ศาสนาขงจื้อ

วันที่ 01 กค. พ.ศ.2559

ศาสนาขงจื้อ

1. ประวัติความเป็นมา

     ศาสนาขงจื๊อ เกิดเมื่อประมาณ 8 ปีก่อนพุทธศักราช โดยคิดตามปีเกิดของขงจื๊อ แต่ความจริงสมัยที่ขงจื๊อยังมีชีวิตอยู่ ท่านไม่เคยประกาศตัวเป็นศาสดา มีแต่ประกาศว่าท่านเป็น นักศึกษาที่ใฝ่หาความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งไม่เคยประกาศตั้งศาสนา แต่ที่ได้กลายมาเป็นศาสดาก็เพราะผู้อื่นตั้งให้แบบเดียวกับเล่าจื๊อ ขงจื๊อสิ้นชีพ เมื่อ พ.ศ. 64 หลังจากที่สิ้นชีพแล้วหลายร้อยปี ก็มีศิษยานุศิษย์ช่วยกันเผยแผ่คำสอนของขงจื๊อตลอดมา จนถึงสมัยเม่งจื๊อ (พ.ศ. 172-256) ศิษย์คนสำคัญได้เป็นกำลังหลัก ในการเผยแผ่คำสอนของขงจื๊อออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้ราชวงศ์ฮั่นเกิดความเลื่อมใส ได้ยกย่องขงจื๊อเป็นเทพเจ้า ทั้งประกาศให้ถือคำสอนของขงจื๊อ1) เป็นศาสนาประจำชาติ เป็นที่น่าสังเกตว่า ขงจื๊อได้รับยกย่องจากบ้านเมืองสูงขึ้นตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 348    จักรพรรดิจีนเสด็จไปทำพิธีเซ่นสังเวยที่หลุมฝังศพขงจื๊อ
พ.ศ. 544    มีพระราชโองการให้สถาปนาขงจื๊อเป็นขุนนางเทียบเท่าดยุกของอังกฤษ
พ.ศ. 632    ขงจื๊อได้รับสถาปนาเทียบเท่าระดับเอิร์ลของอังกฤษ
พ.ศ. 810    มีพระราชโองการให้จัดราชพิธีเซ่นสังเวยขงจื๊อปีละ 4 ครั้ง
พ.ศ. 1035 ขงจื๊อได้รับสถาปนาเป็นนักปราชญ์สูงสุดของจีน
พ.ศ. 1243    มีการอัญเชิญประติมากรรมขงจื๊อมาประดิษฐานไว้ในราชวิทยาลัย เคียงข้างกับพระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย
พ.ศ. 1611-1619 ขงจื๊อได้รับสถาปนาเทียบเท่าพระเจ้าจักรพรรดิ
พ.ศ. 2449    ขงจื๊อได้รับสถาปนาชั้นสูงสุดเทียบเท่าเทพเจ้าแห่งฟ้าดิน ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดตามความเชื่อของคนจีน

    ศาสนาขงจื้อจะมีลักษณะเป็นปรัชญามากกว่าศาสนา เพราะศาสนาขงจื๊อจะว่าด้วย จริยศาสตร์ หลักประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ในชาตินี้เท่านั้น ทำอย่างไรตนและคนอื่นจึงจะมีความสุขความเจริญ ทำอย่างไรสังคมจึงจะดีมีความสุข และทำอย่างไรประเทศชาติตลอดถึง โลกจึงจะมีความสงบสุข ศาสนาขงจื๊อไม่ได้ว่าด้วยคุณธรรมชั้นสูง ความลี้ลับของจิตวิญญาณ และโลกหน้าอย่างที่เรียกว่าอภิปรัชญาเลย แต่ก็ยังจัดเป็นศาสนา ทั้งนี้ก็เพราะมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้าข่ายเป็นศาสนาได้คือ 1) มีศาสดาหรือผู้ตั้งศาสนา 2) มีคัมภีร์ทางศาสนา 3) มีนักบวช หรือผู้สืบต่อศาสนา 4) มีสถานที่อยู่ของนักบวชหรือผู้สืบต่อศาสนา 5) มีปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถานทางศาสนา ตลอดทั้งมีพิธีกรรมทางศาสนา และเนื่องจากศาสนาขงจื๊อว่าด้วยเรื่องที่ เกี่ยวกับมนุษย์ในชาตินี้เท่านั้น ศาสนาขงจื๊อจึงได้ชื่อว่า ศาสนาแห่งมนุษย์นิยม

   ศาสนาขงจื๊อให้ความสำคัญแก่มนุษย์มาก ว่ามนุษย์เป็นผู้บันดาลความเจริญหรือความเสื่อมตลอดจนถึงความเป็นไปต่างๆ ให้แก่โลก มนุษย์จึงเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นไปในโลกทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสร้างคนให้เป็นคนดี จะได้นำแต่สิ่งที่ดีมาสู่ชีวิตและโลก ปัญหามีอยู่ว่าจะทำคนให้เป็นคนดีได้อย่างไร เรื่องนี้ขงจื๊อตอบไว้ว่าไม่ต้องไปหาที่ไหน บรรพบุรุษ ได้สร้างไว้แล้วนั่นก็คือคุณธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิทยาการต่างๆ

   ขงจื๊อได้ทุ่มเทเวลาไปในการศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่างๆ ที่บรรพบุรุษสร้างสมไว้ พยายามฟื้นฟูเรื่องโบราณอย่างจริงจัง ได้รวบรวมจารีตประเพณีโบราณต่างๆ เช่น การบูชา ฟ้าดิน การบูชาพระอาทิตย์ พระจันทร์ และการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เป็นต้น เพื่อจะนำมาใช้สร้างคนให้เป็นคนดี ด้วยเหตุนี้ศาสนาขงจื๊อจึงมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องคุณธรรมและวิทยาการต่างๆ ในสมัยโบราณ เพียงแต่ขงจื๊อนำมาตีความหมายขยายความเสียใหม่ และใช้หลักธรรมการเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นแกนกลางสำหรับไว้ให้ทุกคนปฏิบัติต่อกัน ตามฐานะหน้าที่ของตน เพราะฉะนั้นคำสอนในการดำเนินชีวิตทั้งหมดของขงจื๊อ จึงรวมอยู่ในภาษาจีนคำเดียว คือ สู่Ž หมายถึง อะไรที่ตนเองไม่ปรารถนา ก็อย่าทำอย่างนั้นกับผู้อื่น

  ศาสนาขงจื๊อเคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศจีนเคียงคู่กับศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธ แต่เนื่องจากคำสอนในศาสนาขงจื้อ ไม่มีอภิปรัชญา ดังนั้นคนจีนเมื่อต้องการคำสอนที่ลึกซึ้ง หรือต้องการรู้ความเป็นไปในโลกหน้าจึงต้องหันไปนับถือศาสนาเต๋าและศาสนาพุทธอีกด้วย ส่วนศาสนิกของศาสนาพุทธก็เช่นกัน ต่างก็ให้ความสำคัญต่อศาสนาขงจื้อ เพราะฉะนั้นคนจีนทั่วไปจึงนับถือทั้ง 3 ศาสนา คือ พุทธ เต๋า และขงจื้อ รวมกันไป และต่างก็นำคำสอนของอีก ฝ่ายหนึ่งมาผสมผสานกันเข้า จนยากที่จะแยกจากกันได้ ดังมีคำพูดในภาษาจีนว่า ซัมเก่า แปลว่า คำสั่งสอนทั้ง 3 ศาสนา ก็คือความเป็นไปของทั้ง 3 ศาสนา เป็นอย่างนี้ตลอดมา จนประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ จึงถึงจุดวิกฤติของทุกศาสนา โดยเฉพาะ ศาสนาขงจื๊อ ถูกทำลายหนักเพราะถูกเพ่งเล็งว่า สอนให้คนติดอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีและศักดินา อันเป็นเรื่องที่ขัดกับลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ศาสนิกของศาสนาขงจื๊อจึงลำบากมาก ต้องคอยหลบซ่อนไม่แสดงตัว และปฏิเสธว่าไม่ได้นับถือศาสนาขงจื๊อ เพื่อความปลอดภัยแก่ตัว เหตุการณ์เป็นอย่างนี้จนชาวจีนบางกลุ่มไม่อาจทนได้ จึงหนีไปอยู่ในประเทศไต้หวัน จนปัจจุบันศูนย์กลางของศาสนาขงจื้ออยู่ที่ประเทศไต้หวัน
 

