็จะต้องไปเกิดในมหานรก พระองค์จงไปเที่ยวฟังเหตุการณ์ในบ้านเมืองและตามชนบทซะ จงรีบไปสอดส่องอย่าชักช้า อย่าให้แว่นแคว้นต้องฉิบหายก่อนสายเกินแก้!"

 

             รุ่งขึ้น พระราชามีรับสั่งให้อำมาตย์ดูแลราชสมบัติแทนส่วนพระองค์กับปุโรหิตคู่พระทัยได้ปลอมตัวเป็นชาวบ้านออกจากพระนครไป สืบข่าวชาวบ้านทันที พอออกจากวังได้ไม่ทันไรก็พบชายแก่กำลังนำกิ่งหนามมาจากดงเอามาล้อมกั้นประตูบ้านแล้วพาบุตรภรรยาเข้าป่า เวลาเย็นเมื่อพวกทหารกลับไปหมดแล้วก็กลับมานอนพักที่บ้าน เผอิญถูกหนามที่หน้าประตูยอกเท้า นั่งกระโหย่งบ่งหนามพลางด่าพระราชาขึ้นฟ้าว่า..
    "ขอให้พระเจ้าปัญจาละ! จงถูกลูกศรเสียบในสงคราม เจ็บปวดทรมานเหมือนเราถูกหนามแทงนี้ด้วยเถิด!"

    ปุโรหิตขุ่นเคืองชายแก่ยิ่งนัก พรวดพราดเข้าไปถามทันทีว่า..
    "เฮ้ย! ท่านเป็นคนแก่ ตาไม่ดีเองจึงถูกหนามแทงเท้า พระราชามาเกี่ยวอะไรด้วยเล่า! หรือพระราชาต้องทำหน้าที่ตรวจตราหนามแล้วคอยบอกเจ้ารึไง"
    "ที่เราถูกหนามแทงต้องเป็นความผิดของพระเจ้าปัญจาละ ถูกต้องแล้ว! พระราชาองค์นี้ผิดมากมายเสียด้วย เพราะพระองค์มิได้พิทักษ์รักษาบ้านเมือง ชาวบ้านถูกกดขี่ด้วยภาษีโหด กลางคืนก็ถูกพวกโจรปล้น กลางวันถูกทหารทำร้ายปล้นหนักยิ่งกว่าโจร ชาวบ้านจึงพากันเอาหนามมาล้อมรั้วไงเล่าท่านอย่ามาสนับสนุนพระราชาเยี่ยงนี้เลย"

 

           พระราชาตรัสเรียกปุโรหิตมาว่า ชายชรานี้พูดถูก เป็นความผิดของเราแท้ๆ แล้วทั้งสองก็เดินทางต่อไป ไม่ทันไรก็ได้ยินเสียงของหญิงชราคอยเฝ้ารักษาบุตรสาวสองคนไม่ให้คนร้ายมาข่มเหงนางกำลังปีนขึ้นพุ่มไม้เพื่อเก็บผักมาให้บุตรกิน เกิดพลัดตกลงมา ร้องอุทานว่า..
"โธ่เอ๊ย! หญิงสาวหาผัวไม่ได้ต้องมาลำบาก เมื่อไหร่พระราชาจะตายซักที!"


ปุโรหิตปราดเข้าไปทันที ถามอย่างหัวเสียว่า..
"เฮ้ย! หญิงชั่ว เเกไม่มีเหตุผลเสียเลย พระราชามีหน้าที่มาหาผัวให้คนอื่นรึไง"

    "ท่านเอ๋ย เราไม่ได้พูดชั่วเลย ยามนี้คนเลวมีมากมาย ตอนกลางคืนมีโจรร้ายมาปล้น ตอนกลางวันพวกทหารปล้นเสียเอง การครองชีพลำบากลำบนเหลือเกิน การเลี้ยงดูลูกเมียก็ลำบาก หญิงสาวจะหาผัวได้ที่ไหนกันล่ะ" หญิงชราขบฟันที่เหลือน้อยเต็มที กล่าวอย่างคับแค้นใจ

