หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๑๙)
ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ว่า ความศรัทธาเลื่อมใสของคนเรานั้นเกิดได้จากเหตุ ๔ ประการ คือ
๑.รูปัปปมาณิกา ความเลื่อมใสในรูป ท่าทางที่สง่า
๒.โฆสัปปมาณิกา ความเลื่อมใสในน้ำเสียง
๓.ลูขัปปมาณิกา ความเลื่อมใสในการใช้ของคร่ำคร่า เศร้าหมอง
๔.ธัมมัปปมาณิกา ความเลื่อมใสในธรรม
ในจำนวนของความเลื่อมใสทั้งหมดนี้ นับว่าความเลื่อมใสในลำดับสุดท้ายคือ เลื่อมใสในธรรม สำคัญที่สุด เพราะหากยึดมั่นในธรรมแล้ว จะเป็นความเลื่อมใสศรัทธาที่ยั่งยืน
แต่ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับความจริงว่า การที่เราพบเห็นใครสักคนในครั้งแรก ก็จะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ชวนให้เราอยากเข้าไปสนทนาด้วย หากแค่การพบกันเพียงครั้งแรกแล้วไม่ประทับใจ มีความรู้สึกว่าครั้งเดียวก็เกินพอ ก็ยากที่จะทำให้เกิดความคิด ความรู้สึกที่จะเข้าถึงความรู้ที่เขามีได้
ลองนึกง่าย ๆ ว่ามีคนแนะนำเราว่า มีคน ๆ หนึ่ง สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือเราได้ พอเราไปพบ สภาพที่เห็นคือ เมาแอ่น ผมเผ้ารุงรัง เนื้อตัวเหม็นสาบ ก็คงยากที่จะเชื่อได้ว่า เขาจะมีความสามารถที่จะช่วยเราได้ เพราะแม้แต่ตัวเองยังจะเอาตัวไม่รอด
ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราไปวัดไหนพบเจอพระที่ท่านนุ่งห่มเรียบร้อย พูดจาไพเราะ อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ก็ย่อมจะเป็นแรงจูงใจในการที่อยากจะศึกษาธรรมะจากท่าน
ด้วยเห็นความสำคัญอย่างนี้ หลวงพ่อทั้งสองจึงได้ทำตัวให้เป็นต้นแบบและเคี่ยวเข็ญลูกพระลูกเณรในเรื่องการนุ่งห่ม ดังนั้นพระภิกษุหรือสามเณรที่เข้ามาอบรม จะถูกพระพี่เลี้ยงเข้มงวดกวดขัน ไม่ปล่อยผ่านในเรื่องนี้ ควบคู่ไปกับการศึกษาทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ
ในช่วงที่อาตมาเป็นพระพี่เลี้ยงสามเณรนั้น หลวงพ่อทัตตชีโวจะคอยมาตรวจตามราวตากผ้าของสามเณร ท่านจะดูรายละเอียดแม้กระทั่งการตากผ้าตึงหรือไม่ ชายผ้าเป็นอย่างไร ในระหว่างที่ท่านเดินตรวจดูนั้น พระพี่เลี้ยงก็จะเดินตามคอยบันทึกจดจำว่า หลวงพ่อให้คำแนะนำอะไรบ้าง
“ พวกท่านอย่าดูเบาในเรื่องการนุ่งการห่ม การซักผ้า ตากผ้าของสามเณรนะ เรื่องการซักผ้านี่หากไม่จนใจจริง ๆ อย่าให้ซักตอนกลางคืน เพราะผ้าจะอับ ซักตอนเช้า ตอนกลางวันจะดีที่สุด ผ้าจะแห้งเร็ว จะได้ไม่มีกลิ่น และหากผ้าแห้งแล้วต้องรีบเก็บ ไม่งั้นแดดมันจะเลียผ้า ทำให้ผ้าซีดเร็ว ”