2. ประวัติศาสดา

    ศาสนาขงจื๊อมีผู้ก่อกำเนิดในฐานะเป็นศาสดา คือ ขงจื๊อ ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Confucius เป็นภาษาละติน อ่านว่า คอนฟูซิอุส ตรงกับคำว่า กุงฟูจื่อ ในภาษาจีนกลาง และ ขงฮูจื้อ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า ”ขงŽ” เป็นชื่อสกุล คือ ตระกูลขง ส่วนคำว่า ”จื๊อ”Ž แปลว่า ครู อาจารย์ หรือนักปราชญ์ เมื่อรวมกันเข้าก็คงแปลได้ความว่า ตระกูลครูอาจารย์ หรือตระกูล นักปราชญ์

2.1 ชาติกำเนิดและปฐมวัย

  ขงจื๊อเกิดเมื่อประมาณ 551 ปีก่อนคริสตศักราช หรือ 8 ปีก่อนพุทธศักราช ในตระกูลขง (แซ่ขง) ซึ่งเป็นตระกูลทหารยากจนในแคว้นลู่ ปัจจุบันคือจังหวัดฉู่ฝู ในมณฑลซานตุง ทางภาคเหนือของประเทศจีน บิดาเป็นทหารชื่อจูเหลียงโฮ หรือชกเหลียงยิด เป็นคนมีกำลังแข็งแรง เกินคนธรรมดา มารดาชื่อจินไจ ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อขงจื๊อเกิด จูเหลียงโฮผู้บิดามีอายุ 70 ปี และมารดาก็คลอดขงจื๊อในถ้ำที่ภูเขาแห่งหนึ่ง

   การที่บิดาของขงจื๊อมีอายุแก่มากเช่นนั้น กล่าวกันว่า จูเหลียงโฮ เคยแต่งงาน มีบุตรหญิง และบุตรชายคนหนึ่ง เป็นลูกภรรยาลับและเป็นเด็กพิการอีกด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้เกิดกับภรรยาที่แต่งงานกัน ประเพณีถือว่าจะต้องมีบุตรชายที่เกิดกับภรรยาที่แต่งงานเท่านั้น เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของบิดา เมื่อบิดาตายไปแล้วดวงวิญญาณจึงจะได้รับความผาสุก ดังนั้นการที่ไม่มีบุตรชายที่เกิดจากภรรยาที่แต่งงานอย่างเป็นทางการ ไว้เซ่นสรวง ดวงวิญญาณ ทำให้เกิดความวิตกและกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา จึงทำให้จูเหลียงโฮขบคิดว่าจะต้องมีบุตรชายให้ได้ เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของตน จูเหลียงโฮจึงตัดสินใจแต่งงานอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้ 70 ปี กับหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น และเมื่อแต่งงานใหม่ก็ได้บุตรชายสมความตั้งใจ คือ ขงจื๊อ พอขงจื๊ออายุได้ 3 ขวบ ก็เหมือนกับคนมีกรรมที่ต้องกำพร้าบิดา เพราะบิดาตายเมื่อขงจื๊ออายุได้ 3 ขวบเท่านั้น มารดาผู้เป็นแม่หม้ายสาวซึ่งมีอายุเพียง 20 ปี ก็ได้พยายามต่อสู้ความยากจนเลี้ยงดูบุตรของตนให้เติบใหญ่ด้วยความเหนื่อยยาก จนกระทั่งขงจื๊อโตพอที่จะช่วยตนเองและช่วยมารดาทำมาหาเลี้ยงชีพ ขงจื้อต้องทำงานหนักต้องเลี้ยงมารดาตอบแทนบุญคุณ

   ขงจื๊อมีนิสัยใฝ่การศึกษามาก แต่กว่าจะได้เริ่มเรียนวิชาความรู้อย่างจริงจังก็เมื่ออายุ 15 ปี เขาเรียนหนังสืออยู่ 3 ปี เมื่ออายุ 18 ปี ก็ได้เข้าทำงานในกรมฉางหลวงของแคว้นลู่ เฝ้า สัตว์เลี้ยงของหลวง เนื่องจากขงจื๊อเป็นคนฉลาด ขยันขันแข็ง ซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน เข้ากับผู้ใหญ่ได้ทุกชั้น จึงได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ แม้แต่เจ้าแคว้นลู่ก็โปรดปราน ทำให้ขงจื๊อก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

2.2 ชีวิตสมรส

   เมื่อขงจื๊ออายุได้ 19 ปี ก็ได้ตกลงปลงใจแต่งงานกับหญิงตระกูลดีคนหนึ่ง ในวันแต่งงานขงจื๊อได้รับเกียรติอย่างสูงจากเจ้าแคว้นลู่ที่ส่งปลาสองตัวมาให้เป็นของขวัญ ขงจื๊อจึงถือเป็นศุภนิมิตว่า ถ้ามีลูกจะตั้งชื่อว่า โปยู้ แปลว่า ปลางาม และก็ได้เป็นจริงดังตั้งใจ เมื่อแต่งงานแล้วไม่นานก็ได้บุตรชายคนหนึ่งและก็ได้ตั้งชื่อให้ว่า โปยู้ สมปรารถนา แต่ก็เป็นคราวเคราะห์ร้ายของขงจื๊ออีกเหมือนกัน ปรากฏว่าใกล้ๆ เวลาที่แต่งงานนั้นมารดาของขงจื๊อก็ถึง แก่กรรมลง 3 ปีต่อมาชีวิตสมรสไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าไรนัก เพราะขงจื๊อมีความรู้สึกโน้มน้าวไปในทางธรรมมาก มุ่งงานมุ่งศึกษามาก ชอบคิดและคิดด้วยตนเองมาก ขงจื๊อค่อนข้างเป็น คนเคราะห์ร้ายเรื่องครอบครัว เพราะลูกไม่ได้เป็นปราชญ์ตามเชื้อสายพ่อ และไม่ค่อยปรากฏเรื่องของลูกและภรรยาในชีวประวัติมากนัก

2.3 ชีวิตมัชฌิมวัย

   ตั้งแต่ขงจื๊อ2)ได้เข้ารับราชการเมื่อมีอายุ 18 ปี ก็ได้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาตามลำดับ จนได้รับความไว้วางใจจากเจ้าแคว้นลู่แต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฉางหลวง (ธนาคารข้าว) มีหน้าที่ตรวจเก็บภาษีข้าวเปลือกที่ชาวนาจะนำขึ้นฉางหลวงของเจ้าแคว‰นลู่ ระหว่างรับ ราชการอยู่ ปรากฏว่าเป็นคนรอบรู้ในจารีตประเพณีดีกว่าผู้ใด ไม่ว่าผู้ใดจะประกอบพิธีอันใด ขงจื๊อเป็นผู้ทำให้ทั้งหมด ในที่สุดจึงกลายเป็นพิธีกร เป็นอาจารย์ของคนทั้งหลายโดยปริยาย ส่วนที่สำคัญ ชีวิตราชการทำให้ขงจื๊อได้เห็นความเหลวแหลก ความไม่ยุติธรรมของข้าราชการ ข้อนี้เป็นแรงผลักดันให้ขงจื๊อคิดแก้ไขความเหลวแหลกทั้งหลายในแผ่นดิน

    ในขณะที่ขงจื๊อมีความตั้งใจจะแก้ไขความประพฤติของข้าราชการ และใคร่จะสั่งสอนคนให้เป็นพลเมืองดีเพื่อช่วยเหลือบ้านเมือง ก็พอดีเกิดความผันผวนขึ้นในบ้านเมือง เจ้าผู้ครอง นครลู่ต้องหลบภัยการเมืองออกจากแคว้นนั้นไป ขงจื๊อหลบภัยตามไปด้วย มีข้าราชการ ผู้ซื่อสัตย์หมู่หนึ่งขอเป็นศิษย์ติดตาม เพราะเลื่อมใสอยากจะทำราชการอยู่ใกล้กับขงจื๊อ

