สรุปโอวาทที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมที่ ๒๒๒
เห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไร : เริ่มวางใจกันเป็นแล้ว ให้ได้ความสบาย ความสุข นี่มาถูกทางแล้ว ตรึกนอกรอบสำคัญนะ คือ ตั้งแต่ในรอบนึกดวง นึกองค์พระไม่ออก นอกรอบให้นึกไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็นึกออก จากเจือจางก็หนาแน่นขึ้น ค่อย ๆ นึกไป เห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไปนึกถึงเรื่องอื่น หมั่นทำบ่อย ๆ เพื่อรวบรวมความคิดที่ดีรวบรวมธาตุที่บริสุทธิ์เอาไว้ แม้นับ สัมมา อะระหัง หลวงพ่อว่าก็ยังดี นับไปเถอะ ใจจะค่อย ๆ ละเอียดไปเอง ดีกว่าฟุ้ง แม้นับไปยังไม่เห็นอะไรก็ตาม เดี๋ยวไปถึงจุดเข้าก็ละเอียดเอง หมั่นสั่งสมไปเรื่อย ๆ เป็นการสั่งสมธาตุที่บริสุทธิ์ให้กับตัวเราเอง
ทำไมต้องศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ : หากต้องการพ้นทุกข์จริง ๆ จะต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ เรื่อยไปตามลำดับ ๗ ประการแรก ไม่อาจดับทุกข์ได้ แต่จะเป็นพลังผลักดัน ให้มาถึงข้อที่ ๘ คือ สัมมาสมาธิ จะพ้นทุกข์ได้ต้องสัมมาสมาธิ หรือพูดภาษาชาวบ้าน คือ ต้องทำสมาธินั่นเอง ใจต้องกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ข้องกับสิ่งใด เมื่อใดใจและกายเป็นหนึ่งเดียวกัน ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ก็จะขับเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน แล้วหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานของชีวิตไปได้ เหมือนสารถีฝีมือดี นั่งอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องของพวงมาลัย ก็สามารถขับเคลื่อนรถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ใจที่มาตั้งมั่นในศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ ในคืนวันเพ็ญ เดือน ๖ นั้น ก็เป็นประดุจสารถีผู้ฉลาด ที่นั่งอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง หลังตำแหน่งของพวงมาลัย ที่จะขับเคลื่อนใจไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ตำแหน่งที่ถูกต้องในตัวนั้น อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ นี่คือคำตอบว่า ทำไมต้องศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ เพราะฐานอื่น ๆ นั้นขับเคลื่อนไปไม่ถึง เหมือนเรานั่งไม่ถูกตำแหน่งของสารถี ที่จะขับเคลื่อนใจไปสู่จุดหมายปลายทางได้ เมื่อในยานพาหนะมีตำแหน่งอยู่เพียงตำแหน่งเดียว ที่พวงมาลัยตั้งอยู่ ตำแหน่งที่ถูกต้องก็มีเพียงที่เดียว คือ ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ นี่แหละคือคำตอบว่า ทำไมต้อง ฐานที่ ๗ และก็เป็นเช่นนี้กันทุก ๆ พระองค์ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ต่างก็ขับเคลื่อนสรีรยนต์ ในตำแหน่งที่ถูกต้องตรงนี้ แล้วก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน เห็นไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
คุณครูไม่ใหญ่