..... “ พระเจ้าสุทโธทนะ ” กษัตริย์แห่งศากยวงศ์ มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า “ มหามายาเทวี ” ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ร่วมกันมาด้วยความผาสุก จนกระทั่งพระเทวีทรงมีพระครรภ์ เมื่อพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับที่กรุงเทวทหะเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ก็เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมสมัยนั้น ๑
พระเทวีเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยข้าราชบริพารในเวลาเช้า ของวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อขบวนเสด็จผ่าน มาถึงสวนลุมพินี ๒ อันตั้งอยู่กึ่งกลางทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะต่อกัน พระนางทรงมีพระประสงค์จะประพาสอุทยาน ข้าราชบริพารจึงเชิญเสด็จแวะไปประทับพักผ่อนอิริยาบถ ขณะประทับอยู่ที่สวนนั้น พระนางได้ประสูติ พระโอรสภายใต้ต้นสาละ ๓ นั่นเอง
ข่าวพระประสูติกาลแพร่ไปถึงอสิตดาบส ๔ ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย ดาบสท่านนี้มีความคุ้นเคยกับราชสำนักของพระเจ้าสุทโธทนะ พอทราบข่าวจึงลงจากเขาเข้าไปเยี่ยมเยียน ท่านมีความรู้เรื่องมหาปุริสลักษณะ (ลักษณะมหาบุรุษ) พอเห็นพระราชกุมารก็พยากรณ์ได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวว่า
“ พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชน เป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักร พรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย ” ๕ แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นทรงรู้สึกอัศจรรย์ และ เปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมาร ตามอย่างดาบส
เมื่อพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ประกอบพิธีเฉลิมฉลองรับขวัญ และขนานพระนาม โดยเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนผู้เชี่ยวชาญไตรเพทมาบริโภคโภชนาหาร ที่ประชุมของพราหมณ์ได้ถวายพระนามว่า “ สิทธัตถะ ” แปลว่า "สมประสงค์" กล่าวคือพระราชกุมารจะทรงปรารถนาสิ่งใด ก็จะได้สิ่งนั้นตามความปรารถนา หากคนส่วนมากมักเรียกพระองค ์ตามชื่อโคตรว่า "โคตมะ"
ต่อจากนั้นพราหมณ์ ๘ คน ๖ ผู้รู้การทำนายลักษณะ ได้ตรวจสอบลักษณะของพระกุมารแล้ว พบว่าพระกุมารมีลักษณ์มหาบุรุษ ๓๒ ประการ ๗ จึงให้คำทำนายชีวิตในอนาคตของพระกุมาร พราหมณ์ ๗ คน ทำนายว่าพระสิทธัตถราช กุมารนี้ ถ้าอยู่ครองเพศฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าออกผนวช จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก แต่พราหมณ์คนที่ ๘ ชื่อว่า “ โกณฑัญญะ ” ให้คำทำนายยืนยันหนักแน่นเป็นคติเดียวว่า พระกุมารจะต้องออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อจากนั้น ที่ประชุมของพราหมณ์ได้ถวายพระนามแก่พระกุมารว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา" หมายความว่า "ผู้สร้างความสมปรารถนาแก่ชาวโลกทั้งปวง" ๘
ลุมพินีวัน...ป่าใหญ่แห่งประสูติกาล
“ ลุมพินี ” สมัยพุทธกาลเป็นป่าใหญ่ อยู่ในเส้นทางระหว่างกรุงกบิลพิสดุ์ และกรุงเทวทหะ มีความสำคัญในทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของโลก เพราะเป็นพุทธสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ “ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ”
เนื่องจากเป็นธรรมเนียมของยุคสมัยโบราณนั้น หญิงเวลามีครรภ์ใกล้คลอด นิยมกลับบ้านเมืองเดิมเพื่อทำการคลอดลูก แต่เนื่องจาก “ พระนางสิริมหามายาพุทธมารดา ” เมืองเดิมอยู่ที่กรุงเทวทหะ (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงกบิลพัสดุ์) เมื่อใกล้ประสูติกาล จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพาร เดินทางกลับมาตุภูมิที่กรุงเทวทหะ แต่ยังไม่ทันถึงมาตุภูมิ ไปได้เพียงแค่ครึ่งทางที่ป่าใหญ่ "ลุมพินี" ก็พอดีเกิดประสูติกาล ประสูติพระราชกุมารคือ "เจ้าชายสิทธัตถะ" ที่กลางป่าใหญ่นั่นเอง
ลุมพินีวัน จึงกลายเป็นพุทธสังเวชนียสถานหนึ่งในสี่ตำบลที่สำคัญยิ่ง ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอไภรวา ประเทศเนปาล ห่างจากสิทธารถนคร ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๒ กิโลเมตร และห่างจากเมืองกบิลพัสดุ์เก่า(ติโลระโกต) มาทางทิศตะวันออก ๒๒ กิโลเมตร หรือนัยหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเทวทหะ
กองโบราณคดีเนปาล ได้รักษาดูแลลุมพินีวันแห่งนี้ไว้ เป็นสมบัติของชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ของนักแสวงบุญทั่วโลกบริเวณที่นี่ เป็นลักษณะรูปพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า เจ้าหน้าที่โบราณคดีเนปาลได้จัดการล้อมรั้วกั้นไว้ ภายในบริเวณมีซากปรักหักพังของตัวอาคาร คล้ายสังฆารามแยกเป็นหมวดหมู่ของห้องเล็กๆ ก่อด้วยอิฐทั้งหมดเป็นของเก่า ที่เจ้าหน้าที่ได้ขุดค้นขึ้นมา บางแห่งก็เป็นองค์สถูป ทรงกลมตั้งเรียงกัน
ทางด้านเหนือของบริเวณนี้มีวิหารอยู่หนึ่งหลังเรียกกันว่า “ มายาเทวีมหาวิหาร ” ภายในวิหารมีรูปสลักหินเก่าแก่ตั้งอยู่ในรูปสลักของพระนางสิริมหามายา กำลังประทับยืนประสูติพระราชโอรส คือ เจ้าชายสิทธัตถะ
ติดกับบริเวณตัววิหารลงมาทางทิศใต้ เป็นสระน้ำโบกขรณีซึ่งเชื่อกันว่า เป็นสระน้ำเก่าที่ใช้สรงสนามพระวรกายของพระสิทธัตถะกุมารเมื่อประสูติออกมาใหม่ๆ ติดกับตัววิหารทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้ง ของเสาพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงปักวางไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำคัญว่าตรงนี้คือ ที่ประสูติของพระพุทธองค์ ทางด้านทิศตะวันออกของบริเวณสวนลุมพินี (นอกเขต) ปัจจุบันมีวัดพุทธอยู่ ๒ วัด คือ วัดชาวพุทธเนปาลและวัดธิเบต
พุทธอุทยานสถานทางประวัติศาสตร์ของโลก
ปัจจุบัน"ลุมพินี"ได้รับความสำคัญจากชาวพุทธทั่วโลก กล่าวคือได้รับการสถาปนา ให้เป็น “ พุทธอุทยานสถานทางประวัติศาสตร์ของโลก ” ทั้งนี้ด้วยแรงศรัทธาและน้ำใจของชาวพุทธทั่วโลก ความสำนึกน้อมนึกได้เกิดขึ้นในสมัยขณะที่ ฯพณฯ อูถั่น (ชาวพุทธพม่า) ขณะยังดำรงตำแหน่งเป็น "เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ" ได้ปรารภกับชาวพุทธทั่วโลก เพื่อโครงการนี้และได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น รวมถึงการเงินด้วยเป็นจำนวนเงินก้อนใหญ่พอควร ฯพณฯอูถั่น ได้มอบโครงการนี้พร้อมทั้งทุน ขอให้องค์การพุทธศานิกสัมพันธ์แห่งโลก ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่ถาวร อยู่ที่ประเทศไทย เป็นแกนประสานงาน และดำเนินงานตามขั้นตอนเริ่มสมัย มจ.หญิง พูนพิศมัย ดิศกุล เป็นประธาน และสมัยต่อมา ฯพณฯสัญญา ธรรมศักดิ์ สืบต่อตราบถึงทุกวันนี้
โครงการ “ พุทธอุทยานสถาน ” ที่ลุมพินี เป็นโครงการทางพระพุทธศาสนาที่ใหญ่โตมาก เพราะ
( ๑) ด้วยเนื้อที่ “ พุทธอุทยานสถาน ” แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ๑.เนื้อที่ส่วนที่ปลูกเป็นป่าใหญ่ นับหมื่นเอเคอร์ ๒. เนื้อที่ส่วนจัดสรรให้ประเทศต่างๆ สร้างวัด ๖ , ๐๐๐ ไร่ ๓. เนื้อที่ส่วนที่เป็น “ พุทธอุทยานสถาน ”
(๒) ใหญ่ทางด้านเป็นศูนย์ประสานงานทางพระพุทธศาสนา
(๓) เป็น “ ศูนย์รวมวัดทั่วโลก ” มาปลูกสร้างในพื้นที่บริเวณติดต่อกัน ซึ่งมีประเทศต่างๆ มาสร้างวัดแล้วกว่า ๔๐ ประเทศ (รวมทั้งจีน และโซเวียตรัสเซียด้วย)
ลุมพินี ป่าใหญ่ที่รื่นรมณย์ในอดีต ยังคงดำเนินความสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน แม้ผ่านกาลเวลามากว่า ๒,๕๐๐ ปี เนื่องเพราะเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ ของการบังเกิดขึ้นด้วยกายเนื้อแห่งมหาบุรุษ ผู้มุ่งสร้างบารมีเพื่อยกตนและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ข้ามพ้นวัฏฏะสงสารสู่ฝั่งพระนิพพาน... “ เป็นการบังเกิดขึ้นอีกเพียงครั้งเดียว เพื่อที่จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ”
------------------------------------
๑ มธุรัตถวิลาสินี (อรรถกถาพุทธวงศ์) , มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๓ , หน้า ๓๙๔
๒ ปัจจุบันคือตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล
๓ ประสูติในวันศุกร์ เพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
๔ ดาบสนี้มีชื่อต่างกัน ในนาลกสูตร(ขุ.สุ. ๒๕/๖๘๕/๕๙๐) ดาบส มีชื่อว่า อสิตะหรือกัณหสิริ แต่ในมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ หน้า ๓๙๗ ดาบสมีชื่อว่า กาฬเทวิล
๕ ขุ.ส. ๒๕/๔๖๙/๓๘๘.
๖ พราหมณ์ ๘ คน คือ รามะ ธชะ ลักขณะ มันตี โกณฑัญญะ โภชะ สุยามะ และสุทัตตะ ดู ชาตกัฎฐกถา ภาค ๑ ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า ๘๔
๗ ที.ปา. ๑๑/๕๗/๑๓๐.
๘ ชาตกัฏฐกถา ภาค ๑ หน้า ๘๕
วุฑฒิวงศ์