    ชีวิตในตอนหลังระหกระเหินมาก ขงจื๊อเข้ารับราชการอยู่กับผู้ครองแคว้นอีกแห่งหนึ่ง คือ ผู้ปกครองแคว้นจี มีความสนใจในเรื่องการบ้านการเมือง ต้องการจะให้รัฐบาลปกครองคนด้วยความผาสุก ขงจื๊อวางหลักการปกครองไว้ว่า

   “วิธีจะมีรัฐบาลที่ดี ผู้ปกครองควรต้องเป็นผู้ปกครองจริงๆ เสนาบดีต้องทำหน้าที่เสนาบดี พ่อต้องทำหน้าที่ของพ่อ ลูกต้องทำหน้าที่ของลูกŽ ”

  “ประชากรเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรัฐ สวรรค์ย่อมเห็นตรงกับมหาชนเสมอ สวรรค์ฟังเหมือนกับมหาชนฟัง ฉะนั้นผู้ปกครองรัฐหรือประเทศจะต้องเอาชนะใจประชาชนเสียก่อนแล้วจึงจะได้อาณาจักร หากไม่เอาชนะใจของประชาชนแล้วอาณาจักรก็จะหลุดลอยไปเท่านั้นŽ”

 “ประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลใดๆ ควรจะได้ ไม่ใช่มาจากการเก็บภาษีอากรอันเป็นที่เดือดร้อนของประชาชน แต่ประโยชน์ต้องมาจากคนทั้งหลายที่มีความประพฤติดี มีความเชื่อว่ารัฐบาลปกครองด้วยดีŽ ”

   หลักการปกครองหรือหลักรัฐศาสตร์ของขงจื๊อนี้ ในตอนแรกก็ไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่มากนัก แต่ขงจื๊อมีความพยายามสอนคนอยู่เสมอ ไม่เคยทอดทิ้งหน้าที่ครู สอนเรื่อยไป จนมีศิษย์ในเวลานั้นประมาณ 3,000 คน และศิษย์ส่วนมากมาจากตระกูลยากจน ไม่ใช่เฉพาะสอนหลักรัฐศาสตร์เท่านั้น ที่เน้นมากก็คือ ศีลธรรม ต้องการที่จะจรรโลงประเทศให้มีความเจริญด้วยศีลธรรม เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ได้วางหลักสายสัมพันธ์ 5 ประการให้คนรู้จักหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน จนถึงกับได้ตั้งโรงเรียนสอนจริยธรรมขึ้น ขงจื๊อจึงกลายเป็นอาจารย์คนแรกที่สั่งสอนวิชาศีลธรรมวัฒนธรรมและปรัชญาอย่างจริงจังในสมัยนั้น ศิษย์ของขงจื๊อก็ทวีมากขึ้นโดยลำดับ

   ตัวอย่างหลักปรัชญาที่ขงจื๊อสอน เช่น ”ถ้าท่านยังไม่รู้ความเกิด จะไปรู้ความตายได้อย่างไร ถ้าท่านไม่อยากให้คนอื่นทำอันตรายแก่ท่าน ท่านก็อย่าไปทำอันตรายแก่คนอื่นŽ” ยิ่งวันผ่านไปความพยายามของขงจื๊อก็ไม่เคยย่อหย่อน และศิษย์ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมี ชื่อเสียงขจรขจายไปไกล ในที่สุดบ้านเมืองเห็นความดีจึงแต่งตั้งขงจื๊อให้มีหน้าที่ตรวจราชการฝ่ายยุติธรรมตามหัวเมืองต่างๆ ปรากฏว่าขงจื๊อยิ่งมีโอกาสได้ศึกษาความเป็นไปในชีวิตของคนและการบ้านการเมืองในที่ต่างๆ เมื่อไปตรวจราชการ เสมือนเป็นมหาวิทยาลัยเคลื่อนที่ แห่งใด มีการปกครองดีขงจื๊อก็ส่งเสริม แห่งใดมีการปกครองไม่ยุติธรรม ขงจื๊อก็ช่วยเหลือแก้ไขการปกครองของแคว้นนั้นๆ เรื่อยไป ได้พยายามท่องเที่ยวสั่งสอนคนอยู่อย่างนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี จึงกลับเข้าไปอยู่ในแคว้นลู่ตามเดิม ทางแคว้นลู่ขอร้องให้ขงจื๊อเข้ารับราชการอีก แต่ขงจื๊อปฏิเสธ เพราะต้องการจะใช้เวลาสั่งสอนคน และในบั้นปลายชีวิตต้องใช้เวลารวบรวมคำสอนของตนขึ้นเป็นตำรา และปรับปรุงแก้ไขตำราเก่าๆ ที่เคยสอนเคยแต่งไว้ให้ดีขึ้น

2.4 ชีวิตปัจฉิมวัย

    เมื่ออายุ 69 ปี ขงจื๊อได้รวบรวมคำสอนของตนขึ้นเป็นตำรา มีวิชาปรัชญา วิชากาพย์กลอน วิทยาศาสตร์ วิชายิงธนู ประวัติศาสตร์ และวิชาดนตรี ด้วยวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่ขงจื๊อเคยสอนมาทั้งหมด ขงจื๊อไม่ส่งเสริมการกระทำใดๆ ที่ฟุ่มเฟือย ศิษย์ที่ขงจื๊อพอใจมากที่สุดคือ ศิษย์ที่มีวิชาหนังสือดีและยิงธนูดี

   ขงจื๊อถึงแก่กรรมด้วยอารมณ์ไม่สู้ราบรื่นนัก เมื่ออายุ 73 ปี ในปี 479 ก่อนคริสต์ศักราช ก่อนสิ้นชีวิตขงจื๊อกล่าวว่า ”คนที่น่ากลัวที่สุดคือ เสนาบดีผู้ทรยศ และลูกที่ไม่เชื่อฟังŽ” และเมื่อใกล้จะหมดลมหายใจได้กล่าวคำพูดไว้เป็นคติแห่งชีวิตว่า “    ขุนเขาจะต้องสลายไป เสาหลักอันแข็งแกร่งก็จะหักสะบั้นลงไป ชีวิตของนักปราชญ์ก็ร่วงโรยไปเหมือนรุกขชาติ ในอาณาจักรนี้ไม่มีใครเชื่อฟังเรา เวลาของเรามาถึงแล้วŽ”

   หลังจากที่ขงจื๊อล่วงลับไปแล้ว บรรดาผู้เลื่อมใสได้พากันรวบรวมคำสอนและหนังสือที่ขงจื๊อแต่งไว้เป็นหลักวิชาทางรัฐศาสตร์และศาสนา กลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และมีค่าสูง นอกจากนี้ศิษยานุศิษย์ของขงจื๊อได้ช่วยกันเผยแผ่หลักจริยธรรมของขงจื๊อเป็นการใหญ่ พร้อมทั้งเผยแพร่คุณงามความดีของขงจื๊อด้วย จนในที่สุดต่อมาขงจื๊อก็ได้รับสมญานามว่าเป็นศาสดาองค์หนึ่ง และคำสอนของขงจื๊อก็เลื่อนฐานะเป็นศาสนาขึ้นมา ดังปรากฏประจักษ์อยู่ ทุกวันนี้

 

3. คัมภีร์ในศาสนา

   คัมภีร์หลักคำสอนของขงจื๊อ3)แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เป็นข้อเขียนของขงจื๊อโดยตรง เรียกว่า เก็ง หรือกิงทั้ง 5 หมายถึงวรรณคดีชั้นสูงทั้ง 5 กับเป็นข้อเขียนที่ศิษย์ของขงจื๊อ เรียบเรียงขึ้นในลักษณะเป็นประมวลคำกล่าวของขงจื๊อและแสดงหลักคำสอน เรียกว่า ซู หรือ ตำราทั้ง 4 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