สิ่งหนึ่งที่เป็นกิจวัตรที่พระพี่เลี้ยงสามเณรจะต้องทำคือ ดูแลในเรื่องการนุ่งห่ม แทบจะเรียกได้ว่า ต้องดูกันตั้งแต่ตื่นจากจำวัด จนกระทั่งเข้าจำวัด กล่าวคือ เมื่อตื่นมาก็ต้องดูว่า สามเณรนุ่งห่มเรียบร้อยหรือไม่ เวลาจะเดินไปฉันก็ต้องตรวจอีกรอบ ระหว่างวันก็ต้องคอยดูว่าเป็นอย่างไร ก่อนจำวัดก็ต้องคอยบอกว่าให้ช่วยกันพับผ้าเตรียมไว้ห่มดองในตอนเช้าด้วย
ในเรื่องนี้ขอแบ่งเป็น ๒ ประเด็นที่หลวงพ่อทัตตชีโวได้สั่งไว้
๑. เรื่องการนุ่งห่ม ท่านย้ำว่า “ อย่าลืมว่าเณรยังเป็นเด็ก เวลานุ่งเวลาห่มจะเอาเร็วเข้าว่า พวกท่านต้องคอยดู เร็วน่ะดี แต่ต้องเรียบร้อย ตามพระวินัย นุ่งสบงต้องครึ่งแข้ง เวลาห่มดองก็ต้องคอยดู เวลารัดอก ก็อย่าให้ต่ำไปหรือสูงไป จะไม่น่าดู ผ้ารัดอกให้เป็นรัดอก ไม่ใช่ไปรัดเอว ชายจีวรต้องเสมอกับชายสบง ดูให้ดี ให้เณรคุ้นกับของมาตรฐาน ”
๒. เรื่องการพับผ้า หลวงพ่อเมตตาให้คำแนะนำอย่างที่อาตมาไม่เคยนึกถึงว่า
“ รู้มั้ย ทำไมหลวงพ่อให้เณรพับผ้าด้วยกัน ”
“ พับช่วยกัน ทำให้ผ้าเรียบ เวลานุ่งห่มจะดูสวยงาม เป็นระเบียบครับ ” อาตมาตอบท่านด้วยความมั่นใจว่าถูกต้องแน่นอน ที่ไหนได้ นอกจากไม่ชมแล้วหลวงพ่อยังสอนอีกว่า
“ ท่านเป็นพี่เลี้ยงสามเณร คิดอะไรอย่าคิดตื้น ๆ หลวงพ่อให้เณรจับคู่พับผ้าด้วยกัน นอกจากจะเป็นการคอยดูแลเอาใจใส่กันแล้ว นั่นคือการฝึกการทำงานเป็นทีม ”
ราวกับหลวงพ่อท่านจะรู้ว่าอาตมายังไม่กระจ่างในคำตอบ ท่านเลยอธิบายต่อว่า
“ ทำไมหลวงพ่อถึงบอกว่าเป็นการทำงานเป็นทีม คำว่าทีม ท่านอย่าคิดว่าต้องมีหลายคน แค่สองคนก็เป็นทีมได้ เวลาสามเณรพับผ้าด้วยกัน ท่านคอยสังเกตให้ดีนะ หากคู่ไหนที่จะทำงานด้วยกันได้ เวลาพับผ้าจะรอกัน คอยดูว่าอีกองค์พับไปถึงไหนแล้ว ส่วนคู่ไหน ทำงานเป็นทีมไม่เป็น จะไม่สนใจคู่ของตน จะรีบพับ ๆ ให้เสร็จ ๆ นอกจากจะพับไม่สวยแล้ว ต่อไปจะหงุดหงิดกัน นี่คือวิธีดูคนนะท่าน ”
เพราะความละเอียดและใส่ใจในทุกขั้นตอนของหลวงพ่อทั้งสอง จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมพระเณรวัดพระธรรมกายจึงนุ่งห่มได้เรียบร้อย
คงไม่มีอะไรสงสัยแล้วนะคุณโยม
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๖ ส.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae