๖ ปี แห่งการบำเพ็ญเพียรในภพชาติปัจจุบัน หรือ ๒๐ อสงไขย กับ ๑ แสน มหากัป ของการสั่งสมบารมี และแล้ววันนี้ก็มาถึงในเวลาเช้าของวันเพ็ญเดือน ๖ พระสิทธัตถะประทับนั่งใต้โคนต้นไทร นางสุชาดานำถาดอาหารมาเพื่อแก้บนรุกขเทวดาประจำต้นไทร พบพระสิทธัตถะก็เข้าใจว่าเป็นเทวดานั่งรอเครื่องพลีกรรม จึงนำข้าวมธุปายาสไปถวายทั้งถาด พระสิทธัตถะรับของถวายแล้วถือถาดไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สรงสนานพระวรกายแล้วขึ้นมาประทับนั่งเสวยข้าวมธุปายาสจำนวน ๔๙ ปั้นจนหมด จากนั้นเสด็จไปประทับในดงไม้สาละ จนเวลาเย็นจึงเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ ทรงปูลาดหญ้าคา ๘ กำที่โสตถิยพราหมณ์ถวายในระหว่างทางลงใต้ต้นมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันประปฤษฎางค์เข้าหาต้นมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานว่า "แม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป เรายังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด จะไม่ลุกขึ้นจากที่นี่ตราบนั้น" ๑
จากนั้น ทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิ กระทั่งยามที่หนึ่งของคืนนั้นทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสนุสติญาณ คือ ระลึกชาติปางก่อนของพระองค์เองได้ ในยามที่ ๒ ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย และในยามสุดท้าย ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ คือตรัสรู้อริยสัจ ๔ ว่าอะไรคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ความรู้นี้ทำให้กิเลสอาสวะหมดสิ้นไปจากจิตใจพระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึง สภาพจิตของพระองค์ขณะเข้าถึงความหลุดพ้นไว้ว่า
“ เมื่อเรารู้เห็น ( อริยสัจ ๔) อย่างนี้ จิตจึงหลุดพ้นทั้งจาก กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว เราได้มีญาณหยั่งรู้ว่า ตัวเองหลุดพ้นแล้ว เรารู้แจ่มชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์จบแล้ว ทำหน้าที่สำเร็จแล้ว ไม่มีอะไรให้เป็นอย่างนี้อีกแล้ว ” ๒
พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลาที่แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้า รวบระยะเวลาที่บำเพ็ญเพียรตั้งแต่ออกผนวชจนตรัสรู้ได้ ๖ ปี ขณะที่ตรัสรู้พระองค์มีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา
พุทธคยา ... โพธิมณฑลแห่งการตรัสรู้
“ พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์-พุทธคยา ” แสดงที่ประทับตรัสรู้ ตั้งอยู่ที่ ตำบลพุทธคยา อำเภอคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย มีลักษณะเป็นรูปเจดีย์ ๔ เหลี่ยมสูง ๑๗๐ ฟุต วัดโดยรอบฐาน ๑๒๑.๒๙ เมตร มีรูปทรงเรียวรี สมส่วน สง่างาม ประทับตา ประทับใจแก่ทุกท่านที่ได้เห็นและน้อมนมัสการเป็นอย่างมาก เดิมนั้น บริเวณพุทธคยา ที่ประทับตรัสรู้ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้สร้างเป็นมหาวิหารที่สง่างามและใหญ่โต ทั่วรัฐพิหาร ซึ่งเป็นรัฐที่กว้างใหญ่รัฐหนึ่งของอินเดีย มีพลเมืองถึง ๖๐ ล้านเศษ (มากกว่าจำนวนพลเมืองในประเทศไทย ทั้งประเทศ) ในยุคสมัยพระพุทธศาสนารุ่งเรือง ต่างก็ได้สร้าง "วิหาร" ไว้อย่างมากมายเต็มทั่วทั้งรัฐ มีลักษณะเหมือนเมืองไทยเราสร้างวัดไว้อย่างมากมาย ไปบ้านไหนเมืองใดก็จะพบแต่วัดที่สวยงาม ดังนั้น "รัฐพิหาร" ของอินเดียในปัจจุบันที่ได้นามนี้เป็นชื่อรัฐ ก็เพราะรัฐนี้มี "วิหาร" เต็มทั่วไปหมด
เมื่อปีพุทธศักราช ๖๙๔ กษัตริย์ชาวพุทธ พระนามว่า “ หุวิชกะ ” ได้พิจารณาเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาและเพื่อเป็นศูนย์รวมศรัทธา ในฐานะที่พุทธศาสนาและเพื่อเป็นศูนย์รวมศรัทธา ในฐานะที่พุทธคยาเป็นพุทธสถานต้นกำเนิดพระพุทธศาสนาจึงได้ให้ช่างออกแบบสร้าง “ เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา ” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นรูปเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงรีสวยงาม สร้างเป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นที่กราบน้อมนมัสการ ชั้นบนเป็นห้องภาวนาเพื่อสงบจิตใจ
เนื่องจากองค์พระเจดีย์มีอายุยืนนาน ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์โดยลำดับมา เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๙ (๕ ธันวาคม ๒๕๑๙) คณะกรรมการองค์พระเจดีย์ได้ขอร้องให้ พระธรรมมหาวีรานุวัตร (บุญเลิศ ท. คล่องสั่งสอน) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา และหัวหน้าพระธรรมทูตไทยในอินเดียในสมัยนั้น ในนามชาวพุทธไทย ช่วยบูรณะชั้นบนองค์พระเจดีย์ (สร้างเป็นห้องไทย) และช่วยสร้างกำแพงแก้วรอบองค์พระเจดีย์ทั้งหมด ๘๐ ช่องพร้อมทั้งซุ้มประตูศิลปแบบอโศก ๒ ซุ้ม ทำให้องค์พระเจดีย์ได้รับการดูแลสะอาดเรียบร้อยดีงามขึ้น ส่วนยอดองค์พระเจดีย์ (ตรัสรู้) ชาวพุทธไทยได้ขอติดตั้งไฟแสงจันทร์ให้งามสว่างไสว แก่องค์พระเจดีย์มาจนบัดนี้แม้ปัจจุบัน ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และนำมาสั่งสอนจะกระจายไปทั่วโลก แต่ “ พุทธคยา ” ก็ยังคงดำรงความศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ ในฐานะจุดเริ่มต้นของการค้นพบ “ สัจจะธรรม ” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการเข้าธรรมะภายในตัว เป็นแนวทางให้บัณฑิตผู้มีปัญญาได้ดำเนินรอยตามพระบาทพระบรมศาสดาเพื่อมุ่งปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมในตัวเช่นกัน
---------------------------------
๑ อง.ทุก. ๒๐/๖๔/๒๕๑.
๒ ม.ม. ๑๓/๔๕๙/๑๖๖๔
วุฑฒิวงศ์