3.1 เก็งทั้ง 5 มีดังต่อไปนี้

    1. อี้จิง : คัมภีร์แห่งความเปลี่ยนแปลง มีลักษณะเป็นการให้ความรู้ทางจักรวาล-วิทยา แสดงความเป็นมาของโลกและอภิปรัชญาตามทัศนะของชาวจีนโบราณ คัมภีร์นี้เป็นการรวบรวมตำราเก่าแก่และบทนิพนธ์ของพระจักรพรรดิเวนวั่ง ปฐมราชวงศ์โจว และโจวคุง แต่ขงจื๊อเป็นผู้เขียนอรรถาธิบายในช่วงชีวิตปัจฉิมวัยของเขา

   2. ซูจิง : คัมภีร์ประวัติศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์และรัฐศาสตร์ย้อนหลังไป ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ถึงรัชสมัยพระจักรพรรดิมุกุง แห่งราชวงศ์จิ้น คัมภีร์นี้มีความสำคัญต่อหลักคำสอนของขงจื๊อ เพราะเป็นบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์และข้อเขียนในสมัยโบราณและได้แสดงปรัชญาทางศีลธรรมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นรากฐานแห่งทัศนะทางศีลธรรมของขงจื๊อ

   3. ซือจิง : คัมภีร์คีตคาถา เป็นการรวบรวมบทกวีเก่าแก่ของจีน มีบทกวีจำนวน 305 บท คัมภีร์นี้แบ่งออกเป็น 4 ภาค ดังนี้

1.    เพลงพื้นบ้านพื้นเมือง
2.    ยาเล็ก เป็นบทกวีบันทึกพระราชกรณียกิจของพระจักรพรรดิ
3.    ยาใหญ่ เป็นบทกวีบันทึกพระราชกรณียกิจอันเด่นและสำคัญ
4.    สุ เป็นบทกวียอพระเกียรติหรือเพลงสรรเสริญพระบารมี

    4. หลี่จี้ : คัมภีร์จารีตพิธี กล่าวถึงจารีตพิธีเกี่ยวกับชีวิต 2 ประการ ดังนี้

1.    พิธีการในการติดต่อกันทางสังคม พิธีเกี่ยวกับการรับรองบุตร การแต่งงาน การไว้ทุกข์ และการเซ่นไหว้
2.    สถาบันทางสังคมและทางประเทศชาติ

   5. ชุน-ชิว : คัมภีร์บันทึกเหตุการณ์ฤดูวสันต์และฤดูสารท เป็นการบันทึกเหตุการณ์ในแคว้นลู่ ย้ำถึงชีวิตที่ประกอบด้วยศีลธรรมของนักปกครอง และการปกครองโลกโดยศีลธรรมของฟ้า คัมภีร์นี้เป็นประมวลจริยธรรมทางรัฐศาสตร์ที่ดีมาก แบ่งออกเป็น 2 ภาค ดังนี้

1.    ภาคที่ 1 กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรายปีในแคว้นลู่ ระหว่างปีที่ 722-481 ก่อนคริสตศักราช
2.    ภาคที่ 2 กล่าวถึงข้อคิดเห็นทั่วไป จอจุยเหม็ง ศิษย์ผู้ใกล้ชิดของขงจื๊อได้    รวบรวมไว้เมื่อประมาณปีที่ 400 ก่อนคริสต์ศักราช

    คัมภีร์ทั้ง 5 นี้ เดิมเป็นข้อเขียนหรือหนังสือธรรมดา แต่ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณคดีชั้นสูง และเป็นหลักคำสอนด้วย

3.2 ซู ทั้ง 4 มีดังนี้

    คำว่า ”ซูŽ” แปลว่า หนังสือ หรือตำรา การใช้คำนี้ก็เพื่อทำให้คำว่า กิง หรือเกง มี น้ำหนักลดลงเล็กน้อย กล่าวคือ คำว่า กิง หรือเกง มีความหมายเท่ากับคำว่า สูตร หรือคัมภีร์ ซึ่งกิงหรือเกงเป็นงานเขียนที่ขงจื๊อเรียบเรียงขึ้นเอง ส่วนซูนั้นเป็นงานที่หลานและศิษย์ของขงจื๊อเรียบเรียงรวบรวมขึ้น ซูทั้ง 4 มีดังนี้

    1. ต้าสุย หมายถึง การศึกษาที่สำคัญยิ่ง หรือการศึกษาที่ทำให้เป็นมหาบุรุษเป็น บทความสั้นๆ เกี่ยวกับศีลธรรม เช่น การปกครองรัฐขึ้นอยู่กับการจัดครอบครัวให้เป็นระเบียบ

   2. จุงยุง หมายถึง ทางสายกลาง หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดเห็นทางศีลธรรมอันเป็น พื้นฐานเกี่ยวกับความรู้จักประมาณตน ความสมดุล และความเหมาะสม ข้อคิดเห็นที่สำคัญ อีกประการหนึ่งคือ เรื่องความจริงใจ หรือความจริง เช่น คนที่มีความจริงใจต่อคนอื่นและมีความจริงใจต่อตนเองเท่านั้นจึงเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

    3. ลุนยู หมายถึง ประมวลคำสอนของขงจื๊อซึ่งศิษย์ทั้งหลายของขงจื๊อได้รวบรวมไว้ เช่น เมื่อเดินอยู่ด้วยกันสามคน ข้าพเจ้ามักมีครูเสมอ ข้าพเจ้าสามารถเลือกคุณสมบัติดีๆ ของคนๆ หนึ่งเอามาประพฤติเลียนแบบได้ และเลือกเอาคุณสมบัติเลวๆ ของอีกคนหนึ่งมา แล้วเอามาแก้ไขตัวข้าพเจ้าเองได้

    4. เม่งจื๊อ หมายถึง คัมภีร์เม่งจื๊อ เม่งจื๊อผู้เป็นศิษย์ของขงจื๊อได้รวบรวมไว้ เช่น ความรู้สึกสงสารเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษยธรรม ความรู้สึกละอายเป็นจุดเริ่มต้นของ ความยุติธรรม ความรู้สึกอ่อนโยนเป็นจุดเริ่มต้นของความมีมารยาทอันดีงาม ส่วนความรู้สึก ผิดชอบชั่วดีเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา

 

4. หลักคำสอนที่สำคัญ

    หลักธรรมของศาสนาขงจื๊อแตกต่างจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสอนมุ่งสู่ภพหน้าอันเป็นอนาคต แต่ศาสนาขงจื๊อสอนมุ่งอดีตความดีของ บรรพบุรุษ คำนึงถึงความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยถือแบบอย่างอันดีงามของคนในอดีต ศาสนาขงจื๊อมุ่งหน้าในด้านการปกครองบ้านเมืองเพื่อให้ราษฎรร่มเย็นเป็นสุข ให้ผู้มีอำนาจในการปกครองใช้เมตตาจิตต่อราษฎร อบรมสั่งสอนให้อยู่ในศีลธรรม ผู้น้อยต้องเคารพและซื่อตรงต่อผู้ใหญ่ สามีภรรยาต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ขงจื๊อเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาบริสุทธิ์เหมือนน้ำ ซึ่งบริสุทธิ์เมื่อแรกเกิดแต่ต้นน้ำ แต่ราคีที่จะแปดเปื้อนชีวิตย่อมมีทุกหนทุกแห่ง มนุษย์จึงหันเหไปสู่ ความชั่วได้ง่ายเพราะปฏิบัติได้ง่ายกว่าความดี ดังนั้นผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจจึงควรทำตัวอย่างที่ดี เห็นอกเห็นใจผู้ใต้ปกครอง ผู้อยู่ใต้ปกครองต้องซื่อสัตย์ต่อผู้ปกครอง บ้านเมืองจึงจะเป็นสุข

  คำสอนของขงจื๊อ4)เป็นเรื่องการสอนให้ประพฤติตามระเบียบวินัยและจรรยามารยาทอัน ดีงามต่อกันมา ศาสนาขงจื๊อสอนให้ปฏิบัติเหมือนกฎทองของศาสนาคริสต์ แต่ได้ใช้มาก่อนศาสนาคริสต์ คือ ”จงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนดังที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราŽ” เนื่องจาก คำสอนของขงจื๊อที่ให้เคารพบรรพบุรุษจึงเกิดมีขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีต่างๆ ที่ชาวจีนยึดเป็นหลักในชีวิตประจำวัน ในประวัติศาสตร์ไม่มีใครมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความคิดและชีวิตของประชาชนชาวจีนเท่าขงจื๊อ ศาสนาขงจื๊อจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งสังคมและความคิดของชาวจีนอย่างแยกไม่ออก

