พระอัญญาโกณฑัญญะ เอตทัคคะ- อดีตชาติ

วันที่ 12 มิย. พ.ศ.2548

 


.....พระอัญญาโกณฑัญญะตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชาวหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ( แปลว่า ผู้รู้ราตรีนาน หมายถึงได้บวชก่อนใครได้รู้ได้ฟังมาก) แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

 

 

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้สั่งให้เปิดเรือนคลังเก็บผ้า นำผ้าเนื้อดีเลิศมาวางถวายไว้แทบยุคลบาทของพระพุทธเจ้าและถวายพระสาวกแล้วกราบทูลว่า

 

 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเหมือนภิกษุรูปที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเมื่อ ๗ วันก่อนจากนี้ด้วยเถิด นั่นคือขอให้ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคตแล้วได้รู้แจ้งธรรมก่อนใครหมด”

 

 

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่จึงทรงพยากรณ์ว่า

 

 

ในอีก ๑๐๐, ๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้รู้แจ้งธรรมก่อนใคร และจักได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู”

 

 

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่น ๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ ครั้นถึงวันประดิษฐานพระเจดีย์ ก็ได้สร้างเรือนแก้วไว้ภายในพระเจดีย์อีก จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

 

 

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรของกฎุมพีชาวเมืองพันธุมดี มีชื่อว่า “ มหากาล”

 

 

มหากาลมีน้องชายชื่อ “ จูฬกาล” ทั้ง ๒ มีอุปนิสัยแตกต่างกัน กล่าวคือ มหากาลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าวิปัสสี แต่จูฬกาลกลับไม่เลื่อมใส ดังนั้น ทั้ง ๒ จึงมีความเห็นขัดแย้งอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการทำบุญ

 

 

มหากาลได้แบ่งนาออกเป็น ๒ ส่วน โดยให้ส่วนหนึ่งเป็นสมบัติของตน และอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นสมบัติของจูฬกาล แล้วได้นำเอาผลิตผลที่เกิดจากนาส่วนของตนนั้นมาทำบุญ จนจวบสิ้นอายุขัย จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภูมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันท่านมาเกิดเป็น บุตรพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่ได้รู้แจ้งธรรมและบวชในพระพุทธศาสนาก่อนใคร พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ดังกล่าวมาแล้ว

 

 

ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือ คือ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและพระอัสสชิ ซึ่งมีอดีตชาติร่วมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ตรงที่ตั้งจิตปรารถนาให้ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมก่อนใคร และปรารถนาจะบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ก็ได้สิ่งที่ปรารถนาไว้คือ ได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก่อนใครและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันในที่สุด

 

 

วาจานุสรณ์

 

 

พระอัญญาโกฑัญญะ กล่าวแสดงความรู้สึกของท่าน ไว้เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับคนรุ่นหลังอยู่ ๒ วาระด้วยกันคือ

 

 

วาระแรก ท่านกล่าวเมื่อได้เห็นพระปุถุชนบางจำพวกตกอยู่ในอำนาจความคิดผิดต่าง ๆ แล้วทำไปตามแรงผลักดันของความคิดผิดนั้น ท่านระลึกได้ถึงธรรมที่เป็นข้าศึกต่อความคิดผิดและระลึกได้ว่าตัวท่านเองพ้นไปจากความคิดผิดนั้นได้แล้ว จึงกล่าวแสดงความรู้สึกเป็นคำร้อยกรอง ความว่า

 

 

โลกนี้มีสิ่งที่สวยงามอยู่มาก บุคคลผู้มีความคิดเจือด้วยราคะ

 

 

เห็นเป็นของสายงามจะถูกย้ำยีเป็นแน่


เมื่อใด พิจารณาเห็นได้ด้วยปัญญา เมื่อนั้นความคิดทั้งหลาย

 

จึงจะสงบลงได้ คล้ายสายฝนสยบฝุ่นที่ถูกลมพัดฟุ้งฉะนั้น


จากนั้นท่านได้แสดงวิธีพิจารณาเห็นด้วยปัญญาไว้โดยให้เห็นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา และย้ำว่า นี้แหละคือทางแห่งความบริสุทธิ์

วาระสุดท้าย ท่านกล่าวเมื่อคราวที่เห็นสัทธิวิหาริกของท่านรูปหนึ่งเกียจคร้าน มีจิตฟุ้งซ่านคบเพื่อนไม่ดี ทำตัวห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล จึงตักเตือนด้วยความหวังดี แต่ว่าสัทธิวิหาริกรูปนั้นไม่เชื่อฟังท่าน ท่านเกิดความสลดใจจึงกล่าวแสดงความรู้สึกในเชิงตำหนิการปฏิบัติผิดสรรเสริญการปฏิบัติถูกและการอยู่ในที่สงัดว่า

 

ภิกษุผู้ฟุ้งซ่าน เหลวไหล คบแต่เพื่อนชั่ว

 

 

ย่อมถูกคลื่น คือกิเลสซัดให้จมลงไปในห้วงน้ำคือสังสารวัฏ

 

 

ส่วนภิกษุผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เหลวไหล สำรวมอินทรีย์

 

 

มีปัญญารักษาตัวรอด คบแต่เพื่อนดี จะสามารถทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้

 

 

ภิกษุที่ยินดีในที่สงัด แม้จะซูบผอม เนื้อตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น

 

 

ใจก็ยังไม่ย่อท้อ ยังรู้จักบริโภคข้าวและน้ำแต่พอดี


ภิกษุดังว่ามานั้น แม้จะถูกเหลือบยุงกัดอยู่กลางป่า ก็ย่อมมีสติ

 

อดกลั้นไว้ได้ คล้ายช้างศึกอดทนต่อศัตราวุธในยุทธภูมิฉะนั้น

 

จากนั้นท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตและความตายของท่านเองและความรู้สึกที่มีต่อพระพุทธเจ้าว่า

 

 

ความเป็นความตายเราไม่ยินดี เรารอแต่เวลาคล้ายลูกจ้างรอเวลางานฉะนั้น

 

 

พระศาสดาเราก็รับใช้แล้ว คำสอนของพระองค์เราก็ทำตามได้แล้ว


ภาระหนักเราก็ปลงลงได้แล้ว อีกทั้งตัณหาตัวการให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด

 

เราก็ถอนรากถอนโคนได้แล้ว

 

ประโยชน์ที่คนออกบวชต้องการเราก็ได้รับแล้ว ทำไมเราจะต้องวุ่นวายอะไรอยู่กับสัทธิวิหาริกผู้ว่ายาก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019159166018168 Mins