เพราะปากมาก จึงถูกกระชากวิญญาณ

วันที่ 21 มค. พ.ศ.2559

เพราะปากมาก จึงถูกกระชากวิญญาณ

        สาเหตุที่ตรัสชาดก ภิกษุสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ภิกษุโกกาลิกะด่าพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ บังเกิดในปทุมนรกเพราะอาศัยปากของตน เรื่องมีอยู่ว่า..

        พระอัครสาวกทั้งสองทูลลาพระทศพลหลีกเร้นไปอยู่เงียบๆ ที่ชนบท ถึงที่อยู่ของพระโกกาลิกะแล้วขอจำพรรษา ครั้นออกพรรษาแล้วบอกลาพระโกกาลิกะเพื่อกลับมาเฝ้าพระทศพล ชาวบ้านเพิ่งทราบว่าพระอัครสาวกทั้งสองมาจึงรีบนำไทยธรรมไปถวาย พระเถระมิได้รับอะไรไว้เลย พวกอุบาสกอ้อนวอนว่า เมื่อพระคุณเจ้าไม่รับ ก็นิมนต์มาที่นี้อีกเพื่ออนุเคราะห์พวกกระผม พระเถระรับนิมนต์แล้วไปสู่สำนักพระชินสีห์

 

         กาลต่อมาพระเถระกลับมาตามคำนิมนต์พร้อมภิกษุอีกพันรูป ชาวบ้านถวายมหาทานกันมากมาย พระโกกาลิกะไม่ได้จีวรก็ด่าตัดพ้อพระเถระว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะ เมื่อก่อนเขาให้ลาภไม่รับ บัดนี้รับเสียจนล้นเหลือไม่มองดูผู้อื่นเลย พระเถระทราบดำรินั้นด้วยญาณคิดว่าโกกาลิกะประสบอกุศลเพราะอาศัยตน จึงพาคณะลาจากไป พวกชาวบ้านอาราธนาให้อยู่อีกสองสามวันก็มิได้ปรารถนาจะอยู่ อุบาสกเหล่านั้นไปพบพระโกกาลิกะกล่าวว่า ได้ยินว่าพระคุณเจ้าทนการอยู่ของพระเถระไม่ได้ นิมนต์ไปเถิดขอรับ โปรดให้พระเถระเจ้าทั้งสองรับขมาแล้วนิมนต์กลับมา หรือไม่เช่นนั้นพระคุณเจ้าจงหนีไปอยู่ที่อื่นเถิด พระโกกาลิกะจำต้องไปอ้อนวอนพระเถระด้วยความกลัวพวกชาวบ้าน แต่พระเถระทั้งสองก็มิประสงค์จะกลับ พวกอุบาสกคิดว่า เมื่อภิกษุผู้มีบาปกรรมนี้ยังอยู่ในวิหาร พวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักจักไม่อยู่ พวกเราต้องไล่เธอไป แล้วกล่าวว่า พระคุณเจ้าอย่าอยู่ที่นี้เลย พระคุณเจ้า จะพึ่งพาอาศัยอะไรๆ พวกข้าพเจ้าไม่ได้แล้ว

 

         เมื่อเธอถูกพวกเหล่านั้นชังน้ำหน้า ได้ไปพระเชตวันเข้าเฝ้าพระทศพลกราบทูลว่า พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมีความปรารถนาลามก พระทศพลทรงตรัสห้ามพระโกกาลิกะแล้วให้ยังจิตเลื่อมใสในพระอัครสาวกทั้งสอง โกกาลิกะกราบทูลต่อว่า พระองค์มัวแต่เชื่ออัครสาวกของพระองค์ พวกนี้ล้วนเลวๆ มีลับลมคมใน ทุศีลทั้งนั้น แล้วหลีกไป กาลต่อมาพระโกกาลิกะเกิดตุ่มเท่ามะตูมสุก แตกน้ำเหลือง เลือดโทรมกาย เจ็บแสบนอนอยู่ เมื่อตายไปบังเกิดในปทุมนรกดังกล่าวนั่นเอง

 

        พระทศพลเสด็จมาทรงทราบเรื่องที่ภิกษุสนทนากันแล้วตรัสว่า แม้ในกาลก่อน โกกาลิกะก็เสวยทุกข์เพราะปากของตนมาแล้วเหมือนกัน ทรงนำอดีตมาตรัสเล่าดังต่อไปนี้..

