เหตุแห่งมรณภัย
เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ.๒๕๑๒ เวลานั้นข้าพเจ้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน วันนั้นมีสตรีวัยสามสิบปีเศษมาขอพบ เธอกล่าวว่า “ดิฉันมาหาอาจารย์ เพราะลูกสาวบอกให้มาน่ะค่ะ ลูกเค้าเรียนอยู่ที่นี่”
“ลูกคุณชื่ออะไร เรียนอยู่ชั้นไหนล่ะคะ” ข้าพเจ้ารีบถามเพื่อนำมาใช้เป็นหัวข้อสนทนา ถ้าเป็นเด็กดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก ก็จะได้รีบนำความดีของเด็กมาชมเชยให้ผู้ปกครองชื่นใจไว้ก่อน นี่เป็นหลักการในการสนทนาพูดคุยกับผู้อื่นประการนึง พยายามหาเรื่องที่ทำให้คู่สนทนาสบายใจมาพูดคุย ไมตรีจิตย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย วิธีนี้สามารถทำเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี เรื่องใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องเล็กได้เสมอ
“ยายน้ำผึ้งน่ะค่ะ ที่เป็นนักบาสเกตบอลของโรงเรียน” ข้าพเจ้ารู้จักเด็กดี เป็นนักกีฬาที่เก่งสุดในทีม แม้มารดาของเด็กจะบอกชื่อเล่น ข้าพเจ้าก็จำได้ จึงชมเชยเด็กให้ฟังไปอีกหลายประโยค เท่าที่รู้จากครูประจำชั้นและครูพลศึกษา ผู้ฟังยิ้มแย้มหลายครั้งที่โต้ตอบ แต่ก็ยังปิดความกังวลใจบางอย่างในสายตาไว้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงถามเรื่องธุระที่มาหา
“คือเมื่อวานเย็นนี้ ดิฉันกลับจากทำงาน ที่บ้านยังไม่มีใครกลับไปถึง พอเปิดกุญแจประตูบ้านเข้าไป ก็ตกใจตะลึงเลยค่ะ มองเห็นผู้ชายคนหนึ่งยืนหันหลังให้ ตัวสูงใหญ่ดำปี๋ นุ่งผ้าถกเขมรสีแดง ผ้าโผกหัวสีแดง พอรู้สึกตัวกำลังจะส่งเสียงร้องออกมา ภาพที่เห็นก็เลือนลางหายไปต่อหน้า ลูกสาวเค้าบอกว่าอาจารย์เป็นคนธรรมะธรรมโม ไปวัดบ่อย อาจารย์อาจบอกได้ว่านั้นเป็นภาพผีหรืออะไร”
เล่าไปก็แสดงอาการหวาดกลัวออกมาให้ดูอีก ใบหน้าซีดเซียวเหมือนคนเสียขวัญ ข้าพเจ้าเองก็ปฏิบัติธรรมยังไม่บรรลุผลอะไรเลย ฟังแล้วก็ต้องใช้ความรู้ต่างๆ มาประมวล คาดคะเนเหตุผลเอา การเป็นหัวหน้าสถานศึกษาของชุมชนนี่ จะต้องทำตัวเป็นที่พึ่งให้ได้ทุกอย่าง จะบอกปัดให้พ้นๆ ไปไม่ได้ เรื่องนี้ข้าพเจ้าจดจำมาจากการกระทำของบิดามารดาตนเอง ท่านเป็นครูใหญ่และครูน้อยประจำโรงเรียนประชาบาลในหมู่บ้าน ต้องให้คำแนะนำ ให้ความคิดเห็น ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ในเรื่องทุกเรื่องที่เขามาขอร้องเพราะถือกันว่า ครูมีความรู้สูงสุดในท้องถิ่นนั้น
บังเอิญในระยะนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย พระอาจารย์ของข้าพเจ้า สั่งสอนจนมีผู้ปฏิบัติรู้เห็นธรรมหลายคน เวลาท่านให้คนเหล่านั้นใช้ทิพพจักขุญาณไปยมโลกบ้าง ไปนรกบ้าง ข้าพเจ้าได้ยินผู้ที่ไปเห็น บรรยายเหตุการณ์และชีวิตต่างๆ ที่นั่น ข้าพเจ้านำความรู้ที่ได้จากการฟัง มาพูดคุยกับสตรีผู้นี้ว่า
“เอ...ในบ้านของคุณมีคนกำลังเจ็บหรือเปล่าคะ”
“ไม่มีค่ะ” อีกฝ่ายตอบ
“แปลกจริง” ข้าพเจ้าบ่น “ตามที่คุณเล่านี่ คนที่คุณเห็นน่าจะเป็นยมฑูต เขาไปบ้านใคร ก็แปลว่าจะมีคนตายที่นั่น หน้าที่ของเขาคือเอากายละเอียด หรือที่พวกเราเรียกกันว่าวิญญาณไปให้ยมโลกโน่น นี่เค้ามาบ้านคุณทำไมกันนะ”
หญิงคนนั้นตกตะลึงหน้าซีด!