       หลักคำสอนของขงจื๊อประกอบด้วยคำสอนมูลฐาน 4 ข้อ ดังนี้

1. เยน ความเมตตากรุณา
2. หยี ความยุติธรรม
3. หลี พิธีกรรม
4. ฉี สติปัญญา

     คำสั่งสอนของขงจื๊อดำเนินตามหลักสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

   1. ศรัทธา ขงจื้อสอนคนให้มีความเชื่อว่า ถ้าคนมีความนับถือซึ่งกันและกันแล้ว จะไม่มีอาชญากรรม และสังคมมนุษย์จะดำเนินไปอย่างผาสุก ดังนั้นผู้ศึกษาจึงควรศึกษาให้ รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมชาติและธรรมดาของมนุษย์ ให้เข้าถึงความดีและความสมบูรณ์อย่างไม่มีที่ติของมวลมนุษย์

   2. ความเป็นผู้คงแก่เรียน การที่บุคคลจะเข้าใจซึ่งกันและกันต้องอาศัยการศึกษา เล่าเรียนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปลูกฝังให้แก่คนทุกคน ถ้าบุคคลได้รับการศึกษาดีแล้วมิใช่แต่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมด้วยความราบรื่นเท่านั้น แต่จะได้เป็นแบบอย่างอันดีต่อคนทั้งปวงอีกด้วย

  3. การบำเพ็ญคุณประโยชน์ ยึดหลักมนุษยธรรม ให้มีเมตตาจิตต่อกัน ให้มี ความเข้าใจอันดีและความนับถือกัน ให้ปฏิบัติตนตามหลัก ”ซึ่งกันและกันŽ”

   4. การสร้างลักษณะนิสัยและทัศนคติที่ดีงาม เป็นสิ่งควรปลูกฝังให้มีอยู่ในตัว บุคคล เพื่อเป็นรากฐานของการเป็นพลเมืองดี ด้วยหลักข้อนี้ ขงจื๊อจึงได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง บุตรต้องเคารพบิดามารดา ภรรยาต้องเคารพสามี พี่และน้องต้องมีความรักและนับถือและเมตตากรุณาต่อกันด้วย การที่ราษฎรจะเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาลและการที่รัฐบาลจะปกครองราษฎรด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนั้น ต้องเนื่องมาจากการปลูกฝังความรู้สึกนี้ให้มีในครอบครัวก่อน คือ ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องคุ้มครองและให้ความยุติธรรมแก่ผู้น้อย ผลจากคำสั่งสอนข้อนี้เอง ศิษย์ทั้งหลายของขงจื๊อจึงได้แยกออกมาให้เป็นหลักสำคัญเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ข้อ คือ บุตรต้องอยู่ในโอวาทของบิดามารดา และความจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ

   5. ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้บุคคลประพฤติดี จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียนให้รู้ถึงขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีโบราณ ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างไว้ โดยเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามและเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมา การศึกษาวรรณคดีและการศึกษาประวัติศาสตร์ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายทอดสืบมรดกจาก บรรพบุรุษ ขงจื๊อเน้นว่า

   “ถ้ารัฐบาลใดต้องการปกครองให้ได้ดีแล้ว ต้องคำนึงถึงประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในอดีตเป็นเครื่องสอนและชี้แนวทางให้Ž ”

   อนึ่ง ขงจื๊อได้กล่าวว่า ดนตรีเป็นเครื่องทำให้จิตใจอ่อนโยน ในขณะที่ประเพณีรัดรึงเราได้ก็เฉพาะร่างกายภายนอกเท่านั้น แต่ความซาบซึ้งในดนตรีนั้นจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกภายใน ดนตรีชนิดต่างๆ ในท้องถิ่นหรือประเทศต่างๆ ย่อมแสดงถึงจิตใจและเป็นสัญลักษณ์ของขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่ต่างกันด้วย

   หลักคำสอนของขงจื๊อกำหนดมาตรฐานของสังคม เพื่อให้สังคมดำเนินไปตามระเบียบ คำสอนขงจื๊ออยู่ในระดับศีลธรรม สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตได้โดยตรงกับจิตใจของ ชาวจีนซึ่งไม่ชอบเพ้อฝันมากนัก แต่ชอบนำความคิดและความเชื่อมาปฏิบัติให้เกิดผลในชีวิต หลักคำสอนของขงจื๊อมีส่วนช่วยสร้างสรรค์จิตใจของชาวจีนและมีอิทธิพลมากต่ออารยธรรมจีน ความเชื่อ ความคิด และระบบปรัชญาบางสาขา และมีส่วนช่วยสร้างสรรค์วรรณกรรมและวรรณคดีเป็นอย่างมาก

   จีนมีความเจริญทางศีลธรรมมานาน ขงจื๊อมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตและความคิด ของประชาชนชาวจีนอย่างมาก เพราะขงจื๊อเป็นครูและเป็นผู้กล่อมเกลาจิตใจของประชาชนชาวจีน คำสอนของขงจื๊อเกี่ยวกับการปกครองและจริยธรรม ปรัชญาด้านต่างๆ สรุปสาระได้ดังนี้

1. ปรัชญาการเมือง

    รัฐบาล คือ ศูนย์กลางของการปกครอง การตั้งรัฐบาลเป็นผลของความคิดพิจารณาโดยถี่ถ้วน ขงจื๊อชี้ให้เห็นความสำคัญของรัฐบาล 2 ประการ ดังนี้

1.1 อำนวยประโยชน์แก่ประชาชน

1.2    การสร้างกฎต่างๆ รัฐบาลจะดีได้เพราะสังคมมีขนบธรรมเนียมและ    จารีตประเพณีที่ดี ดังนั้นรัฐบาลที่ดีจึงควรยึดหลัก 3 ประการ ดังนี้

1) อาหารเพียงพอสำหรับราษฎร
2) มีกำลังทหารพอสมควร
3) มีความเชื่อมั่นในประชาชน

2. ปรัชญาการปกครอง

 ธรรมดาผู้ปกครองถ้าบำเพ็ญตนให้มีสัมมาคารวะและข่มตนเองได้แล้ว ประชาชนในปกครองจะพลอยมีคุณธรรมนั้นไปด้วย ถ้าผู้ปกครองรักความเที่ยงธรรมและรู้หน้าที่ของตนแล้ว ประชาชนในปกครองจะไม่กล้าละเมิดข้อกำหนดกฎหมายได้ ถ้าผู้ปกครองรักในความอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจกันและเชื่อถือกันแล้ว ประชาชนในปกครองคงจะต้องประพฤติเช่นนั้นตามไปด้วย

     เมื่อผู้ปกครองตั้งตนให้เที่ยงตรงแล้ว ประชาชนในบังคับบัญชาย่อมทำตามหน้าที่ โดยไม่ต้องขอร้อง แต่เมื่อผู้ปกครองไม่ตั้งตนให้เที่ยงตรงแล้ว แม้จะขอร้องสักเท่าใด ประชาชนในบังคับบัญชาก็หาเชื่อฟังไม่

    รัฐบาลที่ดี คือ รัฐบาลที่ทำให้ผู้อยู่ในความคุ้มครองเป็นสุข และเป็นที่พอใจของประชาชนที่อยู่ต่างด้าวไกลออกไป ถ้าผู้ปกครองนิยมการข่มตนเองอยู่เป็นเกณฑ์ ประชาชนก็จะ ว่านอนสอนง่ายตามคำบังคับบัญชาของผู้ปกครองนั้น

  ถ้ารัฐบาลจำเป็นต้องสละสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการปกครองแล้ว สิ่งแรกที่สละได้คือ ทหาร สิ่งต่อมาคืออาหาร เนื่องจากมีเหตุผลว่ามนุษย์หนีความตายไม่พ้น รัฐบาลจึงไม่สามารถ สูญเสียความมั่นใจของประชาชนได้