        ในอดีต มีอำมาตย์ผู้หนึ่งคิดค้นหาอุบายที่จะห้ามพระราชาตรัสพระวาจามากเกินไป ดูเหมือนพระองค์เองก็ไม่ทรงรู้ตัวว่าทรงมีพระวาจามากจนน่ารำคาญ เหล่าอำมาตย์ ข้าราชบริพารต่างก็เอือมระอาไปตามๆ กัน วันหนึ่งพระราชาเสด็จไปพระราชอุทยานกับท่านอำมาตย์ เบื้องบนพระราชามีมะม่วงอยู่ต้นหนึ่ง ขณะนั้นมีสิ่งหนึ่งตกลงมาใกล้พระบาทของพระราชาสิ่งนั้นไม่ใช่มะม่วงแต่กลับเป็นลูกนกดุเหว่า! พระราชาฉงนพระทัยจึงมองขึ้นไปกลับต้องทรงฉงนพระทัยยิ่งขึ้นไปอีก เพราะบนต้นมะม่วงมีรังอีกา แต่ที่ร่วงลงมาคือลูกดุเหว่า! พระราชารับสั่งถามอำมาตย์คู่พระทัยว่า..

"สหายเอ๋ย! นี่มันเรื่องอะไรกัน แปลกดี"


         อำมาตย์ มองแจ่มใสขึ้นมาทันที ยิ้มอยู่ในใจคิดว่า เราจดจ่อหาเรื่องเปรียบเทียบเพื่อให้พระราชาได้คิดมานานแล้ว วันนี้พบเสียที กล่าวอย่างยินดีว่า..

    "ข้าแต่มหาราช นี่แหละ! คนปากกล้า พูดมากในเวลาไม่ควรพูด จะต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้เอง ลูกนกดุเหว่าตัวนี้เติบโตได้เพราะนางกา คงเป็นเพราะแม่มันแอบวางไข่ทิ้งไว้ ปีกมันยังไม่ทันแข็งก็ร้องเสียงดุเหว่าในเวลาไม่สมควรจะร้อง นางกาจึงรู้ว่านี่มิใช่ลูกของมัน มันจึงตีด้วยจะงอยปากผลักให้ตกลงมา มาตรว่าเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ถ้าพูดมากในกาลไม่ควรพูดย่อมได้ทุกข์ถึงเพียงนี้นะ พระเจ้าข้า ดังนั้นเมื่อยังไม่ถึงเวลาพูด ผู้ใดพูดมากไป ผู้นั้นจะถูกทำร้ายเหมือนลูกนกดุเหว่า มีดที่ลับคมกริบ ยาพิษที่ร้ายแรง หาทำให้ตายได้เร็วเหมือนวาจาที่ชั่วช้าไม่ บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้ทั้งในกาลควรพูดและไม่ควรพูด ผู้ใดมีปัญญาพิจารณาเห็นประจักษ์แล้ว ต้องพูดให้พอเหมาะและถูกกาล ผู้นั้นย่อมจับศัตรูได้ทั้งหมดดุจครุฑจับนาคได้ฉะนั้น"

 

         พระราชาทรงสดับคำของอำมาตย์จบ ตั้งแต่นั้นมาก็มีพระดำรัสพอประมาณ ทรงปูนบำเหน็จยศตำแหน่งแก่อำมาตย์ให้ใหญ่โตกว่าเดิม แต่สิ่งที่สำคัญที่พระองค์ทรงปูนบำเหน็จให้คือทรงให้ข้าราชบริพารได้สบายหูกว่าเดิม นี่นับเป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่ทรงประทานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยแท้..

 

ประชุมชาดก
          พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า ลูกนกดุเหว่าในกาลนั้นมาเป็นพระโกกาลิกะส่วนอำมาตย์บัณฑิตครั้งนั้นมาเป็นตถาคตแล

        จากชาดกเรื่องนี้ คนพูดมากเหมือนจะไม่รู้ตัวว่าได้พูดมากอยู่ จึงพูดพร่ำรำพันเรื่อย ผู้ที่ต้องพูดมากควรสังเกตผู้ฟังไว้ให้มาก หากเขารำคาญเมื่อใดก็ให้รีบหยุดพูดเสีย เพราะพูดไปก็ไม่เกิดประโยชน์ รังแต่จะให้โทษแก่ตัว มิตรสหายก็จะพากันอิดหนาระอาใจไปเสียเปล่าๆ

 

"นิสัยไม่ชอบพูดพร่ำเพรื่อ เพ้อเจ้อ ไร้สาระ, พูดถูกกาลเทศะ มีวาจาหนัก ถนอมคำพูด
และชอบใช้ปัญญากำกับวาจา" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในสัจจบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0053396503130595 Mins