 

พระราชาทรงยอมรับเหตุผลของหญิงชราอย่างปฏิเสธไม่ได้ แล้วเดินหน้าต่อไป ไปได้ไม่ไกลก็ได้ยินเสียงของชาวนาคนหนึ่งถูกผาลแทงล้มลงร้องโวยวายว่า..
"ขอให้พระเจ้าปัญจาละถูกหอกแทง! นอนกลิ้งตายในสงครามด้วยเถอะ!"


ปุโรหิตพุ่งไปไม่รอช้า ด่าชาวนาว่า..
"เจ้าคนชาติชั่วเอ๊ย! เจ้าโกรธพระราชาโดยไม่ยุติธรรมเลย เจ้าทำร้ายโคของเจ้าเองแล้วพลาดถูกผาลแทง ไฉนจึงมาสาปแช่งพระราชาด้วยเล่า"

"เรามีเหตุผลนะท่าน! เราโกรธพระราชาเพราะพระองค์ไม่ทรงพิทักษ์รักษาบ้านเมืองเลยชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกดขี่ด้วยภาษีที่ไม่เป็นธรรม กลางคืนยังถูกพวกโจรปล้นอีก วันนี้แม่ครัวเอาข้าวมาส่งเราช้าเพราะถูกพวกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองบังคับให้ทำอาหารไปเลี้ยงดูพวกมัน แม่ครัวเลยหุงข้าวมาให้เราใหม่ จึงมาช้า เราหิวจนหน้ามืดตาลายจนพลาดเช่นนี้"

 

             พระราชาเดินทางต่อไปอีก พบวัวเอาเท้าดีดคนรีดนมกลิ้งโค่โร่ล้มลงไป แต่แทนที่คนรีดนมจะด่าวัวกลับด่าพระราชาอย่างรุนแรงว่า..
"ขอให้พระเจ้าปัญจาละจงถูกฟันแทงด้วยดาบ ให้ฉิบหายใน สงครามเถิด!"

 

ปุโรหิตฟังแล้วสุดทน ปราดเข้าไปถามเอาความกับคนรีดนมโคคนรีดนมก็ตอบว่า..
"เพราะพวกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมันสั่งให้เอานมไปเลี้ยงดูมันมากๆ จึงต้องรีดนมเกินกำลังโคข้าจึงถูกดีดเช่นนี้ พระราชาเป็นคนเลว ไม่ยอมมาดูแลเลย"

 

พระราชายังคงเดินทางต่อไป เห็นแม่โคนอนซมไม่กินหญ้า พวกเด็กๆ เลี้ยงโคก็พากันสาปแช่งพระราชาว่า..
"ขอให้บุตรทุกคนของพระราชาจงตายไปให้หมดเลย!"


ปุโรหิตฉงนใจยิ่งนักจึงเข้าไปถามเด็กๆ เด็กๆ ก็ชี้แจงว่า..
"เพราะบ้านเมืองมีแต่โจร! เช้านี้ พวกทหารจู่ๆ ก็เดินมาเอามีดแทงลูกโคแล้วเอาหนังไปทำฝักดาบ แม่โคตัวนี้เลยเสียใจไม่ยอมกินหญ้า"

 

พระราชาสลดใจเดินต่อไป พบฝูงกากำลังเอาจะงอยปากจิกกินพวกกบในสระแห้งสระหนึ่งมิน่าเชื่อ พวกกบก็ยังพากันสาบแช่งด่าพระราชาว่า..
"ขอให้พระเจ้าปัญจาละพระองค์นี้ พร้อมด้วยพระราชโอรสจงถูกฆ่าตายอย่างอนาถในสนามรบด้วยเถิด ขอให้ฝูงการุมจิกกินซากศพพระราชาเหมือนที่เรากำลังถูกพวกกาจิกกินอยู่นี้ทีเดียว"รุกขเทวดาตามดูอยู่ขณะนั้นก็พลันบันดาลให้พระราชาและปุโรหิตฟังสำเนียงกบได้ กบชี้แจงให้ปุโรหิตฟังว่า..


