.
....พรรษาที่ ๔๕ หลังตรัสรู้ ในวันเพ็ญเดือน ๖ เช่นกัน และเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งการทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ในพรรษานี้พระองค์ได้เสด็จประทับจำพรรษา ณ เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี โดยระหว่างพรรษา พระองค์ทรงประชวรอย่างหนัก มีความเจ็บปวดอย่างรุนแรงถึงกับจะปรินิพพาน แต่พระองค์ทรงระงับความเจ็บปวดทรมานด้วยการเข้า “ อนิมิตเจโตสมาธิ ” ข่มไว้ได้
ก่อนหน้านั้น ในวันเพ็ญเดือน ๓ พรรษาเดียวกันนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับ ณ ปาวาลเจดีย์ ตรัสบอกพระอานนท์ว่า พระองค์จะปรินิพพานในเวลา ๓ เดือนนับแต่วันนั้น การตัดสินพระทัยเช่นนี้เรียกว่า “ ปลงพระชนมายุสังขาร ”
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองเวสาลีแสดงธรรมในที่ต่างๆ จนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ เหลืออีกเพียง ๑ วันจะครบ ๓ เดือน พระองค์เสด็จถึงเมืองปาวา ประทับอยู่ในสวนมะม่วงของนายจุนทะ ทรงแสดงธรรมโปรดนายจุนทะให้ได้บรรลุโสดาปัตติผล และนายจุนทะได้อาราธนาพระพุทธองค์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา
วันรุ่งขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ เสด็จไปฉันภัตตาหารที่บ้านนายจุนทะ ซึ่งเป็นการรับบิณฑบาตครั้งสุดท้าย พระองค์ฉันสูกรมัททวะ ๑ ที่นายจุนทะทำถวาย ทรงห้ามมิให้ภิกษุอื่นฉันสูกรมัททวะนั้น หลังจากอนุโมทนาแล้ว เสด็จออกจากบ้านนายจุนทะ ในระหว่างทางทรงประชวรหนักขึ้นถึงลงพระโลหิต แต่ทรงบรรเทาทุกขเวทนานั้นด้วยกำลังอธิวาสนขันติและฌานสมาบัติ เสด็จเดินทางต่อไป ทรงพักเหนื่อยเป็นระยะ ๆ จนลุถึงเมืองกุสินารา เสด็จเข้าไปยังดงไม้สาละ รับสั่งให้ปูลาดเสนาสนะ ระหว่างไม้สาละคู่หนึ่งแล้วเสด็จบรรทมสีหไสยาโดยตั้งพระทัยไม่ลุกขึ้นอีก เวลานั้นต้นสาละทั้งคู่ผลิดอกบานเต็มต้นโปรยดอกหล่นต้องพระพุทธสรีระ ประดุจเป็นการบูชาพระพุทธองค์
ขณะประทับในอิริยาบถนั้น ทรงแสดงธรรมตลอดเวลาทรงแนะนำพระอานนท์ให้ปฏิบัติต่อพุทธสรีระ เช่นเดียวกับการปฏิบัติพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิ ในคืนนั้นสุภัททปริพาชกได้ขอเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาต่าง ๆ พระองค์ทรงตอบ ปัญหาให้เป็นที่พอใจ สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตการอุปสมบทให้เป็นพิเศษ สุภัททะจึงได้บวชเป็นพระภิกษุ นับเป็นสาวกองค์สุดท้าย อันนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจจนนาทีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
จากนั้น พระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาเป็นปัจฉิมโอวาทว่า “ ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ” ๒ สิ้นพระสุรเสียงนี้ก็มีแต่ความเงียบสงบ พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งคืนพระจันทร์เต็มดวงของเดือนวิสาขะ ๓
กุสินารา – มหานครแห่งแคว้นมัลละ
สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปรินิพพาน คือ กุสินารา เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "กุสินครา" พระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สถานที่นี้เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ ปีพอดี ภายหลังจากฉันบิณฑบาตจากนายจุนทะ เป็นอาหารมื้อสุดท้าย กล่าวกันว่า นายจุนทะ ได้ถวายอาหารอันประณีตที่ประกอบด้วย "สุกรมัททวะ" ที่ตำราในเมืองไทยเราถอดความว่า “ เนื้อสุกร ” แต่ทางอินเดียถือว่า "เป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่หมูชอบกิน" ปัจจุบันบ้านนายจุนทะที่พระพุทธเจ้าเสวยอาหารครั้งสุดท้าย ยังเป็นเนินสูงใหญ่กว้าง รัฐบาลอินเดียได้ให้ความคุ้มครองรักษาไว้ด้วยดี เส้นทางผ่านลำธาร "กกุธานที" มายังกุสินารายังมีปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์อยู่ เส้นทางนี้ส่วนมากคณะแสวงบุญหรือนักท่องเที่ยวมักไปไม่ถึง เพราะเส้นทางไม่สะดวกเท่าที่ควร ความจริงแล้วไม่ไกลมากนัก
บริเวณ "กุสินารา" สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น ใหญ่กว้างมีต้นไม้นานาพันธุ์ร่มรื่นพอสมควรโดยเฉพาะหน้าพระคันธกุฏี ซึ่งเป็นโบราณวัตถุ มีต้นสาละปลูกไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อเป็นอนุสสติถึงพระพุทธองค์ “ องค์พระสถูปปรินิพพาน ” เป็นทรงบาตรคว่ำสูงใหญ่ มีฉัตร ๓ ขั้นตอนบนสุด ได้พังเมื่อปลายปี ๒๕๐๖ ปัจจุบันจะเห็นได้ ในลักษณะครึ่งท่อนขององค์พระสถูปอันเป็นโบราณวัตถุ ตอนหน้าองค์พระสถูปปรินิพพานมีมหาวิหารเป็นพระคันธกุฏี พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ปางเสด็จดับขันธปรินิพพานขนาดใหญ่พอสมควร รูปปั้นพระพุทธรูปปางปรินิพพานนี้ถือว่างดงามมาก ลักษณะเหมือนพระพุทธองค์บรรทมอย่างสบายๆ ไม่มีลักษณะที่ฝืนๆ แต่ดูเป็นธรรมชาติ สร้างความซาบซึ้งประทับใจ ให้ผู้พบเห็นทั้งหลาย
กุสินาราในปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า “ กุสินาคาร์ ” ตั้งอยู่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกาเซีย จังหวัดโครักขปุระ รัฐอุตตรประเทศ อยู่ห่างจากเมืองพาราณสี ๒๖๐ กิโลเมตร
ปูชนียสถานที่สำคัญที่เห็นในปัจจุบันเรียกว่า “ สาลวโนทยาน ” ที่ปรินิพพาน มีซากอิฐบริเวณที่รัฐบาลรักษาไว้ ประกอบด้วยมหาปรินิพพานสถูป นิพพานวิหาร ด้านในมีพระพุทธรูปปางปรินิพพาน บริเวณรอบๆ มีซากเจดีย์ วิหาร สระน้ำ ต้นสาละ และสวนสาธารณะ
ห่างจากมหาปรินิพพานสถูป ไปทางทิศตะวันออก ๑ กิโลเมตร จะเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เป็นเนินดินขนาดใหญ่ เรียกว่า “ มกุฏพันธนเจดีย์ ” หรือชาวท้องถิ่นเรียกว่า “ รัมภาร์สถูป ” รัฐบาลอินเดียจัดรักษาให้มีรั้วล้อมรอบขอบชิดเป็นอย่างดี
กุสินารา ในปัจจุบัน ยังคงอยู่ และเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้มาเยือนได้ตระหนักว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องดับขันธปรินิพพาน ละสังขารจากกายหยาบ แต่เป็นการดับเพื่อไม่กลับมาเกิดอีก พ้นภัยจากวัฏฏะสังสาร เป็นเครื่องเตือนใจว่า ทุกคนต้องตาย และให้ผู้ได้พบเห็นมีกำลังใจ ปฏิบัติธรรมเจริญรอยตาม เพื่อเข้าถึงภาวะหมดกิเลสเฉกเช่นพระองค์ให้ได้
---------------------------
๑ ปฐมสมโพธิกถา หน้า ๔๐๕ กล่าวถึงสูกรมัททวะว่าเป็นขนมที่ปรุงด้วยโอทนกุมมาสและเบญจโครส ส่วนนักปราชญ์ตะวันตกมีทัศนะว่า สูกรมัทวะเป็นเห็ดชนิดหนึ่ง (ดู พุทธทาสภิกขุ , พุทธประวัติสำหรับนักศึกษา , แพร่พิทยา , ๒๕๑๔ , หน้า ๒๘๔-๒๘๘).
๒ ที.ม. ๑๐/๑๘๐/๑๔๓.
๓ ตรงกับวันอังคาร เพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ปีมะเส็ง ต้น พ.ศ.
วุฑฒิวงศ์