   ผู้มีอำนาจแม้เอาไม้ทองหลางมาทำรั้ว คนอื่นก็กลัวเกรงและไม่กล้าล่วงล้ำ ถ้าจะให้คนอยู่ในอำนาจต้องทำขึงขัง อย่าทำเหลาะแหละ บังคับการให้ถูก คนทั้งปวงจึงจะเกรงกลัว

3. ปรัชญาด้านการศึกษา

    เรียนแต่ไม่คิด ก็เป็นการเสียเปล่า คิดแต่ไม่เรียน ก็เป็นอันตราย

   คนที่มีความรู้มาก มีกิริยาวาจาสมกับความรู้ย่อมดูงาม เปรียบเหมือนเขียนรูปภาพระบายด้วยลายทอง แต่ถ้าทำไม่สมกับความรู้ก็เหมือนเขียนรูปภาพไม่มีสีระบาย

   เป็นนักปราชญ์แม้รู้มากก็จริง แต่สิ่งใดที่รู้แล้วไม่ต้องถาม สิ่งใดที่ยังไม่รู้แม้มาตรว่านิดหน่อยก็ควรต้องถาม คำสั่งสอนที่ครูให้แก่ท่านนั้น เมื่อรู้จงบอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้จงบอกว่าไม่รู้ ต้องอย่าอวดรู้ต่อครู เล่าเรียนไปข้างหน้าจะรู้ง่าย

    เรียนหนังสือถ้าไม่หมั่นตรึกตรอง เรียนไปแต่ปากก็เหมือนหนึ่งไม่ได้เรียน แต่ถ้าเป็นคนเอาแต่คิดไม่ได้เรียนก็มักวนเวียนอยู่ด้วยความสงสัย อุตส่าห์เล่าเรียนไปเถิดสติปัญญาจะเกิดเพราะเรียน อาจคิดการงานทั้งปวงให้สำเร็จได้ ผู้เรียนรู้ได้จริงแล้วที่จะทำความชั่วนั้นมีน้อย เพราะผู้ไม่เรียนรู้จริงอาจทำความชั่วได้ด้วยความโง่เขลา

   เมื่อรักเรียนรู้ในหนังสือขนบธรรมเนียมทั้งปวงพึงอุตสาหะเรียนเสมอ ถ้าขยัน หมั่นเพียรแล้วไฉนจะไม่รู้ และเพียรเล่าเรียนมาแต่ถิ่นฐานบ้านไกลไฉนจะไม่สนุก หนังสือที่เล่าเรียนไว้แล้วควรหมั่นตรวจตราดูแลให้ชำนิชำนาญจะได้อธิบายกว้างขวางออกไปทุกๆ ครั้ง

    คนที่มีกำลังแต่ไม่มีปัญญา แม้จะขันสู้กับใครๆ ก็เหมือนเอามือเปล่าไปตีเสือ หรือไม่มี เรือใบข้ามแม่น้ำ

 คนเราเมื่อแรกเกิดมานั้น ความคิดยังหยาบก่อน ต่อเมื่อได้เรียนรู้ดูคำสั่งสอนแล้ว จึงค่อยดีขึ้นโดยลำดับ เปรียบเหมือนไม้กระดานแรกเลื่อยใหม่ และศิลาแรกต่อยออกมายังไม่เกลี้ยงก่อน ต้องไสกบและขัดสีจึงเกลี้ยงเกลาขึ้นได้

4. ปรัชญาด้านเศรษฐกิจ

   เมื่อยากจน แต่รู้จักประมาณตนไม่เที่ยวประจบประแจง อุตส่าห์หาทรัพย์ไปตามสติกำลังของตน เมื่อมั่งมีก็ควรเอ็นดูคนทั้งปวง ตั้งจิตคิดอนุเคราะห์คนทุกถ้วนหน้า อนึ่งแม้เมื่อยากจนก็ควรทำใจให้แช่มชื่น ไม่หดหู่ท้อแท้อ่อนแอ หาได้น้อยก็กินตามน้อย หาได้มากก็กินตามมาก เมื่อมั่งมีแล้วเร่งเรียนรู้ดูจารีตประเพณี

5. ปรัชญาด้านการวางตน

   เป็นขุนนางควรตั้งตนอยู่ในความซื่อสัตย์ ใครดีก็ควรยกย่อง ใครชั่วก็ควรข่มขี่ กล่าวสั่งสอน จงอย่าเห็นแก่ลาภซึ่งกลับเอาคนดีเป็นคนชั่วเอาคนชั่วเป็นคนดี ทำได้อย่างนี้ ปวงชนย่อมนับถือ

   เมื่อจะพูดถึงสิ่งใด จงพูดด้วยความซื่อสัตย์ให้คนทั้งปวงนับถือเชื่อฟังได้ ถ้าได้รับธุระของเขาแล้วต้องทำให้สำเร็จดังวาจา และกิริยาให้ซื่อตรงจึงจะเป็นที่นับถือของเขา ถ้าคบกันเป็นเพื่อนแล้วก็อย่าหลอกลวงกัน จึงจะคบกันมั่นคงและยืดยาว

 

 

5. หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด

   ศาสนาขงจื๊อมีความเชื่อและจุดหมายสูงสุดไม่เด่นชัด คือเพียงแต่อนุโลมให้ทำตาม ความเชื่อที่บรรพบุรุษเชื่อกันมา เช่น เชื่อเรื่องผีสางเทวดา และพยายามทำความดี เมื่อ ตายแล้วจะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ เป็นต้น แต่ขงจื๊อก็ไม่ได้แสดงไว้อย่างชัดเจน ขงจื๊อเน้นแต่เรื่องมนุษย์และโลกเป็นสำคัญ จุดหมายสำคัญของขงจื๊อก็คือ ต้องการให้คน สังคม ประเทศชาติ และโลกสงบสุข ต้องการให้คนในโลกนี้ไม่แบ่งชั้นวรรณะ ไม่แบ่งพวก ไม่แบ่งประเทศ แต่ต้องการให้มีประเทศเดียว คือประเทศมนุษย์ และมีชาติเดียวคือชาติมนุษย์ หากเป็นได้ดังกล่าว ทุกคนก็จะเป็นพี่น้องกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน โลกก็จะสงบร่มเย็นโดยแท้ เพราะฉะนั้นความสงบสุขในโลกนี้จึงเป็นยอดปรารถนาและจุดหมายสูงสุดของขงจื๊อ

   ศาสนาขงจื๊อมีอิทธิพลต่อชาวจีนเป็นอย่างมาก งานนิพนธ์ของขงจื๊อเป็นวรรณกรรม ชั้นสูง และเป็นหลักสูตรในการศึกษาตามสถาบันต่างๆ อีกทั้งเป็นวิชาสำหรับสอบไล่ของทางราชการอีกด้วย อิทธิพลคำสอนของขงจื๊อ ทำให้ชาวจีนมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนหลายอย่าง เช่น

   1. ชาวจีนให้ความสำคัญในเรื่องครอบครัวมาก ถือว่าครอบครัวเป็นรากฐานของสังคม ชาวจีนจึงพยายามสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น ให้เป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบด้วยคน หลายรุ่น ทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน เหลน ชาวจีนให้ความสำคัญต่อญาติมาก คำในภาษาจีนก็บอกลำดับญาติไว้อย่างชัดเจน ว่าใครมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มาจากสายไหน สืบสายมาจากบิดาหรือมารดา ดุจคำว่าน้าและอาในภาษาไทยฉันนั้น
    2. ชาวจีนให้เกียรติต่อผู้สูงอายุ ทั้งใช้สรรพนามให้เหมาะสมกับวัย เรียก พี่ ป้า น้า อา เป็นต้น แม้ต่อคนที่ไม่ใช่ญาติ คล้ายธรรมเนียมไทย คนจีนมีลูกหลานแล้ว มักจะไว้หนวดเพื่อแสดงว่าตัวแก่แล้ว
  3. ชาวจีนให้ความสำคัญต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จะต้องดูแลสถานที่ฝังศพ ของบรรพบุรุษไว้ให้ดี ตลอดทั้งเซ่นไหว้อยู่เสมอ
    4. ชาวจีนนิยมยกย่องครูบาอาจารย์ แต่ไม่นิยมยกย่องทหาร ชาวจีนให้ความสำคัญต่อผู้ใช้ความรู้มากกว่าผู้ใช้กำลัง ตามคำสอนของขงจื๊อ
     5. ชาวจีนไม่ชอบมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่จะพยายามปรองดองกันให้ได้

 

6. สถานที่ทำพิธีกรรม

    วัดของศาสนาขงจื๊อ ก็คือศาลเจ้าของคนจีนนั่นเอง แต่เดิมมาเป็นที่กราบไหว้ฟ้า ดิน ลม ฝน แม่น้ำ ภูเขา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าที่ประจำในธรรมชาติ มนุษย์จะต้องให้ความเคารพและเซ่นไหว้เพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อธรรมชาติ ต่อมาความเชื่อในศาสนาขงจื๊อได้ถูกนำมาประสานกลมกลืนกับศาสนาเต๋า และลัทธิไสยศาสตร์เดิมๆ ที่เคยนับถือกันมาก่อน

  จากความเชื่อที่เน้นในคุณค่าของธรรมชาติอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามแบบศาสนาขงจื๊อได้กลายเป็นความเชื่อแบบลัทธิวิญญาณนิยม (Animism) ที่อิงอยู่กับไสยศาสตร์ เทพเจ้าในศาลเจ้ามีจำนวนมากขึ้นและมีอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์ที่สามารถให้คุณและให้โทษ ซึ่งมนุษย์ จะต้องเซ่นไหว้เอาใจใส่อยู่เสมอ ดังนั้นวัดที่สร้างขึ้นมาตามแบบของศาสนาขงจื๊อแท้ๆ นั้นแทบจะไม่มี แต่เท่าที่ปรากฏและเป็นที่รู้จักกันดีคือ วัดเหวินเหมียว (Wen Miao) ในเมืองไทเป ที่ประเทศไต้หวัน

   ลักษณะของวัดสร้างตามแบบศิลปะจีนที่นิยมตกแต่งตัวอาคารด้วยปูนปั้นที่มีลวดลายวิจิตรพิสดาร รอบวัดถูกกั้นด้วยกำแพงสูง ทางเข้าส่วนมากอยู่ทางทิศใต้ มีประตู 3 ประตู หลังคาวัดมีความยาวมากจนสามารถยื่นมาคลุมประตูทั้งสามที่อยู่หน้าวัด ส่วนบานประตูนั้นนิยมเขียนภาพสีสดใสงดงาม เป็นรูปเทพยดาอารักษ์ทำหน้าที่ปกป้องวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในวัด ห้องโถงใหญ่ของวัดจะตั้งแผ่นป้ายของปรมาจารย์ขงจื๊อ และศิษย์เอกที่เป็นนักปราชญ์ 4 คน คือ ง้วน อวง เจิงจื่อ จื่อซือ ซึ่งเป็นทั้งศิษย์เอกและหลานรัก และเม่งจื๊อ ซึ่งไม่ใช่ศิษย์โดยตรงแต่มีส่วนในการเผยแผ่คำสอนของขงจื๊อ

   แผ่นป้ายของขงจื๊อนั้นจะตั้งกลางห้องโดยหันหน้าไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นทางเข้าวัด เพื่อทำให้คนที่ศรัทธามาวัดนั้นรู้สึกเหมือนกับว่าท่านยังมีชีวิตอยู่ และได้มีโอกาสกราบไหว้ในทันทีที่ได้เหยียบย่างเข้าไปในวัด สำหรับกำแพงทางด้านฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จะมีแผ่นป้ายของสานุศิษย์อื่นๆ อีก 11 คน และของท่านจูฮี (Chu Hsi) ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากในศาสนาขงจื๊อใหม่ ดังนั้นสภาพของวัดโดยทั่วๆ ไปน่าจะเป็นอนุสรณ์สถานมากกว่าเป็นวัด ซึ่งเป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาในภายหลังเมื่อศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าได้รับความนิยม จากประชาชน วัดของศาสนาขงจื๊อได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป และรับเอาวัฒนธรรมของศาสนาเหล่านี้ มาประสมประสานด้วย ทำให้มีการติดตั้งภาพเขียนทางศาสนาแทนการตั้งแผ่นป้ายซึ่งเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณ

 

 

7. พิธีกรรมที่สำคัญ

  ขงจื๊อได้เขียนข้อสนับสนุนประเพณีโบราณไว้เป็นอันมาก รวมทั้งประเพณีในการบูชา ฟ้าดิน และบูชาบรรพบุรุษด้วย ศาสนาขงจื๊อจึงรับเอาประเพณีทั้ง 3 ซึ่งมีมาแต่ก่อนหลายพันปีเข้าเป็นหลักการใหญ่ เป็นอันว่าประเพณีต่างๆ ที่สืบทอดมาแต่โบราณ ขงจื๊อก็รวบรวมเรียบเรียงไว้ และเมื่อขงจื๊อซึ่งเป็นศาสดาได้ล่วงลับไปแล้ว ศาสนาขงจื๊อก็อยู่ในฐานะศาสนาของรัฐ พิธีกรรมในการบูชาจึงแบ่งออกเป็น 3 อย่าง ดังนี้

1. พิธีบูชาขงจื๊อ
2. พิธีบูชาฟ้า ดิน พระอาทิตย์ และพระจันทร์
3. พิธีเคารพบูชาเทียน และวิญญาณของบรรพบุรุษ

1. พิธีบูชาขงจื๊อ เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 195 ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. 348) พระจักรพรรดิจีนได้นำสัตว์ที่ฆ่าแล้วไปทำพิธีบูชาที่หลุมฝังศพขงจื๊อ และมีคำสั่งเป็นทางการให้มีการเซ่นไหว้ขงจื๊อเป็นประจำ และให้สร้างศาลของขงจื๊อขึ้นทั่วทุกหัวเมืองที่สำคัญ และทำพิธีเซ่นไหว้ และยังกำหนดให้วันเกิดของขงจื๊อ คือวันที่ 27 สิงหาคม เป็นวันหยุดราชการประจำปีของจีน และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 28 กันยายน

2. พิธีบูชาฟ้า ดิน พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ในปีหนึ่ง จะมีรัฐพิธี 4 ครั้ง ดังนี้

2.1 พิธีบูชาฟ้า กระทำกันประมาณวันที่ 22 ธันวาคม พระจักรพรรดิจะทรงเป็นประธานในพิธี พิธีจะมีการแสดงดนตรี การแห่โคมไฟ มีเครื่องเซ่นไหว้ เช่น อาหาร ผ้า ไหม เหล้า เป็นต้น เสร็จแล้วจะเผาเครื่องเซ่นไหว้หมด แท่นบูชาอยู่ทางทิศใต้ของกรุงปักกิ่ง ทำด้วยหินอ่อนสีขาว มีระเบียงลดหลั่นเป็นชั้น 3 ชั้น
2.2 พิธีบูชาดิน เป็นการบูชาธรรมชาติหรือเทพประจำธรรมชาติ ผู้ประกอบพิธีเป็นขุนนาง หรือข้าราชการ กระทำเป็นงานประจำปี ประมาณวันที่ 21 หรือ 22 มิถุนายน ที่เรียกว่า ครีษมายัน ณ แท่นบูชา อยู่ทางทิศเหนือกรุงปักกิ่ง สถานที่บูชามีลักษณะเป็น สี่เหลี่ยมมีน้ำล้อมรอบ
2.3 พิธีบูชาพระอาทิตย์ กระทำเป็นทางการประจำปี ณ ที่บูชาทางประตูด้านตะวันออกของกรุงปักกิ่ง ประมาณวันที่ 21 มีนาคม ที่เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต คือวันที่กลางคืนและกลางวันเท่ากัน ในฤดูใบไม้ผลิ
2.4 พิธีบูชาพระจันทร์ กระทำเป็นทางการประจำปี ณ ที่บูชาทางด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง ประมาณวันที่ 22 หรือ 23 กันยายน ที่เรียกว่า วันสารทวิษุวัต คือวันที่กลางวันและกลางคืนเท่ากัน ในฤดูใบไม้ร่วง

3. พิธีเคารพบูชาเทียน และวิญญาณของบรรพบุรุษ ชาวจีนได้ค้นพบความมีอยู่ของเทพเจ้า ”เทียน”Ž และเชื่อกันโดยทั่วไปว่า เทพเจ้าเทียนนั้นทรงประทับอยู่บนสวรรค์อย่างแน่นอน เหตุนี้พวกเขาจึงพากันทำพิธีเคารพบูชา เทียนŽ ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพทั้งปวง ผู้คุ้มครองโลก ทรงเป็นวิญญาณแห่งดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ฝน ไฟ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ภูเขา และลำน้ำ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ให้การเคารพบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษของตน รวมทั้งบูชา ดวงวิญญาณแห่งผู้บริสุทธิ์และวีรชนด้วย โดยเฉพาะวิญญาณแห่งองค์จักรพรรดิถือว่าเป็น ดวงวิญญาณแห่งผู้บริสุทธิ์ ธรรมเนียมดังกล่าวนี้โดยรวมแล้วเรียกว่า การบูชาวิญญาณแห่งบรรพบุรุษ นับเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่ชาวจีนได้ปฏิบัติกันมา พวกเขาจะพากันร้องเพลงเป่าขลุ่ย และประกอบพิธีบูชาดวงวิญญาณดังกล่าว ตลอดจนวิญญาณแห่งธรรมชาติอื่นๆ ด้วย ซึ่งศาสนาของขงจื๊อก็ให้การสนับสนุน จึงดูเหมือนว่าเป็นพิธีกรรมของศาสนาและเป็น การแสดงออกซึ่งจริยธรรมอันดีงามประการหนึ่ง

 

 

8. นิกายในศาสนา

   นักการศาสนาบางกลุ่มกล่าวว่า ศาสนาขงจื๊อไม่มีนิกาย อย่างไรก็ตาม แม้ศาสนาขงจื๊อ จะไม่มีนิกายโดยตรง แต่มีหนังสือหลายเล่มกล่าวถึงผู้นับถือศาสนาขงจื๊อพวกใหม่ หรือที่เรียกว่า Neo-Confucianism ในสมัยราชวงศ์ซุง (ค.ศ. 960-1279 ตรงกับ พ.ศ. 1503-1822) ซึ่งรับเอาความคิดในเรื่อง หยิน-หยาง รวมทั้งการเซ่นไหว้ของประชาชนตามประเพณีโบราณเข้าไว้ในหลักการด้วย

  คำว่า หยิน-หยาง นั้นเป็นระบบของโลก ระหว่างความมืดกับความสว่าง ความชั่วกับความดี อันเป็นของคู่กัน คือ หยิน เป็นสิ่งแทนความมืดและความชั่ว ส่วนหยางเป็นสิ่งแทนความสว่างและความดี

  เมื่อมีคำว่า ผู้นับถือศาสนาขงจื๊อใหม่ ก็ทำให้คิดถึงพวกที่นับถือศาสนาขงจื๊อเก่า ซึ่งการปฏิบัติก็แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าจะจัดพวกที่นับถือศาสนาขงจื๊อใหม่เป็นนิกายใหม่อีกนิกายหนึ่งก็ไม่ค่อยจะชัดเจนนัก

 

 

9. สัญลักษณ์ของศาสนา

     1.    สัญลักษณ์ศาสนาขงจื๊อโดยตรง ได้แก่ รูปปั้น รูปหล่อ หรือรูปเขียนของขงจื๊อเอง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาล

     2.    สัญลักษณ์อย่างอื่น คือ ภาพวงกลม แบ่งเป็น 2 ส่วนเท่ากันด้วยเส้นเว้า ที่เรียกในภาษาจีนกลางว่า หยิน-หยาง

     3.    ถ้าไม่มีสัญลักษณ์ตามข้อ 1-2 เขาก็ใช้แผ่นป้ายจารึกนามขงจื๊อ ในรูปการบูชา บรรพบุรุษที่ชาวจีนนิยมทำกัน คือ การจารึกชื่อผู้ตายในแผ่นป้าย แล้วตั้งไว้เพื่อบูชาเซ่นไหว้

     4.    สัญลักษณ์อีกอย่าง คือ รูปคนจีนแต่งตัวโบราณกำลังประสานมือแสดงคารวะต่อกัน

 

10. ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน

    ศาสนาขงจื๊อเคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศจีน มีศาสนิกประมาณ 300 ล้านคน ชาวจีนได้ยกย่องขงจื๊อ5) เป็นนักปราชญ์อันดับ 1 ของจีน คำว่าอันดับ 1 ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ขงจื๊อเป็นนักปราชญ์คนแรก หากหมายถึงความเป็นหนึ่งในความวิเศษ ชาวจีนได้ยกย่องขงจื๊อ ตลอดมา จนประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ เมื่อ พ.ศ. 2492 ศาสนา ทั้งหลายจึงถูกทำลาย เพราะคอมมิวนิสต์ถือว่าศาสนาเป็นยาเสพติด มอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลง และยิ่งมาถึง พ.ศ. 2509 เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ศาสนาทั้งหลายถูกทำลายเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะศาสนาขงจื๊อถูกทำลายหนักเป็นพิเศษ เพราะถูกเพ่งเล็งว่าสอนให้คนติดอยู่กับระบอบศักดินาและขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ ทำให้ศาสนิกของศาสนาขงจื๊อไม่กล้าแสดงตัว จนชาวจีนบางกลุ่มทนไม่ได้ จึงหนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน ประเทศจีนคณะชาติ

   ทางการประเทศจีนคณะชาติได้ให้การต้อนรับ และยกย่องศาสนาขงจื๊อเป็นอย่างดี เช่น เมื่อ พ.ศ. 2495 รัฐบาลจีนคณะชาติได้ประกาศเปลี่ยนวันครูแห่งชาติ จากวันที่ 27 สิงหาคม มาใช้วันเกิดของขงจื๊อ คือ วันที่ 28 กันยายนแทน ทางราชการจะหยุดงาน 1 วัน เพื่อให้เกียรติต่อขงจื๊อผู้เป็นศาสดาของศาสนาขงจื๊อ อีกทั้งได้ให้เงินเดือนแก่ผู้สืบสกุลของศาสนาขงจื๊ออีกด้วย เพราะฉะนั้นศูนย์กลางของศาสนาขงจื๊อในปัจจุบัน จึงอยู่ที่ประเทศไต้หวัน ส่วนความเป็นไปของศาสนาขงจื๊อบนแผ่นดินใหญ่หรือประเทศจีน ก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ เมื่อเหมาเจ๋อตุงประธานพรรคคอมมิวนิสต์ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2520 ทำให้รัฐบาลจีนหันมาติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น จึงผ่อนคลายการบีบคั้นทางศาสนาลง

   ศาสนิกของแต่ละศาสนามีเสรีภาพในการประกอบศาสนกิจมากขึ้น และยิ่งในปัจจุบันสถานการณ์ของศาสนาต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับ เมื่อระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ในประเทศรัสเซียและประเทศอื่นๆ เป็นเหตุให้ประเทศจีนต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่ เปิดโอกาสให้พลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ พวกนักบวชสามารถกลับไปอยู่วัดได้ ประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมต่างๆ ได้ และในปี พ.ศ. 2522 มหาวิทยาลัยนานกิงก็ได้เป็นศูนย์กลางของการศึกษาศาสนาต่างๆ ในประเทศจีนอีกด้วย

 

 


1) Home Robert E. The World's Living Religions, 1957 p. 117-118.
2) เสถียร โพธินันทะ. เมธีตะวันออก, 2514 หน้า 135-136.
3) เสถียร โพธินันทะ. เมธีตะวันออก, 2514 หน้า 85-88.
4) Parulski, George. A Path to Oriental Wisdom, 1981 p. 30-31.
5) โจเซฟ แกร์. ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร, 2533 หน้า 86.

หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร


 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022229282061259 Mins