    "เพราะบ้านเมืองมีโจรชุกชุม ชาวบ้านจึงไม่มีจะกิน แม้ก้อนข้าวจะให้ฝูงกาก็ไม่มี พวกมันจึงมารุมจิกกินพวกข้า แม้จะหลบหลีกอย่างดีก็หนีไม่พ้นเพราะความหิวโหยของพวกกา มันจึงไม่ยอมเลิกรา"


              พระราชาฟังกบแล้วสลดใจยิ่งนัก ทรงดำริว่า ผู้คนทั้งหมดจนกระทั่งกบซึ่งเป็นสัตว์ดิรัจฉานยังพากันด่าเราผู้เดียว ทรงเสด็จกลับพระนครทันที แต่นั้นมาทรงตรวจตราผู้ร้าย จัดแจงบ้านเมืองให้สงบด้วยพระราชอำนาจที่ทรงมีอยู่ แล้วเสวยราชย์โดยธรรมสร้างบุญกุศลเรื่อยมา ไม่ทรงปล่อยปละละเลยหน้าที่ในราชกิจอีกต่อไป บ้านเมืองกลับมาสงบสุขอีกครั้งดังสมัยพระราชบิดา ประชาชนออกจากป่าเข้ามาอยู่บ้านตามเดิม ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญพระราชา ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าเบิกบานฝูงสัตว์สุขสำราญไปตามกันส่วนผู้ที่สุขใจที่สุดคือพระราชานั่นเอง..

 

ประชุมชาดก
    พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า เทวดาครั้งนั้นมาเป็นตถาคตแล


    จากชาดกเรื่องนี้ พระราชาไม่จริงใจต่อทุกคนที่คัดเลือกพระองค์มาดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขแต่กลับเสวยสุขแต่ผู้เดียว เอาเปรียบชาวเมือง หลอกลวงชาวเมืองด้วยการไม่ทำหน้าที่ ซ้ำยังปิดโอกาสผู้อื่นที่พร้อมกว่าให้เข้ามารับตำแหน่งแทนตน จึงเป็นที่เกลียดชังของชาวเมือง

    การรับผิดชอบเป็นการสร้างสัจจะบารมีโดยตรง เป็นการปกปิดความไม่จริงรอบด้านที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือปกปิดทิศทั้ง 6 ที่แวดล้อมตน เช่น ทิศเบื้องหน้าคือบิดามารดา ให้หมั่นหาเลี้ยงดูกตัญูรู้คุณท่าน ทิศเบื้องขวาคืออาจารย์ ให้หมั่นเคารพบูชาปฏิบัติตามคำสอน ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหายคบหาด้วยใจจริงไม่ทิ้งยามมีภัย ทิศเบื้องหลังภริยาให้ซื่อสัตย์จริงใจไม่ดูหมิ่น เป็นต้น ผู้ที่รับผิดชอบต่อทุกสิ่งได้บริบูรณ์ จึงเป็นที่แช่มชื่นใจของผู้คนทั้งหลาย เพราะคนทั้งหลายได้รับความสุขสดชื่นจากผู้นั้นอย่างเต็มที่ เหมือนสระน้ำใสเย็นยังความชื่นใจแก่มวลสัตว์ทั้งผอง

 

    "นิสัยรับผิดชอบต่อหน้าที่, ไม่ทำเหลาะแหละ ติดความสบาย, จริงกับทุกสิ่ง, จริงต่อ
บุคคลรอบด้าน และรับผิดชอบต่อหมู่คณะ" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่อง
เข้าในสัจจบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.006284499168396 Mins