นี่แหละ ที่ผู้คนเขาพูดเปรียบเปรยกันว่า สันดอนขุดทิ้งได้แต่สันดานขุดออกยากนักหนา...ข้าพเจ้ามีนิสัยเสียหายในเรื่องนี้มาก ถ้ารู้สึกอย่างไรมักพูดตรงไปตรงมา ทั้งที่ตนเองก็เป็นลูกศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย มีความชื่นชมในจริยาวัตรอย่างหนึ่งของท่านยิ่งนักคือ ท่านจะไม่พูดเรื่องที่ทำให้ผู้ฟังตกใจ เสียใจ เรื่องเสียหาย เรื่องเหตุร้ายให้ใครฟัง ท่านจะปรารภให้เป็นเรื่องดีไปเสียหมด ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนแค่ไหน ฟังท่านพูดแล้วจะเบาใจ สบายใจไปทันที
ในกรณีเรื่องนี้ข้าพเจ้าก็ทำผิดอีกแล้ว ไปพูดเรื่องเป็นเรื่องตายคนฟังเลยแทบจะตายเอาเสียตรงหน้า ละล่ำละลักถาม
“แล้วจะทำอย่างไงดีล่ะอาจารย์”
พอเห็นเขาตกใจ ข้าพเจ้าจึงคิดได้ พูดปลอบเสียใหม่
“ก็เมื่อในบ้านเราไม่มีคนเจ็บคนไข้ คงแปลว่าเค้ามาผิดบ้านน่ะ”
คนฟังเงียบไป แต่ก็ยังไม่ยอมลากลับ ข้าพเจ้าจึงปลอบใจต่อไปอีก
“เอายังงี้นะ ตอนนี้คุณทำบุญสักหน่อยเถอะ ตักบาตรถือศีล ๕ ชวนกันให้หมดบ้านเลยนะ ถือศีลนะ” ข้าพเจ้าย้ำ “บุญสามารถคุ้มครองชีวิตเราได้” ตั้งตัวเป็นผู้รู้แนะนำเขาต่อ
ข้าพเจ้าไม่ได้สอนเขาเรื่องการเจริญภาวนา เพราะเราเพิ่งพบกันเป็นครั้งแรก คิดอยู่ว่าจะให้ลูกสาวของเขาไปสอนให้ เพราะเด็กๆลูกศิษย์ของข้าพเจ้าภาวนาเป็นกันหมดทั้งโรงเรียน หนูน้ำผึ้งก็ทำเป็น เมื่อเขาลากลับไปแล้ว วันนั้นข้าพเจ้าก็ไม่มีเวลาเรียกน้ำผึ้งมาพบ
วันรุ่งขึ้น สตรีคนเดิมมาพบข้าพเจ้าแต่เช้า วันนี้ร้องไห้มาหน้าตาบวม พูดไปสะอื้นไป
“อาจารย์ เมื่อเย็นแกตัวร้อนจัดทั้งคืน แผลก็บวมจนเขียว ตัวก็บวม หน้าตาบวม ตอนนี้เอาไปส่งโรงพยาบาลแล้ว หมอว่าเป็นบาดทะยักค่ะ หมอให้อยู่ห้อง ไอ.ซี.ยูเลย”
ข้าพเจ้าเฉลียวใจ พลอยใจหายวูบ เรื่องเมื่อวานนี้สะดุดใจทันที ยมฑูตคงจะมาไม่ผิดบ้านเสียแล้ว จะทำอย่างไรกันดี ใช้ปฏิภาณบอกแม่ของเด็กไปว่า
“เอายังงี้นะ คุณกลับไปบ้านนี่ ไปจุดธูปจุดเทียนบนบานตัวเสียเลย แค่ถือศีล ๕ ไม่พอแล้ว ต่อไปนี้ต้องถือศีล ๘ กันทั้งพ่อทั้งแม่ทีเดียว เอาบุญนี่ช่วยลูก แล้วตั้งสัจจะไว้ ถ้าลูกรอดชีวิตจะบวชกี่วันก็ว่าไป พ่อจะบวชหรือแม่จะบวชก็ได้” คนฟังมองหน้าเหมือนจะถาม
“อ้าว คุณก็บวชชีซิ บวชอยู่ที่วัดปากน้ำโน่นก็ได้ พระท่านจะได้สอนกรรมฐานให้ เอาบุญนั่นต่อชีวิตลูก วิธีอื่นคงจะยาก เพราะเราไม่ใช่หมอ”
สมัยนั้นยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ คนที่เป็นบาดทะยักจะตายกันทุกราย ต่อจากนั้น ข้าพเจ้ากับเพื่อนครูอีก ๒-๓ คน ตามไปดูอาการของเด็กที่โรงพยาบาล
พอเด็กเห็นข้าพเจ้าก็น้ำตาไหลพรากทันที แต่แกพูดไม่ได้เสียแล้ว มีอาการกระตุกเป็นระยะๆ บังคับประสาทในร่างกายไม่ได้ ทั้งมือทั้งแขนขารวมทั้งปากพากันกระตุกไปหมด สีหน้าผิวพรรณหมองคล้ำ ดำเหมือนทั้งตัวมีแต่โลหิตสีดำวิ่งเลี้ยงร่างกาย
พวกเราทุกคนที่ไปเยี่ยมน้ำตาตกมองไม่เห็นทางรอดเอาเสียเลย แต่ข้าพเจ้าคนเดียวที่ร้องไห้ไม่ได้ ต้องวางท่าให้เข้มแข็ง ข้าพเจ้าให้สติเด็ก ให้นึกถึงวิธีการเจริญสมาธิภาวนาที่ข้าพเจ้าสอนไว้ “น้ำผึ้ง ลูกฟังครูพูดนะ ถึงร่างกายของหนูมันจะไม่อยู่ในอำนาจของเราแล้วก็ปล่อยมันไป แต่เราบังคับใจให้ทำงานให้เราได้ ลูกนึกถึงพระแก้วที่ครูเคยให้ดู ท่านอยู่ในท้องของลูกอย่างเดิมไม่ไปไหน ท่านช่วยเราได้ เอาใจมุดเข้าไปอยู่ในท้องท่านเลยนะลูกนะ”
ข้าพเจ้าจะเรียกนักเรียนทุกคนว่า ลูก เสมอ ให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ไม่ห่างเหิน และความจริงคำว่า ลูกศิษย์ ก็แปลตรงตัวอยู่แล้วว่าเป็นลูก เพราะได้อยู่ร่วมกัน ศิษยะ แปลว่า อยู่ร่วมกัน สายตาของเด็กที่มองข้าพเจ้าแสดงว่ารับรู้และทำตาม มีความหวังบางอย่างในแววตานั้น ไม่ดูแห้งแล้ง ไร้ที่พึ่ง และทอดอาลัยเหมือนที่เห็นเมื่อแรกมาถึง
ต่อจากนั้นข้าพเจ้าจึงปรึกษากับครูผู้ใต้บังคับบัญชาท่านหนึ่ง ซึ่งมีพี่ชายเป็นนายแพทย์ และกำลังศึกษาต่ออยู่ที่อเมริกา โทรศัพท์ทางไกลปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ บังเอิญแพทย์ผู้นั้นเป็นเพื่อนกับแพทย์ที่กำลังรักษาน้ำผึ้ง เขาจึงช่วยบอกวิธีการรักษามาให้ แม้จะเสี่ยงชนิดเหลือความปลอดภัยเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องยอม ดีกว่าจะปล่อยให้ตายกันไปต่อหน้าต่อตา ในตอนนั้นแพทย์ใช้วิธีถ่ายเลือด ถ่ายกันทั้งตัว ๗-๘ ขวด ทีเดียว
ด้วยวิธีนี้ ลูกศิษย์ของข้าพเจ้าจึงรอดตาย เมื่อแข็งแรงดีแล้วก็เป็นนักกีฬาอย่างเดิม ส่วนแม่ก็บวชชีตามสัญญาเสีย ๑ เดือน
ถ้าจะมีใครถามปัญหาต่อจากเรื่องนี้ว่า... เอ นี่เป็นเรื่องขนาดยมฑูตมารับตัวแล้ว ยังจะบิดพลิ้วไม่ยอมตายได้หรือ ทางยมโลกจะยินยอมได้อย่างไร…
ข้าพเจ้าคงจะต้องใช้ปัญญาที่มีอยู่เล็กๆ น้อย ๆ ตอบว่า
ธรรมดาสาเหตุการตายของสัตว์มีอยู่ ๔ อย่าง คือ ตายเพราะ
๑. หมดกรรม (หมดบุญหรือหมดบาปก็ได้)
๒. หมดอายุขัย
๓. หมดทั้งกรรมและอายุ
๔. ตายด้วยอุบัติเหตุ
กรณีเด็กหญิงน้ำผึ้ง ถ้าจะต้องตายก็เรียกว่าตายด้วยสาเหตุ หมดบุญ เพราะเด็กมีอายุเพียง ๑๓-๑๔ ปี อายุขัยมนุษย์ในโลกเรายุคนี้ประมาณ ๗๕ ปี จึงไม่ใช่ตายเพราะหมดอายุ
ทีนี้พอมีบุญเพิ่มขึ้นมา บุญทางครอบครัวทำให้ เช่น พ่อแม่ใส่บาตร ถือศีล หรือบนตัวบวชอะไรๆ นั้น พูดไปแล้วอาจจะได้ผลเล็กน้อย หรืออาจจะไม่มีผลเท่าไรก็ได้ แต่บุญที่เด็กเจริญภาวนานั่นต่างหากเป็นบุญที่เขากระทำให้ตนเองโดยตรง จึงยืดอายุเขาได้ทัน ทำให้มีหนทางแก้ไขจนรอดชีวิต
ชื่อเรื่องเดิม หนูน้ำผึ้ง
Cr. อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม1