การแข่งขันเล่านิทานชาดก

วันที่ 21 มิย. พ.ศ.2559

การแข่งขันเล่านิทานชาดก , ติตติรชาดก , นิทานชาดก , สอบตอบปัญหาธรรมะ , ทางก้าวหน้า

การแข่งขันเล่านิทานชาดก

      กิจกรรมพิเศษที่เพิ่มขึ้นในการจัดนิทรรศการทางก้าวหน้าครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2528 คือการแข่งขัน    เล่านิทานชาดก โดยใช้รูปแบบและระเบียบการของการแข่งขันเล่านิทานชาดก ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก ในการจัดนิทรรศการ ทางก้าวหน้าภาคเหนือŽ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528

       ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในกรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนที่มาแข่ง 80 ทีม มีการแข่งรอบคัดเลือกรอบแรกทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย รวม 4 วัน แล้วแข่งรอบคัดเลือกครั้งที่ 2 ตอนเช้าและตอนบ่ายอีกครั้ง วันสุดท้ายของนิทรรศการจึงเป็นการแข่งรอบชิงชนะเลิศ ในปีที่ 2 ที่จัดให้มีการแข่งขันเล่านิทานชาดกนั้น มีโรงเรียนที่ส่งนักเรียนมาแข่งขันถึง 105 โรงเรียน ต้องจัดแข่งขันรอบแรกที่เวทีชั่วคราวที่ศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ โดยคัดให้เหลือ 45 ทีม แล้วจึงคัด อีกครั้งให้เหลือ 15 ทีม มาแข่งรอบสุดท้าย ณ ศาลาพระเกี้ยวระหว่างงานนิทรรศการ

     การแข่งขันเล่านิทานชาดกเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน และทำให้บรรยากาศระหว่างงานนิทรรศการมีสีสัน ด้วยเครื่องแต่งกายของนักเรียนเล็กๆ ที่แต่งมาให้สอดคล้องกับเรื่องชาดก ของโรงเรียน ถึงกับเช่าเครื่องละครเพื่อประกอบการแสดงชาดกเรื่องสุวรรณสาม แต่การแข่งขันเล่านิทานชาดกต้องมีคณะกรรมการหลายคนอยู่ประจำที่ศาลาพระเกี้ยว จึงทำให้คณะกรรมการบางท่านจำเป็นต้องขาดการเรียน ติดต่อกันเป็นวันๆ ในช่วงจัดนิทรรศการ ดังนั้นในปีต่อมาคณะกรรมการชมรมพุทธศาสตร์ต้องไปจัดนิทรรศการอย่างย่อที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง จึงต้องงดกิจกรรมพิเศษนี้


การแข่งขันเล่านิทานชาดกครั้งประวัติศาสตร์

     ในระหว่างนิทรรศการ ทางก้าวหน้าŽ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2531 ได้มีการแข่งขันเล่านิทานชาดก อีกครั้ง โดยปรับปรุงระเบียบการใหม่ ลดจำนวนทีมที่แข่งขันในแต่ละวัน เพื่อมิให้คณะกรรมการผู้จัดงานต้องขาดเรียนมาก และเพื่อความสะดวกสำหรับท่านอาจารย์ที่ให้เกียรติมาเป็นคณะกรรมการตัดสิน การแข่งขันเล่านิทานชาดกจึงอยู่ในระหว่างเวลาประมาณ 11.30 - 13.00 น. และขอให้ทุกโรงเรียนใช้ระบบประหยัดในการใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง มีโรงเรียนที่สมัครรวม 13 โรงเรียน

โรงเรียนแรกที่ส่งใบสมัครพร้อมเรื่องย่อที่จะแสดงคือ โรงเรียนราชินี มีรายนามนักเรียนในทีมดังนี้

1.พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา    ชั้น ป. 5
2.เด็กหญิงวิมลฉัตร แสงอ่อน    ชั้น ป. 6
3.เด็กหญิงวรรณภาณี ทัศนาญชลี    ชั้น ป. 6
4.เด็กหญิงโสมนัส พู่มนตรี    ชั้น ป. 5
5.เด็กหญิงโชติมา เจริญพักตร์    ชั้น ป. 5

      นิทานชาดกที่แสดงคือ ติตติรชาดกŽ ซึ่งตามเนื้อเรื่องมีสัตว์ 3 ชนิด คือ ช้าง ลิงและนกกระทา และต้นไทรอีกหนึ่งต้น ครบจำนวนผู้แสดง 4 คน เนื้อเรื่องเล่าว่า สัตว์ทั้ง 3 ชนิดอาศัยอยู่ที่ต้นไทร แต่ตีกัน แกล้งกันอยู่ตลอดเวลาเพราะขาดความเคารพยำเกรงกัน ในที่สุดก็ตกลงกันว่า มาเคารพกันดีไหม แต่ละตัวจึงต้องบรรยายว่าใครเกิดก่อน ใครมีอาวุโสกว่ากัน เมื่อการแสดงนิทานชาดกได้เสร็จสิ้นลง แล้วได้มีการประกาศผล ปรากฏว่าโรงเรียนราชินีได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันเล่านิทานชาดกในครั้งนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงดีพระทัยยิ่ง ทรงจับมือพระสหายเขย่าขึ้นลงด้วยความยินดี รอยยิ้ม สว่างกระจ่างทั่วพระพักตร์ ผู้มีโอกาสเข้าชมหรือดูภาพถ่ายทอดทางโทรทัศน์ต่างประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเป็นอย่างยิ่ง

    การจัดแข่งขันตอบปัญหาธรรมะมีการจัดขึ้นหลายแห่ง แต่ที่จะนำมาเป็นกรณีตัวอย่างในที่นี้คือ โครงการจัดการแข่งขันตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้า ที่ดำเนินการโดยชมรมพุทธศาสตร์สากลในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

 


หนังสือ DF 303 เครือข่ายองค์กรกัลยาณมิตร
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.10225619872411 Mins